หน้าแรก เกี่ยวกับเรา ติดต่อเรา

เมนู

 

คำพิพากษาศาลฎีกา ความผิดตาม พระราชบัญญัติ คนเข้าเมือง


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1187/2539
               ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยเป็นคนไทยแต่ไม่รู้ภาษาไทยเพียงพอและขณะศาลชั้นต้นสอบคำให้การจำเลยไม่มีล่ามช่วยแปลนั้น ศาลชั้นต้นได้ไต่สวนปัญหานี้ตามคำสั่งของศาลฎีกาแล้วปรากฏว่า จำเลยสามารถพูดและเข้าใจภาษาไทยสามารถตอบคำถามทนายจำเลย โจทก์ และศาลเป็นภาษาไทยโดยมิต้องใช้ล่ามแปลดังนั้นเมื่อจำเลยให้การรับสารภาพโดยเข้าใจสภาพแห่งข้อหาและคำฟ้องแล้วกระบวนพิจารณาที่ศาลชั้นต้นสอบคำให้การจำเลย บันทึกคำให้การรับสารภาพของจำเลยไว้ จึงเป็นกระบวนพิจารณาที่ชอบ ไม่มีเหตุที่จะให้ดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ 
จำเลยอ้างว่าเป็นคนมีสัญชาติไทย จำเลยก็อาจขอพิสูจน์สัญชาติได้ตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 57
 

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5834/2537
               โจทก์เดินทางจากประเทศจีนมาประเทศไทย และยื่นคำร้องขอพิสูจน์สัญชาติต่อเจ้าหน้าที่กองตรวจคนเข้าเมือง เจ้าหน้าที่กองตรวจคนเข้าเมืองยกคำร้อง โจทก์จึงฟ้องศาล เมื่อโจทก์พิสูจน์ได้ว่า โจทก์เกิดในประเทศไทยโจทก์จึงได้สัญชาติไทยโดยการเกิดเป็นบุคคลสัญชาติไทย ตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2456 มาตรา 3
 

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2246/2535
               ผู้ร้องซึ่งเป็นคนสัญชาติไทยถือหนังสือเดินทางของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนเข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดย มิได้อ้างว่าเป็นบุคคลสัญชาติไทย ก็มีสิทธิยื่นคำขอพิสูจน์สัญชาติต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองว่าเป็นคนมีสัญชาติไทยได้และเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองรับพิจารณาและยกคำขอผู้ร้องก็ยื่นคำร้องขอพิสูจน์สัญชาติต่อศาลได้ตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 57 วรรคสอง การถอนสัญชาติไทยเพราะเหตุเป็นคนสัญชาติไทยที่เกิดในราชอาณาจักรไทยและไปอยู่ในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนและใช้สัญชาติจีนอันเป็นสัญชาติของบิดาตลอดมา เป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ตามพระราชบัญญัติสัญชาติพ.ศ. 2508 มาตรา 17 เมื่อยังไม่มีคำสั่งให้ถอนสัญชาติดังกล่าวผู้นั้นก็คงมีสัญชาติไทยอยู่


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1651/2534
               การพิสูจน์สัญชาติไทยนั้นกฎหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้นั้นเป็นคนต่างด้าวจนกว่าผู้นั้นจะพิสูจน์ได้ว่าตนมีสัญชาติไทยตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองฯ มาตรา 57
 

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6000/2533
               ผู้ร้องได้ยื่นคำขอพิสูจน์สัญชาติไทยต่อพนักงานเจ้าหน้าที่กองตรวจคนเข้าเมืองแล้วพนักงานเจ้าหน้าที่มีคำสั่งประการใดแล้วถ้าผู้ร้องไม่พอใจ ผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาได้เพราะผู้ร้องได้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522มาตรา 57 โดยถูกต้องแล้วไม่จำต้องฟ้องเป็นคดีมีข้อพิพาท.


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1844/2530
               ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำร้องของผู้ร้องที่ขอให้ศาลมีคำสั่งว่าผู้ร้องมีสัญชาติไทยไว้ ต่อมาเมื่อศาลชั้นต้นพิจารณาเห็นว่าคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4(2) เรื่องเขตอำนาจศาลศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจสั่งเพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นและมีคำสั่งใหม่ได้ตามมาตรา 27
ตามพระราชบัญญติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 57 ได้ให้อำนาจแก่พนักงานอัยการที่จะโต้แย้งคัดค้านในกรณีที่มีผู้ร้องขอพิสูจน์สัญชาติต่อศาล คำคัดค้านของพนักงานอัยการจึงชอบด้วยกฎหมาย.


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4176/2529
               บุคคลผู้เกิดนอกราชอาณาจักรไทยโดยมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทยส่วนบิดามิใช่บิดาที่ชอบด้วยกฎหมายและไม่ปรากฏว่าบิดามีสัญชาติใดบุคคลนั้นย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามพระราชบัญญัติสัญชาติพ.ศ.2508มาตรา7(2) โจทก์ติดต่อให้จำเลยจดแจ้งชื่อโจทก์ซึ่งเป็นคนมีสัญชาติไทยลงในทะเบียนบ้านแล้วจำเลยปฏิเสธอ้างว่าโจทก์เป็นคนมีสัญชาติลาวดังนี้เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์แล้ว ตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองพ.ศ.2522มาตรา57กำหนดให้ผู้ซึ่งประสงค์ขอพิสูจน์สัญชาติไทยปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนเมื่อไม่พอใจคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่จะร้องขอต่อศาลให้พิจารณาก็ได้แต่กรณีที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้มิใช่การร้องขอต่อศาลให้พิจารณาเกี่ยวกับการพิสูจน์สัญชาติหากแต่เป็นการฟ้องจำเลยซึ่งเป็นผู้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ต่อศาลจึงไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนดังนี้โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย.


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1091/2529
               มาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับผู้ที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งประสงค์จะพิสูจน์ว่าเป็นบุคคลมีสัญชาติไทย และให้สิทธิบุคคลผู้นั้นยื่นคำร้องต่อศาลได้ แต่กรณีของผู้ร้องไม่เคยออกไปนอกราชอาณาจักรเลยแต่อ้างว่าถูกสั่งถอนสัญชาติไทย ตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 ผู้ร้องจะร้องขอต่อศาลตามบทกฎหมายดังกล่าวไม่ได้ หากปรากฏว่ามีผู้โต้แย้งเกี่ยวกับสัญชาติของผู้ร้อง ก็ชอบที่จะดำเนินคดีอย่างมีข้อพิพาทต่อผู้ที่โต้แย้งสิทธิของผู้ร้อง


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4316/2528
               ผู้ร้องเป็นบุตรของหญิงสัญชาติไทยกับชายญวนอพยพ ซึ่งเป็นสามีภรรยากันโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ร้องเกิดในประเทศไทยและต่อมาถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ดังนี้ ผู้ร้องไม่ใช่ ผู้ที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทย ไม่มีข้อโต้แย้ง เกี่ยวกับการเข้าเมือง จะมาใช้สิทธิทางศาลร้องขอพิสูจน์สัญชาติตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 57 ไม่ได้ หากเห็นว่า การถูกเพิกถอนสัญชาติเป็นไปโดยมิชอบประการใด ก็ชอบที่จะฟ้อง ผู้ที่โต้แย้งสิทธิเป็นคดีมีข้อพิพาทต่อศาล


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 472/2525
               พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 57 ได้บัญญัติถึงขั้นตอนของการร้องขอพิสูจน์การมีสัญชาติไทยไว้ว่า ผู้ที่จะขอพิสูจน์ว่าตนมีสัญชาติไทย จะต้องยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่และเสียค่าธรรมเนียมเสียก่อนต่อเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่สั่งประการใดแล้วผู้นั้นไม่พอใจคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่จะร้องขอให้ศาลพิจารณาก็ได้ผู้ร้องซึ่งประสงค์จะขอพิสูจน์สัญชาติไทย จึงต้องปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายดังกล่าวเสียก่อนเมื่อผู้ร้องไม่เคยยื่นคำขอพิสูจน์สัญชาติไทยต่อพนักงานเจ้าหน้าที่และเสียค่าธรรมเนียมผู้ร้องจึงยังไม่มีสิทธิร้องขอให้ศาลไต่สวนและมีคำสั่งว่าผู้ร้องเป็นคนมีสัญชาติไทย


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1340/2560
               โจทก์บรรยายฟ้องแยกการกระทำความผิดฐานให้ที่พักพิงแก่คนต่างด้าวตามฟ้องข้อ 1.4 และ 1.7 เป็นความผิดต่างกรรมกับกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ตามฟ้องข้อ 1.6 และ 1.9 และชั้นพิจารณาจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องข้อ 1.4 ส่วนข้อ 1.7 ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ประกอบกับการกระทำความผิดฐานให้ที่พักพิงแก่คนต่างด้าวย่อมเป็นความผิดสำเร็จนับตั้งแต่ผู้กระทำผิดให้ที่พักพิงแก่คนต่างด้าว ซึ่งสามารถแยกเจตนาและการกระทำออกจากความผิดฐานค้ามนุษย์ได้ ความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวจึงมิใช่การกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ศาลจึงชอบที่จะลงโทษในความผิดตามฟ้องข้อ 1.4 และ 1.7 เป็นคนละกรรมกับความผิดฐานค้ามนุษย์ได้


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5185/2556
               โจทก์บรรยายฟ้องระบุว่า จำเลยกับพวกร่วมกันซ่อนเร้น ช่วยเหลือหรือช่วยด้วยประการใด ๆ แก่คนต่างด้าว โดยให้ที่พำนักพักพิงที่หลบซ่อน ก่อนนำขึ้นรถยนต์กระบะเพื่อขนพาคนต่างด้าวจากบ้านทุ่งมะกอก ตำบลห้วยโป่ง อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน ไปส่งที่อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ทั้งนี้เพื่อให้คนต่างด้าวพ้นจากการจับกุม เป็นการบรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิดครบองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 64 แล้ว ส่วนข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความว่า จำเลยขับรถยนต์โดยสารพาคนต่างด้าวจำนวน 7 คน ไปส่งที่สวนมะม่วงของ ป. เพื่อรอส่งต่อไปยังจังหวัดเชียงใหม่ ก็ถือเป็นการกระทำที่เป็นส่วนหนึ่งของการช่วยเหลือหรือช่วยด้วยประการใด ๆ ตามองค์ประกอบบทบัญญัติดังกล่าว หาใช่เป็นเรื่องข้อเท็จจริงที่โจทก์มิได้กล่าวในฟ้องและไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษ อันจะต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่งและวรรคสี่


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9317/2554
               โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับเรือประมงของกลางว่าเป็นยานพาหนะในการหลบหนีแก่บุคคลต่างด้าว ดังนั้นเรือประมงของกลางจึงเป็นเพียงยานพาหนะในการหลบหนีเท่านั้น มิใช่ทรัพย์ที่ใช้ในการนำหรือพาคนต่างด้าวเข้ามาโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ที่โจทก์อ้างในฎีกาว่า เรือประมงของกลางเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดโดยตรง เพราะหากไม่มีเรือประมงของกลาง การนำและพาคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรทางทะเลย่อมไม่อาจทำได้นั้น ก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้บรรยายไว้ในคำฟ้อง จึงไม่อาจรับฟังได้ส่วนความผิดฐานให้ที่พักอาศัย ซ่อนเร้นเพื่อให้คนต่างด้าวพ้นจากการจับกุม โดยให้คนต่างด้าวเข้าอยู่และหลบซ่อนอยู่ในเรือนั้น ก็คงฟังได้เพียงว่าเรือเป็นสถานที่เกิดเหตุเท่านั้น มิใช่ทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดโดยตรง จึงไม่อาจริบได้


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 393/2554
               การกระทำความผิดฐานให้ที่พักอาศัย ซ่อนเร้นหรือช่วยด้วยประการใดๆ เพื่อให้คนต่างด้าวพ้นการจับกุม ซึ่งศาลจะมีอำนาจใช้ดุลพินิจไม่ลงโทษผู้กระทำก็ได้ตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 64 วรรคท้าย นั้น จะต้องเป็นการกระทำเพื่อช่วยบิดามารดา สามีหรือภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้กระทำเท่านั้น ดังนั้น แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความตามบันทึกการจับกุมซึ่งเป็นเอกสารแนบท้ายคำร้องขอให้ศาลออกหมายขังครั้งที่ 1 ของพนักงานสอบสวนว่า ขณะจับกุมจำเลยทั้งสองเป็นสามีภริยากันกำลังร่วมกันแผ้วถางวัชพืชและไม้ขนาดเล็กในที่ดินเกิดเหตุโดยไม่มีเอกสารสิทธิ แต่ตามรายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยทั้งสองของเจ้าพนักงานคุมประพฤติคงปรากฏว่าจำเลยที่ 2 อยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลยที่ 1 โดยไม่ปรากฏว่าได้จดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมายแต่อย่างใด จำเลยทั้งสองจึงไม่ได้เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่อาจใช้ดุลพินิจไม่ลงโทษจำเลยที่ 2 ตามมาตรานี้ได้


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5588/2553
               ความผิดตามมาตรา 64 วรรคหนึ่ง แห่งพ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 และมาตรา 72 แห่งพ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ประกอบป.วิ.อ. มาตรา 86 เป็นความผิดที่ผู้กระทำจะต้องมีเจตนาประสงค์ต่อผลต่างกัน กฎหมายจึงได้บัญญัติเป็นความผิดและมีบทลงโทษสำหรับความผิดแต่ละอย่างแตกต่างกัน และลักษณะแห่งการกระทำความผิดสามารถแยกส่วนจากกันได้ แสดงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายมุ่งประสงค์ที่จะลงโทษผู้กระทำความผิดในแต่ละการกระทำเป็นกรณีไป แม้เหตุการณ์ที่จำเลยถูกจับกุมจะเป็นเหตุเดียวกัน ก็เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2823/2553
               แม้จำเลยที่ 3 ซึ่งยื่นฎีกาเพียงผู้เดียวถึงแก่ความตายในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาและศาลฎีกามีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 3 เสียจากสารบบความของศาลฎีกาแล้ว แต่สำหรับความผิดตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 64 วรรคหนึ่ง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้เป็นที่ยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า สถานบริการที่เกิดเหตุเป็นสถานบริการที่เปิดเพื่อให้บริการแก่บุคคลทั่วไป ในวันเวลาเกิดเหตุที่เจ้าพนักงานตำรวจเข้าตรวจสอบพบหญิงสัญชาติพม่า 30 คน นั่งอยู่ในตู้กระจกใสอันเป็นที่เปิดเผยเพื่อรอให้บริการแก่ลูกค้า เป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 มีเจตนาเพื่อให้หญิงทั้งหมดทำงานเป็นหญิงบริการให้แก่ลูกค้าในสถานบริการเท่านั้น หาได้มีเจตนาเพื่อให้หญิงทั้ง 30 คน พ้นจากการจับกุมไม่ ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 กระทำความผิด กรณีเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา เมื่อศาลฎีกาเห็นว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ไม่เป็นความผิดก็มีอำนาจยกขึ้นพิจารณาแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215, 225 
ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาได้มี พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 มาตรา 3(1) ให้ยกเลิก พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2521 ซึ่งความผิดฐานรับคนต่างด้าวเข้าทำงานตามกฎหมายที่ใช้บังคับใหม่เป็นความผิดตาม มาตรา 27 ที่ได้กำหนดโทษไว้ในมาตรา 54 ให้ระวางโทษปรับสถานเดียวต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน ต่างจาก พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2521 มาตรา 39 ที่ให้ระวางโทษจำคุกหรือปรับหรือทั้งจำทั้งปรับ ในส่วนของโทษจำคุกกฎหมายที่ใช้ในภายหลังเป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 มากกว่า แต่ในส่วนโทษปรับกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดมีบางส่วนเป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 มากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยที่ 2 ไม่ว่าในทางใดตาม ป.อ. มาตรา 3 วรรคแรก กรณีเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คดีสำหรับจำเลยที่ 2 จะยุติการพิจารณาไปในชั้นศาลอุทธรณ์แล้ว แต่คดีนี้ยังไม่ถึงที่สุด ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
 

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 144/2552
               โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยรู้ว่าคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืน พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 แต่การที่ฟ้องโจทก์ระบุว่า จำเลยได้บังอาจช่วยเหลือซ่อนเร้นคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 อันเป็นการช่วยด้วยประการใดๆ เพื่อให้คนต่างด้าวดังกล่าวพ้นจากการจับกุมก็ย่อมแสดงอยู่ในตัวว่าจำเลยรู้ว่าคนต่างด้าวนั้นเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนกฎหมาย ฟ้องโจทก์จึงครบองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 64 วรรคหนึ่ง และเป็นฟ้องที่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 658/2551
               การที่จำเลยขับรถยนต์กระบะโดยสารขนส่งคนโดยสารเป็นการประกอบการขนส่งไม่ประจำทางโดยจำเลยไม่ได้รับใบอนุญาต เป็นความผิดสำเร็จกรรมหนึ่งตั้งแต่จำเลยขับรถรับคนโดยสาร และการที่จำเลยรับคนต่างด้าวจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง เป็นการช่วยด้วยประการใด ๆ เพื่อให้คนต่างด้าวนั้นพ้นจากการจับกุม แม้เหตุการณ์ที่จำเลยถูกจับกุมจะเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องกันกับการกระทำความผิดฐานแรกก็ตาม แต่ลักษณะแห่งการกระทำสามารถแยกส่วนจากกันได้ จึงเป็นความผิดอีกกรรมหนึ่ง
 

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7566/2549
               จำเลยอุทธรณ์โต้เถียงข้อเท็จจริงที่จำเลยให้การรับสารภาพว่า คนต่างด้าวที่จำเลยให้ความช่วยเหลือเป็นคนต่างด้าวที่นายจ้างนำไปขึ้นทะเบียน จึงมีสิทธิที่จะประกอบอาชีพในราชอาณาจักร เป็นการอุทธรณ์ว่าการกระทำของจำเลยขาดองค์ประกอบความผิด เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยยกขึ้นอุทธรณ์ได้แม้ว่าจะไม่ได้ยกขึ้นในศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ที่ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยจึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 186 (6) ประกอบมาตรา 215 โจทก์ฟ้องว่าจำเลยให้ความช่วยเหลือคนต่างด้าวจำนวน 18 คน ให้พ้นจากการจับกุมแม้เอกสารแนบท้ายอุทธรณ์จะรับฟังได้ว่าคนต่างด้าวจำนวน 4 คน เข้ามาในราชอาณาจักรโดยได้รับอนุญาต และขณะเกิดเหตุยังอยู่ภายในระยะเวลาที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานตาม พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2521 มีผลทำให้การกระทำของจำเลยเกี่ยวกับคนต่างด้าว 4 คน ดังกล่าว ขาดองค์ประกอบความผิดตามฟ้อง แต่ยังคงรับฟังได้ว่าคนต่างด้าวอีก 14 คน ที่จำเลยให้ความช่วยเหลือนั้นเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนกฎหมาย จำเลยจึงยังมีความผิดตามฟ้อง


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 162/2549
               โจทก์บรรยายฟ้องข้อ ก. ว่า จำเลยได้ให้ความช่วยเหลือคนต่างด้าวโดยให้เข้าพักอาศัยอยู่ที่ที่พักคนงานภายในหมู่บ้าน พ. อันเป็นการช่วยเหลือซ่อนเร้นหรือช่วยเหลือด้วยประการใด ๆ เพื่อให้คนต่างด้าวนั้นพ้นจากการจับกุม และบรรยายฟ้องข้อ ข. ว่า จำเลยรับคนต่างด้าวซึ่งไม่มีใบอนุญาตเข้าทำงาน โดยรับเข้าทำงานเป็นคนงานก่อสร้างบ้านพักที่อยู่อาศัย โดยโจทก์หาได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยช่วยด้วยประการใด ๆ แก่คนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายด้วยการรับคนต่างด้าวนั้นให้เข้าทำงานเป็นคนงานก่อสร้างบ้านพักที่อยู่อาศัยเพียงประการเดียวเท่านั้นไม่ แต่ตามฟ้องข้อ ก. กลับแสดงให้เห็นว่าจำเลยได้ช่วยคนต่างด้าวด้วยประการอื่น ๆ อีก นอกจากการรับเข้าทำงานโดยให้คนต่างด้าวนั้นเข้าพักอาศัยอยู่ที่ที่พักคนงานภายในหมู่บ้าน พ. ด้วย ฟ้องของโจทก์จึงสามารถแยกเจตนาของจำเลยในการกระทำความผิดตามฟ้องแต่ละข้อได้อย่างชัดเจน การกระทำความผิดของจำเลยตามฟ้องข้อ ก. และ ข. จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 671/2548
               รถยนต์ของกลางเป็นพาหนะที่คนต่างด้าวโดยสาร เพื่อพาคนต่างด้าวให้พ้นจากการจับกุม ไม่ใช่ทรัพย์สินที่ทำหรือมีไว้เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 32 ทั้งไม่ใช่ทรัพย์สินซึ่งได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 33 (1) รถยนต์ของกลางโดยสภาพมีไว้เพื่อบรรทุกคนและสิ่งของจากที่หนึ่งไปยังที่อื่นอันเป็นวัตถุประสงค์ทั่วไป จึงริบรถยนต์ของกลางไม่ได้


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4149/2547
               โจทก์บรรยายฟ้องไว้ 2 ข้อ ข้อ ก. ว่า จำเลยรับคนต่างด้าวซึ่งลักลอบเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และข้อ ข. ว่า ภายหลังการกระทำความผิดข้อ ก. จำเลยให้ที่พำนัก ช่วยซ่อนเร้น และช่วยเหลือด้วยประการใดๆ แก่คนต่างด้าวโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ตามฟ้องของโจทก์จึงสามารถแยกเจตนาของจำเลยในการกระทำความผิดตามฟ้องแต่ละข้อได้อย่างชัดเจน การกระทำความผิดของจำเลยตามฟ้องข้อ ก. และ ข. จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้ แต่เนื่องจากโจทก์มิได้ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยเป็นสองกรรม ศาลฎีกาจึงไม่อาจแก้ไขในเรื่องโทษให้ผิดไปจากที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามาได้ เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย
 

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4045/2545
               จำเลยทั้งสองให้คนต่างด้าวโดยสารรถยนต์จากที่แห่งหนึ่งไปส่งยังที่อีกแห่งหนึ่งโดยรู้ว่าบุคคลนั้นเป็นคนต่างด้าวและเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนกฎหมาย การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 64 
ขณะที่จำเลยทั้งสองนำคนต่างด้าวไปส่ง เจ้าพนักงานตำรวจขอตรวจค้นและจับกุม จำเลยทั้งสองขับรถหนีและพุ่งเข้าชนรถยนต์ของทางราชการตำรวจเสียหายเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นใหม่คนละกะทงกับความผิดฐานนำคนต่างด้าวเข้าเมือง จึงเป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระตาม ป.อ. มาตรา 90 แต่ความผิดฐานขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่กับความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์เป็นการกระทำในวาระเดียวกันซึ่งเป็นวิธีการอย่างหนึ่งเพื่อหลบหนีการจับกุมเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทตาม ป.อ. มาตรา 90.


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8600/2544
               ความผิดฐานร่วมกันซ่อนเร้นหรือช่วยด้วยประการใด ๆ เพื่อให้คนต่างด้าวพ้นจากการจับกุมตามมาตรา 64 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ. คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 และความผิดฐานร่วมกันให้ทรัพย์สินแก่เจ้าพนักงานเพื่อจูงใจให้กระทำการหรือไม่กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ตาม ป.อ. มาตรา 144 เป็นความผิดที่ผู้กระทำการจะต้องมีเจตนาประสงค์ต่อผลต่างกัน กฎหมายจึงได้บัญญัติเป็นความผิดและมีบทลงโทษสำหรับความผิดแต่ละอย่างแตกต่างกัน และลักษณะแห่งการกระทำความผิดสามารถแยกส่วนจากกันได้ แสดงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายมุ่งประสงค์ที่จะลงโทษผู้กระทำความผิดในแต่ละการกระทำเป็นกรณีไป แม้เหตุการณ์ที่จำเลยทั้งสองถูกจับกุมจะเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องกับการกระทำผิดอีกฐานหนึ่งก็ตาม จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7685/2543
               จำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก 3 เดือน ปรับ 2,500 บาท แต่โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี และกำหนดเงื่อนไขให้คุมความประพฤติของจำเลยโดยให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือนต่อครั้ง มีกำหนด 1 ปี และจำเลยได้กระทำผิดคดีนี้อีกภายในระยะเวลาที่รอการลงโทษไว้ ฉะนั้น แม้โจทก์จะมิได้บรรยายฟ้องและมิได้ขอให้บวกโทษในคดีดังกล่าวเข้ากับคดีนี้มาท้ายฟ้อง แต่ก็เป็นกรณีที่ความปรากฏแก่ศาล ตาม ป.อ.มาตรา 58 วรรคหนึ่ง จึงให้นำโทษจำคุก 3 เดือนที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนมาบวกเข้ากับโทษของจำเลยในคดีนี้


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5592/2543
               การกระทำที่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองพ.ศ. 2522 มาตรา 64 วรรคหนึ่ง ผู้กระทำต้องให้คนต่างด้าวเข้าพักอาศัยซ่อนเร้น หรือช่วยด้วยประการใด ๆ เพื่อให้คนต่างด้าวนั้นพ้นจากการจับกุม
พ. กับ อ. เป็นคนต่างด้าวสัญชาติพม่า เป็นลูกจ้างส่งน้ำแข็งที่ร้านของจำเลย แม้จำเลยให้บุคคลทั้งสองพักอาศัยที่บ้านของจำเลยแต่จำเลยมีเจตนาให้บุคคลทั้งสองทำงานให้จำเลยเท่านั้น หาได้มีเจตนาเพื่อให้บุคคลทั้งสองพ้นจากการจับกุมไม่ เมื่อโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาสืบให้เห็นได้ว่าจำเลยมีเจตนาให้ พ. กับ อ. พ้นจากการจับกุมพยานหลักฐานของโจทก์ยังไม่พอฟังว่าจำเลยกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 64


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8746/2542
               ความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 64 วรรคหนึ่งบัญญัติถึงการกระทำที่เป็นความผิดคือ ให้คนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนกฎหมายเข้าพักอาศัย ซ่อนเร้น หรือช่วยด้วยประการใด ๆ เพื่อให้คนต่างด้าวนั้นพ้นจากการจับกุม คดีนี้ตามคำฟ้องข้อ (ก) โจทก์กล่าวหาจำเลยว่า ช่วยด้วยประการใด ๆ แก่คนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายด้วยการให้เข้าทำงานในร้านอาหารของจำเลยเท่านั้น มิได้มีการช่วยอย่างอื่นอีก ส่วนความผิดตามพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2521ตามคำฟ้องข้อ (ข) โจทก์กล่าวหาจำเลยว่า รับคนต่างด้าวซึ่งไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทำงานเป็นลูกจ้างในร้านอาหารของจำเลย จะเห็นได้ว่า การที่จำเลยรับคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักร โดยฝ่าฝืนกฎหมายเข้าทำงานในร้านอาหารของจำเลยโดยคนต่างด้าวนั้นไม่มีใบอนุญาตทำงาน เป็นการกระทำที่จำเลยมีเจตนาในผลการกระทำเป็นอย่างเดียวกันคือรับคนต่างด้าวเข้าทำงาน แม้จะเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ก็เป็นการกระทำโดยเจตนาเดียวกัน จึงถือว่าเป็นกรรมเดียว


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7244/2541
               การที่จำเลยทั้งห้ากับพวกร่วมกันชักชวนและนำพาบุคคลต่างด้าว 22 คน ให้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต แล้วร่วมกันจัดหาพาหนะให้บุคคลต่างด้าวเหล่านั้นโดยสารเดินทางไปยังกรุงเทพมหานคร อันเป็นการอุปการะช่วยเหลือและให้ความสะดวกแก่คนต่างด้าวให้เข้ามาในราชอาณาจักร รวมถึงการร่วมกันช่วยเหลือ ซ่อนเร้นเพื่อให้คนต่างด้าวพ้นจากการถูกจับกุม ล้วนเป็นการกระทำความผิดที่เป็นภัยอันตรายต่อประเทศชาติทั้งในด้านความมั่นคงและด้านสังคมอย่างมาก เพราะนอกจากจะเป็นช่องทางให้คนต่างด้าวเข้ามาปลอมตัวเป็นคนสัญชาติไทยและเข้ามาก่ออาชญากรรมทั้งที่ร้ายแรงและไม่ร้ายแรงอยู่เนือง ๆ แล้ว ยังเปิดโอกาสให้คนต่างด้าวเข้ามาแย่งอาชีพของคนไทย สร้างความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจให้แก่คนไทยโดยใช่เหตุ ยิ่งกว่านั้น คนต่างด้าวบางรายยังนำโรคติดต่อที่ยากต่อการบำบัดรักษา สร้างปัญหาทางด้านสาธารณสุขให้แก่คนในชาติอีกด้วย ลักษณะการกระทำความผิดของ จำเลยทั้งห้ากับพวกถือเป็นการกระทำความผิดที่ร้ายแรงไม่มีเหตุที่จะรอการลงโทษ
 

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3353/2541
               โจทก์ฟ้อง จำเลยให้การรับสารภาพและโจทก์มิได้นำสืบพยาน ไม่อาจกล่าวได้ว่าจำเลยจำนนต่อพยานหลักฐาน ย่อมมีเหตุบรรเทาโทษ สมควรลดโทษให้แก่จำเลย คนต่างด้าวที่จำเลยให้ความช่วยเหลือเป็นผู้เข้ามาในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมายและมีจำนวนมากถึง 10 คน ย่อมยาก แก่การควบคุมดูแลตลอดจนสืบหาติดตามตัวทำให้เกิดปัญหา แก่สังคมโดยส่วนรวมและก่อให้เกิดปัญหาแรงงานกระทบกระเทือน ต่อเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศ การที่จำเลยมีอายุถึง 52 ปี ทั้งยังเป็นผู้จัดการสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง ย่อมมีความรู้ความเข้าใจต่อปัญหาสังคมและเศรษฐกิจว่า การกระทำของจำเลยเกิดผลเสียต่อส่วนรวมได้ ที่จำเลยอ้างว่า กระทำไปโดยขาดความรู้ความเข้าใจในตัวบทกฎหมายย่อมไม่มีเหตุผล จึงไม่สมควรรอการลงโทษแก่จำเลย


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1890/2541
               การกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522มาตรา 64 วรรคหนึ่ง ผู้กระทำจะต้องรู้ว่า มีคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนต่อ พระราชบัญญัติคนเข้าเมืองพ.ศ. 2522 แล้วได้ให้พักอาศัย ซ่อนเร้นหรือช่วยด้วยประการใด ๆเพื่อให้คนต่างด้าวพ้นจากการจับกุม การที่จำเลยเพียงแต่นำอาหารไปให้คนต่างด้าวโดยโจทก์ไม่ได้นำสืบพฤติการณ์ อื่นเลยว่า จำเลยเป็นผู้ให้คนต่างด้าวพักอาศัยหรือเป็นผู้ซ่อนเร้นคนต่างด้าวเพื่อให้พ้นจากการถูกจับกุม แต่กลับได้ความว่าทางราชการผ่อนผันให้คนต่างด้าวเข้ามาทำมาหากินในราชอาณาจักรได้ในรัศมี 16 กิโลเมตร และที่เกิดเหตุก็อยู่ในรัศมี 16 กิโลเมตร ดังนั้น แม้จำเลยจะเป็นผู้พาคนต่างด้าวไปไว้ในโรงไม้ที่เกิดเหตุและนำอาหารไปส่งให้ ก็ยังไม่พอให้ฟังว่าจำเลยกระทำไปเพื่อให้คนต่างด้าวพ้นจากการจับกุมเพราะเมื่อทางราชการผ่อนผันให้แล้ว เจ้าพนักงานตำรวจก็ไม่สามารถจับกุมคนต่างด้าวนั้นได้


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 702/2537
               ลำพังแต่เพียงที่คนต่างด้าวซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตได้มาอยู่ในที่พักชั่วคราวหลังบ้านจำเลยและรับจ้างปลูกบ้านของจำเลยนั้นไม่อาจฟังว่าจำเลยได้กระทำเพื่อให้คนต่างด้าวพ้นจากการจับกุม


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5426/2536
               การกระทำผิดฐานช่วยคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืน พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง มาตรา 64 วรรคแรก เพื่อให้พ้นการจับกุม โดยใช้รถยนต์ของกลางเป็นพาหนะให้คนต่างด้าวนั่งมาในรถยนต์ของกลางด้วยนั้น ถือไม่ได้ว่ารถยนต์ของกลางเป็นทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิดดังกล่าวโดยตรง ไม่ริบรถยนต์ของกลาง


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3682/2524
               กรณีจะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 64 จะต้องได้ความว่า ผู้ที่จำเลยให้ที่พักอาศัย ซ่อนเร้นหรือช่วยด้วยประการใดๆ เป็นคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่รับอนุญาต และจำเลยก็ทราบแล้ว ทั้งต้องเป็นการให้เข้าพักอาศัย ซ่อนเร้น หรือช่วยด้วยประการใดๆ เพื่อให้คนต่างด้าวนั้นพ้นจากการจับกุม
เมื่อปรากฏว่าจำเลยกับ ท. ซึ่งโจทก์ว่าเป็นคนต่างด้าวได้แต่งงานกันตามประเพณี และได้อยู่กินด้วยกันโดยเปิดเผย ประกอบอาชีพทำสวนทำไร่และค้าขายจนมีบุตรด้วยกัน 3 คน จำเลยนำชื่อบุตรไปลงไว้ในทะเบียนบ้านว่าเป็นบุตรที่เกิดจาก ท.และให้ใช้นามสกุลของท.บ้านที่ท.ถูกจับก็เป็นบ้านที่จำเลยกับ ท. ร่วมกันสร้างระหว่างอยู่กินเป็นสามีภริยากัน ในวันที่ตำรวจไปค้นบ้านจำเลยก็พบ ท. นอนเล่นอยู่หลังบ้านมิได้ซ่อนเร้นแต่อย่างใดจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยให้ ท. เข้าพักอาศัยหรือซ่อนเร้นเพื่อให้ ท. พ้นจากการจับกุม การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิด
 

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1239/2523
               ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522มาตรา 64 โดยบรรยายฟ้องว่า จำเลยกับพวกร่วมกันซ่อนเร้นคนต่างด้าวไว้ในบ้านของจำเลย แต่ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในทางพิจารณาได้ความว่า ซ่อนเร้นไว้ในบ้านพวกของจำเลยซึ่งอยู่ตำบลเดียวกับบ้านของจำเลย ดังนี้ เป็นเพียงข้อแตกต่างในรายละเอียดไม่เป็นเหตุที่จะพิพากษายกฟ้อง
 

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11195/2556
               มาตรา 7 วรรคสอง ของ พ.ร.บ.มาตรการป้องกันและปราบปรามการค้าหญิงและเด็ก พ.ศ.2540 ของกฎหมายเดิมบัญญัติว่า ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง คนหนึ่งคนใดได้ลงมือกระทำความผิดตามที่สมคบกันไปแล้ว ผู้ร่วมสมคบด้วยกันทุกคนต้องระวางโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้นอีกกระทงหนึ่งด้วยนั้น เป็นเพียงบทบัญญัติประกอบการลงโทษบุคคลที่ร่วมสมคบกันกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งแล้ว มิใช่ฐานความผิดหรือบทกำหนดความผิดและกำหนดโทษในตัวเองที่จะใช้ลงโทษแก่ผู้กระทำความผิดโดยตรง และการที่มาตรา 7 วรรคสอง กำหนดให้ลงโทษผู้ร่วมสมคบตามวรรคหนึ่งทุกคนตามฐานความผิดที่มีการกระทำลงอีกกระทงหนึ่งด้วย แสดงอยู่ว่ากฎหมายมีเจตนารมณ์ให้ลงโทษฐานสมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้าหญิงและเด็กตามมาตรา 7 วรรคหนึ่ง กับความผิดฐานที่ได้มีการกระทำลงแยกต่างหากจากกันเป็นคนละกระทงกัน จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน มิใช่ความผิดกรรมเดียวกัน 
ความผิดฐานเป็นเจ้าของ ผู้ดูแลหรือผู้จัดการสถานการค้าประเวณี กับฐานเป็นธุระจัดหา ล่อไปหรือชักพาไปซึ่งบุคคลใดเพื่อให้บุคคลนั้นกระทำการค้าประเวณีตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 9 วรรคสอง และมาตรา 11 วรรคสอง เป็นความผิดที่อาศัยเจตนาต่างกันและมีองค์ประกอบความผิดต่างกัน จึงเป็นความผิดต่างกรรม แต่โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับความผิดดังกล่าวร่วมกันมาในข้อเดียว ย่อมเห็นได้ว่าโจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยทั้งสามในทุกฐานความผิดดังกล่าวเพียงกรรมเดียว หาได้มุ่งประสงค์ให้ลงโทษจำเลยทั้งสามเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตาม ป.อ. มาตรา 91 จึงลงโทษจำเลยทั้งสามสำหรับความผิดในฟ้องข้อนี้ได้เพียงกรรมเดียว


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5792/2550
               แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่า จำเลยได้กระทำความผิดฐานนำเมทแอมเฟตามีนเข้ามาในราชอาณาจักรจำนวน 22 เม็ด ตามคำฟ้องข้อ 1 ข แยกกับความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนจำนวนเดียวกันไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามคำฟ้องข้อ 1 ค ก็ตาม แต่คำฟ้องข้อ 1 ค โจทก์ได้บรรยายไว้โดยแจ้งชัดแล้วว่าเมทแอมเฟตามีนที่มีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายดังกล่าวเป็นเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยนำมาจากประเทศกัมพูชาเข้ามาในราชอาณาจักรจึงเป็นเมทแอมเฟตามีนจำนวนเดียวกัน ซึ่งมีจำนวนหน่วยการใช้และปริมาณน้ำหนักสารบริสุทธิ์ที่กฎหมายให้ถือว่าเป็นการนำเข้ามาเพื่อจำหน่ายเท่ากัน ทั้งโจทก์ได้อ้างบทมาตราขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานนำเมทแอมเฟตามีนเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายแล้ว ถือได้ว่าคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายไว้โดยชัดแจ้งว่า จำเลยกระทำความผิดฐานนำเมทแอมเฟตามีนของกลางเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่าย เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องประสงค์ให้ลงโทษจำเลยในความผิดดังกล่าวตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) (6) แล้ว
 

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4149/2547
               โจทก์บรรยายฟ้องไว้ 2 ข้อ ข้อ ก. ว่า จำเลยรับคนต่างด้าวซึ่งลักลอบเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และข้อ ข. ว่า ภายหลังการกระทำความผิดข้อ ก. จำเลยให้ที่พำนัก ช่วยซ่อนเร้น และช่วยเหลือด้วยประการใดๆ แก่คนต่างด้าวโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ตามฟ้องของโจทก์จึงสามารถแยกเจตนาของจำเลยในการกระทำความผิดตามฟ้องแต่ละข้อได้อย่างชัดเจน การกระทำความผิดของจำเลยตามฟ้องข้อ ก. และ ข. จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้ แต่เนื่องจากโจทก์มิได้ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยเป็นสองกรรม ศาลฎีกาจึงไม่อาจแก้ไขในเรื่องโทษให้ผิดไปจากที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามาได้ เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย
 

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2755/2545
               การพิจารณาพิพากษาคดีปกครองเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาในระบบไต่สวน ซึ่งมุ่งหมายให้ศาลทำหน้าที่ค้นคว้าหาความจริงและตรวจสอบการพิจารณาทางปกครองของเจ้าหน้าที่เป็นสำคัญ แม้ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นมีข้อความว่าคู่ความประสงค์ให้ศาลวินิจฉัยว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539มาตรา 3,4,5 และมาตรา 37 หรือไม่ โดยมิได้กล่าวถึงมาตรา 30 ที่โจทก์บรรยายมาในฟ้อง แต่เมื่อคำนึงถึงความประสงค์อันแท้จริงของโจทก์แล้วย่อมเห็นได้ว่าโจทก์มุ่งหมายให้ศาลตรวจสอบการพิจารณาและออกคำสั่งทางปกครองของจำเลยที่ 1 ว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จึงต้องถือว่าโจทก์ยังประสงค์ให้ศาลพิจารณาและวินิจฉัยว่าการออกคำสั่งของจำเลยที่ 1 เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 30 หรือไม่ และถือไม่ได้ว่าเป็นการสละประเด็นข้อนี้
งานทางนโยบายของนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีหมายถึงงานในส่วนที่เป็นการกำหนดทิศทางหรือการพิจารณาสั่งการเพื่อให้เป็นตามเป้าหมายในการบริหารราชการแผ่นดิน มิใช่งานที่มีลักษณะเป็นการปฏิบัติตามกฎหมายหรือระเบียบของทางราชการตามปกติ การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 16 ไม่อนุญาตให้โจทก์เข้ามาในราชอาณาจักร จึงมิใช่การปฏิบัติงานทางนโยบายโดยตรงตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 4(3) ทั้งไม่ใช่งานเกี่ยวกับราชการทหารหรือเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ทางยุทธการร่วมกับทหารในการป้องกันและรักษาความมั่นคงของราชอาณาจักรตามมาตรา 4(7) แต่เป็นการพิจารณาและออกคำสั่งทางปกครองซึ่งไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นตามมาตรา 4(3) และ (7) จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับมาตรา 30 เมื่อจำเลยที่ 1 พิจารณาและออกคำสั่งไม่อนุญาตให้โจทก์ซึ่งเป็นคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้พำนักอยู่ในประเทศไทยเข้ามาในราชอาณาจักร โดยมิได้ให้โอกาสโจทก์ทราบข้อเท็จจริงและโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานเพื่อหักล้างข้อมูลที่จำเลยที่ 1 อาศัยเป็นเหตุในการออกคำสั่งก่อน จึงไม่เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายและอาจถูกเพิกถอนได้ตามมาตรา 50


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9137/2554
               การที่จำเลยเป็นคนต่างชาติเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านตามช่องทาง อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 62 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 11 กับเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่มีหนังสือเดินทางและมิได้รับอนุญาตตามกฎหมายและเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านการตรวจของเจ้าพนักงานตรวจคนเข้าเมือง มิได้ยื่นรายการตามแบบที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 62 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 18 วรรคสอง และ 12 (1) เป็นความผิดในบทมาตราเดียว ทั้งเป็นการกระทำที่จำเลยประสงค์ที่จะเข้ามาในราชอาณาจักร จึงเป็นเจตนาเดียวกัน มิใช่การกระทำโดยเจตนาต่างกัน จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท 
การที่จำเลยอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตอันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 81 เป็นการกระทำที่จำเลยประสงค์ที่จะอยู่ในราชอาณาจักร ซึ่งเป็นเจตนาอีกเจตนาหนึ่งไม่ใช่เจตนาเดียวกันกับเจตนาที่เข้ามาในราชอาณาจักร การอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตของจำเลยจึงไม่เป็นการกระทำกรรมเดียวกับการเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตของจำเลย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน 
พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 62 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นบทลงโทษในความผิดฐานเป็นคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านช่องทางและเวลาตามกฎหมาย และฐานเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่มีหนังสือเดินทางและไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองหมื่นบาท ส่วนมาตรา 81 เป็นบทลงโทษในความผิดฐานอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตมีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา 62 วรรคหนึ่ง จึงเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักกว่าและในการพิพากษาลงโทษตามมาตรา 62 วรรคหนึ่ง ศาลต้องกำหนดโทษจำคุกเสมอ การที่ศาลวินิจฉัยว่าบทกฎหมายทั้งสองมาตรามีอัตราโทษเท่ากันจึงให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา 62 วรรคหนึ่ง ปรับเพียงสถานเดียวจึงเป็นการไม่ชอบ 
คดีนี้จำเลยเพียงแต่ให้การรับสารภาพ แต่ไม่ได้รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่ศาลลงโทษจำคุกในคดีก่อน และโจทก์ไม่ได้นำสืบในข้อนี้ และเมื่อในคดีนี้ศาลให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้ จึงไม่อาจนับโทษต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีก่อนได้


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5792/2550
               แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่า จำเลยได้กระทำความผิดฐานนำเมทแอมเฟตามีนเข้ามาในราชอาณาจักรจำนวน 22 เม็ด ตามคำฟ้องข้อ 1 ข แยกกับความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนจำนวนเดียวกันไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามคำฟ้องข้อ 1 ค ก็ตาม แต่คำฟ้องข้อ 1 ค โจทก์ได้บรรยายไว้โดยแจ้งชัดแล้วว่าเมทแอมเฟตามีนที่มีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายดังกล่าวเป็นเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยนำมาจากประเทศกัมพูชาเข้ามาในราชอาณาจักรจึงเป็นเมทแอมเฟตามีนจำนวนเดียวกัน ซึ่งมีจำนวนหน่วยการใช้และปริมาณน้ำหนักสารบริสุทธิ์ที่กฎหมายให้ถือว่าเป็นการนำเข้ามาเพื่อจำหน่ายเท่ากัน ทั้งโจทก์ได้อ้างบทมาตราขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานนำเมทแอมเฟตามีนเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายแล้ว ถือได้ว่าคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายไว้โดยชัดแจ้งว่า จำเลยกระทำความผิดฐานนำเมทแอมเฟตามีนของกลางเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่าย เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องประสงค์ให้ลงโทษจำเลยในความผิดดังกล่าวตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) (6) แล้ว


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5221/2549
               จำเลยที่ 2 ซึ่งศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่ามีความผิดตามคำฟ้อง แม้จะปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ยื่นอุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้กระทำความผิดและขอให้ยกฟ้อง เมื่อเนื้อหาในอุทธรณ์จำเลยที่ 2 คงอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะส่วนที่เป็นความผิดต่อ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษเท่านั้น โดยไม่ปรากฏว่าได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นส่วนที่ได้วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 เป็นคนต่างด้าวเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรและอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต จึงถือไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ในความผิดดังกล่าว แม้ศาลอุทธรณ์จะรับวินิจฉัยมาด้วย ก็เป็นการไม่ชอบ และในชั้นฎีกา แม้จำเลยที่ 2 จะฎีกาขอให้ยกฟ้องแต่ก็มิได้ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ส่วนที่เกี่ยวกับความผิดดังกล่าวเช่นเดียวกัน จึงถือได้ว่าความผิดดังกล่าวของจำเลยที่ 2 ยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว 
แม้จำเลยที่ 1 จะฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงไว้คลาดเคลื่อนไปหลายประการ รวมทั้งศาลอุทธรณ์กำหนดโทษจำเลยที่ 1 สูงเกินไป แต่ตามฎีกาดังกล่าว จำเลยที่ 1 ก็ยอมรับข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนกลางประสานให้ฝ่ายผู้ล่อซื้อและฝ่ายผู้ขายได้บรรลุผลสำเร็จในการซื้อขายเมทแอมเฟตามีนของกลาง เพียงแต่จำเลยที่ 1 โต้เถียงว่าจำเลยที่ 1 ได้พาคนของฝ่ายผู้ซื้อไปชี้จุดที่ซุกซ่อนเมทแอมเฟตามีนของกลางเท่านั้นโดยที่เมทแอมเฟตามีนของกลางไม่เคยอยู่ในความยึดถือครอบครองของจำเลยที่ 1 เลย ทั้งเมื่อพิจารณาประกอบกับคำขอท้ายฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในสถานเบา โดยจำเลยที่ 1 มิได้ขอให้ยกฟ้องด้วยแล้วเท่ากับว่า จำเลยที่ 1 ยอมรับมาในฎีกาโดยปริยายแล้วว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ติดต่อขายเมทแอมเฟตามีนของกลางให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจซึ่งปลอมตัวเป็นพ่อค้าผู้ล่อซื้อจริงดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยแล้ว จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์สำหรับความผิดฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนมาด้วย ถือว่าจำเลยที่ 1 ประสงค์จะฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ขอให้ยกฟ้องเฉพาะความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในสถานเบาสำหรับความผิดฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน เท่านั้น 
เมื่อคดีฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 11, 18 วรรคสอง, 62 วรรคหนึ่ง, 81 ตามคำฟ้องซึ่งเป็นความผิดต่างกรรมกันแล้ว ศาลจะต้องพิพากษากำหนดโทษจำเลยที่ 2 ตามบทกฎหมายดังกล่าวมาด้วย ส่วนเมื่อรวมโทษกับความผิดกระทงอื่นแล้ว จะลงโทษจำเลยที่ 2 ได้เพียงใดหรือไม่นั้น ย่อมเป็นไปตาม ป.อ. มาตรา 91 ที่ศาลชั้นต้นมิได้กำหนดโทษจำเลยที่ 2 ในความผิดดังกล่าวและเรียงกระทงลงโทษมาด้วย จึงเป็นการไม่ชอบ แต่เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์และฎีกา ศาลฎีกาจึงไม่อาจกำหนดโทษและเรียงกระทงลงโทษจำเลยที่ 2 ในความผิดดังกล่าวได้ เพราะจะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยที่ 2 ซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212, 225


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4908/2548
               ตามฟ้องโจทก์ที่ศาลชั้นต้นบันทึกไว้มิได้ระบุว่าโจทก์ขอให้ลงโทษตามบทมาตราแห่ง พ.ร.บ. คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ด้วย ซึ่งแสดงว่าฟ้องด้วยวาจาของโจทก์มิได้มีการแจ้งต่อศาลถึงบทมาตราแห่ง พ.ร.บ. คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 แม้การฟ้องคดีด้วยวาจาต่อศาลแขวง กฎหมายจะมิได้เคร่งครัดเหมือนกับการฟ้องด้วยลายลักษณ์อักษร แต่ข้อไม่เคร่งครัดดังกล่าวคงเป็นเรื่องการกระทำที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับเวลา สถานที่และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีเท่านั้น เพื่อให้สอดคล้องกับวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงซึ่งต้องการให้ดำเนินการให้เสร็จสิ้นไปโดยรวดเร็วเมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ ซึ่งหลักเกณฑ์ดังกล่าวหาได้รวมไปถึงการอ้างบทมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดอันเป็นหลักเกณฑ์เดียวกันกับการฟ้องคดีเป็นหนังสือ ตามที่ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (6) บัญญัติไว้แต่อย่างใดไม่ ดังนั้นบทมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด จึงเป็นหลักเกณฑ์ที่สำคัญซึ่งโจทก์ต้องแจ้งต่อศาลเมื่อมีการฟ้องด้วยวาจาด้วย การที่โจทก์ไม่แจ้งต่อศาลชั้นต้นถึงบทมาตราแห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง ในขณะที่โจทก์ฟ้องด้วยวาจาว่าจำเลยกระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติดังกล่าว ย่อมทำให้ฟ้องของโจทก์ในข้อหานี้ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 19 วรรคสอง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (6) แม้จำเลยให้การรับสารภาพก็ลงโทษในความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองไม่ได้


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8768/2547
               การฎีกาในปัญหาใดๆ ต่อศาลฎีกาย่อมเป็นเรื่องเฉพาะตัวของจำเลยแต่ละคน ดังนั้น จำเลยที่ 2 จะฎีกาแทนจำเลยที่ 1 ไม่ได้ 
ความผิดฐานเป็นคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เมื่อศาลอุทธรณ์มิได้พิพากษาแก้ ถือได้ว่าศาลอุทธรณ์พิพากษายืน และให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง การที่จำเลยที่ 2 ฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาในความผิดฐานนี้ด้วยนั้น เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการลงโทษของศาลอุทธรณ์ จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง 
เมทแอมเฟตามีนของกลางมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เกิน 20 กรัมขึ้นไป มีระวางโทษตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 66 วรรคสาม ให้จำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 1,000,000 บาท ถึง 5,000,000 บาท หรือประหารชีวิต การที่ศาลอุทธรณ์วางโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ตลอดชีวิต และปรับ 1,000,000 บาท จึงเป็นโทษขั้นต่ำสุดตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย เมื่อจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ การลดโทษจำคุกตลอดชีวิต จะต้องเปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นจำคุก 50 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 53 และเมื่อลดโทษให้จำเลยที่ 2 กึ่งหนึ่งแล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 25 ปี และปรับ 500,000 บาท ย่อมไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 2 ให้เบากว่านี้ได้ 
การกักขังแทนค่าปรับตาม ป.อ. มาตรา 30 วรรคแรก ให้ถืออัตราสองร้อยบาทต่อหนึ่งวัน เว้นแต่ในกรณีที่ศาลพิพากษาให้ปรับตั้งแต่แปดหมื่นบาทขึ้นไป ศาลจะสั่งให้กักขังแทนค่าปรับเป็นระยะเวลาเกินกว่า 1 ปีแต่ไม่เกิน 2 ปี ก็ได้ แต่ศาลจะต้องสั่งไว้ให้ชัดแจ้ง หากศาลไม่ได้สั่งไว้เป็นอย่างอื่นโดยชัดแจ้ง ก็จะกักขังเกินกำหนด 1 ปี ไม่ได้ ถึงแม้ศาลพิพากษาให้ปรับตั้งแต่ 80,000 บาทขึ้นไป เมื่อศาลชั้นต้นไม่ได้สั่งให้กักขังจำเลยทั้งสองไว้เป็นอย่างอื่น ดังนั้น หากจะกักขังแทนค่าปรับก็กักขังได้เพียง 1 ปี การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตาม ป.อ. มาตรา 29, 30 โดยให้กักขังเกินกว่า 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี จึงเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยทั้งสอง โดยโจทก์มิได้อุทธรณ์ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้อง รวมถึงมีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ที่มิได้ฎีกาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสองและมาตรา 213 ประกอบด้วยมาตรา 225


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8103/2538
               จำเลยเป็นคนต่างด้าวและเข้ามาในราชอาณาจักรไทย ต่อมาได้รับบัตรประจำตัวนักศึกษาพม่า (ชั่วคราว) ซึ่งออกโดยปลัดกระทรวงมหาดไทยแต่จำเลยมิได้นำสืบให้เห็นว่า ปลัดกระทรวงมหาดไทยมีอำนาจอนุญาตให้จำเลยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวได้ ทั้งตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 35 อำนาจที่จะอนุญาตให้คนต่างด้าวซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวตามมาตรา 34 เป็นของอธิบดีกรมตำรวจหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งอธิบดีกรมตำรวจมอบหมาย ดังนี้ จำเลยจึงมีความผิดฐานอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต 
จำเลยซึ่งเป็นคนต่างด้าวมิได้นำสืบให้เห็นว่า จำเลยเข้ามาในราชอาณาจักรตามช่องทางที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกำหนด และไม่ปรากฏว่าจำเลยมีหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางอันถูกต้องและยังสมบูรณ์อยู่ หรือมีแต่ไม่ได้รับการตรวจลงตราในหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางเช่นว่านั้นจากสถานทูตหรือสถานกงสุลไทยในต่างประเทศหรือจากกระทรวงการต่างประเทศ ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยมีใบสำคัญถิ่นที่อยู่ตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 กับไม่มีใบสำคัญประจำตัวตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนคนต่างด้าว จำเลยจึงมีความผิดฐานเป็นคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตอีกกระทงหนึ่ง
 

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3042/2532
               โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยในข้อหาความผิดต่อ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ซึ่งเป็นคดีอยู่ในอำนาจศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษาพร้อมกับข้อหาความผิดเกี่ยวกับเอกสารต่อศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลจังหวัด โดยมิต้องผัดฟ้อง ฝากขังจำเลยตามพ.ร.บ. จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499เพราะเป็นกรณีความผิดหลายเรื่องเกี่ยวพันกัน ซึ่งโจทก์จะฟ้องคดีทุกเรื่องต่อศาลที่มีอำนาจชำระในฐานความผิดที่มีอัตราโทษสูงกว่าก็ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 24 กรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 3 และมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัดพ.ศ. 2520(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 4/2532).


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9241/2554
               การที่จำเลยมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอม เป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ. เครื่องหมาย การค้า พ.ศ. 2534 ซึ่งมีองค์ประกอบความผิดแตกต่างจากความผิดฐานมีไว้เพื่อขายซึ่งยาสูบที่มิได้ปิดแสตมป์ยาสูบอันเป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ยาสูบ พ.ศ.2509 และเป็นพระราชบัญญัติที่มีโทษทางอาญาคนละฉบับกัน จึงสามารถแยกการกระทำแต่ละอย่างต่างหากจากกันได้ถือได้ว่าเป็นการกระทำความผิดต่างกรรมกัน 
ความผิดฐานเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตกับฐานอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตมีองค์ประกอบความผิดต่างกัน และกฎหมายมีเจตนารมณ์ในการลงโทษจากการกระทำที่ต่างกัน โดยแยกการกระทำออกจากกันได้ จึงเป็นความผิดต่างกรรมกัน


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9137/2554
               การที่จำเลยเป็นคนต่างชาติเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านตามช่องทาง อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 62 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 11 กับเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่มีหนังสือเดินทางและมิได้รับอนุญาตตามกฎหมายและเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านการตรวจของเจ้าพนักงานตรวจคนเข้าเมือง มิได้ยื่นรายการตามแบบที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 62 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 18 วรรคสอง และ 12 (1) เป็นความผิดในบทมาตราเดียว ทั้งเป็นการกระทำที่จำเลยประสงค์ที่จะเข้ามาในราชอาณาจักร จึงเป็นเจตนาเดียวกัน มิใช่การกระทำโดยเจตนาต่างกัน จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท 
การที่จำเลยอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตอันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 81 เป็นการกระทำที่จำเลยประสงค์ที่จะอยู่ในราชอาณาจักร ซึ่งเป็นเจตนาอีกเจตนาหนึ่งไม่ใช่เจตนาเดียวกันกับเจตนาที่เข้ามาในราชอาณาจักร การอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตของจำเลยจึงไม่เป็นการกระทำกรรมเดียวกับการเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตของจำเลย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน 
พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 62 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นบทลงโทษในความผิดฐานเป็นคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านช่องทางและเวลาตามกฎหมาย และฐานเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่มีหนังสือเดินทางและไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองหมื่นบาท ส่วนมาตรา 81 เป็นบทลงโทษในความผิดฐานอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตมีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา 62 วรรคหนึ่ง จึงเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักกว่าและในการพิพากษาลงโทษตามมาตรา 62 วรรคหนึ่ง ศาลต้องกำหนดโทษจำคุกเสมอ การที่ศาลวินิจฉัยว่าบทกฎหมายทั้งสองมาตรามีอัตราโทษเท่ากันจึงให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา 62 วรรคหนึ่ง ปรับเพียงสถานเดียวจึงเป็นการไม่ชอบ 
คดีนี้จำเลยเพียงแต่ให้การรับสารภาพ แต่ไม่ได้รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่ศาลลงโทษจำคุกในคดีก่อน และโจทก์ไม่ได้นำสืบในข้อนี้ และเมื่อในคดีนี้ศาลให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้ จึงไม่อาจนับโทษต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีก่อนได้


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7592/2554
               ความผิดฐานนำเมทแอมเฟตามีนเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 65 วรรคหนึ่ง มีระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต ดังนั้น เมื่อลดมาตราส่วนโทษกึ่งหนึ่งจะต้องเปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นโทษจำคุก 50 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 53 เสียก่อน เมื่อคำนวณแล้วจะเหลือโทษจำคุก 25 ปี และเมื่อลดโทษให้อีกหนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา 78 แล้ว คงเหลือโทษจำคุก 16 ปี 8 เดือน หาใช่ 33 ปี 4 เดือน


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5221/2549
               จำเลยที่ 2 ซึ่งศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่ามีความผิดตามคำฟ้อง แม้จะปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ยื่นอุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้กระทำความผิดและขอให้ยกฟ้อง เมื่อเนื้อหาในอุทธรณ์จำเลยที่ 2 คงอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะส่วนที่เป็นความผิดต่อ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษเท่านั้น โดยไม่ปรากฏว่าได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นส่วนที่ได้วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 เป็นคนต่างด้าวเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรและอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต จึงถือไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ในความผิดดังกล่าว แม้ศาลอุทธรณ์จะรับวินิจฉัยมาด้วย ก็เป็นการไม่ชอบ และในชั้นฎีกา แม้จำเลยที่ 2 จะฎีกาขอให้ยกฟ้องแต่ก็มิได้ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ส่วนที่เกี่ยวกับความผิดดังกล่าวเช่นเดียวกัน จึงถือได้ว่าความผิดดังกล่าวของจำเลยที่ 2 ยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว 
แม้จำเลยที่ 1 จะฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงไว้คลาดเคลื่อนไปหลายประการ รวมทั้งศาลอุทธรณ์กำหนดโทษจำเลยที่ 1 สูงเกินไป แต่ตามฎีกาดังกล่าว จำเลยที่ 1 ก็ยอมรับข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนกลางประสานให้ฝ่ายผู้ล่อซื้อและฝ่ายผู้ขายได้บรรลุผลสำเร็จในการซื้อขายเมทแอมเฟตามีนของกลาง เพียงแต่จำเลยที่ 1 โต้เถียงว่าจำเลยที่ 1 ได้พาคนของฝ่ายผู้ซื้อไปชี้จุดที่ซุกซ่อนเมทแอมเฟตามีนของกลางเท่านั้นโดยที่เมทแอมเฟตามีนของกลางไม่เคยอยู่ในความยึดถือครอบครองของจำเลยที่ 1 เลย ทั้งเมื่อพิจารณาประกอบกับคำขอท้ายฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในสถานเบา โดยจำเลยที่ 1 มิได้ขอให้ยกฟ้องด้วยแล้วเท่ากับว่า จำเลยที่ 1 ยอมรับมาในฎีกาโดยปริยายแล้วว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ติดต่อขายเมทแอมเฟตามีนของกลางให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจซึ่งปลอมตัวเป็นพ่อค้าผู้ล่อซื้อจริงดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยแล้ว จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์สำหรับความผิดฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนมาด้วย ถือว่าจำเลยที่ 1 ประสงค์จะฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ขอให้ยกฟ้องเฉพาะความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในสถานเบาสำหรับความผิดฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน เท่านั้น 
เมื่อคดีฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 11, 18 วรรคสอง, 62 วรรคหนึ่ง, 81 ตามคำฟ้องซึ่งเป็นความผิดต่างกรรมกันแล้ว ศาลจะต้องพิพากษากำหนดโทษจำเลยที่ 2 ตามบทกฎหมายดังกล่าวมาด้วย ส่วนเมื่อรวมโทษกับความผิดกระทงอื่นแล้ว จะลงโทษจำเลยที่ 2 ได้เพียงใดหรือไม่นั้น ย่อมเป็นไปตาม ป.อ. มาตรา 91 ที่ศาลชั้นต้นมิได้กำหนดโทษจำเลยที่ 2 ในความผิดดังกล่าวและเรียงกระทงลงโทษมาด้วย จึงเป็นการไม่ชอบ แต่เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์และฎีกา ศาลฎีกาจึงไม่อาจกำหนดโทษและเรียงกระทงลงโทษจำเลยที่ 2 ในความผิดดังกล่าวได้ เพราะจะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยที่ 2 ซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212, 225


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4908/2548
               ตามฟ้องโจทก์ที่ศาลชั้นต้นบันทึกไว้มิได้ระบุว่าโจทก์ขอให้ลงโทษตามบทมาตราแห่ง พ.ร.บ. คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ด้วย ซึ่งแสดงว่าฟ้องด้วยวาจาของโจทก์มิได้มีการแจ้งต่อศาลถึงบทมาตราแห่ง พ.ร.บ. คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 แม้การฟ้องคดีด้วยวาจาต่อศาลแขวง กฎหมายจะมิได้เคร่งครัดเหมือนกับการฟ้องด้วยลายลักษณ์อักษร แต่ข้อไม่เคร่งครัดดังกล่าวคงเป็นเรื่องการกระทำที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับเวลา สถานที่และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีเท่านั้น เพื่อให้สอดคล้องกับวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงซึ่งต้องการให้ดำเนินการให้เสร็จสิ้นไปโดยรวดเร็วเมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ ซึ่งหลักเกณฑ์ดังกล่าวหาได้รวมไปถึงการอ้างบทมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดอันเป็นหลักเกณฑ์เดียวกันกับการฟ้องคดีเป็นหนังสือ ตามที่ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (6) บัญญัติไว้แต่อย่างใดไม่ ดังนั้นบทมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด จึงเป็นหลักเกณฑ์ที่สำคัญซึ่งโจทก์ต้องแจ้งต่อศาลเมื่อมีการฟ้องด้วยวาจาด้วย การที่โจทก์ไม่แจ้งต่อศาลชั้นต้นถึงบทมาตราแห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง ในขณะที่โจทก์ฟ้องด้วยวาจาว่าจำเลยกระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติดังกล่าว ย่อมทำให้ฟ้องของโจทก์ในข้อหานี้ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 19 วรรคสอง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (6) แม้จำเลยให้การรับสารภาพก็ลงโทษในความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองไม่ได้


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 336/2535
               คนต่างด้าวจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 81 ต้องอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือการอนุญาตสิ้นสุดหรือถูกเพิกถอน


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3863/2530
               จำเลยได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรได้เป็นการชั่วคราวโดยมีชื่ออยู่ในทะเบียนญวนอพยพ ต่อมาจำเลยหลบหนีออกนอกราชอาณาจักรตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองมาตรา 39 ให้ถือว่าการได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเป็นอันสิ้นสุด ดังนี้เมื่อจำเลยกลับเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรอีกก็ต้องเป็นความผิดตามมาตรา 81 การที่ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคายมีคำสั่งอนุมัติให้ถอนชื่อจำเลยจากทะเบียนญวนอพยพคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่จึงไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะการถอนชื่อจำเลยออกจากทะเบียนญวนอพยพกับการอนุญาตถูกเพิกถอนเป็นคนละกรณีกัน ฎีกาข้อกฎหมายของจำเลยจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับวินิจฉัย ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 15,215,225

=========================================================


บริการยื่นขอวีซ่า ให้คำปรึกษา ทุกปัญหาด้านวีซ่า เราสามารถแก้ไขได้


               บริษัท สกายอินเตอร์เนชั่นแนลลีกัล จำกัด เป็นผู้เชี่ยวชาญในการขอวีซ่าให้ชาวต่างชาติที่ต้องการเดินทางเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งชาวต่างชาติแต่ละคนที่ต้องการเดินทางเข้ามาในประเทศไทยด้วยจุดประสงค์ในการเดินทางที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็น เพื่อการท่องเที่ยว เพื่อการพักอาศัยระยะสั้น เพื่อการเข้ามาทำงานในประเทศไทย เพื่อเข้ารับการศึกษาจากสถานบันการศึกษาในประเทศไทย การเดินทางติดตามสามี, ภรรยา หรือครอบครัว ตลอดจนเข้ามาอยู่อาศัยในวัยเกษียณอายุ และการขอมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย ซึ่งทางบริษัทสกาย อินเตอร์เนชั่นแนลลีกัล จำกัด มีผู้เชี่ยวชาญในด้านการยื่นขอวีซ่า คอยบริการท่าน ตั้งแต่ขั้นตอนการให้คำปรึกษา จัดเตรียมเอกสาร แปลเอกสาร กรอกแบบฟอร์ม ยื่นเอกสาร ตลอดจนติดต่อประสานงานกับกรมการกงศุล และสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง จนเสร็จสิ้นขั้นตอนเมื่อท่านได้รับวีซ่าไทยเรียบร้อยแล้ว (อ่านรายละเอียด)


=========================================================


          กรณีที่ท่านมีความสงสัยหรือต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถติดต่อมาได้ที่ บริษัท สกายอินเตอร์เนชั่นแนลลีกัล จำกัด
เลขที่ 725 อาคารเอส เมโทร ชั้น 20 ห้อง 174 ถนนสุขุมวิท แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร 10110
โทร 081-9151522, 090-0700080  email: skyinterlegal@gmail.com , ดูแผนที่ (คลิกที่นี่)



บริษัท สกายอินเตอร์เนชั่นแนลลีกัล จำกัด 
725 อาคารเอส เมโทร ชั้น 20 ห้อง 174 ถนนสุขุมวิท
แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร 10110

โทร. 081-9151522, 090-0700080            E-mail : skyinterlegal@gmail.com           Facebook : Skyinterlegal
Copyright 2011-2022 Sky International Legal Co.,Ltd. All rights reserved.
 
  
view