คำพิพากษาศาลฎีกา ความผิดตาม พระราชบัญญัติ เครื่องหมายการค้า
|
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3585/2546 ความผิดที่โจทก์บรรยายฟ้องมานั้นเป็นความผิดต่อเนื่องและกระทำต่อเนื่องเกี่ยวพันกันทั้งในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลพระราชวัง กรุงเทพมหานคร และสถานีตำรวจภูธรอำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี ดังนั้น พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอบางบัวทองซึ่งเป็นท้องที่ที่จำเลยที่ 2 ถูกจับ จึงมีอำนาจสอบสวนได้โดยชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 19 วรรคหนึ่ง (3) และวรรคสาม (ก) โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 120
โจทก์ร่วมที่ 1 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์และศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ร่วมที่ 1 เข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีได้นั้นต้องถือว่าเป็นการอนุญาตให้โจทก์ร่วมที่ 1 เข้าร่วมเป็นโจทก์ได้เฉพาะความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ ซึ่งมีโจทก์ร่วมที่ 1 และโจทก์ร่วมที่ 2 เป็นผู้เสียหายเท่านั้น เพราะโจทก์ร่วมทั้งสองมิได้เป็นผู้เสียหายในความผิดตามพระราชบัญญัติอาหารฯ
การที่จำเลยที่ 2 มีอาหารปลอมไว้เพื่อจำหน่ายและจำหน่าย โดยที่อาหารดังกล่าวนั้นมีเครื่องหมายการค้าปลอมอยู่ด้วยก็ด้วยเจตนาเดียวว่าประสงค์จำหน่ายและมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งอาหารปลอม เมื่ออาหารปลอมนั้นมีเครื่องหมายการค้าปลอมอยู่ด้วยและกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดไว้ จึงเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5687/2545 ตามพระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2542 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2542 ซึ่งมาตรา 3 ให้ยกเลิก พระราชบัญญัติว่าด้วยการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2474 กับพระราชบัญญัติว่าด้วยการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิงฉบับที่ 2 พ.ศ. 2496 ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2508 ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2520 และฉบับที่ 5พ.ศ. 2530 เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องคดีเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2543 หลังวันที่พระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2542 ใช้บังคับแล้ว 1 ปีเศษ โดยบรรยายฟ้องว่า จำเลยกับพวกร่วมกันมีเก็บไว้เพื่อจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงชนิดไม่น่ากลัวอันตราย มีปริมาณเกินกว่า 10,000 ลิตร ไว้ในสถานที่เก็บน้ำมันโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน และขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2474ซึ่งถูกยกเลิกไปก่อนแล้ว โดยมิได้บรรยายฟ้องให้ปรากฏว่าการกระทำของจำเลยยังคงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2542 ที่บัญญัติขึ้นใช้ในภายหลัง แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพก็รับฟังไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยในระหว่างเวลาที่พระราชบัญญัติว่าด้วยการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2474 ยังมีผลใช้บังคับอยู่นั้นยังคงเป็นความผิดตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง ต้องถือว่าจำเลยพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง ส่วนการกระทำของจำเลยนับแต่วันที่ พระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2542 บัญญัติขึ้นใช้ภายหลังและยกเลิก พระราชบัญญัติว่าด้วยการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2474 แล้ว โจทก์ยังบรรยายฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดและขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2474 ซึ่งถูกยกเลิกไป จึงมีผลเท่ากับโจทก์ไม่ได้อ้างบทกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำของจำเลยระหว่างวันเวลาดังกล่าวเป็นความผิดจึงเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ มาตรา 26ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(6) ต้องยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานนี้
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยหลอกลวงให้ผู้ซื้อสินค้าเข้าใจผิดว่าสินค้าที่จำเลยผลิตขึ้นนั้นเป็นของบริษัท ส. และบริษัท ฮ. ผู้เสียหาย โดยใช้ป้ายโฆษณาที่มีตราเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายติดที่สินค้า อันเป็นการใช้ฉลากซึ่งมีเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายในการขายสินค้าเพื่อลวงให้ผู้ซื้อเข้าใจผิดนั้นถือว่าเป็นการกระทำที่มีเจตนาเดียวกันในความผิดฐานเสนอจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอม กับฐานใช้ฉลากในการขายสินค้าเพื่อให้เกิดความเข้าใจผิดในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ ปริมาณของสินค้าดังกล่าว เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท มิใช่ความผิดหลายกรรมต่างกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1835/2545 การที่พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ ซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นใช้ในภายหลังประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 275 ประกอบด้วยมาตรา 273 มีบทบัญญัติมาตรา 110(1) ประกอบด้วยมาตรา 108 ซึ่งกำหนดให้เฉพาะการเสนอจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรเท่านั้นเป็นความผิดทางอาญาเป็นเพราะเครื่องหมายการค้าที่ได้รับจดทะเบียนในราชอาณาจักรจะได้รับความคุ้มครองสำหรับสินค้าที่จดทะเบียนไว้ตามมาตรา 44 เฉพาะในเขตพื้นที่ภายในราชอาณาจักรเท่านั้น ผู้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนไว้นอกราชอาณาจักรแต่ยังไม่ได้รับการจดทะเบียนในราชอาณาจักรไม่อาจฟ้องคดีเพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนหรือเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อการละเมิดสิทธิดังกล่าวได้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 46วรรคแรก เว้นแต่จะเป็นกรณีที่มีบุคคลอื่นเอาสินค้าของตนไปลวงขายว่าเป็นสินค้าของเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นตามมาตรา 46 วรรคสอง ส่วนประมวลกฎหมายอาญามาตรา 275 ประกอบด้วยมาตรา 273 ซึ่งออกมาใช้บังคับก่อน พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ ให้ความคุ้มครองสิทธิของเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้นอกราชอาณาจักรที่จะดำเนินคดีอาญาแก่ผู้เสนอจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าดังกล่าวปลอมได้ด้วย แม้พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯมาตรา 110(1) ประกอบด้วยมาตรา 108 มิได้คุ้มครองสิทธิของเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนนอกราชอาณาจักรไว้เช่นนั้นก็ไม่อาจถือได้ว่าบทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญา ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติในพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯเมื่อพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ เป็นกฎหมายเฉพาะซึ่งใช้บังคับในภายหลังมาตรา 3 วรรคแรก ให้ยกเลิกเฉพาะพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474และพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2504 เท่านั้น มิได้ให้ยกเลิกความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 275 ประกอบด้วยมาตรา 273 ด้วย ทั้งไม่อาจถือว่ามาตรา 275 ประกอบด้วยมาตรา 273 ขัดหรือแย้งกับมาตรา 110(1) ประกอบด้วยมาตรา 108 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ บทบัญญัติมาตรา 275 ประกอบด้วยมาตรา 273 จึงมิได้ถูกยกเลิกไปโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ ดังนั้นการที่จำเลยเสนอจำหน่ายสินค้ากระเป๋าที่มีเครื่องหมายการค้าซึ่งมีผู้ทำปลอมเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายที่ได้จดทะเบียนไว้นอกราชอาณาจักร จึงมีความผิดและต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 275 ประกอบด้วยมาตรา 273
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1718/2545 ความผิดฐานปลอมเครื่องหมายการค้าที่เกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าซึ่งได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 273มีองค์ประกอบความผิดเช่นเดียวกับความผิดฐานปลอมเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 108เพียงแต่มีโทษเบากว่าเท่านั้น ซึ่งเมื่อความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯมาตรา 108 ได้บัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้โดยเฉพาะแล้ว จึงต้องใช้พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 108 แทน ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 3 วรรคสอง ดังนั้น การปรับบทความผิดฐานปลอมเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 273 มาด้วยจึงไม่ถูกต้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4207/2543 โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งหกปลอมเครื่องหมายการค้า (xxxx) ของโจทก์ โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องนำสืบให้เห็นได้ว่าจำเลยทั้งหกมีเจตนากระทำผิด เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 4 ได้แสดงออกต่อจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ผู้เข้าร่วมทุนจัดตั้งบริษัทกับจำเลยที่ 4 ว่าเป็นเจ้าของผู้มีสิทธิใช้ เครื่องหมายการค้า (xxxx) และจะนำมาร่วมลงทุนจัดตั้งบริษัทจำเลยที่ 1 ขึ้นมาผลิตสินค้าจำหน่ายโดยใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าว แม้จำเลยที่ 4 มิได้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า (xxxx) ก็ตามแต่เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ในห้างหุ้นส่วนจำกัดที่โจทก์และจำเลยที่ 4 ร่วมเข้าหุ้นจัดตั้งขึ้นมาและได้ผลิตสินค้าโดยใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์นำออกจำหน่ายตลอดมา พฤติการณ์ของโจทก์ดังกล่าวย่อมทำให้บุคคลทั่วไปรวมทั้งจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 เข้าใจได้ว่าจำเลยที่ 4 เป็นเจ้าของผู้มีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้า (xxxx) นี้ ทั้งเมื่อภายหลังจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ทราบว่า เครื่องหมายการค้า (xxxx) เป็นของโจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 ก็ไม่ได้ใช้ เครื่องหมายการค้าดังกล่าวอีกต่อไป การที่จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นกรรมการ คนหนึ่งของจำเลยที่ 1 ได้ทราบว่าเครื่องหมายการค้าเป็นของโจทก์ ก็ยังไม่อาจถือได้ว่า จำเลยที่ 1 ทราบข้อเท็จจริงนั้น การกระทำของ จำเลยที่ 1 รวมทั้งจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ย่อมถือได้ว่าขาดเจตนา อันจะเป็นมูลความผิดทางอาญาฐานร่วมกันปลอมเครื่องหมายการค้า และจำหน่ายเครื่องหมายการค้าปลอมของโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2817/2543 โจทก์ที่ 1 ซึ่งจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นผู้ผลิตสินค้าปัตตะเลี่ยนโดยใช้เครื่องหมายการค้าจดทะเบียนในประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศไทย คำว่า "WAxx" โจทก์ที่ 1 ย่อมเป็นผู้มีสิทธิแต่ผู้เดียวในอันที่จะใช้เครื่องหมายการค้านั้นสำหรับสินค้าปัตตะเลี่ยน ทำให้โจทก์ที่ 1 มีสิทธิหวงกันไม่ให้ผู้อื่นนำเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 1 ไปใช้โดยมิชอบ วัตถุประสงค์ของการใช้เครื่องหมายการค้ากับสินค้าก็เพื่อแยกความแตกต่างระหว่างสินค้าของเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นกับสินค้าของผู้อื่นและเพื่อระบุว่าสินค้านั้นเป็นของเจ้าของเครื่องหมายการค้าดังกล่าว ซึ่งเป็นประโยชน์ในการจำหน่ายสินค้าของตนการที่มีผู้ซื้อสินค้าของเจ้าของเครื่องหมายการค้าเพื่อนำไปจำหน่ายต่อไป ก็เป็นเรื่องปกติธรรมดาในการประกอบการค้า เมื่อผู้ผลิตสินค้าที่เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าได้จำหน่ายสินค้าของตนในครั้งแรก ซึ่งได้รับประโยชน์จากการใช้เครื่องหมายการค้านั้นจากราคาสินค้าที่จำหน่ายไปเสร็จสิ้นแล้ว จึงไม่มีสิทธิหวงกันไม่ให้ผู้ซื้อสินค้าซึ่งประกอบการค้าปกตินำสินค้านั้นออกจำหน่ายอีกต่อไป โจทก์ที่ 1 ไม่มีสิทธิหวงกันไม่ให้จำเลยนำเข้าซึ่งสินค้าปัตตะเลี่ยนที่มีเครื่องหมายการค้าที่แท้จริงที่จำเลยซื้อจากตัวแทนจำหน่ายสินค้าของโจทก์ที่ 1 ในประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์มาจำหน่ายในประเทศไทยได้
แม้กล่องบรรจุสินค้าปัตตะเลี่ยนซึ่งมีเครื่องหมายการค้าคำว่า "WAxx" จะมีซองกระดาษที่มีเครื่องหมายการค้าเดียวกันห่อหุ้มกล่องและมีใบรับประกันที่มีเครื่องหมายการค้าเดียวกันระบุชื่อที่อยู่ของจำเลยว่าเป็นศูนย์บริการ ก็เป็นเครื่องหมายการค้าที่แสดงว่าสินค้าปัตตะเลี่ยนในกล่องหรือหีบห่อนั้นเป็นสินค้าของโจทก์ที่ 1 จำเลยเพียงแต่เป็นผู้ให้บริการรับซ่อมปัตตะเลี่ยนให้เท่านั้น มิใช่แสดงว่าจำเลยเป็นเจ้าของหรือผู้มีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 1 การกระทำของจำเลยไม่เป็นการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า "WAxx"ของโจทก์ที่ 1
โจทก์ที่ 2 เป็นผู้นำเข้าซึ่งสินค้าปัตตะเลี่ยนที่มีเครื่องหมายการค้าคำว่า"WAxx" ของโจทก์ที่ 1 จากประเทศสหรัฐอเมริกามาจำหน่ายในประเทศไทยโจทก์ที่ 1 ไม่ได้ตั้งให้โจทก์ที่ 2 เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าดังกล่าวของโจทก์ที่ 1 ในประเทศไทยแต่เพียงผู้เดียว โจทก์ที่ 2 จึงเป็นเพียงผู้นำเข้าซึ่งสินค้าปัตตะเลี่ยนที่มีเครื่องหมายการค้าดังกล่าวจากโจทก์ที่ 1 มาจำหน่ายในประเทศไทยผู้หนึ่งเท่านั้น จึงฟังไม่ได้ว่า การที่จำเลยนำเข้าซึ่งสินค้าปัตตะเลี่ยนที่มีเครื่องหมายการค้าคำว่า "WAxx" เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยเป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ที่ 2 อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ที่ 2ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 421
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 476/2543 ตามคำฟ้องโจทก์ได้ติดรูปเครื่องหมายการค้าที่อ้างว่าจำเลยใช้กับกางเกงยีนของกลางอันเป็นเครื่องหมายการค้าซึ่งเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมเข้ามาด้วยถึงแม้รูปเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ติดมาในฟ้องจะไม่ชัดเจนในรายละเอียด แต่ก็ยังเห็นได้ถึงลักษณะโครงสร้างที่เป็นสาระสำคัญได้ ซึ่งในชั้นพิจารณาโจทก์และโจทก์ร่วมย่อมสามารถนำสืบโดยเสนอเครื่องหมายการค้าที่อ้างว่าจำเลยใช้กับกางเกงยีนซึ่งเป็นเครื่องหมายการค้าที่เลียนแบบตามฟ้องได้ว่าคือเครื่องหมายการค้าตามภาพถ่ายกางเกงยีนของกลางเอกสารหมาย จ.5 ซึ่งเป็นเครื่องหมายการค้าแบบเดียวกับเครื่องหมายการค้าเอกสารหมาย ล.3 กรณีจึงไม่ใช่เรื่องข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวมาในฟ้อง
เป็นเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ใช้กับกางเกงยีนของกลาง แม้ว่าพิจารณาโดยรวมแล้วมีส่วนที่แตกต่างจากอันเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมก็ตาม แต่เครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมสาระสำคัญอยู่ที่เสียงเรียกขาน คำว่า CANxxxx ส่วนเครื่องหมายการค้าซึ่งใช้ติดกางเกงยีนก็มีตัวอักษรโรมันคำว่า CANxxxx และออกเสียงเรียกขานว่า คันxxxx เช่นเดียวกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วม นอกจากนี้แถบผ้าแสดงขนาดของกางเกงยีนของจำเลยก็ปักอักษรโรมันคำว่า CANxxxx แสดงว่าตัวอักษรโรมันคำว่า CANxxxx เป็นสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้าซึ่งติดอยู่กับกางเกงยีนเช่นกัน มิใช่เป็นเพียงส่วนประกอบ ทั้งตัวอักษรโรมันคำว่า CANxxxx เป็นคำเฉพาะ ไม่ใช่คำสามัญที่มีความหมายธรรมดาทั่ว ๆ ไป เมื่อเครื่องหมายการค้าที่ติดกับกางเกงยีนของจำเลยมีตัวอักษรโรมันคำว่า CANxxxx เป็นสาระสำคัญแล้วแม้ตัวอักษรโรมันคำว่า CANxxxx ในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมมีลักษณะเป็นอักษรประดิษฐ์ซึ่งต่างจากตัวอักษรโรมันในเครื่องหมายการค้าที่ติดกับกางเกงยีนของจำเลยซึ่งเขียนด้วยตัวพิมพ์ธรรมดาก็ถือได้ว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นเครื่องหมายการค้าที่เลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วม
เครื่องหมายการค้าซึ่งติดอยู่กับกางเกงยีนของกลางนั้น มีสาระสำคัญอยู่ที่คำว่า CANxxxx เช่นเดียวกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วม การที่เครื่องหมายการค้าซึ่งติดอยู่กับกางเกงยีนถูกนำมาใช้กับสินค้าประเภทเดียวกันกับสินค้าประเภทกางเกงของโจทก์ร่วมที่ได้จดทะเบียนไว้ จึงอาจทำให้บุคคลอื่นเชื่อว่าเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วม อันเป็นการทำขึ้นเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมตามมาตรา 109 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 การที่จำเลยมีไว้เพื่อจำหน่ายกางเกงยีนของกลางที่มีเครื่องหมายการค้าเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมจึงเป็นความผิดตามมาตรา 110(1)
โจทก์ร่วมจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า CANxxxx มาตั้งแต่ปี 2538 โจทก์ร่วมจึงได้รับความคุ้มครองในฐานะเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้น และมีสิทธิที่จะห้ามผู้ใดปลอม หรือเลียนเครื่องหมายการค้า ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯมาตรา 53 ซึ่งการที่โจทก์ร่วมจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านี้ก็ไม่ปรากฏว่าได้มีการขอให้เพิกถอนหรือนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้มีคำสั่งให้เพิกถอนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมตามมาตรา 63 แต่อย่างใด การที่โจทก์ร่วมขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า จึงถือว่าเป็นการกระทำโดยสุจริตตามมาตรา 6 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ประกอบกับโจทก์ร่วมได้ผลิตกางเกงยีนใช้ชื่อในการประกอบการว่า กิจxxxx มาเป็นเวลาเกือบ 10 ปี แล้ว โดยโจทก์และโจทก์ร่วมได้อ้างส่งกางเกงยีนที่โจทก์ร่วมผลิตและใช้เครื่องหมายการค้า CANxxxx เป็นวัตถุพยาน พฤติการณ์จึงเชื่อได้ว่าโจทก์ร่วมจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเพื่อประกอบกิจการของโจทก์ร่วมโดยสุจริต
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6648/2542 แม้จำเลยที่ 2 จะได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเป็นรูปรวงข้าวอยู่ในวงกลมสำหรับสินค้าจำพวกเครื่องจักร กับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเป็นรูปรวงข้าวอยู่ในวงกลมและมีภาษาไทยคำว่า "ตราxxxx" อยู่ใต้รูปสำหรับสินค้าจำพวกเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 และยังคงจดทะเบียนอยู่ในวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ จำเลยทั้งสองจึงมีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้าข้างต้นต่อไปตามมาตรา 117 ก็ตาม แต่การที่จำเลยทั้งสองใช้เครื่องหมายการค้ารูปรวงข้าวในวงกลมและคำว่า "InterNationalxxxx" กับสินค้าจำพวกเครื่องไฟฟ้าโดยไม่มีคำว่า "ตราxxxx" กำกับ ทั้งยังเน้นคำว่า "National" ซึ่งไม่ใช่เครื่องหมายการค้าของตนให้ใหญ่เป็นพิเศษยิ่งกว่าคำอื่น ย่อมแสดงว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหาย ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ไม่ได้วินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองยังคงมีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้าตรารวงข้าวที่จำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนไว้ตามกฎหมายเดิมต่อไปหรือไม่ จึงไม่ทำให้จำเลยทั้งสองเสียเปรียบหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมแต่อย่างใด เพราะข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับสิทธิในการใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลยทั้งสองเป็นคนละเรื่องกับการจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าเลียนเครื่องหมายการค้าคำว่า "National" ของผู้เสียหาย ฎีกาของจำเลยทั้งสองจึงไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น จำเลยคงมีความผิดตามฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4537 - 4540/2543 การที่จำเลยที่ 2 และที่ 5 มีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมในวันเวลาเดียวกันหรือคราวเดียว โดยแบ่ง สินค้าแยกวางเสนอจำหน่ายในสถานที่ต่างกันนั้น ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 5 มีเจตนาเดียวที่จะเสนอจำหน่ายสินค้าจำนวนดังกล่าว ในคราวเดียวกัน เพียงแต่แยกวางจำหน่ายในสถานที่ต่างกันเท่านั้น การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 5 จึงเป็นความผิดกรรมเดียว
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 มีสินค้าของกลางไว้เพื่อจำหน่าย ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาให้ริบสินค้าของกลางได้ตามพระราชบัญญัติ เครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 115 โดยไม่ต้องคำนึงว่าสินค้าของกลาง เป็นสินค้าที่ได้นำเข้ามาในราชอาณาจักรหรือเป็นสินค้าที่ผลิตใน ราชอาณาจักร และไม่จำต้องปรับบทริบทรัพย์สินค้าของกลางตาม ประมวลกฎหมายอาญาอันเป็นบททั่วไปอีก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4784/2549 การพิจารณาในเรื่องความเหมือนหรือคล้ายกันของเครื่องหมายการค้าว่าอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาองค์ประกอบโดยรวมทั้งลักษณะของคำ ตัวอักษร และเสียงเรียกขานของเครื่องหมายการค้าพิพาท เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยร่วม มีข้อเท็จจริงที่แสดงให้เห็นถึงลักษณะที่แตกต่างกัน คือเครื่องหมายการค้าของโจทก์มีเฉพาะคำภาษาอังกฤษ ส่วนเครื่องหมายของจำเลยร่วมมีทั้งคำภาษาอังกฤษและคำภาษาไทย แม้คำว่า 'EXTRA' ในเครื่องหมายการค้าของโจทก์จะเป็นคำเดียวกับคำว่า 'EXTRA' ซึ่งเป็นสาระสำคัญส่วนหนึ่งในเครื่องหมายการค้าของจำเลยร่วม แต่คำดังกล่าวเป็นคำธรรมดาที่แปลว่า 'พิเศษ' จึงเป็นคำธรรมดา มิใช่คำประดิษฐ์ แต่เหตุที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ายอมให้จำเลยร่วมจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า 'EXTRA' เนื่องจากจำเลยร่วมใช้คำดังกล่าวร่วมกับคำว่า 'NESxxxx' จนกลายเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปและได้ลักษณะบ่งเฉพาะโดยการใช้ ส่วนโจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า 'EXTRA' ร่วมกับคำว่า 'FREExx' และนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้โจทก์สละสิทธิแต่ผู้เดียวในการใช้คำว่า 'EXTRA' คำดังกล่าวจึงมิใช่สาระสำคัญในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ สาระสำคัญในเครื่องหมายการค้าของโจทก์อยู่ที่คำว่า 'FREExx' เมื่อพิจารณารูปลักษณะอื่น ๆ ของเครื่องหมายการค้าของโจทก์ และจำเลยร่วมประกอบกันแล้ว เครื่องหมายทั้งสองจึงมีความแตกต่างกัน ไม่อาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 297/2546 แม้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 44 จะให้การคุ้มครองสิทธิของโจทก์ที่ 1 ผู้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า "WAHL" ตามที่จดทะเบียนไว้ก็ตามก็เป็นเพียงคุ้มครองให้โจทก์ที่ 1 เพียงผู้เดียวที่จะใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้าปัตตะเลี่ยนตามที่จดทะเบียนไว้ และมีสิทธิหวงกันไม่ให้ผู้อื่นนำเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 1 ไปใช้โดยมิชอบเท่านั้น และเมื่อพิจารณาประกอบกับบทบัญญัติในมาตรา 4แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ที่กำหนดให้เครื่องหมายการค้า หมายความว่า เครื่องหมายที่ใช้หรือจะใช้เป็นที่หมายหรือเกี่ยวข้องกับสินค้า เพื่อแสดงว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นแตกต่างกับสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น อันมีวัตถุประสงค์เพื่อแยกความแตกต่างระหว่างสินค้าของเจ้าของเครื่องหมายกาค้ากับสินค้าของผู้อื่นและเพื่อระบุว่าสินค้านั้นเป็นของเจ้าของเครื่องหมายการค้าอันเป็นประโยชน์ในการจำหน่ายสินค้าของตน ซึ่งการที่มีผู้ซื้อสินค้าของเจ้าของเครื่องหมายการค้าเพื่อนำไปจำหน่ายต่อไปก็เป็นเรื่องปกติธรรมดาในการประกอบการค้าดังนั้น เมื่อโจทก์ที่ 1 ได้จำหน่ายสินค้าปัตตะเลี่ยนวอห์ลของตนไปในครั้งแรกซึ่งเป็นการใช้สิทธิแต่ผู้เดียวในการใช้เครื่องหมายการค้า โดยโจทก์ที่ 1 ได้รับประโยชน์จากการใช้เครื่องหมายการค้าจากราคาสินค้าปัตตะเลี่ยนวอห์ลที่จำหน่ายไปเสร็จสิ้นแล้ว โจทก์ที่ 1จึงไม่มีสิทธิหวงกันไม่ให้ผู้ซื้อสินค้าปัตตะเลี่ยนวอห์ลซึ่งประกอบการค้าตามปกตินำสินค้าดังกล่าวที่ซื้อมาออกจำหน่ายต่อไปอีก แม้กล่องบรรจุสินค้าของโจทก์ที่ 1 ที่จำเลยซื้อจากผู้ขายซึ่งเป็นตัวแทนของโจทก์ที่ 1 ในประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์และนำมาจำหน่ายจะมีซองกระดาษที่มีเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 1 ห่อหุ้มกล่อง กับข้อความว่า "ของแท้ต้องมีใบรับประกัน 1 ปี" และมีใบรับประกันที่มีเครื่องหมายการค้าเดียวกันระบุชื่อที่อยู่ของบริษัท พ. ว่าเป็นศูนย์บริการ ก็ยังคงแสดงว่า สินค้าปัตตะเลี่ยนที่อยู่ในกล่องนั้นเป็นของโจทก์ที่ 1 อยู่นั่นเอง โดยบริษัท พ. เป็นเพียงผู้ให้บริการรับซ่อมปัตตะเลี่ยนเท่านั้นมิได้มีลักษณะเป็นการใช้ข้อความหรือเครื่องหมายที่แสดงว่าสินค้าดังกล่าวเป็นของบริษัท พ. หรือเป็นของจำเลยผู้นำมาจำหน่ายแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยที่ซื้อสินค้าปัตตาเลี่ยนวอห์ลของโจทก์ที่ 1 จากตัวแทนของโจทก์ที่ 1 ในประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์ นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ที่ 1 จึงไม่เป็นการใช้เครื่องหมายการค้าอันเป็นการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 1
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 608/2545 แม้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 18 วรรคหนึ่ง จะให้คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเป็นที่สุดก็ตาม แต่หากคำวินิจฉัยดังกล่าวไม่ชอบหรือไม่ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ผู้อุทธรณ์ย่อมมีสิทธินำคดีมาฟ้องศาลเพื่อให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการดังกล่าวได้
โจทก์ขอจดทะเบียนการค้าคำว่า "JAVACAFE" ซึ่งสิ่งที่เป็นสาระสำคัญของคำดังกล่าวนอกจากอักษรโรมันติดกัน 8 พยางค์แล้ว สำเนียงเรียกขานก็ถือเป็นสาระสำคัญด้วยเพราะสามารถทำให้ประชาชนทราบและเข้าใจได้ว่าสินค้าที่มีเสียงเรียกขานของสินค้าดังกล่าวแตกต่างจากสินค้าอื่น คำว่า "JAVACAFE" สามารถแยกออกเป็น "JAVA"เรียกขานว่า "จาวา"หมายถึงชื่อเกาะในประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ซึ่งประชาชนทั่วไปรู้จักดีว่าหมายถึงเกาะชวา ซึ่งประกาศกระทรวงพาณิชย์ ฉบับที่ 5ฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กำหนดให้ชื่อเมืองท่า จังหวัด... เกาะ เป็นชื่อทางภูมิศาสตร์ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 7 วรรคสอง (2) ดังนั้น "JAVA" หรือ"จาวา"จึงเป็นคำไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะส่วนคำว่า"CAFE"เรียกขานว่า"คาเฟ่" หมายถึงกาแฟ หรือภัตตาคารขนาดเล็ก ถือเป็นคำสามัญไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะเช่นเดียวกันแม้จะนำทั้งสองคำมาเขียนติดกันเป็น "JAVACAFE" เรียกขานว่า "จาวาคาเฟ่" และจะแปลไม่ได้ แต่ก็สามารถสื่อความหมายให้คนทั่วไปเข้าใจว่าหมายถึงกาแฟที่มีแหล่งกำเนิดมาจากเกาะชวาในประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ดังนั้น ตัวอักษรโรมันที่สะกดเป็นคำทั้งหมดไม่ว่าจะออกสำเนียงแยกหรือเป็นคำหรือรวมกัน เสียงเรียกขานก็ไม่แตกต่างกัน และสื่อความหมายให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจว่าเป็นเครื่องหมายการค้าที่เล็งถึงลักษณะและแหล่งกำเนิดของสินค้านั้นโดยตรง จึงเป็นเครื่องหมายการค้าที่ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 7 วรรคสอง
การที่เครื่องหมายการค้าคำว่า "JAVACAFE" ของโจทก์ได้รับการจดทะเบียนมาแล้วในหลายประเทศนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับกฎหมายของแต่ละประเทศที่จะวางหลักเกณฑ์ในการพิจารณาอย่างไร และความเห็นของนายทะเบียนในประเทศนั้น ๆ ไม่อาจนำมาเป็นเหตุผลให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าต้องรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์โดยไม่ต้องพิจารณาถึงหลักเกณฑ์ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7208/2537 แม้ตามหนังสือคู่มือรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์มีข้อความว่าการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายนี้ไม่ให้สิทธิแก่ผู้ขอจดทะเบียนแต่ผู้เดียวที่จะใช้อักษรไทยคำว่า "น้ำมันมวย"และอักษรโรมันคำว่า "BOXINGLINIMENT" ก็ตาม แต่โจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า "น้ำมันมวย" รวมทั้งรูปภาพลวดลายและรูปรอยประดิษฐ์ที่ปรากฎบนกล่องสินค้ามาตั้งแต่ พ.ศ. 2498 และผลิตน้ำมันสำหรับใช้ทาถูนวด แก้ปวดเมื่อยและเหน็บชา ออกจำหน่ายโดยใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้านั้นมาตลอดโจทก์ได้โฆษณาสินค้าผ่านสื่อสารมวลชน ป้ายโฆษณา โดยการทำของชำร่วย และโฆษณาในรายการอุปถัมภ์กีฬา จำเลยทราบอยู่ก่อนแล้วว่าโจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า "น้ำมันมวย" กับสินค้าน้ำมันสำหรับทาถูนวด แก้ปวดเมื่อยและเหน็บชาที่โจทก์ผลิตออกจำหน่ายอย่างแพร่หลายมาเป็นเวลานาน จำเลยมีเจตนาใช้คำว่า "น้ำมันมวย"เป็นส่วนหนึ่งในการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยในสินค้าจำพวกเดียวกันกับสินค้าของโจทก์สินค้าของโจทก์ได้ผลิตแล้วนำออกขายภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า "น้ำมันมวย" มาก่อนจำเลยขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า "น้ำมันมวยมุมแดง" ถึง 30 ปีเศษ สินค้าของโจทก์เป็นสินค้าที่แพร่หลายจนทำให้เครื่องหมายการค้าคำว่า "น้ำมันมวย" เกิดลักษณะบ่งเฉพาะ ทำให้ประชาชนหรือผู้ใช้สินค้านั้นทราบและเข้าใจได้ว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นแตกต่างไปจากสินค้าอื่นแล้ว แม้คำว่า "น้ำมันมวย"โจทก์จะไม่มีสิทธิใช้แต่เพียงผู้เดียวก็ตาม การที่จำเลยเจตนาจะใช้คำว่า "น้ำมันมวยมุมแดง" กับสินค้าน้ำมันนวดกล้ามอันเป็นสินค้าจำพวกเดียวกันและมีลักษณะอย่างเดียวกันกับสินค้าของโจทก์ก็โดยอาศัยคำว่า "น้ำมันมวย" เป็นหลักอาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิดว่าสินค้าของโจทก์และสินค้าของจำเลยที่จะผลิตต่อไปเป็นของเจ้าของเดียวกัน หากจำเลยมีเจตนาสุจริตก็สามารถใช้คำอื่นที่มีลักษณะบ่งเฉพาะแทนเพื่อไม่ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดว่าสินค้าของจำเลยเป็นสินค้าของโจทก์ได้ การที่จำเลยจะใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า"น้ำมันมวยมุมแดง" กับสินค้าที่มีลักษณะอย่างเดียวกันกับสินค้าของโจทก์ แสดงว่าจำเลยมีเจตนาเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่จดทะเบียนไว้แล้วว่า เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตโจทก์จึงมีสิทธิห้ามจำเลยใช้คำว่า "น้ำมันมวยมุมแดง" เป็นเครื่องหมายการค้าในสินค้าจำพวก 3 น้ำมันนวดกล้ามได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1257/2536 การที่จำเลยที่ 1 พนักงานบริษัทจำเลยที่ 2 ซึ่งมีจำเลยที่ 3 เป็นกรรมการผู้จัดการได้นำสินค้าผงหมึกพิพาทไปเสนอจำหน่าย ต่อทางราชการ โดยระบุในใบเสนอราคาว่า เป็นอุปกรณ์สำหรับ ใช้กับเครื่องถ่ายเอกสาร MITA รุ่น DC-313Z เป็นการเสนอราคา สินค้าตรงตามความประสงค์ของทางราชการซึ่งมิได้ระบุว่าต้องการ ผงหมึกเฉพาะที่มีเครื่องหมายการค้า MITA เท่านั้น กล่องสินค้า ของจำเลยทั้งสามมีข้อความระบุชัดว่าเป็นสินค้าผงหมึก (TONER) ที่ใช้กับเครื่องถ่ายเอกสาร MITA(FORUSEINMITA) รุ่น DC-211 RE313Z และ 313Z แม้ที่กล่องสินค้าดังกล่าว จะมีคำว่า "MITA" ซึ่งเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมที่ได้จดทะเบียนไว้สำหรับใช้กับสินค้าเครื่องถ่ายเอกสาร แต่จำเลยทั้งสามก็มิได้นำคำดังกล่าวมาใช้อย่างเครื่องหมายการค้า กล่าวคือ มิได้ระบุว่าผงหมึกของจำเลยทั้งสามเป็นผงหมึกที่มี เครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมผงหมึกของจำเลยทั้งสาม เป็นผงหมึกที่ไม่มีเครื่องหมายการค้าระบุไว้ และจำเลยทั้งสาม มิได้เขียนคำว่า "MITA" ให้มีลักษณะบ่งเฉพาะว่า "mita" เช่นเดียวกับของโจทก์ร่วม แต่เขียนเป็นตัวพิมพ์ใหญ่ว่า "MITA" และคำว่า "TONER" ซึ่งหมายถึงผงหมึก ที่กล่องสินค้าของจำเลย ทั้ง สามก็เขียนเป็นตัวพิมพ์ใหญ่เช่นเดียวกันรวมทั้งคำว่า "FORUSEIN" ก็เขียนด้วยตัวพิมพ์ใหญ่เห็นได้ชัดเจนประกอบกับที่ กล่องสินค้าดังกล่าวปรากฏป้ายชื่อบริษัทและที่อยู่ของจำเลยที่ 2 อยู่ด้วย มิได้ระบุชื่อบริษัทโจทก์ร่วมที่กล่องสินค้าดังกล่าวแต่ อย่างใด ส่วนกลางสินค้าของโจทก์ร่วมปรากฏว่า คำว่า "TONER" เขียนตัวอักษร "T" ด้วยตัวพิมพ์ใหญ่เพียงตัวเดียวตัวอักษรนอกนั้น เป็นตัวพิมพ์เล็ก โดยเขียนว่า "TONER" มีเครื่องหมายการค้าคำว่า "mita" เขียนเรียงกันตามแนวนอน 6 แถว แถวละ 8 คำ และมีชื่อ บริษัทโจทก์ร่วมอยู่ด้วย แต่ไม่มีคำว่า "FORUSEIN" กล่องสินค้า ผงหมึกของจำเลยทั้งสามกับของโจทก์ร่วมจึงแตกต่างกันอย่างชัดแจ้ง การที่จำเลยทั้งสามนำคำว่า "MITA" ซึ่งเป็นชื่อหรือข้อความในการประกอบการค้าของโจทก์ร่วมมาใช้ระบุที่หีบห่อบรรจุสินค้า ของจำเลยทั้งสามในลักษณะดังกล่าว ประกอบกับราคาสินค้าที่จำเลย ทั้งสาม เสนอ จำหน่ายแก่ทางราชการ กับราคาสินค้าของโจทก์ร่วม ก็แตกต่างกันมาก จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสามได้เสนอจำหน่าย สินค้าซึ่งมีชื่อหรือข้อความในการประกอบการค้าของโจทก์ร่วม เพื่อให้ประชาชนหรือทางราชการหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าหรือการค้าของโจทก์ร่วมการกระทำของจำเลยทั้งสามจึงไม่เป็นความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 275 ประกอบด้วย มาตรา 272(2)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3692/2534 เครื่องหมายการค้าของโจทก์คำว่า"DIMETAPP" กับของจำเลยคำว่า"MEDITAPP" ต่างก็เป็นคำของภาษาต่างประเทศพิมพ์ด้วยอักษรโรมันลักษณะเป็นตัวพิมพ์ใหญ่อย่างเดียวกัน สำเนียงอ่านออกเสียงคล้ายกันตัวอักษรมีจำนวนเท่ากัน ถ้าไม่สังเกตจะเข้าใจว่า เครื่องหมายการค้า ของโจทก์และของจำเลยเป็นอย่างเดียวกัน เพราะอักษรทุกตัวเหมือนกันเพียงแต่สลับคำพยางค์หน้า 2 คำ เท่านั้น และจำเลยได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยใช้กับสินค้าจำพวก 3 เช่นเดียวกับของโจทก์แม้จะระบุรายการสินค้าว่า ยาแก้หวัด แต่ในข้อบ่งใช้ที่ยา ของจำเลยก็ระบุว่าเป็นยาบรรเทาอาการแพ้ เช่น แพ้อากาศ คัดจมูก น้ำมูกไหล แก้หืด เป็นต้น เช่นเดียวกับยาของโจทก์ ทั้งยาของโจทก์ จำเลยต่างก็เป็นยาเม็ดและยาน้ำด้วยกัน แสดงให้เห็นเจตนาของจำเลยที่จะลอกเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ อันถือได้ว่า เครื่องหมายการค้าของจำเลยคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ได้ นำไปจดทะเบียนไว้แล้วเพื่อใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกันจนถึงนับได้ว่า เป็นการลวงสาธารณชน ตามความหมายแห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474มาตรา 16 คำว่า "TAPP" แม้จะฟังว่าอักษร "TA" ย่อมาจากคำว่า"TABLET" และอักษร "PP" เป็นชื่อย่อของสารเคมี 2 ชนิดแต่เมื่อนำอักษรดังกล่าวมารวมกันเป็นคำว่า "TAPP" จึงจัดว่าเป็นคำที่ประดิษฐ์ขึ้นพึงรับจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าได้ตามมาตรา 4(3) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 หาใช่ชื่อสามัญหรือสิ่งใดที่ใช้กันสามัญในการค้าขายซึ่งต้องห้ามถือเป็นสิทธิแต่ผู้เดียวที่จะใช้เป็นส่วนหนึ่ง แห่งเครื่องหมายการค้าตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกันไม่ แม้เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่นำไปจดทะเบียนจะไม่เหมือนเพียงแต่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของโจทก์และโจทก์ไม่ได้คัดค้านการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลย ก็ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องคดีตามสิทธิของโจทก์ที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเพราะโจทก์ได้จดทะเบียนและใช้เครื่องหมายการค้ากับสินค้ายาของโจทก์ผลิตออกจำหน่ายเป็นที่รู้จักแพร่หลายมาก่อนที่จำเลยจะจดทะเบียนและใช้เครื่องหมายการค้ากับสินค้ายาของจำเลยเป็นเวลาหลายปี โจทก์ย่อมอยู่ในฐานะเป็นผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่จำเลยลอกเลียนนำไปจดทะเบียนดีกว่าจำเลยผู้ที่ได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของ โจทก์จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยได้ ตามมาตรา 41(1)แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4559/2533 เครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นรูปจระเข้มีตัวหนังสืออักษรภาษาไทยว่าแกรนด์แสลม และตัวหนังสืออักษรโรมันว่า GRANDSLAM ยื่นขอจดทะเบียนใช้กับสินค้าในจำพวก 48 รายการสินค้ายาสีฟันน้ำยาสระผม ส่วนเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นรูปจระเข้และมีตัวหนังสืออักษรโรมันว่า LACOSTE ได้รับการจดทะเบียนไว้แล้วสำหรับสินค้าจำพวก 48 รายการสินค้าน้ำหอม น้ำหอมชโลมตัวหลังอาบน้ำ น้ำหอมหลังโกนหนวด และน้ำหอมทาผิว แม้เครื่องหมายการค้าของจำเลยจะมีรูปจระเข้เป็นสาระสำคัญส่วนหนึ่งและอาจเรียกได้ว่าตราจระเข้เช่นเดียวกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ แต่การพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าจะเหมือนหรือคล้ายกันหรือไม่ต้องพิจารณาส่วนประกอบต่าง ๆ ทั้งหมดเข้าด้วยกัน จะพิจารณาเพียงส่วนใดส่วนหนึ่งตามลำพังหาได้ไม่ เครื่องหมายการค้าของโจทก์มีตัวหนังสืออักษรโรมันเป็นชื่อยี่ห้อสินค้าอ่านออกเสียงว่า ลาคอสท์ประกอบด้วยจระเข้อยู่เหนือตัวหนังสือดังกล่าว ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยนอกจากตัวหนังสืออักษรโรมันแล้ว ยังมีตัวหนังสืออักษรภาษาไทยอ่านได้ชัดเจนว่า แกรนด์แสลม อยู่เหนือตัวหนังสืออักษรโรมันด้วย อันเป็นการบอกให้ทราบแน่ชัดว่าสินค้าของจำเลยเรียกชื่อยี่ห้อว่า แกรนด์แสลม ชื่อยี่ห้อและการอ่านออกเสียงเรียกขานเครื่องหมายการค้าของจำเลยจึงแตกต่างจากของโจทก์เป็นอันมากย่อมเป็นที่สังเกตของสาธารณชนทั่วไป และไม่ทำให้สาธารณชนทั่วไปที่ซื้อสินค้ายี่ห้อ แกรนด์แสลม เข้าใจผิดว่าสินค้านั้นเป็นสินค้ายี่ห้อลาคอสท์ของโจทก์ ส่วนคำว่าจระเข้หรือรูปจระเข้ก็มิใช่สิ่งบ่งเฉพาะ เป็นเพียงคำหรือชื่อสามัญทั่วไปโจทก์ไม่มีสิทธิจะสงวนรูปจระเข้ดังกล่าวไปไว้ใช้สำหรับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ทั้งเครื่องหมายการค้าของจำเลยใช้กับสินค้าคนละชนิดกับของโจทก์สาธารณชนย่อมไม่เกิดความสับสนหรือหลงผิดในเครื่องหมายการค้าของทั้งสองฝ่ายเครื่องหมายการค้าของจำเลยจึงไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ดังนี้ไม่อาจเพิกถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3861/2531 โจทก์มีหนังสือรับรองของเจ้าพนักงานโนตารีปับลิก แห่งประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันมาแสดงต่อศาล ซึ่งมีข้อความรับรองว่า หนังสือมอบอำนาจของโจทก์ได้รับการลงนามและประทับตรากำกับในนามของบริษัท โดยคำสั่งของคณะกรรมการและผู้ลงลายมือชื่อในหนังสือรับรองได้กระทำเพื่อบริษัทดังกล่าวแล้วทุกประการ จำเลยมิได้คัดค้านว่าหนังสือรับรองดังกล่าวเป็นเอกสารที่ไม่ถูกต้องทั้งมิได้นำสืบให้เห็นว่าผู้ลงลายมือชื่อไม่มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์เช่นนี้ ผู้มอบอำนาจเป็นผู้มีอำนาจทำการแทนโจทก์ได้ การมอบอำนาจจึงถูกต้องใช้ได้ โจทก์ประดิษฐ์เครื่องหมายการค้าใช้กับรองเท้าเป็นรูปแถบโค้งประดิษฐ์และรูปแถบโค้งประดิษฐ์ประกอบอักษรโรมันคำว่าPUMA(พูม่า)โดยติดอยู่ข้างรองเท้าสินค้าของโจทก์มีลักษณะโค้งมนส่วนล่างกว้าง 5 เซนติเมตรครึ่ง แล้วค่อย ๆ รีเล็กลง ส่วนที่จรดกับตะเข็บเส้นรองเท้ากว้างเพียง 1 เซนติเมตร เครื่องหมายนี้ต่างกับลักษณะของตะเข็บรองเท้าทั่ว ๆ ไป และมีสีสรรสวยงามตัดกับสีพื้นรองเท้ามองเห็นอย่างเด่นชัด จึงถือได้ว่าเครื่องหมายแถบโค้งดังกล่าวเป็นเครื่องหมายการค้าตามความในมาตรา 3 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 จำเลยขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า 2 แบบ เป็นรูปประดิษฐ์ลักษณะเหมือนกล้องยาเส้นหงายขึ้นและตะขอหงาย จึงแตกต่างจากเครื่องหมายการค้าของโจทก์ แต่จำเลยผลิตและจำหน่ายรองเท้าโดยใช้เครื่องหมายแถบโค้งเหมือนกับของโจทก์ทุกประการ สินค้ารองเท้าบางแบบของจำเลยเพียงแต่มาประทับตัวหนังสืออักษรโรมันคำว่า LONGHORNไว้ที่หุ้มข้อด้านหลังเหนือแถบโค้งที่เรียว มาบรรจบกันเท่านั้น ซึ่งต่างไปจากเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่มีอักษรโรมันว่า PUMAบ้างหรือรูปเสือกำลังกระโจนอยู่เหนือแถบโค้งบ้างที่ลิ้นรองเท้าบ้างเครื่องหมายการค้าของโจทก์มีส่วนประกอบ 2 ส่วน คือ มีรูปแถบโค้งเป็นส่วนประกอบหลักหรือส่วนประกอบสำคัญเพราะเป็นส่วนที่เห็นได้เด่นชัดที่สุด และมีรูปตัวอักษรโรมัน PUMA หรือรูปเสือกระโจนเป็นส่วนประกอบรองหรือส่วนประกอบย่อย เพราะประชาชนมุ่งดูรูปแถบโค้งเป็นที่หมายแห่งสินค้าของโจทก์ยิ่งกว่าดูรูปตัวอักษรโรมันPUMA หรือรูปเสือกระโจน การพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าลักษณะดังกล่าวเหมือนหรือคล้ายกันกับของจำเลยหรือไม่ จำต้องพิจารณาส่วนประกอบหลักหรือส่วนประกอบสำคัญเป็นเกณฑ์ เมื่อส่วนประกอบหลักหรือส่วนประกอบสำคัญเป็นรูปแถบโค้งเหมือนกันอย่างเห็นได้โดยเด่นชัดแม้ส่วนประกอบรองหรือส่วนประกอบปลีกย่อยจะต่างกันซึ่งมองเห็นได้ยากจึงถือได้ว่าจำเลยเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ และการที่จำเลยจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ลักษณะหนึ่งซึ่งต่างกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ แต่นำมาใช้อีกอย่างหนึ่งแตกต่างจากที่ขอจดทะเบียนไว้โดยใช้ให้เหมือนกับของโจทก์ แสดงถึงเจตนาอันไม่สุจริตของจำเลยและเป็นการจงใจเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์แล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 282/2516 เครื่องหมายการค้าคำว่า 'COLGATE' 'GARDOL' และ'GARDENT'ของโจทก์ กับเครื่องหมายการค้าคำว่า 'COLDENT' ของจำเลยต่างขอจดทะเบียนในประเภทเครื่องหมายคำ โดยใช้ตัวอักษรโรมันธรรมดาการใช้อักษรตลอดจนการออกสำเนียงในการอ่านคล้ายคลึงกันคำในพยางค์หน้าของเครื่องหมายการค้าของจำเลยมีคำว่า'COL'เช่นเดียวกับเครื่องหมายการค้าคำว่า 'COLGATE' ของโจทก์และคำในพยางค์ท้ายมีคำว่า 'DENT' เช่นเดียวกับคำในพยางค์ท้ายของเครื่องหมายการค้าคำว่า 'GARDENT' ของโจทก์ เครื่องหมายการค้าของจำเลยส่อให้เห็นถึงการจงใจเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์แม้จะเป็นการจดทะเบียนในประเภทเครื่องหมายคำสำหรับสินค้าจำพวก 48ทั้งจำพวก ก็อาจทำให้ผู้ซื้อสินค้าเกิดความสับสนหรือหลงผิดว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยคือเครื่องหมายการค้าของโจทก์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่ผู้ซื้อที่ไม่ทันสังเกต หรือเป็นผู้ที่ไม่รู้ภาษาอังกฤษหรือรู้เพียงเล็กน้อย จึงนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนตามนัยแห่งมาตรา 16พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3)พ.ศ.2504 มาตรา 4
จำเลยผลิตและจำหน่ายยาสีฟันซึ่งบรรจุอยู่ในกล่องสลากพื้นสีแดง ประกอบอักษรโรมันขนาดใหญ่สีขาวคำว่า 'COLDENT'และอักษรโรมันขนาดย่อมคำว่า 'ANTI-ENZYME TOOTH PASTEซึ่งมีรูปลักษณะของกล่อง การวางตัวอักษร ลักษณะของตัวอักษรสีของกล่อง และสีตัวอักษร คล้ายกับสลากกล่องเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ตามหนังสือคู่มือรับจดทะเบียน การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 และ 421
โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับค่าเสียหายไว้ว่า โจทก์ได้รับความเสียหายคือทำให้ชื่อเสียงเกียรติคุณของโจทก์เสื่อมความนิยม โจทก์ต้องขาดประโยชน์จากการจำหน่ายสินค้าลงไปบ้างเป็นเงิน 20,000 บาท เป็นฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้ว หาเคลือบคลุมไม่
จำเลยผลิตยาสีฟัน 'COLDENT' ออกจำหน่ายตลอดมาจนปัจจุบันแม้จำเลยจะเริ่มผลิตมาตั้ง 10 ปีแล้ว การละเมิดสิทธิของโจทก์ที่จำเลยกระทำก็คงมีอยู่ตลอดเรื่อยไปทั้งโจทก์ยังได้นำคดีมาฟ้องจำเลยภายใน 90 วัน นับแต่วันได้รับทราบคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า คดีของโจทก์จึงหาขาดอายุความไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1096/2505 นิติบุคคลเมื่อจดทะเบียนตามกฎหมายต่างประเทศ มีอำนาจฟ้องคดีในศาลไทยหรือตั้งผู้แทนฟ้องคดีได้
นิติบุคคลในต่างประเทศมีอำนาจมอบให้นิติบุคคลในต่างประเทศซึ่งมีสำนักงานสาขาในประเทศไทยขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของเขาได้
ถ้าจำเลยเห็นว่า การขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็เป็นเรื่องที่จำเลยจะร้องขอให้ศาลเพิกถอน ไม่ใช่เรื่องที่จะยกขึ้นต่อสู้โจทก์ในคดีฟ้องเรียกค่าเสียหายฐานละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้า
เมื่อกล่องและสลากปิดขวดยาอันเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นของปลอมแล้ว แม้ตัวยาในขวดจะไม่ได้ความชัดว่าเป็นยาปลอม จำเลยผู้สั่งของนี้มาจำหน่ายโดยรู้ว่ากล่องและสลากยานั้นเป็นของปลอม ย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้ใช้เครื่องหมายการค้าปลอม และต้องรับผิดใช้ค่าเสียหาย
โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายฐานขาดประโยชน์ 83,850 บาท และค่าเสียหายฐานเสียชื่อเสียงเกียรติคุณ 50,000 บาท ศาลชั้นต้นให้ค่าเสียหาย 2 อย่างรวมกันมา 55,000 บาท และโจทก์อุทธรณ์ขอค่าเสียหายเต็มตามฟ้อง ศาลอุทธรณ์เห็นว่าควรได้เฉพาะค่าเสียชื่อเสียงเกียรติคุณและคงให้ใช้ค่าเสียหาย 55,000 บาทได้
การส่งประเด็นไปสืบพยานในต่างประเทศย่อมทำได้เมื่อจำเป็นและสมควร และค่าใช้จ่ายในการนี้เป็นค่าฤชาธรรมเนียมซึ่งศาลใช้ดุลพินิจให้คู่ความฝ่ายใดเสียหรือให้เสียแทนกันได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 569/2482 การวินิจฉัยว่าจะมีการเลียนแบบเครื่องหมายการค้าหรือไม่ต้องเทียบเครื่องหมายทั้ง 2 ประกอบกับคำพะยานซึ่งแสดงว่าผู้ซื้อสินค้าจะหลงว่าสินค้าอันหนึ่งเป็นอีกอันหนึ่งหรือไม่,
ประมวลวิธีพิจารณาอาญา ม. 248,
คดีฟ้องขอห้ามมิให้ใช้เครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนไว้และไม่ได้ตั้งทุนทรัพย์มาเมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโจทก์ ๆ ฎีกาได้แต่ปัญหาข้อกฎหมาย, พฤตติการณ์ที่ถือว่าฎีกาของโจทก์เถียงในปัญหาข้อเท็จจริง.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 377/2482 โจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าบนกล่องสบู่คาบอลิกของโจทก์ว่า ควีนส์ 10 % "ซึ่งคำว่า 10% นี้เป็นคำบอกลักษณของสบู่นั้นว่ามีส่วนคาบอลิกผสมอยู่ 10 ใน 100 ส่วนดังนี้ โจทก์ไม่มีสิทธิจะใช้คำว่า 10% นี้ แต่ผู้เดียวเพราะเป็นคำ++ถึงลักษณะหรือคุณสมบัติแห่งสินค้าโดยตรงตามที่เข้าใจกันโดยธรรมดา
คดีเลียนแบบเครื่องหมายการค้านั้น ศาลไม่รับฟังคำพะยานบุคคลที่ออกความเห็นว่าเครื่องหมายอันนี้เลียนเครื่องหมาย+นั้นหรือไม่
คดีแพ่งซึ่งโจทก์ฟ้องขอให้ห้ามให้จำเลยใช้เครื่องหมายการค้าซึ่งเลียนแบบของโจทก์และขอให้ทำลายภาพเครื่องหมายดังว่านั้นโดยมิได้มีการเรียกค่าสินไหมทดแทนอย่างใด ต้องถือว่าคดีเช่นนี้เป็นคดี+ คู่ความจะอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงมิได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 289/2480 ซื้อยี่ห้อจะขอจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าไม่ได้ เว้นแต่มีลักษณอื่นบ่งฉะเพาะเป็นพิเศษ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 224/2480 กรณีที่จะเป็นผิดตาม ม.237 นั้นโจทก์จะต้องสืบให้ได้ความว่า รูปเครื่องหมายที่โจทก์ใช้ปิดสินค้านั้นเป็นเครื่องหมายการค้า มิฉะนั้นจะลงโทษจำเลยไม่ได้ วิธีพิจารณาอาญา พะยาน หน้าที่นำสืบ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2802/2546 พระราชบัญญัติโอนอำนาจหน้าที่และกิจการบริหารบางส่วนของกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ และของกรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการ ไปเป็นของกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ฯ มาตรา 3 ได้บัญญัติให้โอนบรรดาอำนาจหน้าที่เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้าและกฎหมายว่าด้วยสิทธิบัตรไปเป็นของกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์และพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ฯมาตรา 3 กำหนดให้ส่วนงานของกรมทรัพย์สินทางปัญญา จำเลยที่ 1 มีอำนาจหน้าที่ในการปฏิบัติงานตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้าและทรัพย์สินทางปัญญาอื่นและมาตรา 5 กำหนดให้ส่วนงานในสังกัดของจำเลยที่ 1 มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการเกี่ยวกับการตรวจสอบเพื่อการจดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้าประกาศโฆษณาและการรับจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา และให้คำปรึกษาแนะนำและบริการเกี่ยวกับการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา ดังนั้น การดำเนินการเกี่ยวกับการรับจดทะเบียนหรือไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ จึงอยู่ในกรอบอำนาจหน้าที่และการควบคุมของจำเลยที่ 1 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1
คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า ซึ่งเป็นที่สุดตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง นั้น มีความหมายเพียงว่าผู้อุทธรณ์จะอุทธรณ์คำวินิจฉัยดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานอื่นอีกไม่ได้เท่านั้น หากคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้อุทธรณ์ย่อมมีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลเพื่อขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยดังกล่าวได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินฯ มาตรา 26 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งหกเป็นคดีนี้ได้ชื่อเมืองหลวงของประเทศและชื่อทางภูมิศาสตร์อื่น ๆ ที่ประชาชนโดยทั่วไปรู้จักถือว่าเป็นชื่อทางภูมิศาสตร์ ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ แต่คำว่า "PHOENIX" ไม่ถือว่าเป็นชื่อทางภูมิศาสตร์ เพราะเป็นเพียงชื่อเมืองหลวงของมลรัฐหนึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกามิใช่ชื่อเมืองหลวงของประเทศสหรัฐอเมริกา และจะถือว่าเป็นชื่อทางภูมิศาสตร์อื่น ๆ เสียทีเดียวหาได้ไม่ เพราะยังจะต้องพิจารณาในรายละเอียดว่าเป็นชื่อเมืองที่ประชาชนทั่วไปรู้จักหรือไม่ หากประชาชนทั่วไปไม่รู้จักแล้วก็ถือว่าเป็นชื่อที่มีลักษณะบ่งเฉพาะซึ่งไม่ต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนแม้โจทก์จะมิได้มีคำขอมาท้ายฟ้องขอให้จำเลยทั้งหกร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ด้วย แต่ความรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมเป็นเรื่องที่ศาลจะต้องมีคำสั่งลงไว้ในคำพิพากษาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินฯ มาตรา 26 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 141(5) และมาตรา 167 ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ มิได้มีคำพิพากษาเกี่ยวกับเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมมาจึงไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาแก้ไขให้ถูกต้องได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 296/2546 คำว่า TWOWAY เป็นคำทั่วไปมีความหมายสองทาง ซึ่งบุคคลทั่วไปนำคำนี้ไปใช้ได้ แม้โจทก์จะจดทะเบียนคำว่า TWOWAY และ ทูเวย์ เป็นเครื่องหมายการค้าของตนแล้ว ก็ไม่มีสิทธิหวงกันมิให้บุคคลอื่นใช้คำนี้โดยเด็ดขาด เพียงแต่ผู้ที่จะนำคำนี้ไปใช้เป็นส่วนประกอบของเครื่องหมายการค้าของตนในภายหลังต้องทำให้เครื่องหมายการค้านั้นมีลักษณะแตกต่างจากเครื่องหมายการค้าของโจทก์ โดยไม่ทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิด การที่โจทก์ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการ TWOWAY หรือ 2WAYประกอบรูปลูกศรสลับหัวอันเป็นลักษณะบ่งเฉพาะที่โจทก์คิดประดิษฐ์ขึ้นมา โดยนำไปใช้ประกอบกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์คำว่า Tellme อันมีลักษณะขยายให้เห็นคุณสมบัติของแป้ง Tellme ว่าใช้ได้สองทางทั้งผสมน้ำและไม่ผสมน้ำ ฉะนั้น การที่บุคคลอื่นใช้คำว่า ทูเวย์เคค ประกอบคำว่า sunmelon โดยมิได้ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ แม้จะใช้กับสินค้าแป้งชนิดเดียวกับของโจทก์ แต่ก็เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีรูปลักษณะและสำเนียงเรียกขานแตกต่างกันซึ่งไม่อาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดถึงแหล่งที่มาของสินค้าแป้งดังกล่าวได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 265/2546 ในคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ การพิจารณาคำฟ้องของโจทก์ต้องเป็นไปตามข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาฯ ข้อ 6 วรรคหนึ่ง ที่แสดงให้พอเข้าใจถึงสภาพแห่งข้อหา ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาและคำขอบังคับมิใช่ต้องแสดงโดยแจ้งชัดตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172วรรคสอง ดังนั้น เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์ใช้เครื่องหมายตราเป็ดว่ายน้ำและได้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านี้มาตั้งแต่ปี 2521 จนถึงปัจจุบัน ส่วนเครื่องหมายตราเป็ดยืนโจทก์จดทะเบียนรับโอนมาจากผู้ที่จดทะเบียนไว้ก่อน แต่ต่อมาโจทก์ไม่ได้ขอต่ออายุการจดทะเบียนจึงถูกเพิกถอนเครื่องหมายการค้าทั้งสองดังกล่าว จากนั้นจำเลยซึ่งเคยเป็นผู้จัดการของโจทก์ได้นำเครื่องหมายการค้าทั้งสองของโจทก์ไปยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและนายทะเบียนก็รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวให้แก่จำเลย อันเป็นการขอจดทะเบียนโดยไม่สุจริต ซึ่งตามคำฟ้องย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่าโจทก์กล่าวอ้างถึงข้อเท็จจริงเพื่อแสดงว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่าจำเลย อันเป็นเหตุที่จะขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 67 แม้คำขอท้ายฟ้องของโจทก์จะขอให้บังคับจำเลยดำเนินการเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งสองหากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยก็ตามแต่ก็เข้าใจได้ว่า โจทก์ประสงค์จะให้มีการเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยนั่นเอง ทั้งการที่โจทก์อ้างว่าตนเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าซึ่งมีสิทธิดีกว่าจำเลย แต่จำเลยนำไปจดทะเบียนการค้าโดยไม่สุจริตก็เป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยโต้แย้งสิทธิของโจทก์แล้ว และกรณีผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่าผู้ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าฟ้องผู้ที่ได้จดทะเบียนการค้าไว้แล้วนั้นพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 67 ก็ให้อำนาจศาลสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าหากโจทก์แสดงได้ว่าตนมีสิทธิดีกว่าจำเลย จึงเป็นกรณีที่โจทก์และจำเลยจะต้องนำสืบพยานหลักฐานเพื่อแสดงว่าใครเป็นผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นดีกว่ากัน ซึ่งไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของนายทะเบียนที่จะสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้ เพราะเมื่อมีคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าแล้ว ก็มีผลบังคับเป็นการเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าโดยคำพิพากษาของศาลนั้นเอง โจทก์เพียงแต่นำคำพิพากษาไปแสดงแก่นายทะเบียนเพื่อจดแจ้งทางทะเบียนให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลเท่านั้น ไม่ใช่กรณีที่โจทก์ต้องฟ้องเพื่อให้ศาลบังคับนายทะเบียนแต่อย่างใด
การที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์ด้วยเหตุที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 6(3) นั้น เป็นกรณีที่นายทะเบียนพิจารณาสั่งตามมาตรา 16 โดยพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วหรือไม่เท่านั้นซึ่งเป็นคนละปัญหากับการที่ศาลจะวินิจฉัยว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าตามฟ้องดีกว่าจำเลยผู้ที่ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ ฉะนั้น แม้โจทก์จะอุทธรณ์คำสั่งนายทะเบียนที่ปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์หรือไม่ หรือคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจะวินิจฉัยเรื่องความเหมือนคล้ายกันของเครื่องหมายการค้าของโจทก์กับจำเลยอย่างไร ก็ไม่มีผลทำให้โจทก์เสียสิทธิฟ้องจำเลยตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 67 แต่ประการใด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3543/2545 การดำเนินการเกี่ยวกับการรับจดทะเบียนหรือไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอยู่ในกรอบอำนาจหน้าที่และการควบคุมของกรมทรัพย์สินทางปัญญา จำเลยที่ 1 ตามพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ มาตรา 3 และมาตรา 5 จำเลยที่ 1 ไม่อาจกล่าวอ้างได้ว่าอำนาจในการพิจารณาและมีคำสั่งเกี่ยวกับ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเป็นอำนาจหน้าที่ของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า โดยเฉพาะ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้แทนกรมจำเลยที่ 1 ขอให้เพิกถอนคำสั่งของ นายทะเบียนและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ได้
คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่จะเป็นที่สุดตามมาตรา 18 วรรคหนึ่งนั้น จะต้องเป็นคำวินิจฉัยที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น โจทก์บรรยายฟ้องสรุปได้ว่า เครื่องหมายการค้าคำว่า TRUSTY เป็นคำที่ไม่เล็งถึงลักษณะและคุณสมบัติของสินค้าโดยตรง แต่เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะอันพึงได้รับการจดทะเบียนและโจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไว้ในหลายประเทศ คำสั่งของ นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าาที่ไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ให้โจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ดังนี้ คำฟ้องของโจทก์เท่ากับโจทก์โต้แย้งคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจึงยังไม่ถึงที่สุดแม้คำว่า TRUSTY จะมีความหมายว่า ไว้วางใจ เชื่อถือได้ แต่เมื่อนำไปใช้กับสินค้าจำพวกที่ 31 ได้แก่ อาหารสัตว์ คำดังกล่าวก็หาได้มีความหมายที่บ่งบอกถึงลักษณะของอาหารสัตว์ว่าเป็นอาหารชนิดใด หรือบ่งบอกถึงคุณสมบัติของอาหารสัตว์ชนิดนั้นว่าเป็นสินค้าที่ดีทำให้สัตว์ แข็งแรง สมบูรณ์ สุขภาพดี น่าไว้วางใจที่จะนำมาเป็นอาหารสัตว์ได้โดยปลอดภัยแต่อย่างใดไม่แต่เป็นคำที่มีลักษณะไปในทางโน้มน้าวให้บุคคลทั่วไปที่ประสงค์จะซื้ออาหารสัตว์เกิดความสนใจในสินค้าชนิดนั้นมากกว่าคำว่า TRUSTY จึงเป็นคำที่ไม่ได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าอาหารสัตว์โดยตรงแต่เป็นคำที่มีลักษณะบ่งเฉพาะเมื่อนำไปใช้เป็นเครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าดังกล่าว ตามมาตรา 7 วรรคสอง (2) แห่ง พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า เครื่องหมายการค้าคำว่า TRUSTY จึงมีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนได้ตามมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว โจทก์ย่อมฟ้องคดีนี้ต่อศาลได้
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 167 กำหนดให้ศาลต้องมีคำสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมเสมอ ไม่ว่าคู่ความจะมีคำขอหรือไม่ ดังนั้นที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้ง ๆ ที่โจทก์ไม่ได้มีคำขอดังกล่าว โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท ทั้ง ๆ ที่โจทก์ไม่ได้มีคำขอดังกล่าว จึงชอบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7331/2544 เครื่องหมายการค้าของโจทก์คือเครื่องหมายประกอบด้วยคำว่า KinderEm-eukal และรูปประดิษฐ์เป็นรูปการ์ตูนเด็กผู้ชายซึ่งโดยเฉพาะในส่วนรูปประดิษฐ์การ์ตูนเด็กผู้ชายซึ่งไม่มีในเครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นส่วนที่แตกต่างจากเครื่องหมายการค้าที่มีคำว่า KINDER ของจำเลยอย่างเด่นชัด ส่วนที่เป็นคำว่าKinderEm-eukal อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมในรูปประดิษฐ์การ์ตูนเด็กผู้ชายนั้นแม้จะมีคำว่า KINDER คำเดียวกับคำว่า KINDER ในเครื่องหมายการค้าของจำเลย และคำว่า KINDER นี้ก็เป็นคำที่ใช้ในภาษาเยอรมันก็ตามแต่ตามความเป็นจริงคำว่า KINDER นี้ก็เป็นคำซึ่งมีความหมายตามพจนานุกรมว่า เด็กหลายคนย่อมเป็นคำที่คนทั่วไปสามารถนำมาใช้ได้เป็นปกติอยู่แล้ว ดังนี้ แม้จำเลยจะจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่าKINDER ไว้ ก็ไม่ถึงกับมีสิทธิหวงกันไม่ให้ผู้อื่นใช้คำนี้โดยเด็ดขาดเพียงแต่ผู้ที่จะนำคำว่า KINDER ไปใช้เป็นส่วนหนึ่งประกอบเครื่องหมายการค้าของตนในภายหลังต้องทำให้เครื่องหมายการค้านั้นมีลักษณะแตกต่างจากเครื่องหมายการค้าของจำเลยและไม่ทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดได้
เมื่อเครื่องหมายการค้าคำว่า KinderEm-eukal ประกอบรูปการ์ตูนเด็กผู้ชายของโจทก์มิได้มีสาระสำคัญเป็นลักษณะเด่นอยู่ที่คำว่า KINDER อย่างที่ใช้เป็นเครื่องหมายการค้าของจำเลยแต่เครื่องหมายการค้าของโจทก์มีสาระสำคัญเป็นลักษณะเด่นที่คำว่า KinderEm-eukal และยังมีรูปการ์ตูนเด็กผู้ชายประกอบอีกด้วย เครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงมีจุดแตกต่างกับของจำเลยในส่วนสำคัญอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งผู้บริโภคสามารถใช้เป็นที่สังเกตแยกให้เห็นความแตกต่างจากเครื่องหมายการค้าของจำเลยได้โดยง่ายทั้งยังเป็นการแสดงให้เห็นได้ด้วยว่าโจทก์ใช้เครื่องหมายการค้านี้โดยสุจริต มิใช่การใช้คำว่า Kinder เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องหมายการค้าโดยหวังที่จะอาศัยชื่อเสียงเกียรติคุณจากเครื่องหมายการค้าของจำเลยเครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงไม่ใช่เครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของและแหล่งกำเนิดของสินค้า
ที่โจทก์มีคำขอให้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามคำขอด้วยนั้นเท่ากับเป็นการขอให้บังคับนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้ตามคำขอจดทะเบียนของโจทก์ไปเลย ทั้งที่นายทะเบียนยังจักต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 40 วรรคสองเสียก่อน ในชั้นนี้ย่อมไม่อาจก้าวล่วงพิพากษาให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามคำขอของโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8902/2543 เครื่องหมายการค้าทั้งของโจทก์และจำเลยประกอบด้วยคำว่าZENTEL และ ZENTAB เป็นสาระสำคัญ ตัวอักษรต่างกันเพียง 2 ตัวสุดท้ายลักษณะการวางรูปแบบและขนาดตัวอักษรเหมือนกัน ส่วนเสียงเรียกขานก็แตกต่างกันเล็กน้อยเช่นกัน โดยใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกัน ทั้งสาธารณชนจำนวนมากมิได้มีความรู้ในภาษาอังกฤษหรือตัวอักษรโรมัน ย่อมยากที่จะสังเกตข้อแตกต่างของเครื่องหมายการค้าทั้งสองได้ ถือว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยคล้ายกับของโจทก์ที่ได้จดทะเบียนไว้ก่อนจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8655/2542 มาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติโอนอำนาจหน้าที่และกิจการบริหารบางส่วนของกรมทะเบียนการค้า พ.ศ. 2534 บัญญัติให้โอนบรรดาอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับราชการของกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้าและกฎหมายว่าด้วยสิทธิบัตรไปเป็นของกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ การดำเนินการเกี่ยวกับการจดทะเบียนและการเปลี่ยนแปลงรายการทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 อยู่ในกรอบอำนาจหน้าที่และการควบคุมของกรมทรัพย์สินทางปัญญาจำเลย เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติดังกล่าวทั้งหมด ดังนั้น การที่โจทก์ฟ้องกรมจำเลยซึ่งมีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการรับจดทะเบียนหรือไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้า จึงถือได้ว่าเป็นการฟ้องนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าซึ่งเป็นข้าราชการกรมทรัพย์สินทางปัญญาตามคำสั่งแต่งตั้งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์แล้วและประกอบกับอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งเป็นผู้แทนกรมจำเลยเป็นประธานกรรมการคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าด้วยตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 95 ย่อมถือได้ว่าการฟ้องกรมจำเลยก็เท่ากับเป็นการฟ้องอธิบดีซึ่งเป็นกรรมการผู้หนึ่งในคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า จึงถือได้ว่าเป็นการฟ้องคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าแล้ว ไม่จำต้องฟ้องกรรมการทุกคน
การที่นายทะเบียนพิจารณาและออกคำสั่งว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบริษัท ส. ที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วนั้นหาได้ตัดรูปแผนที่ออกเพราะเห็นว่าเป็นสิ่งที่ใช้กันสามัญในการค้าขายแล้วจึงพิจารณาเปรียบเทียบเครื่องหมายการค้าของโจทก์กับเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของบริษัทดังกล่าวไม่การปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงเป็นการปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งหมด ส่วนการที่นายทะเบียนสั่งให้โจทก์ยื่นคำร้องขอสละสิทธิในรูปแผนที่มีผลเพียงให้โจทก์ไม่อาจขอถือสิทธิแต่ผู้เดียวที่จะใช้รูปแผนที่นั้นเท่านั้น หาได้เป็นการให้โจทก์ออกไม่ ซึ่งนายทะเบียนยังระบุแจ้งให้โจทก์ทราบถึงสิทธิของโจทก์ไว้ชัดเจนว่า หากโจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของนายทะเบียนดังกล่าวโจทก์มีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้ภายใน 90 วัน นับแต่วันได้รับคำสั่ง อันเป็นสิทธิที่โจทก์มีอยู่ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 18 วรรคหนึ่ง ดังนั้น การที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ต่อมาบริษัท ส. ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนอีกสองเครื่องหมายการค้าเพื่อให้ภาพรวมเครื่องหมายการค้าของบริษัท ส. เหมือนหรือคล้ายกับภาพรวมเครื่องหมายการค้าของโจทก์นั้น ก็เป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับบริษัท ส. ที่จะโต้แย้งและพิสูจน์กันว่าผู้ใดมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวดีกว่ากัน หาใช่เรื่องที่แสดงว่านายทะเบียนมีคำสั่งไปโดยไม่ชอบหรือมีเจตนาไม่สุจริตอย่างใดไม่ โจทก์ไม่อาจขอให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนดังกล่าวได้
การวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเป็นการพิจารณาและวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ตามอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 96(1) ประกอบมาตรา 16 และ 18 เมื่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าวินิจฉัยยืนตามคำสั่งของนายทะเบียนที่ปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ โดยเห็นว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์มีเสียงเรียกขานเหมือนกับเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนแล้ว โดยมิได้พิจารณาว่ารูปลักษณะของเครื่องหมายการค้าทั้งสองเหมือนหรือคล้ายกันหรือไม่นั้น ยังถือไม่ได้ว่าคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้ใช้ดุลพินิจโดยมีเจตนาไม่สุจริตหรือโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เพราะเหตุผลในการพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าทั้งสองเหมือนหรือคล้ายกันหรือไม่มีได้หลายประการ และเหตุผลที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้วินิจฉัยดังกล่าวก็เป็นเหตุผลหนึ่งในการพิจารณาเรื่องดังกล่าว เมื่อไม่ปรากฏจากทางนำสืบและพยานหลักฐานของโจทก์ว่าความเห็นของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าในคำวินิจฉัยอุทธรณ์เกิดจากการใช้ดุลพินิจโดยมีเจตนาไม่สุจริตหรือโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายหรือมีเจตนาจงใจให้โจทก์ได้รับความเสียหาย คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์ไม่อาจฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าดังกล่าวได้
เครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนทั้งสามคำขอของโจทก์ยังไม่ได้รับการจดทะเบียน โจทก์จึงอยู่ในฐานะเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ยังไม่ได้จดทะเบียน หากโจทก์เห็นว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ดังกล่าวดีกว่าบริษัท ส. โจทก์ก็ต้องฟ้องบริษัทดังกล่าวขอให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นตามมาตรา 67แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ เพราะผู้โต้แย้งสิทธิของโจทก์คือบริษัท ส. หาใช่กรมทรัพย์สินทางปัญญาจำเลยไม่ โจทก์จึงไม่อาจฟ้องจำเลยเพื่อขอให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าของบริษัท ส. ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3557/2542 โจทก์ใช้ชื่อและชื่อสกุลโจทก์มาจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์อันเป็นลักษณะบ่งเฉพาะที่ไม่มีคำแปลเป็นภาษาไทยหรือไม่มีความหมายอันเข้าใจกันโดยธรรมดาได้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ. 2534 มาตรา 7(1)โดยโจทก์โฆษณาสินค้าของโจทก์โดยใช้คำว่า RYKIEL เป็นเครื่องหมายการค้าจนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้กันแพร่หลายทั้งในประเทศและต่างประเทศคำว่าRYKELจึงเป็นสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ได้ขอจดทะเบียนไว้ การที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกเอาเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ขอจดทะเบียนคำว่า RYKELซึ่งเป็นสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้าทั้งชุดว่า RYKELHOMMEBIS ขึ้นเปรียบเทียบกับคำว่า RYKIELที่เป็นสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งชุดว่า SONIARYKIEL ที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วว่าคล้ายหรือเหมือนกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดสินค้าจึงเป็นการชอบแล้ว ซึ่งเมื่อพิจารณาถ้อยคำว่า RYKIEL และ RYKELแล้วจะเห็นได้ว่าลักษณะตัวอักษรที่ใช้และการเรียงตัวเหมือนกันคงแตกต่างกันที่จำนวนตัวอักษรและคำทั้งสองยังมีสำเนียงการอ่านหรือเสียงเรียกขานเป็นอย่างเดียวกันว่า "ไรเคิ้ล" หรือ"ไรเคล"เมื่อเสียงเรียกขานส่วนที่เป็นสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้าของจำเลยพ้องกับเสียงเรียกขานส่วนที่เป็นสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วย่อมก่อให้สาธารณชนที่เลือกซื้อสินค้าซึ่งจะรับฟังเสียงเรียกขานเป็นสำคัญเกิดความสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดสินค้าได้ เครื่องหมายการค้าของจำเลยจึงต้องห้ามมิให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนให้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 6(3),8(11) และ 13ของผู้ยื่นคำขอ รวมทั้ง นายทะเบียนเครื่องหมายการค้า ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ. 2534เป็นผู้ใช้ดุลพินิจว่าจะรับหรือไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าวินิจฉัยคำขอของบุคคลอื่นที่ยื่นเข้ามาเกี่ยวกับการขอจดทะเบียนการค้านั้นๆนายทะเบียนฯจึงเป็นผู้มีอำนาจโดยตรงเกี่ยวกับการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า และเป็นผู้ที่โต้แย้งสิทธิของผู้เสียประโยชน์ไม่ว่าจะเป็นผู้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าหรือผู้คัดค้านโจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องนายทะเบียนฯ ห้ามรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ขอจดทะเบียนได้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 38 วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1501/2542 เครื่องหมายการค้าของโจทก์กับเครื่องหมายการค้าของจำเลย ต่างใช้รูปหัวไก่เป็นส่วนสำคัญของเครื่องหมายการค้า ซึ่งมีส่วนคล้ายกันมาก แต่ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเครื่องหมายการค้า ของโจทก์และจำเลยเป็นสินค้าที่มีลักษณะแตกต่างกันหรือต่างจำพวก สินค้ากันในรายการสินค้าที่ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้และโจทก์กับจำเลยต่างใช้เครื่องหมายการค้าของตนสำหรับ สินค้าคนละประเภทกันดังกล่าวผลิตออกจำหน่ายแก่สาธารณชน โดยสุจริตมาเป็นเวลานานหลายสิบปี จนสาธารณชนทราบดีว่า สินค้าชนิดใดเป็นของโจทก์ ชนิดใดเป็นของจำเลย มิได้ทำให้ สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้า หรือแหล่งกำเนิดของสินค้าแต่อย่างใด เครื่องหมายการค้า ของโจทก์จึงไม่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ได้จดทะเบียน ไว้แล้วจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็น เจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้านั้น ไม่เข้าลักษณะ ต้องห้ามมิให้นายทะเบียนรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ของโจทก์ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 6(3) และ 13 วรรคหนึ่ง(2) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 เมื่อโจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์มาโดยสุจริตการที่โจทก์มิได้ต่ออายุทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์และนายทะเบียนได้เพิกถอนการจดทะเบียนนั้น มีผลทำให้โจทก์ไม่อยู่ในฐานะเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนแล้วอันจะได้รับความคุ้มครองในฐานะดังกล่าวตาม พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 เท่านั้น หาได้เป็นการตัดสิทธิโจทก์ไม่ให้ใช้เครื่องหมายการค้านั้นต่อไปไม่และโจทก์ย่อมมีสิทธิ ที่จะยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ใหม่ได้ ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่เสียสิทธิในการใช้ เครื่องหมายการค้าของโจทก์ จึงหาใช่ข้อวินิจฉัยที่ คลาดเคลื่อนต่อกฎหมาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2625/2538 โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า"SIBELIUM""ไซบีเลี่ยม""สตูเจอร่อน""SIBELIUM"กับรูปม้าบนอักษร"J"และ"STUGERON"กับรูปม้าบนอักษร"J"โดยโจทก์ใช้กับสินค้ายารักษาโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดมาก่อนทั้งในประเทศและต่างประเทศจนเป็นที่แพร่หลายจำเลยเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า"STUBELIUM"หลังโจทก์หลายปีโดยใช้กับสินค้ายาขยายหลอดเลือดและใช้ตัวยา"FLUNARIZINE"ตัวเดียวกับยาของโจทก์เครื่องหมายการค้า"STUBELIUM"ของจำเลยเป็นการผสมของพยางค์""STU+BELIUM"คำดังกล่าวเป็นอักษรโรมัน9ตัวอักษร3ตัวแรกตรงกับอักษร3ตัวแรกของคำว่า"STUGERON"และอักษร6ตัวหลังตรงกับอักษร6ตัวหลังของคำว่า"SIBELIUM"ซึ่งล้วนเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์คำดังกล่าวเป็นคำที่ประดิษฐ์ขึ้นเฉพาะไม่ใช่คำที่ใช้สามัญอักษรโรมันมี26ตัวหากจำเลยคิดประดิษฐ์เองโดยไม่ได้เห็นคำทั้งสองที่โจทก์ประดิษฐ์ใช้มาก่อนโอกาสที่จะตรงกันถึง9ตัวเรียงกันเช่นนั้นย่อมเป็นไปได้ยากการที่โจทก์นำสืบถึงเครื่องหมายการค้าคำว่า"STUGERON"เพื่อให้เห็นถึงพฤติกรรมของจำเลยในประเด็นเกี่ยวกับที่มาของเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่จะให้เหมือนหรือคล้ายกันเครื่องหมายการค้าคำว่า"SIBELIUM"แม้โจทก์จะไม่ได้กล่าวถึงเครื่องหมายการค้าคำว่า"STUGERON"มาในฟ้องโจทก์ก็มีสิทธินำสืบและเป็นการนำสืบในประเด็นหาใช่นอกประเด็นไม่ กรณีพิพาทเรื่องเครื่องหมายการค้าที่ขอจดทะเบียนไม่ใช่วินิจฉัยแต่เพียงว่าเครื่องหมายการค้าทั้งสองจะต้องเหมือนกันทุกสิ่งทุกอย่างแต่ต้องวินิจฉัยว่าเครื่องหมายการค้านั้นชวนให้เห็นว่าเป็นลักษณะทำนองเดียวกันและเมื่อเทียบเคียงแล้วมีลักษณะแตกต่างกันบ้างจะชี้ขาดว่าไม่เหมือนกันไม่ได้ต้องเอามาเปรียบเทียบให้เห็นลักษณะในเวลาใช้อยู่ตามปกติและความสุจริตประกอบกับประเภทสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้ากับสภาพแห่งท้องตลาดการที่จำเลยนำเครื่องหมายการค้าที่แพร่หลายของโจทก์2เครื่องหมายมาตัดตอนหัวท้ายนำมาเป็นเครื่องหมายการค้าของจำเลยและใช้กับสินค้ายารักษาโรคชนิดเดียวกันโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ลงทุนโฆษณาตามวิสัยทางการค้าเลยจึงเป็นการแสวงหาประโยชน์จากชื่อเสียงเกียรติคุณของโจทก์ถือได้ว่าจำเลยใช้สิทธิโดยไม่สุจริตการที่จำเลยลอกเครื่องหมายการค้าของโจทก์มาตัดต่อเป็นเครื่องหมายการค้าของจำเลยย่อมทำให้สาธารณชนสับสนอาจเข้าใจได้ว่าเป็นของโจทก์ได้ถือได้ว่าเครื่องหมายการค้าคำว่า"STUBELIUM"ของจำเลยเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า"SIBELIUM"ของโจทก์ถึงขนาดเป็นการลวงสาธารณชนให้หลงผิดได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3407 - 3408/2532 เครื่องหมายการค้าพิพาทเป็นของบริษัท ว. แห่งประเทศอังกฤษก็ตาม แต่เมื่อบริษัทดังกล่าวมิได้เข้ามาเป็นคู่ความ และไม่ปรากฏว่าได้จดทะเบียนเครื่องหมายยการค้าดังกล่าวในประเทศไทย อันจะได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474มาตรา 27,29 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้แสดงว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทและขอให้จำเลยถอนคำขอจดทะเบียนและเลิกใช้เครื่องหมายการค้านี้ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 455/2511 คดีเรื่องก่อน โดยเฉพาะคดีแดงที่ 4475/2506 เป็นเรื่องที่โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า HIPEX สำหรับใช้สินค้าจำพวก 8 คือ เครื่องรับวิทยุ ฯลฯ. และได้ฟ้องจำเลยขอให้แสดงว่าโจทก์มีสิทธิจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวนี้. เพราะจำเลยยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าHYPEX สำหรับใช้กับสินค้าจำพวก 8 คือ เครื่องรับวิทยุฯลฯ. ศาลพิพากษายกฟ้อง. โจทก์กลับยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า HIPEX สำหรับใช้กับสินค้าจำพวก 8 ซ้ำอีก. ครั้นนายทะเบียนไม่รับจด. โจทก์ก็มาฟ้องจำเลยเป็นคดีขึ้นอีก. เห็นว่าคดีหลังนี้กับคดีแดงที่4475/2506 เป็นเรื่องเดียวกันโดยมีประเด็นข้อพิพาทเป็นอย่างเดียวกันว่า โจทก์มีสิทธิจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าHIPEX สำหรับใช้กับสินค้าจำพวก 8 หรือไม่. ในเมื่อจำเลยได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า HYPEX สำหรับใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกันไว้แล้ว. ซึ่งต้องพิจารณาเรื่องที่กระทำ ไม่ใช่ครั้งของการกระทำ. แม้โจทก์จะประดิษฐ์รูปลักษณะของตัวอักษรให้ผิดเพี้ยนไปบ้าง. แต่ตัวอักษรก็ยังเป็นอย่างเดิม และเรียกขานเหมือนเดิม คือ HIPEX. ส่วนลวดลายส่วนประกอบโดยรอบตัวอักษร แม้จะมีเพิ่มขึ้นก็ไม่ใช่ส่วนสำคัญเพราะเป็นเพียงส่วนประกอบของลักษณะบ่งเฉพาะแห่งเครื่องหมายเท่านั้น. ไม่ทำให้เครื่องหมาย HIPEX ที่โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนครั้งหลังอันเป็นมูลฟ้องคดีนี้กลายเป็นคนละเครื่องหมายคนละเรื่องกับเรื่องก่อนไปได้. เมื่อคดีหลังกับคดีก่อนคือคดีแดงที่ 4475/2506 ของศาลชั้นต้นเป็นเรื่องเดียวกัน และขณะโจทก์ฟ้องคดีหลังนี้ คดีแดงที่ 4475/2506 ยังอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา. โจทก์จึงฟ้องคดีหลังนี้ไม่ได้. ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173(1).
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4434/2540 โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า"กรีนด์นัทโกลด์GreenutGolf"และ"GOLDNUTโกลด์นัท"จำเลยที่ 1 คัดค้านการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยที่ 2 มีคำสั่งปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้โจทก์เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2534 และนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า"กรีนแอนด์โกลด์ Green&Gold" ที่จำเลยที่ 1 ฟ้องขอให้เพิกถอนเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2533 ซึ่งเป็นระยะเวลาก่อนวันที่14 กุมภาพันธ์ 2535 อันเป็นวันที่ พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ. 2534 มีผลบังคับ ดังนั้น การวินิจฉัยคดีจึงอยู่ในบังคับของบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 การพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าที่ยื่นขอจดทะเบียนกับเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วเหมือนหรือคล้ายกันจนถึงนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนหรือไม่นั้น หากเป็นเครื่องหมายการค้าประเภทคำก็ต้องพิจารณาคำในเครื่องหมายการค้านั้นทั้งหมด สำเนียงเรียกขาน ตลอดจนจำพวก และชนิดของสินค้าที่จะใช้เครื่องหมายการค้านั้นประกอบเข้าด้วยกันว่าอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่ โจทก์ตั้งโรงงานผลิตถั่วลันเตากรอบถั่วลิสง และเม็ดมะม่วงหิมพานต์ โดยได้รับอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมกระทรวงอุตสาหกรรมและกองควบคุมอาหาร กระทรวงสาธารณสุขโจทก์ผลิตสินค้าประเภทถั่วลันเตามานาน 8 ปี วางขายและจำหน่าย ทั่วประเทศ ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า "GOLD" มานาน 10 ปี และจดทะเบียนในประเทศไทยเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2512 สำหรับสินค้าจำพวกที่ 42 ชนิดสินค้ากาแฟ กาแฟสกัด น้ำเชื้อกาแฟ ชาและชาสกัด สินค้าของโจทก์ที่ผลิตมีแต่ถั่วลันเตากรอบ ส่วนสินค้าของจำเลยที่ 1 เป็นกาแฟสำเร็จรูปชนิดเกล็ดและกาแฟสำเร็จรูปที่สกัดแคฟเฟอีนเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยที่ 1 แตกต่างกันหลายประการ กล่าวคือ เครื่องหมายการค้าของโจทก์มีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 มีเฉพาะภาษาอังกฤษ เครื่องหมายการค้าของโจทก์มีสำเนียงเรียกขานว่า โกลด์นัทและกรีนนัทโกลด์ ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1อ่านว่า โกลด์ เครื่องหมายการค้าทั้งสองของโจทก์มี 2 พยางค์และ 3 พยางค์ ตามลำดับ ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1มีพยางค์เดียว และสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ว่า เป็นถั่วลันเตากรอบกับสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1ซึ่งเป็นกาแฟเห็นได้ชัดว่าแตกต่างกันมาก แม้จะจัดอยู่ในสินค้าจำพวกเดียวกันก็ตามจำเลยที่ 1 จดทะเบียนคำว่า "GOLD" มาตั้งแต่ปี 2512 แต่จำเลยที่ 1 ไม่เคยใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า"GOLD" กับสินค้ากาแฟที่จำเลยที่ 1 ผลิต นอกจากนี้จำเลยที่ 1ใช้เครื่องหมายการค้าจดทะเบียนคำว่า "GOLDBLEND" และ"โกลด์เบลนด์" กับสินค้ากาแฟและใช้ในลักษณะเป็นรุ่นหรือชนิดของสินค้ากาแฟประกอบกับเครื่องหมายการค้าอักษรประดิษฐ์"NESCAFE" หรือ "เนสกาแฟ" เท่านั้น การเรียกขานสินค้าของโจทก์ อาจเรียกว่า "ถั่วกรีนนัทโกลด์"หรือ"ถั่วโกลด์นัท"ส่วนสินค้าของจำเลยที่ 1 อาจเรียกว่า "เนสกาแฟโกลด์เบลนด์"เมื่อเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยที่ 1 แตกต่างกันหลายประการเช่นนี้ เครื่องหมายการค้าคำว่า "GOLDNUT โกลด์นัท"และ "กรีนนัทโกลด์ GreennutGold" ของโจทก์ จึงไม่เหมือน หรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนคำว่า "GOLD" ของจำเลยที่ 1จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า เครื่องหมายการค้าจดทะเบียนคำว่า "กรีนแอนด์โกลด์Green&Gold" ของโจทก์ กับเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนคำว่า"Gold""GOLDBLEND" และ "โกลด์เบลนด์" ของจำเลยที่ 1 ไม่เหมือนหรือคล้ายกันจนทำให้สาธารณชนเกิดความสับสนหรือหลงผิดได้ แม้เครื่องหมายการค้าของโจทก์จะได้รับการจดทะเบียนภายหลัง เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 แต่โจทก์มิได้นำเอาเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 มาเลียนแบบแล้วนำไปขอจดทะเบียน จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนคำว่า "กรีนแอนด์โกลด์ Green&Gold" ของโจทก์ดีกว่าโจทก์ผู้ที่ได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของ จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจขอให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า "กรีนแอนด์โกลด์ Green&Gold"ของโจทก์ได้ เครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของจำเลยที่ 1 คำว่า "GOLD" คำว่า "โกลด์เบลนด์" และคำว่า "GOLDBLEND" ได้รับการจดทะเบียนสำหรับสินค้าจำพวกที่ 42 มาตั้งแต่ก่อนวันที่โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า "GOLDNUT""โกลด์นัท"และคำว่า"กรีนนัทโกลด์ GreennutGold" สำหรับสินค้าจำพวกที่ 42 และเมื่อจำเลยที่ 1 ทราบว่าโจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวซึ่งมีคำว่า "GOLD" เช่นเดียวกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 รวมอยู่ด้วย และขอจดทะเบียนสำหรับสินค้าจำพวกเดียวกัน จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิยื่นคำคัดค้านการขอจดทะเบียนของโจทก์ดังกล่าวซึ่งจำเลยที่ 1 เห็นว่าเป็นการกระทบถึงสิทธิของตนได้ ตามที่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 22 วรรคหนึ่งซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นการที่จำเลยที่ 1ยื่นคำคัดค้านการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวจึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 1 ซึ่งอยู่ในฐานะนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าก็ชอบที่จะพิจารณาคำขอของโจทก์และคำคัดค้านของจำเลยที่ 1 แล้วให้คำวินิจฉัยโดยมีคำสั่งรับจดทะเบียนหรือไม่รับจดทะเบียนตามอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ตามมาตรา 22 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติเดียวกันได้ ดังนี้ เมื่อไม่ปรากฏว่าที่จำเลยที่ 2 ปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์โดยเห็นว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 จนถึงนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนนั้นเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบการกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการปฏิบัติไปตามอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ตามกฎหมายและไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5684 - 5685/2539 คำฟ้องของโจทก์ที่อ้างว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่าจำเลยผู้ที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วจึงขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยและเรียกค่าเสียหายจากการที่จำเลยเอาสินค้าของจำเลยไปลวงขายว่าเป็นสินค้าของโจทก์เป็นการใช้สิทธิตามที่โจทก์ได้รับความคุ้มครองดังที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ.2474มาตรา41(1)และมาตรา29วรรคสองเป็นคนละกรณีกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าตามมาตรา22ที่วินิจฉัยว่าเครื่องหมายการค้าที่จำเลยยื่นขอจดทะเบียนไม่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของผู้ที่โอนเครื่องหมายการค้านั้นให้โจทก์โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 926/2539 โจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้ากับสินค้าจำพวก 10 ซึ่งเป็นสินค้าเกี่ยวกับเครื่องบอกเวลาในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2494 เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นรูปมงกุฎห้ายอด บนยอดมงกุฎแต่ละยอดมีจุดกลมสีดำ ใต้มงกุฎมีอักษรโรมันคำว่า ROLEX (โรเล็กซ์) ส่วนจำเลยเพิ่งจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ากับสินค้าจำพวก 39 รายการดินสอ และสินค้าจำพวก 39 ทั้งจำพวกเมื่อปี2524 และปี 2526 โดยเครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นรูปมงกุฎห้ายอดมีจุดกลมสีดำอยู่บนมงกุฎเช่นเดียวกัน ใต้มงกุฎต่างมีอักษรโรมันคำว่า Lolex ซึ่งมีลักษณะตัวอักษรคล้ายคลึงกัน ทั้งยังอ่านออกเสียงคล้ายคำว่า "โรเล็กซ์" ด้วย เมื่อพิจารณารวมทั้งหมดจึงคล้ายคลึงกันมาก แม้จำเลยจะจดทะเบียนในสินค้าต่างจำพวกกับสินค้าของโจทก์ ก็นับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนให้หลงผิด เพราะผู้ซื้อหรือผู้ใช้สินค้าอาจหลงผิดว่าสินค้าของจำเลยเป็นสินค้าที่โจทก์ผลิตขึ้น แม้จำเลยจะยังมิได้นำสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวออกจำหน่าย แต่การที่จำเลยนำเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไปจดทะเบียน ถือได้ว่าเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริตทำให้โจทก์เสียหาย โจทก์จึงมีสิทธิห้ามจำเลยใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวต่อไปได้
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้ามานานกว่า80 ปี และได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้แล้วทั้งในต่างประเทศและในประเทศไทย เป็นการอ้างว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่าจำเลยผู้ได้จดทะเบียนไว้ในประเทศไทย จึงขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นการใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 มาตรา 41(1)นอกเหนือจากการที่เคยใช้สิทธิโต้แย้งต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าตาม มาตรา 22 ไว้แล้ว โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8512/2538 เครื่องหมายการค้าของโจทก์คำว่า "Dulcolax" มีอักษรโรมันรวม 8 ตัว ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยคำว่า "DECOLAX" มีอักษรโรมันรวม 7 ตัว และในเครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยคงมีแตกต่างกันที่ตัวอักษรโรมันเพียง 2 ตัว คือตัวอักษร "ul" และ "E" และเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นตัวพิมพ์ใหญ่เฉพาะตัวแรกคือตัวอักษร "D" ตัวอักษรอื่นเป็นตัวพิมพ์เล็ก ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยใช้ตัวพิมพ์ใหญ่ทั้งหมด แต่เครื่องหมายการค้าทั้งสองต่างก็ขึ้นต้นด้วยตัวอักษรโรมันตัวพิมพ์ใหญ่ "D" เหมือนกัน และลงท้ายด้วยตัวอักษรโรมันคำว่า "COLAX" เหมือนกัน ทั้งการอ่านก็ออกเสียงเป็น 3 พยางค์ เหมือนกันซึ่งเมื่อพิจารณาโดยรวมทั้งหมดแล้วจะเห็นได้ว่าคล้ายคลึงกันมาก ซึ่งแม้แต่ผู้ที่อ่านอักษรโรมันได้ หากไม่พิจารณาให้รอบคอบ ก็ยากที่จะสังเกตเห็นข้อแตกต่างของเครื่องหมายการค้าทั้งสอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าของโจทก์และจำเลยตามแผงบรรจุเม็ดยาต่างก็เป็นสินค้าประเภทยาระบายใช้สำหรับอาการท้องผูกเหมือนกันทั้งเม็ดยาและซองบรรจุยาก็มีลักษณะกลมนูนและมีขนาดเท่ากัน เม็ดยามีผิวเคลือบสีน้ำตาลเหลืองเหมือนกัน และเมื่อคำนึงถึงว่าส่วนใหญ่ของสาธารณชนมิได้มีความรู้ในภาษาอังกฤษหรือตัวอักษรโรมันดีพอที่จะแยกความแตกต่างของตัวอักษรด้วยแล้วย่อมเป็นไปได้ง่ายที่สาธารณชนจะเกิดความสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ เครื่องหมายการค้าของจำเลยคำว่า "DECOLAX"จึงเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์คำว่า "Dulcolax" จนถึงนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนให้สับสนหรือหลงผิดแล้ว โจทก์ได้ใช้และจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านี้มาก่อนจำเลยจนเป็นที่แพร่หลายไปทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทยการที่จำเลยใช้เครื่องหมายการค้าคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ในสินค้าประเภทเดียวกัน ย่อมแสดงให้เห็นถึงเจตนาของจำเลยที่จะเลียนแบบเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของโจทก์คำว่า "Dulcolax" เป็นการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของโจทก์ โจทก์จึงขอให้บังคับจำเลยถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า "DECOLAX" ของจำเลยได้
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนและมีสิทธิดีกว่าจำเลยในเครื่องหมายการค้าคำว่า "DECOLAX"ตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 175169 ซึ่งเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนคำว่า "Dulcolax" ของโจทก์สำหรับสินค้าจำพวกที่ 3 ขอให้บังคับจำเลยถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยสำหรับสินค้าจำพวกเดียวกันกับของโจทก์ดังกล่าว เป็นการที่โจทก์ใช้สิทธิที่มีอยู่ตามมาตรา 41 (1)แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิ แม้มาตรา 41 (1) ดังกล่าวจะเป็นบทบัญญัติให้เจ้าของเครื่องหมายการค้าผู้มีสิทธิดีกว่าขอให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมาย-การค้า และคดีนี้เครื่องหมายการค้าของจำเลยยังไม่ได้รับการจดทะเบียนก็ตามแต่โจทก์ก็มีสิทธิขอให้จำเลยถอนคำขอจดทะเบียนนั้น เพราะแม้เครื่องหมาย-การค้านั้นได้รับการจดทะเบียนไปแล้วยังอาจถูกเพิกถอนได้ คำขอที่ยังไม่ได้รับการจดทะเบียนผู้มีส่วนได้เสียซึ่งมีสิทธิดีกว่าย่อมขอให้บังคับผู้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทให้ถอนคำขอนั้นได้อยู่ในตัว การที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าวินิจฉัยให้ยกคำคัดค้านของโจทก์เพราะเห็นว่าเครื่องหมาย-การค้าตามคำขอของจำเลยไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์แต่โจทก์ไม่เห็นด้วย จึงอุทธรณ์คำวินิจฉัยของนายทะเบียนต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้านั้น เป็นเรื่องที่โต้แย้งกันเกี่ยวกับปัญหาว่าเครื่องหมาย-การค้าของจำเลยเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์หรือไม่อันเป็นกรณีที่โจทก์ดำเนินการตามมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าพ.ศ.2474 ซึ่งบทบัญญัติมาตราดังกล่าวหาได้ตัดสิทธิโจทก์ที่ขอให้บังคับจำเลยถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยโดยอ้างว่ามีสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นดีกว่าจำเลยดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 41 (1) ไม่ ดังนี้แม้ขณะฟ้องคดีนี้โจทก์จะได้อุทธรณ์คำวินิจฉัยของนายทะเบียนต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าแล้วยังมิได้ถอนอุทธรณ์ก็ตาม โจทก์ก็มีสิทธิที่จะนำคดีนี้มาฟ้องได้
ศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ 4,000 บาท แต่คดีนี้เป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ ซึ่งตาราง 6 ท้าย ป.วิ.พ.ได้กำหนดอัตราค่าทนายความขั้นสูงในศาลอุทธรณ์ไว้เพียง 1,500 บาท การกำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ดังกล่าวจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาชอบที่จะแก้ไขให้ถูกต้องได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2258/2538 คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 มาตรา 22 วรรคสี่ (1) เป็นการวินิจฉัยข้อพิพาทของโจทก์และจำเลยในชั้นแรกเกี่ยวกับเรื่องเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ยื่นขอจดทะเบียนว่ามีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วหรือไม่ ซึ่งคำวินิจฉัยดังกล่าวโจทก์จะนำเรื่องเดียวกันนั้นมาฟ้องต่อศาลอีกไม่ได้ตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น แต่ในคดีนี้สภาพแห่งข้อหาของโจทก์เป็นเรื่องที่โจทก์อ้างว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่าจำเลยผู้ที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว จึงขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยอันเป็นการใช้สิทธิตามที่โจทก์ได้รับความคุ้มครองดังที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 มาตรา 41 (1) อันเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิ ซึ่งเป็นคนละกรณีกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่วินิจฉัยว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ขอจดทะเบียนเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว การฟ้องคดีของโจทก์หาใช่การใช้สิทธิโดยไม่สุจริตไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
เครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนไว้ในต่างประเทศนั้น แม้ไม่มีผลบังคับในประเทศไทย แต่อาจเป็นข้อเท็จจริงที่จะใช้ฟังถึงสิทธิแห่งการเป็นเจ้าของและการใช้เครื่องหมายการค้านั้นได้
โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า "CELINE"มาก่อน โดยจดทะเบียนไว้ที่ประเทศฝรั่งเศสและใช้กับสินค้าของโจทก์ตั้งแต่ พ.ศ.2506 และประเทศอื่น ๆ เกือบทั่วโลก ตั้งแต่ พ.ศ.2517 สินค้าของโจทก์มีจำหน่ายแพร่หลายตามห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ ในประเทศไทย การที่จำเลยได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า "CE'LINE" อยู่ใต้รูปนกยูงเกาะตัว "C"เมื่อ พ.ศ.2523 โดยอักษรโรมันคำว่า "CE'LINE" เหมือนหรือคล้ายกับอักษร-โรมันคำว่า "CELINE" ซึ่งโจทก์เป็นเจ้าของและใช้เป็นเครื่องหมายการค้ามาก่อนจำเลย จึงต้องถือว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า "CELINE"หรือ "CE'LINE" ดีกว่าจำเลย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2198/2538 ฟ้องโจทก์มิได้โต้เถียงเรื่องเครื่องหมายการค้าของโจทก์เหมือนหรือคล้ายกับของจำเลยหรือไม่ซึ่งคณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำวินิจฉัยถึงที่สุดแล้วแต่โจทก์อ้างว่ามีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่าจำเลยผู้ได้จดทะเบียนไว้แล้วขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยอันเป็นการใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ.2474มาตรา41(1)โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องไม่ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ.2474มาตรา22วรรคสี่(1) ศาลชั้นต้นตั้งประเด็นข้อพิพาทไว้แล้วแต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจึงมิได้วินิจฉัยปัญหาอื่นศาลฎีกาย่อมวินิจฉัยปัญหาได้เลยโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่ พฤติการณ์ที่จำเลยใช้เครื่องหมายการค้าที่เป็นอักษรโรมันคำเดียวกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ในลักษณะเหมือนหรือคล้ายกันเป็นการจงใจให้ผู้อื่นหลงเข้าใจผิดว่าสินค้าของจำเลยเป็นสินค้าของโจทก์เมื่อโจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า"POLO"มาก่อนจำเลยโจทก์จึงมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวดีกว่าจำเลย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 131/2538 พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ.2474มาตรา16วรรคสองเพียงแต่บัญญัติให้สิทธิแก่ผู้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าซึ่งนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีหนังสือแจ้งเหตุที่ไม่รับจดทะเบียนไปให้ทราบตามวรรคหนึ่งของมาตรา16มีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าตามมาตรา19ทวิได้ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งเหตุที่นายทะเบียนไม่รับจดทะเบียนนั้นโดยมิได้บัญญัติห้ามมิให้ผู้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นใช้สิทธิดำเนินคดีทางศาลโจทก์จึงมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้ โจทก์อ้างว่าเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าพิพาทอันจดทะเบียนไว้ในประเทศฝรั่งเศสได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทแต่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าไม่รับจดทะเบียนให้โดยอ้างว่าเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของส.ซึ่งนายทะเบียนได้จดทะเบียนไว้ก่อนแล้วต่อมาส. ได้โอนให้จำเลยโจทก์ได้อุทธรณ์คำวินิจฉัยของนายทะเบียนต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าและขอให้คณะกรรมการรอการวินิจฉัยไว้ก่อนซึ่งคณะกรรมการได้มีคำสั่งให้รอการวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ไว้เพื่อรอคำพิพากษาของศาลการที่โจทก์คดีขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยโดยอ้างโจทก์มีสิทธิดีกว่าจำเลยผู้ที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วโดยโจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าพิพาทได้ใช้เครื่องหมายการค้ากับสินค้าของโจทก์แพร่หลายมาเป็นเวลานานหลายสิบปีแล้วทั้งได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทของโจทก์ไว้ในประเทศฝรั่งเศสและประเทศต่างๆไม่น้อยกว่า90ประเทศจึงเป็นกรณีที่โจทก์อ้างว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทดีกว่าจำเลยผู้ที่จดทะเบียนไว้แล้วขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทของจำเลยอันเป็นการใช้สิทธิตามมาตรา41(1)โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องได้ โจทก์อุทธรณ์คำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเป็นการที่โจทก์ผู้ขอจดทะเบียนได้ใช้สิทธิตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ.2474มาตรา16วรรคสองอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามิใช่เป็นกรณีที่โจทก์อุทธรณ์คำวินิจฉัยของนายทะเบียนตามมาตรา22วรรคสี่(1)อันเป็นกรณีที่มีผู้คัดค้านการขอจดทะเบียนแล้วนายทะเบียนได้ให้คำวินิจฉัยกรณีนี้ไม่มีการคัดค้านการขอจดทะเบียนของโจทก์แต่เป็นเรื่องที่นายทะเบียนไม่รับจดทะเบียนให้โจทก์เองเพราะเห็นว่าเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนนั้นเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วกรณีจึงไม่ต้องด้วยมาตรา22และไม่ตัดสิทธิของโจทก์ซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่แท้จริงจะดำเนินคดีเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าของตนเมื่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนของส. และต่อมาส. โอนสิทธิเครื่องหมายการค้าให้จำเลยโจทก์ซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของมีสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นดีกว่าจำเลยย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนคำขอจดทะเบียนและทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยได้ตามมาตรา41(1)สิทธิของโจทก์ที่จะนำคดีมาสู่ศาลโดยฟ้องจำเลยต่อศาลเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าพิพาทจึงไม่สิ้นไป โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยโดยอ้างว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่าจำเลยเพราะได้ใช้มาก่อนซึ่งเป็นการฟ้องคดีตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ.2474มาตรา41(1)โจทก์หาได้ฟ้องคดีเพื่อป้องกันหรือเรียกค่าเสียหายในการล่วงสิทธิเครื่องหมายการค้าโจทก์ตามมาตรา29ไม่โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องคดีได้แม้ยังไม่ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของตนในประเทศไทยก็ตาม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7427/2537 เครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นรูปใบหน้าคนทำครัวสวมหมวก มีมือข้างเดียวถือขวดโดยไม่มีส่วนแขน ลำตัว และเท้า แม้รูปส่วนของจำเลยจะประดิษฐ์ขึ้นแต่ก็มองได้ออกอย่างชัดเจน ว่าเป็นคน ส่วนของโจทก์เป็นรูปตัวการ์ตูนทรงกระบอกรูปขวด มีหมวก ตา ปาก มือ และลำตัว ซึ่งดัดแปลงมาจากขวดของน้ำมันพืช สำหรับเครื่องหมายการค้าส่วนที่เป็นตัวอักษร ส่วนของโจทก์เป็นอักษรไทยคำว่า กุ๊ก และอักษรโรมันคำว่า COOK เป็นอักษรเพียงพยางค์เดียว แต่ส่วนของจำเลยเป็นอักษรไทยคำว่ากุ๊กทอง มี 2 พยางค์ และอักษรโรมันคำว่า COLDENCOOK มี3 พยางค์ ลักษณะของเครื่องหมายการค้าที่จำเลยยื่นขอจดกับที่โจทก์จดทะเบียนเป็นเจ้าของไว้แล้วจึงไม่เหมือนหรือคล้ายกันจนถึงนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชน เพราะไม่ทำให้ประชาชนสับสนหรือเข้าใจผิดถึงแหล่งกำเนิดสินค้า นอกจากนั้นสินค้าของโจทก์มีเพียงชนิดเดียวคือ น้ำมันพืช ส่วนของจำเลยผลิตสินค้า ซอสถั่วเหลือง ซอสพริก น้ำปลา ซีอิ้วและเต้าเจี้ยวโดยไม่ได้ผลิตน้ำมันพืชแสดงว่าจำเลยมิได้มีเจตนาลวงสาธารณชนให้สับสนหลงผิดว่าสินค้าของจำเลยคือสินค้าของโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6920/2537 เมื่อฟ้องของโจทก์ได้บรรยายว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า BIRKENSTOCK จำเลยนำเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไปจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเป็นการกระทำโดยไม่สุจริต ทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดว่าสินค้าของจำเลยเป็นสินค้าของโจทก์ ขอให้เพิกถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยคำฟ้องของโจทก์จึงได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา คำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่ใช้เป็นหลักแห่งข้อหาแล้ว โจทก์หาจำต้องบรรยายในฟ้องว่า ผู้ใดเป็นผู้ประดิษฐ์เครื่องหมายการค้าดังกล่าวของโจทก์ซึ่งเป็นรายละเอียดที่โจทก์อาจนำสืบในชั้นพิจารณาต่อไปได้ ฟ้องของโจทก์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสองแล้ว ไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม คดีแพ่งหมายเลขดำที่ 302/2530 ของศาลชั้นต้นเป็นคดีที่ ส.ในฐานะส่วนตัวเป็นโจทก์ฟ้องจำเลย มิใช่คดีที่ ส.ฟ้องจำเลยในฐานะที่ ส.เป็นผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์เช่นในคดีนี้ โจทก์ในคดีนี้จึงมิใช่โจทก์คนเดียวกันกับโจทก์ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่302/2530 ของศาลชั้นต้น ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้อนกับคดีดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173วรรคสอง (1) โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่าBIRKENSTOCK และรูปเครื่องหมายประดิษฐ์ลักษณะวงกลมที่ประกอบด้วยอักษรโรมันคำว่า BIRKENSTOCKBADHONNEF-RHEIN กับรูปเท้าและกากบาทที่มีรัศมีแสงส่องสู่เบื้องบน คำว่า BIRKENSTOCKเป็นนามสกุลของบรรพบุรุษของนายคาร์ลเบอร์เคนสต๊อค กรรมการผู้จัดการของโจทก์ ส่วนคำว่า BADHONNEF-RHEIN เป็นชื่อตำบลริมแม่น้ำไรน์ซึ่งเป็นที่ตั้งบริษัทของโจทก์ โจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้ารองเท้าโดยจดทะเบียนไว้ในประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันและประเทศอื่นอีกหลายประเทศกับได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า BIRKENSTOCK ไว้ต่อองค์การทรัพย์สินปัญญาแห่งโลก สินค้ารองเท้าของโจทก์แพร่หลายในประเทศต่าง ๆ มาเป็นเวลานานกว่า 25 ปี เป็นที่รู้จักในหมู่คนไทยที่เดินทางไปต่างประเทศและมีผู้ซื้อเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยจำเลยได้เคยเห็นและรู้ถึงเครื่องหมายการค้าของโจทก์มาก่อน การที่จำเลยขอจดและจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าซึ่งเหมือนกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทุกประการเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตโจทก์จึงมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่จำเลยขอจดและจดทะเบียนดังกล่าวดีกว่าจำเลย เครื่องหมายการค้าที่จำเลยได้ยื่นคำขอจดทะเบียนและนายทะเบียนได้รับจดทะเบียนคำว่า BIRKENSTOCK คำว่า BIRK ในกรอบรูปประดิษฐ์คำว่า BRIKENS คำว่า BRIKENSTAR คำว่าBRIKENSTYLE และคำว่า BIRKENSTATE ต่างเป็นอักษรโรมันซึ่งตรงกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์หรือเป็นคำย่อของเครื่องหมายการค้าของโจทก์ หรือมิฉะนั้นก็มีเพียง 2 พยางค์แรกของเครื่องหมายการค้าดังกล่าวว่า BIRKENS หรือ BRIKENS เป็นตัวอักษรโรมัน 7 ตัวซึ่งเท่ากันกับคำว่า BIRKENS ซึ่งเป็น 2 พยางค์แรก และเป็นจุดเด่นของเครื่องหมายการค้าของโจทก์ การออกเสียง 2 พยางค์แรกดังกล่าวของเครื่องหมายการค้าของจำเลยก็ออกเสียงตรงหรือใกล้เคียงกับการออกเสียง 2 พยางค์แรกของเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ทั้งเครื่องหมายการค้าทั้งหมดของจำเลยที่จำเลยขอจดทะเบียนและได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ดังกล่าวก็ได้ขอใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกับสินค้าของโจทก์คือรองเท้าและรองเท้าแตะด้วย ดังนี้เมื่อจำเลยได้เห็นและรู้ถึงเครื่องหมายการค้าของโจทก์มาก่อนจำเลยยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลย จึงถือได้ว่าจำเลยได้ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์แล้ว บทบัญญัติมาตรา 21 และ 22 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ. 2474 เป็นบทบัญญัติสำหรับวิธีดำเนินการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าซึ่งแบ่งออกเป็นขั้น ๆ รวมทั้งขึ้นประกาศคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามมาตรา 21 และขั้นจดทะเบียนตามมาตรา 22 ซึ่งได้กำหนดเวลาสำหรับการยื่นคำคัดค้านการจดทะเบียนไว้ว่าจะต้องยื่นภายใน 90 วัน นับแต่วันประกาศคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามมาตรา 21 แต่บทบัญญัติดังกล่าวก็หาตัดสิทธิเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่แท้จริงที่จะดำเนินคดีเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าของตนไม่ คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยโดยอ้างว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นดีกว่าจำเลย โจทก์จึงย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนคำขอจดทะเบียนและทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยได้ ตามมาตรา 41(1) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 โดยไม่คำนึงว่าโจทก์ได้คัดค้านการยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยไว้แล้วหรือไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3169/2537 การที่โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่าLAT และ LOUIS TAPE ใช้กับสินค้ากาวเทปอันเป็นสินค้าจำพวกที่ 50 โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าว แต่นายทะเบียนให้รอการจดทะเบียนไว้เพราะเครื่องหมายการค้าดังกล่าวของโจทก์เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า LOUIS TAPE ของจำเลยซึ่งยื่นคำขอจดทะเบียนไว้เพื่อใช้กับสินค้ากาวเทปเช่นเดียวกันกับสินค้าของโจทก์นั้น เป็นกรณีที่มีบุคคลหลายคนต่างอ้างว่าเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าอันเดียวกัน หรือเกือบเหมือนกัน ใช้สำหรับสินค้าเดียวกันและต่างร้องขอจดทะเบียนเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้น อันเป็นการที่โจทก์ฟ้องขอให้ศาลสั่งว่าโจทก์หรือจำเลยมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทดีกว่ากัน ตามมาตรา 17แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะเกิดข้อพิพาท หาใช่การที่โจทก์นำคดีมาสู่ศาลตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกันอันโจทก์จะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนแห่งบทบัญญัติมาตราดังกล่าวโดยการคัดค้านก่อนและให้โอกาสแก่จำเลยผู้ขอจดทะเบียนก่อนโต้แย้งคำคัดค้านของโจทก์ไม่
การที่โจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า LAT และLOUIS TAPE กับสินค้าเทปกาวมาตั้งแต่ปี 2518 และได้โฆษณาแพร่หลายซึ่งสินค้าโจทก์ แต่จำเลยเพิ่งนำเครื่องหมายการค้าดังกล่าวของโจทก์มาใช้กับสินค้าชนิดเดียวกันกับสินค้าโจทก์ในปี 2531 ทั้งจำเลยเคยเป็นกรรมการของบริษัทโจทก์มาก่อน จำเลยย่อมทราบถึงการที่โจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นอย่างดีเช่นนี้ ต้องถือว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทดีกว่าจำเลย และการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยจึงเป็นการกระทำที่ไม่สุจริต
ประเด็นที่จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้คดีไว้ ถือว่าเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคแรกศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า LAT และ LOUIS ตามคำขอจดทะเบียนของโจทก์และจำเลยดีกว่าจำเลยแต่มิได้พิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวดีกว่าจำเลยตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนนั้น เป็นการที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่งซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็เห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ ตามป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 243 (1), 246 และ 247
ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลย และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนนั้น เมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวดีกว่าจำเลย คำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยย่อมตกไปในตัว ไม่จำต้องพิพากษาให้เพิกถอนคำขอจดทะเบียนดังกล่าวอีก ศาลฎีกาแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5565/2548 การที่ ต. บิดาของโจทก์ที่ 2 ได้รับพระราชทานตราตั้งและพระครุฑจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวให้ใช้กิจการของห้างทองตั้งโต๊ะกังเมื่อปี 2464 แสดงให้เห็นว่ากิจการค้าทองของห้างตั้งโต๊ะกังเป็นกิจการค้าทองที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของประชาชนโดยทั่วไป จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เพิ่งจดทะเบียนตั้งบริษัทจำเลยที่ 1 ประกอบกิจการค้าทองโดยใช้ชื่อว่า "บริษัทห้างทองโต๊ะกังบุญสิริ จำกัด" เมื่อปี 2528 หลังจากกิจการห้างทองตั้งโต๊ะกังมีชื่อเสียงมาถึงประมาณ 64 ปี การที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 นำคำว่า "โต๊ะกัง" ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในชื่อทางการค้าที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของประชาชนโดยทั่วไปว่า "ตั้งโต๊ะกัง" ของโจทก์ที่ 2 มาใช้ประกอบเป็นชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการค้าทองและโลหะอันมีค่าต่างๆ เช่นเดียวกับกิจการของโจทก์ทั้งสองโดยไม่ได้รับอนุญาต และที่จำเลยทั้งสี่ติดป้ายประกาศชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 โดยเน้น คำว่า "โต๊ะกัง" และใช้ตัวอักษรใหญ่กว่าคำว่า "บุญสิริ" มาก แสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสี่มีเจตนาไม่สุจริตแสวงหาประโยชน์จากชื่อเสียงในชื่อทางการค้าคำว่า "ตั้งโต๊ะกัง" ของโจทก์ที่ 2 โดยมิชอบ และเป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองเป็นเหตุให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดว่ากิจการค้าทองของจำเลยทั้งสี่เป็นกิจการค้าทองของโจทก์ทั้งสอง และทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย การกระทำของจำเลยทั้งสี่จึงเป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิในชื่อทางการค้าคำว่า "ตั้งโต๊ะกัง" ของโจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 2 ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ระงับความเสียหาย และขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามมิให้จำเลยที่ 1 ใช้ชื่อ "โต๊ะกัง" ประกอบอยู่ในชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 ว่า "บริษัทห้างทองโต๊ะกังบุญสิริ จำกัด" ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 18, 420 และ 421
โจทก์ทั้งสองขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อจำเลยที่ 1 มิให้มีคำว่าโต๊ะกังประกอบอยู่ในชื่อนิติบุคคลของจำเลยที่ 1 หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนานั้นไม่ถูกต้อง เพราะบทบัญญัติมาตรา 18 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ให้สิทธิโจทก์ทั้งสองร้องขอต่อศาลให้สั่งห้ามจำเลยที่ 1 ใช้ชื่อทางการค้าของโจทก์ที่ 2 คำว่า "ตั้งโต๊ะกัง" หรือคำว่า "โต๊ะกัง" เป็นส่วนหนึ่งของชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 เท่านั้น มิได้ให้สิทธิแก่โจทก์ทั้งสองที่จะบังคับให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 ได้
แม้เครื่องหมายการค้าคำว่า "โต๊ะกัง" และ คำว่า "ตั้งโต๊ะกัง" ทั้งที่เป็นภาษาไทย จีน และภาษาอังกฤษจะได้รับการจดทะเบียนไว้ตาม พ.ร.บ.ลักษณะเครื่องหมายแลยี่ห้อการค้าขาย พระพุทธศักราช 2457 และโจทก์ทั้งสองยังไม่ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 แต่ปรากฎว่าโจทก์ทั้งสองใช้เครื่องหมายการค้าคำดังกล่าวกับสินค้าทองและโลหะอันมีค่าต่าง ๆ ที่โจทก์ทั้งสองผลิตออกจำหน่ายตลอดมาจนถึงปัจจุบัน โจทก์ที่ 2 ผู้เป็นเจ้าของเครื่องหมายดังกล่าวจึงอยู่ในฐานะเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ไม่ได้จดทะเบียน โจทก์ที่ 2 ย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียซึ่งมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งห้าของจำเลยที่ 2 ซึ่งโจทก์ที่ 2 มีสิทธิดีกว่านั้นได้ ตามบทบัญญัติ มาตรา 41 (1) แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 อันเป็นบทกฎหมายที่บังคับอยู่ในขณะที่จำเลยที่ 2 ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งห้าเครื่องหมายนั้น
การฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 มาตรา 41 (1) มิได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงอยู่ในบังคับอายุความทั่วไป 10 ปี นับแต่วันที่ได้มีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ตาม ป.พ.พ.มาตรา 164 เดิม โจทก์ทั้งสองฟ้องคดียังไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันที่ได้มีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งห้าเครื่องหมายของจำเลยที่ 2 ดังกล่าว คดีของโจทก์ทั้งสองที่ฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งห้านั้นจึงไม่ขาดอายุความ
การที่จำเลยที่ 2 ทราบดีว่าสินค้าทองและโลหะอันมีค่าต่าง ๆ ของโจทก์ทั้งสองที่ใช้เครื่องหมายการค้าอักษรไทยและจีนคำว่า "โต๊ะกัง" และ "ตั้งโต๊ะกัง" เป็นสินค้าและเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายเป็นที่รู้จักของประชาชนทั่วไป มาใช้เป็นสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้าทองและโลหะอันมีค่าต่าง ๆ เช่นเดียวกับของโจทก์ทั้งสอง กับถือโอกาสนำเครื่องหมายการค้าทั้งห้าไปยื่นขอจดทะเบียนกับสินค้าดังกล่าวในจำพวกที่ 14 ทั้งจำพวก ด้วยเห็นว่าขณะนั้นโจทก์ที่ 2 ยังมิได้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอักษรไทยและจีน คำว่า "โต๊ะกัง" และ คำว่า "ตั้งโต๊ะกัง" กับสินค้าจำพวกที่ 14 ดังกล่าว ทั้งยังแสวงหาประโยชน์จากชื่อเสียงในชื่อทางการค้าของโจทก์ที่ 2 โดยไม่ชอบมาตั้งเป็นชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 เพื่อให้ประชาชนสับสนหรือหลงผิดว่ากิจการค้าทองของจำเลยที่ 1 เป็นของโจทก์ทั้งสอง พฤติการณ์ดังกล่าวเห็นได้ชัดว่า จำเลยที่ 2 ยื่นขอจดเครื่องหมายการค้าทั้งห้าดังกล่าวโดยมีเจตนาไม่สุจริต และมีเจตนาเพื่อทำลวงขายสินค้าทองและโลหะอันมีค่าต่าง ๆ ว่าเป็นของโจทก์ทั้งสองเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย แม้โจทก์ที่ 2 จะยังมิได้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้าจำพวกที่ 14 ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 และแม้โจทก์ที่ 2 อยู่ในฐานะเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ยังไม่ได้จดทะเบียนก็ตาม โจทก์ที่ 2 ก็มีสิทธิฟ้องเรียกร้องให้จำเลยทั้งสี่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการลวงขายนั้นได้ ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 มาตรา 29 วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์ทั้งสองถูกโต้แย้งสิทธิ
โจทก์ที่ 2 อยู่ในฐานะเจ้าของเครื่องหมายอักษรไทยและจีน คำว่า "โต๊ะกัง" และ คำว่า "ตั้งโต๊ะกัง" ที่ยังไม่จดทะเบียน โจทก์ที่ 2 ไม่อาจจะฟ้องขอให้ศาลพิพากษาห้ามมิให้จำเลยทั้งสี่ใช้เครื่องหมายการค้าทั้งห้าเครื่องหมายนั้นกับสินค้าทุกประเภทของจำเลยทั้งสี่ได้ ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า.2474 มาตรา 29 วรรคหนึ่ง ศาลชอบที่จะพิพากษาห้ามจำเลยทั้งสี่ได้เพียงมิให้จำเลยทั้งสี่ใช้เครื่องหมายการค้าทั้งห้านั้นกับสินค้าจำพวกที่ 14 ทั้งจำพวกในลักษณะที่เป็นการลวงขายสินค้าดังกล่าวของจำเลยทั้งสี่ว่าเป็นสินค้าโจทก์อันเป็นการละเมิดต่อสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่ยังไม่ได้จดทะเบียนของโจทก์ที่ 2 เท่านั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 201/2548 โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า "HACKETT" ในประเทศอังกฤษ โดยใช้กับเสื้อผ้ามาตั้งแต่ปี 2526 และโฆษณาอย่างต่อเนื่องแพร่หลายไปทั่วโลก จำเลยซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายเสื้อผ้าใช้คำว่า "HACKETT" เป็นเครื่องหมายการค้า ไม่ปรากฏว่าจำเลยคิดคำว่า "HACKETT" ขึ้นมาเองหรือทีมงานออกแบบสินค้าเสื้อผ้าจำเลยได้คำนี้มาอย่างไร จึงไม่มีเหตุผลและน้ำหนักให้รับฟังว่าจำเลยได้นำคำว่า "HACKETT" มายื่นขอจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าโดยสุจริตและโดยบังเอิญไปเหมือนกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ประกอบกับจำเลยได้มีโอกาสได้สำรวจตลาดค้าขายเสื้อผ้าในต่างประเทศและได้พบเห็นสินค้าเสื้อผ้าภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า "HACKETT" ของโจทก์ในประเทศอังกฤษและได้ใช้คำว่า "HACKETT" กับธงชาติอังกฤษมาติดกับสินค้าเสื้อยืดที่จำเลยผลิตออกจำหน่าย ดังนี้ การยื่นเครื่องหมายการค้าดังกล่าวของจำเลย จึงเป็นการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าโดยไม่สุจริต แม้โจทก์จะยังไม่ได้ส่งสินค้าเสื้อผ้าภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า "HACKETT" ของโจทก์มาจำหน่ายในประเทศไทยก่อนที่จำเลยจะยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าว โจทก์ก็มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า "HACKETT" ที่ได้รับการจดทะเบียนไว้กับสินค้าจำพวกที่ 38 เดิม ตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 ได้แก่ เสื้อยืด เสื้อเชิ้ต เสื้อกีฬา กางเกงขาสั้น และกางเกงกีฬา ดีกว่าจำเลยผู้ซึ่งได้รับการจดทะเบียน
การฟ้องขอให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นการฟ้องโดยอาศัยสิทธิตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 41 (1) ซึ่งมิได้กำหนดอายุความไว้ จึงมีอายุความ 10 ปี นับแต่วันที่เครื่องหมายการค้าคำว่า "HACKETT" ของจำเลยได้รับการจดทะเบียน เมื่อเครื่องหมายการค้าคำว่า "HACKETT" ของจำเลยได้รับการจดทะเบียนเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2534 โจทก์จึงต้องฟ้องคดีนี้ภายในวันที่ 16 กันยายน 2544 ปรากฏว่าวันที่ 16 กันยายน 2544 เป็นวันอาทิตย์อันเป็นวันหยุดราชการ ดังนี้ ที่โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2544 ซึ่งเป็นวันเปิดทำการจึงเป็นการฟ้องคดีภายในกำหนดอายุความ 10 ปี คดีของโจทก์ไม่ขาดอายุความ แต่เมื่อจำเลยลืมต่ออายุการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า "HACKETT" ต่อนายทะเบียนภายใน 90 วันก่อนวันที่ 16 กันยายน 2544 อันเป็นวันสิ้นอายุ 10 ปี นับแต่วันที่จดทะเบียนตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 53 วรรคหนึ่ง และ 54 วรรคหนึ่ง จึงต้องถือว่าเครื่องหมายการค้าคำว่า "HACKETT" ได้ถูกเพิกถอนการจดทะเบียนแล้วโดยผลของกฎหมาย ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 56
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9277/2547 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสองในเครื่องหมายการค้านั้นตั้งแต่ในขณะที่ พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 ใช้บังคับอยู่ดังนี้ การฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 จึงอยู่ในบังคับอายุความทั่วไป 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 164 เดิม และบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 41 (1) ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์ทั้งสองถูกโต้แย้งสิทธิ ไม่ต้องฟ้องภายในระยะเวลาการฟ้องคดี 5 ปี นับแต่วันที่นายทะเบียนมีคำสั่งให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามมาตรา 67 แห่ง พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534
ฝ่ายโจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า "โต๊ะกัง" และ "ตั้งโต๊ะกัง" ที่เป็นภาษาไทย จีน และอังกฤษ ซึ่งเขียนว่า "TOH KANG" และ "TANG TOH KANG" มาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษของโจทก์ที่ 2 โดยใช้กับสินค้าจำพวกทองคำ คำดังกล่าวเป็นคำที่มีลักษณะบ่งเฉพาะ ไม่ได้มีความหมายว่าทองคำหรือเกี่ยวข้องกับทองคำแต่อย่างใด หากแต่เป็นชื่อสกุลของบรรพบุรุษของฝ่ายโจทก์ที่ประกอบกิจการค้าทองคำติดต่อกันมาตั้งแต่ก่อนปี 2464 เป็นเวลากว่า 80 ปีแล้ว และยังใช้คำว่า "ตั้งโต๊ะกัง" เป็นชื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดโจทก์ที่ 1 ตลอดมาด้วย ส่วนจำเลยที่ 1 เพิ่งมาประกอบกิจการร้านทองในลักษณะเดียวกับโจทก์ทั้งสองเมื่อปี 2515 และต่อมาในปี 2531 ถึงปี 2532 จำเลยที่ 1 จึงได้นำคำว่า "โต๊ะกัง" เป็นภาษาไทย คำว่า "โต๊ะกัง" เป็นอักษรภาษาไทยและจีนรวมกัน คำว่า "โต๊ะกังบุ้นกี่" เป็นอักษรภาษาไทยและจีนรวมกัน คำว่า "TOA KANG" เป็นอักษรภาษาอังกฤษ กับคำว่า "โต๊ะกังเยาวราช" เป็นอักษรภาษาไทยไปยื่นคำขอจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าเพื่อใช้กับสินค้าจำพวกเงิน ทอง นาก และอัญมณี ดังนี้ เห็นได้ว่า เครื่องหมายการค้าที่จำเลยที่ 1 นำไปยื่นคำขอจดทะเบียนไว้นั้น ทุกเครื่องหมายจะมีคำว่า "โต๊ะกัง" แสดงว่าสาระสำคัญหรือลักษณะเด่นของเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 อยู่ที่คำว่า "โต๊ะกัง" หาใช่อยู่ที่คำว่า "บุ้นกี่" หรือ "เยาวราช" ซึ่งเป็นเพียงส่วนประกอบไม่ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 จึงเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้า คำว่า "โต๊ะกัง" ที่เป็นภาษาไทย จีนและอังกฤษของโจทก์ทั้งสองจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดสินค้า เป็นการจดทะเบียนโดยไม่สุจริต เมื่อโจทก์ทั้งสองเป็นผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวดีกว่าจำเลยที่ 1 แม้โจทก์ทั้งสองจะมิได้จดทะเบียนต่ออายุเครื่องหมายการค้าดังกล่าวก็ตาม ก็ไม่ทำให้สิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสองที่ใช้ติดต่อกันมาโดยตลอดเสียไปแต่อย่างใด โจทก์ทั้งสองย่อมฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ได้
จำเลยทั้งสองนำชื่อทางการค้าของโจทก์ทั้งสองใช้เป็นชื่อห้างย่อมทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดว่าสถานประกอบการค้าทองของจำเลยทั้งสองเป็นสถานประกอบการค้าทองของโจทก์ทั้งสองหรือเป็นสถานประกอบการค้าทองที่โจทก์ทั้งสองมีส่วนรวมอยู่ด้วย เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายจากการสับสนหรือหลงผิดดังกล่าวได้เช่นกัน เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ทั้งสองให้ใช้ชื่อทางการค้าคำว่า "โต๊ะกัง" เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อสิทธิในชื่อทางการค้าของโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองย่อมมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองเนื่องจากการใช้ชื่อทางการค้าของโจทก์ทั้งสองโดยไม่ชอบนั้นได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 18 และ 420
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6401/2547 คดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองโดยอ้างว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิดีกว่าในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ใช้กับสินค้าเคมีอาหารมาก่อนจำเลยทั้งสองและมีสิทธิดีกว่าจำเลยทั้งสองในเครื่องหมายการค้าที่จำเลยที่ 1 ได้รับการจดทะเบียนไว้สำหรับสินค้าเคมีอาหารในจำพวกที่ 42 เดิม จึงขอให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวโดยอาศัยสิทธิตามบทบัญญัติมาตรา 41 (1) แห่ง พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิ ซึ่งศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดโดยวินิจฉัยว่า โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ใช้กับสินค้าเคมีอาหารและมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ที่ได้รับการจดทะเบียนไว้กับสินค้าจำพวกที่ 42 เดิม และใช้กับสินค้าเคมีอาหารดีกว่าจำเลยทั้งสอง คำพิพากษาในคดีก่อนผูกพันโจทก์และจำเลยทั้งสองเฉพาะในประเด็นที่ว่า โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่ยังไม่ได้จดทะเบียนคำว่า "Kyuta" ที่ใช้กับสินค้าเคมีอาหารและมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนคำว่า "Kyuta" ไว้กับสินค้าเคมีอาหารในจำพวกที่ 42 เดิมของจำเลยที่ 1 ดีกว่าจำเลยทั้งสองเท่านั้น ส่วนคดีนี้โจทก์อ้างว่า ระหว่างปี 2529 ถึงปี 2542 จำเลยทั้งสองร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ด้วยการลวงขายสินค้าของจำเลยทั้งสองว่าเป็นสินค้าของโจทก์ผู้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า "Kyuta" และเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 29 วรรคสอง และ พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 46 วรรคสอง ซึ่งในคดีก่อนยังมิได้วินิจฉัยไว้ ดังนี้ แม้โจทก์และจำเลยทั้งสองในคดีนี้จะเป็นคู่ความเดียวกันกับคู่ความในคดีก่อนซึ่งถึงที่สุดแล้ว แต่โจทก์มิได้รื้อร้องฟ้องจำเลยทั้งสองอีกในประเด็นว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า "Kyuta" ที่ใช้กับสินค้าเคมีอาหารดีกว่าจำเลยทั้งสองแต่อย่างใด การฟ้องคดีนี้ของโจทก์ จึงมิใช่การรื้อร้องฟ้องจำเลยทั้งสองอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันอันเป็นฟ้องซ้ำต้องห้ามตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 148
โจทก์บรรยายฟ้องยืนยันว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันละเมิดต่อโจทก์โดยทำการลวงขายสินค้าดังกล่าวตั้งแต่ปี 2529 ถึงปี 2542 เป็นเวลาต่อเนื่องกันโดยโจทก์ขอคิดค่าเสียหายถึงวันที่ 24 มีนาคม 2542 อันเป็นวันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีก่อน แสดงว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้พึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวตั้งแต่ปี 2529 ตลอดมาจนถึงวันที่ 24 มีนาคม 2542 แล้ว ดังนี้ เมื่อโจทก์นำคดีนี้มาฟ้องเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2543 จึงเกินกำหนดอายุความ 1 ปี สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนสำหรับการละเมิดของจำเลยทั้งสองระหว่างปี 2529 ถึงวันที่ 23 มีนาคม 2542 ของโจทก์ย่อมขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 โจทก์คงมีสิทธิเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนสำหรับการละเมิดที่โจทก์อ้างว่าจำเลยทั้งสองทำการลวงขายในวันที่ 24 มีนาคม 2542 ซึ่งโจทก์ฟ้องเรียกร้องภายในกำหนดอายุความ 1 ปีเท่านั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3846/2546 เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ได้รับการจดทะเบียนเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2524 อันเป็นเวลาที่ พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 ใช้บังคับอยู่ การโต้แย้งสิทธิอันเกิดจากการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าย่อมต้องนำ พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาใช้บังคับ การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ย่อมต้องตกอยู่ในบังคับของมาตรา 41 (1) แห่ง พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มิใช่บทบัญญัติของมาตรา 67 แห่ง พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 เมื่อบทบัญญัติในมาตรา 41 มิได้กำหนดระยะเวลาในการใช้สิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเหมือนดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 67 แห่ง พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 จึงต้องนำบทบัญญัติทั่วไปว่าด้วยอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 164 เดิม หรือมาตรา 193/30 ใหม่ ซึ่งมีกำหนด 10 ปี มาใช้บังคับโดยอนุโลม โดยต้องเริ่มนับอายุความขณะที่อาจบังคับสิทธินั้นได้เป็นต้นไป ตามมาตรา 169 เดิม หรือมาตรา 193/12 ใหม่ คือนับแต่วันที่ 14 กันยายน 2524 อันเป็นวันจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์มาฟ้องคดีนี้วันที่ 2 กรกฎาคม 2539 จึงเกินกว่า 10 ปี นับแต่วันที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 คำฟ้องโจทก์ที่ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 จึงขาดอายุความ
โจทก์ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า สำหรับสินค้าในจำพวกที่ 7 ตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 ชนิดสินค้าเครื่องฉีดพ่นที่ใช้กำลังเครื่องจักรและส่วนของเครื่องดังกล่าวซึ่งอยู่ในจำพวกนี้ เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2520 ตามทะเบียนเลขที่ 62856 ส่วนจำเลยที่ 1 ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า สำหรับสินค้าในจำพวกที่ 6 ตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 ชนิดสินค้า เครื่องสูบน้ำ เครื่องสูบฉีดน้ำ และเครื่องฉีดยาฆ่าแมลง (ที่มีมอเตอร์) เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2524 ตามทะเบียนเลขที่ 76857 โจทก์จึงอยู่ในฐานะเจ้าของเครื่องหมายการค้าตราเพชรที่ยังไม่ได้รับการจดทะเบียนไว้สำหรับสินค้าในจำพวกที่ 6 ตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 เมื่อจำเลยที่ 1 ได้ใช้เครื่องหมายการค้ารูปเพชรตามทะเบียนเลขที่ 76857 กับสินค้าท่อน้ำและสายยางมาตั้งแต่ปลายปี 2511 การที่จำเลยที่ 1 ใช้เครื่องหมายการค้ารูปเพชรกับสินค้าเครื่องพ่นยาฆ่าแมลงและเครื่องสูบน้ำตรงตามรูปเครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนไว้สำหรับสินค้าดังกล่าวและระบุชื่อจำเลยที่ 1 ไว้ที่ตัวสินค้าให้เห็นได้อย่างชัดเจนโดยเฉพาะสินค้าของจำเลยที่ 1 ได้ระบุหมายเลข "76857" ซึ่งเป็นเลขทะเบียนเครื่องหมายการค้ารูปเพชรของจำเลยที่ 1 ไว้ที่ใต้รูปเครื่องหมายการค้าเพชรติดไว้ที่ตัวสินค้าด้วย จำเลยที่ 1 มิได้เอาชื่อบริษัทโจทก์มาติดไว้ที่ตัวสินค้าของจำเลยที่ 1 ทั้งมิได้นำเครื่องหมายการค้าของโจทก์มาใช้แต่อย่างใด พฤติการณ์และลักษณะการใช้เครื่องหมายการค้ารูปเพชรของจำเลยที่ 1 กับสินค้าของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวยังไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำการลวงขายสินค้าของจำเลยที่ 1 ว่าเป็นสินค้าของโจทก์อันจะเป็นการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้ารูปเพชรของโจทก์ที่ยังไม่ได้รับการจดทะเบียนไว้สำหรับสินค้าเครื่องพ่นยาฆ่าแมลงที่มีมอเตอร์ โจทก์จึงไม่อาจเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายเนื่องจากการลวงขายตามฟ้องได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3477/2543 พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 29 วรรคสอง บัญญัติเป็นข้อยกเว้นว่า แม้จะเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ยังมิได้ จดทะเบียนในประเทศไทยก็อาจฟ้องร้องว่ากล่าวเอาแก่เจ้าของเครื่องหมายการค้า อันได้จดทะเบียนไว้แล้วได้หากเข้าหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ เมื่อประกอบกับ มาตรา 41(1) ที่ให้สิทธิแก่ผู้มีส่วนได้เสียที่แสดงได้ว่าตนมีสิทธิใน เครื่องหมายการค้านั้นดีกว่าผู้ได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของ อาจร้องขอให้ เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นได้ โจทก์ซึ่งอ้างตนว่าเป็น ผู้มีส่วนได้เสียและมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่าจำเลยทั้งสอง จึงมีอำนาจฟ้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยทั้งสองได้
แม้ตามคำฟ้องของโจทก์จะได้กล่าวอ้างถึงการอุทธรณ์คำสั่งของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าต่อศาลตาม พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 ซึ่งใช้บังคับในภายหลัง แต่การที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า พอถือได้ว่าโจทก์ฟ้องคดีต่อศาลในการกระทำของจำเลยทั้งสองที่นำเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไปจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5269/2542 การฟ้องคดีขอให้เพิกถอนเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียน ไว้แล้วโดยอ้างว่ามีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทดีกว่านั้นเป็นการฟ้องร้องตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 67 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยซึ่งเคยจดทะเบียน เครื่องหมายการค้าพิพาทในประเทศไทยตาม พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 แต่หลังจาก ครบกำหนดอายุ 10 ปี จำเลยมิได้ต่ออายุทะเบียนเครื่องหมายการค้า จำเลยเพิ่งขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวใหม่ และได้รับจดทะเบียนเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2537 โจทก์ ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2539 จึงยังไม่เกิน 5 ปี คดีไม่ขาดอายุความ จำเลยมิได้นำสืบให้ปรากฏว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ เป็นคำสามัญที่มีความหมายหรือคำแปลหรือเป็นคำที่ใช้โดยทั่วไป ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะอย่างไร อันจะทำให้จำเลยมีสิทธิที่จะ นำไปใช้ประกอบเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องหมายการค้าของจำเลย และนำไปยื่นขอจดทะเบียนได้ การที่โจทก์อนุญาตให้ ห้างหุ้นส่วนจำกัด บ.ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์และอนุญาตให้ดัดแปลงเครื่องหมายการค้าและรูปแบบซอง บรรจุสินค้าได้นั้น เป็นสิทธิที่โจทก์ในฐานะเจ้าของ เครื่องหมายการค้าจะทำได้ มิได้เป็นการแสดงว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์และโจทก์ร่วมไม่มีลักษณะ บ่งเฉพาะแต่อย่างใด เครื่องหมายการค้าชุดแรกของโจทก์และโจทก์ร่วม กับของจำเลยนั้นมีอักษรภาษาญี่ปุ่นเหมือนกัน คงมีแตกต่างกันคือ อักษรตัวแรกของเครื่องหมายการค้าโจทก์และโจทก์ร่วมเป็นตัว "F" ส่วนของจำเลยเป็นตัว "t" โดยของโจทก์และโจทก์ร่วม ตัวแรกมีขีดเฉียงด้านบน 1 เส้น ส่วนของจำเลยไม่มีขีด ส่วนคำอักษรโรมันเครื่องหมายการค้าของโจทก์และโจทก์ร่วม ใช้คำว่า "cha" ของจำเลยใช้คำว่า "Na" ซึ่งอยู่ในวงกลม พื้นสีดำส่วนเครื่องหมายการค้าชุดหลังนั้น ของจำเลย มีรูปภาพประกอบคือสตรีกำลังวาด รูปดอกไม้ของโจทก์และโจทก์ร่วม เป็นรูปสตรีกำลังวาด แบบเสื้อ เมื่อพิจารณาข้อความ ภาษาญี่ปุ่นกับการวางรูปของเครื่องหมายการค้าทั้งสองฝ่ายแล้ว จะเห็นได้ว่าคล้ายคลึงกันมาก คงแตกต่างเฉพาะอักษร ภาษาญี่ปุ่นตัวแรกดังกล่าว ย่อมทำให้ประชาชนผู้พบเห็น หลงผิดได้ว่า เป็นสินค้าของเจ้าของเดียวกัน ทั้งเมื่อ นำมาใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกันคือกระดาษลอกลายเช่นเดียวกันแล้ว ถือได้ว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยคล้ายกับเครื่องหมายการค้า ของโจทก์และโจทก์ร่วม อาจทำให้สาธารณชนเกิดความสับสน และหลงผิดในความเป็นเจ้าของได้ โจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทเพื่อใช้กับสินค้าประเภทกระดาษและกระดาษลอกลายที่ประเทศญี่ปุ่นและได้ใช้ เครื่องหมายการค้ากับสินค้าดังกล่าวเรื่อยมาเป็นเวลาประมาณ 30 ปีแล้ว รวมทั้งได้โฆษณาในหนังสือพิมพ์ที่ประเทศญี่ปุ่น จนแพร่หลายคนทั่วไปรู้จักสินค้าของโจทก์ดี และในประเทศไทย ก็มีผู้ส่งสินค้าของโจทก์เข้ามาจำหน่ายจนเป็นที่นิยม ต่อมาในปี 2512 โจทก์ร่วมได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของร่วม ในสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าว ส่วนจำเลยแม้จะได้ จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทในประเทศไทยเมื่อปี 2522 ก็ตาม แต่โจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์มาก่อนจำเลย ทั้งปรากฏว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยเหมือนหรือคล้าย กับเครื่องหมายการค้าของโจทก์และโจทก์ร่วมจนอาจทำให้ สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้าได้ จึงเป็น การที่จำเลยเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์และโจทก์ร่วม โจทก์และโจทก์ร่วมจึงมีสิทธิดีกว่าจำเลยในการใช้เครื่องหมายการค้าพิพาทสำหรับสินค้าประเภทกระดาษลอกลาย สินค้ากระดาษลอกลายของโจทก์มีผู้สั่งซื้อจากประเทศญี่ปุ่น เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยเป็นเวลาประมาณ 30 ปีแล้ว ปัจจุบันยังมีผู้นิยมใช้สินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ดังกล่าว ส่วนจำเลยนั้นเริ่มใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าว ในนามบริษัทของจำเลยเมื่อปี 2535 ลักษณะสีสันและ เครื่องหมายการค้าที่พิมพ์อยู่บนซองบรรจุสินค้าก็เหมือนหรือคล้ายกับของโจทก์มาก ย่อมทำให้ผู้ซื้อหลงเข้าใจผิดได้ว่าสินค้าของจำเลยเป็นสินค้าของโจทก์ การกระทำของจำเลย ถือได้ว่าเป็นการลวงขายสินค้า ทำให้โจทก์และโจทก์ร่วม เสียหาย แม้โจทก์และโจทก์ร่วมจะไม่ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทในประเทศไทย โจทก์และโจทก์ร่วมย่อมมีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยในฐานเอาสินค้าของตนไปลวงขายว่าเป็นสินค้าของเจ้าของเครื่องหมายการค้าได้ และมีสิทธิฟ้องขอให้ห้ามจำเลยใช้เครื่องหมายการค้าพิพาทเฉพาะในลักษณะที่เป็นการลวงขายว่าเป็นสินค้าของโจทก์และโจทก์ร่วมเท่านั้น ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ. 2534 มาตรา 46 วรรคสอง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาห้ามจำเลยใช้เครื่องหมายการค้าพิพาท นั้น เมื่อปรากฏว่าโจทก์และโจทก์ร่วมเป็นเจ้าของ เครื่องหมายการค้าที่ยังไม่ได้รับการจดทะเบียนในประเทศไทย จึงมีสิทธิฟ้องขอให้ห้ามจำเลยใช้เครื่องหมายการค้าพิพาท เฉพาะในลักษณะที่เป็นการลวงขายว่าเป็นสินค้าของโจทก์ และโจทก์ร่วมเท่านั้น ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมาย ที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความ ฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นพิจารณา และแก้ไขให้ถูกต้องได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7431/2541 แม้ว่าเครื่องหมายการค้า ของโจทก์และเครื่องหมายการค้า ของจำเลยจะมีรายละเอียดแตกต่างกันไปบ้างโดยเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ประกอบด้วยอักษรโรมันสีขาว คำว่า "Kyuta" อยู่ในกรอบวงรีวางอยู่เหนือกรอบสี่เหลี่ยมซึ่งมีเส้นทึบตามแนวกรอบ บริเวณเส้นทึบด้านล่างมีอักษรโรมันสีขาวคำว่า "KYUTACHEM.," บริเวณกลางของกรอบสี่เหลี่ยมมีกรอบสี่เหลี่ยมสีขาวซ้อนอยู่ ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยมีอักษรโรมันสีขาวคำว่า "Kyuta"อยู่ในกรอบวงรี แต่เครื่องหมายการค้าของจำเลยอาจทำให้สาธารณชนทั่วไปที่มิได้พิจารณาให้ละเอียดถี่ถ้วนสับสนหลงผิด เมื่อเห็นคำว่า "Kyuta" ซึ่งเป็นจุดเด่นของเครื่องหมายการค้าของจำเลยและเข้าใจว่าสินค้าของจำเลยเป็นสินค้าของโจทก์ได้แม้ว่าโจทก์จะได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์สำหรับสินค้าในรายการจำพวกสินค้าจำพวกที่ 1 ทั้งจำพวก อันได้แก่ เคมีวัตถุสำหรับใช้ในการหัตถกรรมการถ่ายรูป หรือการค้นหาความรู้ทางฟิสิกส์ และใช้เป็นยากันผุเสีย ส่วนจำเลยจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้สำหรับสินค้าในรายการจำพวกสินค้าจำพวกที่ 42ทั้งจำพวก อันได้แก่ วัตถุที่ใช้เป็นอาหาร หรือเป็นเครื่องปรุงอาหารก็ตาม แต่โจทก์ก็ได้ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ตั้งแต่ปี 2523 กับสินค้าเคมีภัณฑ์ประกอบอาหารและจำหน่ายให้แก่โรงงานผลิตอาหารเพื่อนำไปปรับสภาพอาหารให้คงอยู่ได้นาน อันมีลักษณะเป็นการใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์กับสินค้าที่มีลักษณะครอบคลุมถึงสินค้าในรายการจำพวกสินค้าจำพวกที่ 42 ด้วย และเมื่อโจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเมื่อปี2529 แล้วก็ได้ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวต่อมา ถือได้ว่าโจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า "Kyuta" กับสินค้าในรายการจำพวกสินค้าจำพวกที่ 42 มาก่อนจำเลยหลายปี โจทก์จึงมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า "Kyuta" ของโจทก์ และเครื่องหมายการค้าคำว่า "Kyuta" ตามคำขอจดทะเบียน สำหรับสินค้าในรายการจำพวกสินค้าจำพวกที่ 42 ดีกว่าจำเลย
โจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า "Kyuta" มาตั้งแต่ปี2523 เมื่อโจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเมื่อปี 2529 โจทก์ก็ได้ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวต่อมา และโจทก์ได้นำเครื่องหมายการค้าคำว่า "Kyuta" ไปจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและได้รับการจดทะเบียนเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2530สำหรับสินค้าในรายการจำพวกสินค้าจำพวกที่ 1 ทั้งจำพวก เมื่อโจทก์อ้างว่าเครื่องหมายการค้าคำว่า "Kyuta" ของจำเลยซึ่งจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าวันที่ 24 มีนาคม 2530 โต้แย้งสิทธิของโจทก์ การใช้สิทธิฟ้องคดีของโจทก์จึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิ
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลย โดยโจทก์อ้างว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า "Kyuta"ดีกว่า อันเป็นการฟ้องคดีตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา41 (1) ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้ จึงต้องนำบทบัญญัติทั่วไปว่าด้วยอายุความตาม ป.พ.พ.มาตรา 164 เดิม หรือมาตรา 193/30 ใหม่ ซึ่งมีกำหนด10 ปี มาใช้บังคับโดยอนุโลม และต้องเริ่มนับอายุความขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ตามมาตรา 169 เดิม หรือมาตรา 193/12 ใหม่ คือนับตั้งแต่วันจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4419/2541 โจทก์เป็นเจ้าของและเป็นผู้ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า ORIENTEXPRESS มาก่อนจำเลย โจทก์จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียซึ่งมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวและในเครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนของจำเลยคำว่า VENICESIMPLON - ORIENT - EXPRESS เครื่องหมายการค้าจดทะเบียนคำว่า ORIENT EXPRESS ของจำเลย และเครื่องหมายการค้าที่ยังไม่ได้รับการจดทะเบียนคือเครื่องหมายคำว่า ORIENT-EXPRESS ดีกว่าจำเลยผู้ที่ได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของและมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยและให้จำเลยถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยดังกล่าวได้ ตามบทบัญญัติมาตรา 41(1) แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2477 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์อ้างว่าถูกโต้แย้งสิทธิ
ที่จำเลยฎีกาว่า แม้โจทก์จะได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไว้แล้วก็ตาม แต่การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเป็นการกระทำโดยนำเอาทรัพย์สินของบุคคลอื่นมาจดทะเบียน โจทก์จึงไม่อาจอ้างอิงแสวงสิทธิในทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเพื่อห้ามจำเลยจดทะเบียนและใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวในประเทศที่โจทก์ไม่ได้รับการจดทะเบียนไว้นั้น เมื่อคดีนี้เป็นคดีที่โต้แย้งสิทธิกันระหว่างโจทก์กับจำเลย มิใช่การโต้แย้งสิทธิระหว่างโจทก์กับบุคคลอื่นเมื่อศาลฎีกาได้วินิจฉัยแล้วว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทและเครื่องหมายการค้าที่โจทก์จดทะเบียนและยื่นขอจดทะเบียนดีกว่าจำเลย ดังนี้แม้จะวินิจฉัยข้อฎีกาดังกล่าวของจำเลยให้ ก็ไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลง กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยข้อฎีกาดังกล่าวของจำเลยอีกต่อไป
ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาบังคับให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเพิกถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยรวม 19 ฉบับ และเพิกถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่184378 ของจำเลย กับห้ามจำเลยใช้และจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่าORIENT EXPRESS อีกต่อไป และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนในส่วนนี้นั้น ปรากฏตามคำฟ้องว่าโจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยรวม19 ฉบับ และให้จำเลยถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า 1 ฉบับ โดยอ้างว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของจำเลยและเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนของจำเลยดังกล่าวดีกว่าจำเลย ผู้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ในกรณีนี้คือจำเลย หาใช่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าซึ่งเป็นบุคคลภายนอกและมิได้ถูกฟ้องเป็นจำเลยด้วยไม่ ศาลจึงไม่อาจพิพากษาบังคับนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าซึ่งเป็นบุคคลภายนอกคดีให้ปฏิบัติตามคำพิพากษาได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาบังคับนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวจึงเป็นการที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ.ว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่ง ส่วนที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาห้ามจำเลยใช้และจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า ORIENT EXPRESS อีกต่อไปนั้น ปรากฏตามคำฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าซึ่งได้จดทะเบียนในต่างประเทศ แต่ยังไม่ได้รับการจดทะเบียนในประเทศไทย โจทก์จึงอยู่ในฐานะเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ยังไม่ได้จดทะเบียน ย่อมไม่อาจนำคดีมาสู่ศาลเพื่อฟ้องขอให้ห้ามผู้อื่นมิให้ใช้หรือจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นอันเป็นการฟ้องเพื่อป้องกันการล่วงสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา29 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิได้ คำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองในส่วนนี้จึงไม่ชอบด้วยบทกฎหมายดังกล่าว ปัญหาทั้งสองดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7936/2540 บิดาจำเลยที่ 1 เป็นผู้คิดเครื่องหมายการค้า รูปไก่และคำว่า COCK ที่พิพาทในลักษณะประดิษฐ์ แล้วนำไปจดทะเบียน ไว้สำหรับสินค้าจำพวกที่ 8 รายการสินค้าถ่านไฟฉายตามทะเบียนเลขที่ 20333 คำขอเลขที่ 31034 แต่ได้ ขาดการจดทะเบียนต่ออายุ จึงถูกเพิกถอนจากทะเบียนแล้วต่อมาจำเลยที่ 2 นำมาขอจดทะเบียนใหม่ตามคำขอเลขที่ 199611 เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2533โดยบริษัทจำเลยที่ 2 ตั้งขึ้นเมื่อปี 2482 มีจำเลยที่ 1เป็นผู้ก่อตั้งและผลิตถ่านไฟฉายโดยใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าว ส่วนโจทก์เป็นเพียงตัวแทนจำหน่ายสินค้าถ่านไฟฉายที่มีเครื่องหมายการค้าพิพาทของจำเลยที่ 2เท่านั้น ดังนี้ จำเลยทั้งสองมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทดีกว่าโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้จำเลยที่ 1เพิกถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทตามนัยบทบัญญัติมาตรา 41(1) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดข้อพิพาท และโจทก์ไม่มีสิทธิห้ามจำเลยทั้งสองใช้ ยื่นคำขอ จดทะเบียนหรือเข้าเกี่ยวข้องกับเครื่องหมายการค้าพิพาท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7935/2540 เครื่องหมายการค้าพิพาทคำว่า LINZ มาจากชื่อบริษัทโจทก์และโจทก์เป็นผู้คิดประดิษฐ์เครื่องหมายการค้าพิพาท โจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า LINZELECTRICกับสินค้าเครื่องสูบน้ำและสินค้าอื่น ๆ ของโจทก์มาตั้งแต่ก่อนที่จำเลยจะขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า LINZ เพื่อใช้กับสินค้าจำพวกที่ 6 เครื่องจักรทุกชนิดประมาณ 6 ปี นอกจากนั้นโจทก์ได้ทำการโฆษณาสินค้าของโจทก์ในรูปแบบต่าง ๆ หลายแบบ สินค้าเครื่องสูบน้ำของโจทก์ภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่าLINZELECTRIC มีจำหน่ายในประเทศไทยตั้งแต่ก่อนที่จำเลยจะขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทในประเทศไทย ดังนี้เมื่อฟังได้ว่าโจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า "LINZELECTRIC" กับสินค้าเครื่องสูบน้ำของโจทก์มาก่อนจำเลย โจทก์จึงมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า LINZ ดีกว่าจำเลยแม้จำเลยจะได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวในประเทศไทยไว้ก่อนโจทก์จะยื่นขอจดทะเบียนก็ตาม เมื่อโจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสียซึ่งมีสิทธิที่จะร้องขอต่อศาลให้สั่งเพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยได้ ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ. 2474 มาตรา 41(1) ซึ่งเป็นบทกฎหมาย ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิ และโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนคำว่า LINZ ดีกว่าจำเลยเช่นนี้ ก็ชอบที่ศาลจะเพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวของจำเลยได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7774/2540 การฟ้องเพื่อติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336เป็นการใช้อำนาจแห่งกรรมสิทธิ์ ส่วนสิทธิในเครื่องหมายการค้าเป็นทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งเป็นสิทธิในนามธรรม การใช้สิทธิฟ้องคดีจึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองแก่สิทธิ ดังกล่าวไว้โดยเฉพาะอันได้แก่พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ. 2474 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิ โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า CITIZEN ที่จำเลยได้จดทะเบียนไว้โดยอ้างว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นดีกว่า จำเลย เป็นการฟ้องคดีตาม พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ. 2474 มาตรา 41(1) กรณีมิใช่เป็นการฟ้องร้องบังคับเอาแก่สิทธิในเครื่องหมายการค้าโดยตรง แต่เป็นการใช้สิทธิในทางเยียวยาให้มีการแก้ไขให้กลับสู่สถานะเดิมอันเป็นบุคคลสิทธิและเป็นสิทธิเรียกร้องประเภทหนึ่งซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องนำบทบัญญัติทั่วไปว่าด้วยอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 เดิมซึ่งมีกำหนด 10 ปี มาใช้บังคับโดยอนุโลม และต้องเริ่ม นับอายุความตั้งแต่วันที่มีการโต้แย้งสิทธิตามพระราชบัญญัติดังกล่าว คือนับตั้งแต่วันที่จำเลยจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายพิพาทเป็นต้นไป แต่โจทก์มาฟ้องคดีเมื่อเกินกำหนด 10 ปี คดีของโจทก์จึงขาดอายุความ เมื่อปรากฏว่าคดีโจทก์ในประเด็นที่ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตาม พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 41(1)ขาดอายุความแล้ว คดีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นข้ออื่นที่เกี่ยวเนื่องกับการฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียน เครื่องหมายการค้าตามมาตรา 41(1) ในส่วนที่เกี่ยวกับประเด็นที่ว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่าจำเลยหรือไม่เครื่องหมายการค้าของจำเลยเหมือนหรือคล้ายคลึงกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์หรือไม่ และจำเลยจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าโดยสุจริตหรือไม่อีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีของโจทก์ที่ฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยตามมาตรา 41(1)ต้องเปลี่ยนแปลงไป จำเลยได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทไว้แล้วต้องถือว่าจำเลยเป็นเจ้าของมีสิทธิที่จะใช้เครื่องหมายการค้านั้นสำหรับสินค้าจำพวกที่ได้จดทะเบียนไว้ดังกล่าว ดังนี้เมื่อโจทก์อ้างว่าจำเลยมิได้ใช้เครื่องหมายการค้าพิพาทซึ่งได้จดทะเบียนไว้นั้นเลย อันเป็นมูลที่จะเพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ได้จดทะเบียนไว้จึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ผู้กล่าวอ้างที่จะต้องนำสืบพิสูจน์ให้ได้ว่าจำเลยมิได้ใช้เครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้ตามที่โจทก์กล่าวอ้าง แม้จะเป็นการนำสืบในเชิงปฏิเสธ ก็ยังคงเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องนำสืบให้ได้ความดังกล่าวอยู่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4260/2540 โจทก์ได้ใช้ตัวอักษรโรมันคำว่า "Miramar" โดยจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดตามกฎหมายของดินแดนฮ่องกงมาตั้งแต่ปี 2500 ก่อนจำเลยซึ่งเพิ่งจะใช้คำดังกล่าวโดยจดทะเบียนเป็นชื่อบริษัทจำเลยเมื่อปี 2511 และจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเมื่อปี 2526 นอกจากนั้นโจทก์ยังได้ใช้ตัวอักษรโรมันดังกล่าวเป็นชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าของโจทก์กับสินค้าประเภทกระดาษ สบู่ผ้าเช็ดตัว ปากกา และเครื่องเขียนต่าง ๆ ภายในโรงแรมจนเป็นที่รู้จักแพร่หลายในดินแดนฮ่องกงด้วย ส่วนจำเลยไม่ได้คิดประดิษฐ์อักษรโรมันคำว่า "Miramar"ขึ้นมาเอง แต่ได้นำมาจากชื่อที่พักแห่งหนึ่งที่ประธานกรรมการบริษัทจำเลยเคยเห็นชื่อของโจทก์ในดินแดนฮ่องกงแล้วนำมาใช้ ทั้งเมื่อพิเคราะห์ลักษณะตัวอักษรประดิษฐ์คำว่า "Miramar" ในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ เปรียบเทียบกับตัวอักษรประดิษฐ์คำว่า "Miramar" ในเครื่องหมายการค้าของจำเลยแล้วมีลักษณะคล้ายคลึงกันมาก โดยเฉพาะตัวอักษร 3 ตัวแรก และตัวอักษร R ตัวสุดท้าย เขียนในลักษณะตวัดปลายให้โค้งงอขึ้นคล้ายก้ามปูเหมือนกันทุกประการ อีกทั้งอักษรโรมันคำว่า"Miramar" ดังกล่าวเป็นคำที่ประดิษฐ์ขึ้นโดยไม่มีคำแปล จึงเป็นคำเฉพาะ ไม่ใช่เป็นคำที่ใช้กันอยู่โดยทั่วไป และไม่น่าเชื่อว่าจะมีการนำมาใช้ตรงกันโดยบังเอิญทั้งชื่อและลักษณะการเขียนตัวอักษรประดิษฐ์ดังกล่าว พฤติการณ์แห่งคดีบ่งชี้ว่าจำเลยได้นำเอาคำว่า "Miramar" ของโจทก์มาใช้โดยไม่สุจริต ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าโจทก์ได้ใช้คำว่า "Miramar" เป็นชื่อทางการค้าและเป็นเครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้ากระดาษ เครื่องเขียน และเครื่องเย็บสมุด ซึ่งเป็นสินค้าจำพวกที่ 39ในต่างประเทศมาก่อนที่จำเลยจะจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า "Miramar"และคำว่า "HOTEL" พร้อมรูปรอยประดิษฐ์เป็นอักษรโรมันตัว "M" 2 ตัว และจุดแดงอยู่เหนือตัว "M" ทั้งสองคล้ายรูปมงกุฎสำหรับสินค้าจำพวกที่ 39 ทั้งจำพวกในประเทศไทยเป็นเวลานานนับสิบปีแล้วเช่นนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า "Miramar" ทั้งในเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยดีกว่าจำเลย แม้ว่าจำเลยจะได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยดังกล่าวในประเทศไทยแล้ว และโจทก์ยังมิได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในประเทศไทยก็ตาม โจทก์ก็เป็นผู้มีส่วนได้เสียที่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 มาตรา41 (1) ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4259/2540 โจทก์ฟ้องว่า นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์คำว่า "F FENDI" ตามคำขอเลขที่ 199227 สำหรับสินค้าจำพวกที่ 37 ชนิดสินค้ากระเป๋าสตางค์ กระเป๋าถือ กระเป๋าใส่ธนบัตร ห่วงร้อยกุญแจ หีบหนังขนาดกลาง หีบเดินทางขนาดใหญ่ และของที่ทำด้วยหนังสัตว์ฟอกซึ่งอยู่ในจำพวกนี้ ซึ่งโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนดังกล่าวดีกว่าจำเลยมิใช่กรณีที่โจทก์อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการวินิจฉัยยกอุทธรณ์ และไม่ว่าโจทก์จะได้อุทธรณ์คัดค้านคำสั่งไม่รับจดทะเบียนของนายทะเบียนดังกล่าวหรือไม่ โจทก์ก็มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยได้ ตามมาตรา 41 (1) แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิ เพราะโจทก์มิได้ขอให้ศาลพิพากษาว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของจำเลย อันเป็นปัญหาในชั้นการพิจารณาของนายทะเบียนและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า"FF-FENDI" และ "F " ในลักษณะประดิษฐ์ไขว้สลับหัวโดยใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวในลักษณะรวมกันและแยกกัน สำหรับเครื่องหมายการค้า "F " โจทก์คิดประดิษฐ์ขึ้นและใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้าของโจทก์จำพวกกระเป๋าสตางค์กระเป๋าถือ กระเป๋าอื่น ๆ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องแต่งกาย และสินค้าเบ็ดเตล็ดอื่น ๆโจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวที่ประเทศต่าง ๆ และบริษัท ฟ.ได้สั่งสินค้าของโจทก์เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2532 ถึง 2533 โจทก์โฆษณาสินค้าและเครื่องหมายการค้า จนสินค้าของโจทก์เป็นที่แพร่หลายทั้งในประเทศและต่างประเทศ การที่โจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้าอักษรโรมัน "F " ในลักษณะประดิษฐ์ไขว้สลับหัวมาก่อนที่จำเลยจะไปยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า โจทก์จึงมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวดีกว่าจำเลย และมีสิทธิขอให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้า "F " จำนวน 6 คู่ ภายในกรอบสี่เหลี่ยมพร้อมคำว่า "FFเอฟเอฟ." ของจำเลย กับให้จำเลยถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าว
เมื่อโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าอักษรโรมัน "F " ดีกว่าจำเลยดังนี้ การที่จำเลยใช้เครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะแบบเดียวกันกับเครื่องหมาย-การค้าของโจทก์จึงเป็นการเลียนแบบเครื่องหมายการค้า ประกอบกับสินค้าของโจทก์และจำเลยต่างเป็นสินค้าประเภทเดียวกัน ย่อมทำให้สาธารณชนหลงผิดหรือเข้าใจผิดว่าสินค้าของจำเลยเป็นสินค้าของโจทก์หรือเกี่ยวข้องกับสินค้าของโจทก์ และสินค้ากระเป๋าถือสตรีของจำเลยมีเครื่องหมายการค้าอักษรโรมัน "F " ทั่วพื้นของกระเป๋าถือทั้งหมดและที่โลหะเหนือหัวเข็มขัดปิดกระเป๋าเหมือนกับสินค้ากระเป๋าถือสตรีของโจทก์ด้วย ประชาชนผู้ซื้อย่อมสับสนหลงผิดว่าสินค้ากระเป๋าถือสตรีของจำเลยเป็นสินค้าของโจทก์ จำเลยได้ทำการลวงขายสินค้าของจำเลยว่าเป็นสินค้าของโจทก์ จึงเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 มาตรา 29 วรรคสอง และห้ามจำเลยใช้เครื่องหมายการค้าอักษรโรมัน "F " ในลักษณะประดิษฐ์ไขว้สลับหัวได้
เมื่อโจทก์มีสิทธิเครื่องหมายการค้าโรมัน "F "ในลักษณะประดิษฐ์ไขว้สลับหัวดีกว่าจำเลย และมีสิทธิขอให้เพิกถอนทะเบียนและคำขอจดทะเบียนเครื่อง-หมายการค้าของจำเลยได้แล้ว กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยข้อที่จำเลยฎีกาว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นอักษรโรมัน "F " ในลักษณะประดิษฐ์ 6 ตัว และมีอักษรโรมันFF และอักษรไทยว่า "เอฟเอฟ" รวมอยู่ด้วย ไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า "FF_FENDI" และ"F " ในลักษณะประดิษฐ์ของโจทก์อีกเพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป
จำเลยฟ้องแย้งขอให้ห้ามโจทก์รบกวนการผลิตจำหน่ายสินค้าของจำเลยภายใต้เครื่องหมายการค้า "F " และให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยเดือนละ 100,000 บาท นับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าจะปฏิบัติตามคำขอของจำเลยฟ้องแย้งของจำเลยดังกล่าวเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์
========================================================= |
รับจดทะเบียน เครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรอง เครื่องหมายร่วม |
บริษัท สกายอินเตอร์เนชั่นแนลลีกัลจำกัด ให้บริการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า, รับจดทะเบียนเครื่องหมายบริการ, รับจดทะเบียนเครื่องหมายรับรอง, รับจดทะเบียนเครื่องหมายร่วม , รับจดทะเบียนลิขสิทธิ์ , รับจดทะเบียนสิทธิบัตร, รับจดทะเบียนสิทธิบัตรการประดิษฐ์, รับจดทะเบียนสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์, รับจดทะเบียนอนุสิทธิบัตร เพื่อเป็นยืนยันความเป็นเจ้าของสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่มีต่อสินค้าหรือผลิตภัณฑ์นั้นๆ ตามกฎหมาย เพื่อเป็นการรักษาสิทธิของตัวเราเองไม่ให้ถูกผู้อื่นละเมิด หรือแสวงหาผลประโยชน์ใดๆ จากความคิดของเรา ทรัพย์สินทางปัญญา หมายถึง สิทธิในทางกฎหมายของเจ้าของสิทธิที่มีอยู่เหนือผลงานอันเกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ ทรัพย์สินทางปัญญาเป็นทรัพย์สินอีกชนิดหนึ่งของมนุษย์ นอกเหนือจากสังหาริมทรัพย์ และอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่เรารู้จักกันเป็นอย่างดี สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญากับกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เกิดจากทรัพย์สินทางปัญญานั้นไม่ใช่สิทธิอย่างเดียวกัน เช่น บริษัทแห่งหนึ่ง เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เพลง ได้เอาเพลงนั้นมาอัดแผ่นเสียงขาย เมื่อมีผู้ซื้อแผ่นเสียงนั้นไป ผู้ซื้อก็เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในแผ่นเสียงนั้น แต่ไม่ได้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เพลงในแผ่นเสียงนั้น จึงไม่สามารถนำเอาแผ่นเสียงนั้นไปอัดใหม่แล้วนำไปขายต่อได้ โดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของลิขสิทธิ์ (อ่านรายละเอียด)
========================================================= |
กรณีที่ท่านมีความสงสัยหรือต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถติดต่อมาได้ที่ บริษัท สกายอินเตอร์เนชั่นแนลลีกัล จำกัด เลขที่ 725 อาคารเอส เมโทร ชั้น 20 ห้อง 174 ถนนสุขุมวิท แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร 10110 โทร 081-9151522, 090-0700080 email: skyinterlegal@gmail.com , ดูแผนที่ (คลิกที่นี่)
|