คำพิพากษาศาลฎีกา ความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 |
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6505/2560 ใบเสร็จรับเงินของโจทก์ร่วมพิมพ์เป็นเล่มมีขนาดประมาณครึ่งหนึ่งของกระดาษขนาด เอ 4 แต่บางกว่า บนหัวกระดาษมีรูปเต่าพร้อมชื่อที่อยู่ของบริษัทพิมพ์ด้วยหมึกสีน้ำเงินเข้ม มุมขวาบนระบุเลขที่ของใบเสร็จรับเงิน ซึ่ง 1 ฉบับมี 1 เลขที่ใบเสร็จ ประกอบด้วยกระดาษ 4 แผ่น ใบแรกเป็นสีขาว มีคำที่มุมขวาบนว่า ต้นฉบับ ซึ่งส่งมอบให้ลูกค้าที่ชำระเงิน ใบที่ 2 เป็นสีฟ้า มีคำที่มุมขวาบนว่า สำเนาส่วนนี้ส่งให้สำนักงานบัญชีตอนปลายเดือนเพื่อนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ใบที่ 3 เป็นสีเหลืองที่มุมขวาบนมีคำว่า สำเนา ส่วนนี้เก็บไว้ในแฟ้มของลูกค้าแต่ละราย ใบสุดท้ายเป็นสีชมพูมีคำที่มุมขวาบนว่า สำเนา ส่วนนี้ติดเล่มใบเสร็จรับเงินไว้กับต้นขั้ว เมื่อใช้ใบเสร็จรับเงินหมดทั้งเล่มแล้วฝ่ายบัญชีจะคืนเล่มใบเสร็จรับเงินให้จำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 1 นำไปคืนกรรมการบริษัทโจทก์ร่วม ใบเสร็จรับเงินที่ยังใช้ไม่หมดเล่มจะอยู่ในความดูแลรักษาของจำเลยที่ 2 ในการนำเอกสารไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถให้ผู้เช่าซื้อที่สำนักงานขนส่งจะใช้ใบเสร็จรับเงินสีขาวเป็นต้นฉบับที่กรอกข้อความครบถ้วนแล้ว โดยนำไปถ่ายเอกสารมาให้กรรมการลงลายมือชื่อรับรองสำเนาถูกต้องพร้อมประทับตราสำคัญของบริษัทนำไปประกอบเอกสารชุดโอน แต่ปรากฏว่าใบเสร็จรับเงินที่ออกให้แก่ผู้เช่าซื้อราย ร. พ. จ. ส. ส. ก. ส. ม. ส. และ อ. ตามลำดับ รวม 10 รายนี้ โจทก์ร่วมได้ออกให้แก่ ศ. ส. ธ. พ. ส. และ อ. ไปแล้วตามใบเสร็จรับเงินสีชมพูซึ่งติดต้นขั้วในเล่มใบเสร็จรับเงินที่ ก. กรรมการบริษัทโจทก์ร่วมเก็บไว้ และตามสำเนาใบเสร็จรับเงินสีฟ้าที่ส่งให้สำนักงานบัญชีซึ่งเป็นใบเสร็จรับเงินที่แท้จริงของโจทก์ร่วม โดยใบเสร็จรับเงินที่แท้จริงฉบับที่ออกให้ ส. เลขที่ 4351 ถูกนำไปใช้ออกใบเสร็จรับเงินแก่ พ. ส. และ ส. ฉบับที่ออกให้ ธ. เลขที่ 4451 ถูกนำไปใช้ออกใบเสร็จรับเงินแก่ จ. และ ม. กับฉบับที่ออกให้ พ. เลขที่ 4501 ถูกนำไปใช้ออกใบเสร็จรับเงินแก่ ก. และ ส. จึงเชื่อว่าใบเสร็จรับเงินที่ออกผู้เช่าซื้อทั้ง 10 ราย ซึ่งพบและถ่ายสำเนามาจากเอกสารชุดโอนรถที่คัดสำเนามาจากสำนักงานขนส่งเป็นเอกสารปลอมมาจากใบเสร็จรับเงินฉบับที่แท้จริงสีชมพูที่ติดอยู่ต้นขั้วในเล่มที่กรรมการบริษัทโจทก์ร่วมเก็บไว้โดยวิธีการถ่ายสำเนามาจากต้นฉบับใบเสร็จรับเงินสีขาวที่แท้จริงขณะยังไม่กรอกข้อความแล้วนำมากรอกข้อความแสดงการรับเงินจากลูกค้า โดยฉบับที่ออกให้ จ. ส. และ ก. ระบุจำนวนเงินน้อยกว่าที่คนเหล่านี้จ่ายให้ จากนั้นนำไปถ่ายสำเนาอีกครั้งเพื่อนำไปใช้ประกอบเอกสารชุดโอนรถที่สำนักงานขนส่ง เมื่อพิจารณาจากหน้าที่ความรับผิดชอบของพนักงานของโจทก์ร่วมแล้ว จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการทั่วไปของบริษัทมีหน้าที่เร่งรัดติดตามหนี้เงินค่าเช่าซื้อ จัดทำเอกสารชุดโอนปิดบัญชี และนำเอกสารชุดโอนปิดบัญชีไปดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถให้แก่ผู้เช่าซื้อที่สำนักงานขนส่ง และตามคำเบิกความของผู้เช่าซื้อในจำนวน 10 รายนั้น บางคนไปที่บริษัทโจทก์ร่วม ที่เต็นท์ขายรถ ที่ศาลแขวงชลบุรี ที่ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี ฉะเชิงเทรา พบจำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าเช่าซื้อเพื่อปิดบัญชีแก่จำเลยที่ 1 หรือพบจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 บอกให้ชำระเงินแก่จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 บอกว่าจะโอนกรรมสิทธิ์รถให้หรือจะได้รับสมุดคู่มือจดทะเบียนภายในกำหนดระยะเวลาที่แจ้ง จึงเชื่อว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ดำเนินการปลอมใบเสร็จรับเงินและใช้ใบเสร็จรับเงินปลอมเหล่านี้ประกอบเอกสารชุดโอนรถ อันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม จึงต้องลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานเป็นผู้ใช้เอกสารปลอมแต่กระทงเดียว ตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคสอง ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นพนักงานฝ่ายบัญชีของโจทก์ร่วม มีหน้าที่รับเงินจากลูกค้าผู้เช่าซื้อออกใบเสร็จรับเงินรวมทั้งดูแลเล่มใบเสร็จรับเงินของโจทก์ร่วม ในใบเสร็จรับเงินเอกสารปลอมเหล่านี้ล้วนมีลายมือชื่อจำเลยที่ 2 ในช่องเจ้าหน้าที่ผู้รับมอบอำนาจและช่องฝ่ายบัญชี ซึ่งจำเลยที่ 2 ก็เบิกความยอมรับว่าลายมือชื่อดังกล่าวเป็นลายมือชื่อของตนจริง โดยจำเลยที่ 1 เป็นคนส่งใบเสร็จรับเงินเหล่านี้มาให้ตนเขียนกรอกข้อความบอกว่าจะเอาไปแนบประกอบเอกสารชุดโอนปิดบัญชีเพื่อดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถให้ลูกค้า จำเลยที่ 2 รู้ว่าใบเสร็จรับเงินในเล่มที่ตนเก็บรักษาดูแลไว้เป็นของที่แท้จริงของโจทก์ร่วมมีเลขที่ใบเสร็จรับเงินในแต่ละเลขที่ 1 เลขที่ซึ่งมีจำนวน 4 แผ่น แผ่นแรกเป็นต้นฉบับอีก 3 แผ่นเป็นสำเนา การออกใบเสร็จรับเงินต้องออกเรียงตามลำดับเลขที่พร้อมใบเสร็จรับเงิน การที่จำเลยที่ 2 ยอมกรอกข้อความลงในแบบใบเสร็จรับเงินที่ถ่ายสำเนามาทั้งที่รู้อยู่ว่าใบเสร็จรับเงินที่แท้จริงของโจทก์ร่วมเป็นอย่างไร ใบเสร็จรับเงินที่ตนจะออกต้องเป็นใบเสร็จรับเงินที่ตนดูแลเก็บรักษาและใช้งานอยู่เท่านั้น ไม่ใช่ออกใบเสร็จรับเงินเหล่านั้นซึ่งเป็นเอกสารถ่ายสำเนาไม่ใช่ของบริษัททั้งที่จำเลยที่ 2 ก็รู้อยู่ว่าใบเสร็จรับเงินที่แท้จริงเลขที่เดียวกันนั้นตนได้ออกให้ลูกค้าคนอื่นไปแล้วจำเลยที่ 2 จึงมีเจตนาร่วมปลอมใบเสร็จรับเงินเหล่านั้นด้วย อันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร แต่จำเลยที่ 2 ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการนำเอกสารชุดโอนไปจดทะเบียนแม้จะยอมรับว่าจำเลยที่ 1 บอกว่าจะใช้ในการโอนรถ แต่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใดจากการนำสืบพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมว่าจำเลยที่ 2 มีการกระทำอื่นใดนอกเหนือจากนั้นในการใช้ใบเสร็จรับเงินปลอม จำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิดฐานร่วมใช้เอกสารปลอมด้วย
แม้จำเลยที่ 2 เป็นพนักงานฝ่ายบัญชี มีหน้าที่รับเงินค่าเช่าซื้อจากลูกค้าผู้เช่าซื้อรถของโจทก์ร่วม และลงลายมือชื่อรับเงินในช่องฝ่ายบัญชีของใบเสร็จรับเงินซึ่งเป็นเอกสารปลอมในการปิดบัญชีเพื่อใช้ประกอบเอกสารชุดโอนรถที่จำเลยที่ 1 ใช้ทั้ง 10 รายดังกล่าว และแม้โจทก์และโจทก์ร่วมมี ส. จ. ส. ส. และ อ. เบิกความว่า นำเงินค่าเช่าซื้อไปชำระเพื่อปิดบัญชีที่บริษัทโจทก์ร่วมพบพนักงานหญิงคนหนึ่งของบริษัทซึ่งเป็นฝ่ายบัญชีหรือเจ้าหน้าที่การเงินจึงส่งมอบเงินนั้นให้ไปแล้วพนักงานหญิงนั้นออกใบเสร็จรับเงินให้พยาน แต่ในทางนำสืบของโจทก์และโจทก์ร่วม ข้อเท็จจริงได้ความจากกรรมการบริษัทโจทก์ร่วมว่า จำเลยที่ 2 ต้องนำเงินนั้นมาส่งมอบให้จำเลยที่ 1 ในตอนเย็นทุกวันเพื่อให้จำเลยที่ 1 นำไปส่งให้กรรมการบริษัทโจทก์ร่วมทุกวัน ซึ่งทางปฏิบัติการทำงานเป็นเช่นนี้โจทก์และโจทก์ร่วมจะต้องนำสืบพยานหลักฐานให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 ไม่กระทำการตามหน้าที่ดังกล่าวโดยมิได้ส่งมอบเงินแก่จำเลยที่ 1 หรือส่งมอบเงินให้จำเลยที่ 1 เพื่อให้จำเลยที่ 1 เบียดบังเอาเป็นของตนโดยมิได้นำส่งกรรมการตามหน้าที่ ข้อเท็จจริงรับฟังได้เพียงตามที่วินิจฉัยแล้วว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ปลอมใบเสร็จรับเงินค่าเช่าซื้อที่ลูกค้าทั้ง 10 ราย นำมาปิดบัญชี แต่จะรับฟังโดยสันนิษฐานข้อเท็จจริงให้เป็นโทษแก่จำเลยที่ 2 ถึงขนาดว่าเป็นการแบ่งงานกันทำกับจำเลยที่ 1 หาได้ไม่ และไม่เป็นพยานแวดล้อมกรณีอย่างหนึ่งที่จะนำมารับฟังประกอบกันเพื่อลงโทษจำเลยที่ 2 เพราะการรับเงินจากลูกค้าผู้เช่าซื้อเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 2
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3918/2560 พฤติการณ์ของจำเลยที่ลักสมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร ก. สาขาพระราม 3 ของผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งมีชื่อผู้เสียหายที่ 1 เป็นเจ้าของบัญชี ไปกรอกข้อความและปลอมลายมือชื่อของผู้เสียหายที่ 1 ในใบคำขอถอนเงินของผู้เสียหายที่ 2 แล้วนำสมุดบัญชีเงินฝากดังกล่าวไปแสดงต่อพนักงานของผู้เสียหายที่ 2 และได้รับเงินไปจำนวน 59,000 บาท เป็นการกระทำที่มีเจตนามุ่งหมายเพื่อจะให้ได้เงินจากผู้เสียหายที่ 2 เป็นหลักจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาเห็นควรยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
คำฟ้องของโจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 342 โดยไม่ได้อ้างมาตรา 341 มาด้วย แต่ความผิดฐานดังกล่าวเป็นการกระทำที่เป็นองค์ประกอบมาจากความผิดฐานฉ้อโกง ตาม ป.อ. มาตรา 341 เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่น ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 342 (1) ได้ กรณีไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3637/2559 การที่จำเลยเอาไปเสียซึ่งบัตรประจำตัวประชาชนของผู้เสียหายที่ 1 และนำไปใช้แสดงต่อ ภ. พนักงานธนาคารออมสิน ผู้เสียหายที่ 2 จากนั้นจำเลยทำเอกสารคำขอเปิดบัญชี แบบคำขอใช้บริการบัตรอิเล็กทรอนิกส์ แบบแสดงข้อมูลลูกค้าและเอกสารเงื่อนไขการใช้บริการบัญชีเงินฝากและบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้เสียหายที่ 2 โดยกรอกข้อมูลในแบบคำขอเปิดบัญชี แบบคำขอใช้บริการบัตรอิเล็กทรอนิกส์ว่า จำเลยชื่อ ส. เป็นผู้ขอเปิดบัญชีและแสดงข้อมูลลูกค้าของผู้เสียหายที่ 1 กับปลอมลายมือชื่อของผู้เสียหายที่ 1 ในช่องลงชื่อผู้ขอใช้บริการบัตรอิเล็กทรอนิกส์และในสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน แล้วนำแบบคำขอเปิดบัญชี แบบคำขอใช้บริการบัตรอิเล็กทรอนิกส์ แบบแสดงข้อมูลลูกค้าและเอกสารเงื่อนไขการใช้บริการบัญชีเงินฝากและบัตรอิเล็กทรอนิกส์ และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้เสียหายที่ 1 ดังกล่าวไปยื่นแสดงต่อ ภ. เพื่อขอเปิดบัญชีและใช้บริการบัตรอิเล็กทรอนิกส์กับผู้เสียหายที่ 2 นั้น เป็นการกระทำต่อเนื่องเชื่อมโยงกันโดยมีเจตนาเพื่อให้ผู้เสียหายที่ 2 เปิดบัญชีเงินฝากและทำบัตรอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่จำเลยเป็นหลัก แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องการกระทำความผิดของจำเลยแยกออกเป็นข้อ ๆ และการกระทำความผิดตามฟ้องโจทก์ในแต่ละข้อเป็นความผิดสำเร็จในตัวก็ตาม การกระทำของจำเลยก็เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 820/2558 ความผิดฐานยักยอกทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 352 และความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารตาม ป.อ. มาตรา 188 นั้น แตกต่างกัน การกระทำของจำเลยจะเป็นความผิดฐานใดนั้น ต้องขึ้นอยู่กับองค์ประกอบของแต่ละความผิดนั้น คดีนี้เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยเป็นผู้ครอบครองเช็คพิพาทโดยโจทก์เป็นผู้มอบการครอบครองให้แก่จำเลย การที่จำเลยเอาเช็คพิพาทของโจทก์ไปเรียกเก็บเงิน นอกจากเป็นความผิดฐานยักยอกแล้ว ย่อมเป็นการกระทำให้เช็คพิพาทนั้นไร้ประโยชน์ที่จะใช้ได้อีก การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 188 อีกบทหนึ่งด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1564/2557 แม้โดยสภาพของการสั่งจองพระเครื่อง ต้องมีการกรอกข้อความเกี่ยวกับชื่อและที่อยู่ของผู้สั่งจอง จำนวนพระเครื่องและจำนวนเงินที่สั่งจอง มอบต้นฉบับให้ผู้สั่งจองและเก็บคู่ฉบับเพื่อส่งมอบแก่ผู้จัดสร้างดังที่โจทก์ฎีกา แต่เมื่อใบสั่งจองดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดสิทธิหรือหน้าที่ประการใดแก่โจทก์ร่วม แม้จำเลยไม่คืนต้นฉบับและคู่ฉบับใบสั่งจองดังกล่าวให้โจทก์ร่วม จำเลยก็ไม่มีความผิดฐานเอาไปเสีย ซ่อนเร้น ทำให้สูญหาย หรือไร้ประโยชน์ซึ่งเอกสารของผู้อื่น โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น ตามป.อ. มาตรา 188
ใบสั่งจองที่ยังไม่ได้มีการกรอกข้อความใด ๆ เพื่อให้เป็นหลักฐานในการสั่งจองพระเครื่องที่โจทก์ร่วมเป็นผู้จัดสร้าง มิใช่เอกสารตามความหมายของ ป.อ. มาตรา 1 (7) แม้จำเลยไม่คืนให้โจทก์ร่วม จำเลยก็ไม่มีความผิดฐานเอาไปเสีย ซ่อนเร้น ทำให้สูญหาย หรือไร้ประโยชน์ซึ่งเอกสารของผู้อื่น โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นเช่นกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21183/2556 การที่จำเลยแอบอ้างขอสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนจากผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 15 โดยอ้างว่าจะนำไปเข้าร่วมโครงการต่อต้านยาเสพติดให้โทษ แต่กลับนำไปใช้เป็นเอกสารยื่นคำขอและทำสัญญาเช่าใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่กับผู้เสียหายที่ 16 การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่นในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน และฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 188 และ 341
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18652 - 18653/2555 จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของโจทก์ร่วม ทำใบส่งชุบนอต สกรู และแหวนอีแปะต่าง ๆ ของโจทก์ร่วมไปยังโรงชุบ ฮ. ของ ณ. และจากนั้นแจ้งข้อความอันเป็นเท็จว่า สินค้าบางส่วนจำเลยที่ 1 ซื้อจากโจทก์ร่วมแล้ว เป็นเหตุให้ ณ. หลงเชื่อนำสินค้าบางส่วนดังกล่าวไปส่งมอบให้แก่จำเลยทั้งสี่หรือยอมให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มารับสินค้าบางส่วนของโจทก์ร่วมไปจาก ณ. การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง
เอกสารที่จำเลยที่ 1 ลักไปจากโจทก์ร่วมเป็นแบบฟอร์มใบกำกับภาษี/ใบส่งสินค้าที่ยังไม่มีข้อความ ไม่เป็นเอกสาร คงเป็นแบบพิมพ์ที่ยังไม่กรอกข้อความ จึงมีสภาพเป็นทรัพย์ธรรมดา ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188
การปลอมใบกำกับภาษี/ใบส่งสินค้าแต่ละฉบับระบุวันเดือนปี และสินค้าแตกต่างจากกันเป็นการกระทำให้เห็นถึงการแยกเจตนาของจำเลยที่ 1 ที่จะให้เกิดผลแตกต่างกัน แม้บางฉบับจะระบุทำในวันเดียวกันก็หาทำให้เป็นกรรมเดียวกันแต่อย่างใดไม่ ถ้าจำเลยที่ 1 มีเจตนาที่จะทำผิดเพียงกรรมเดียวก็สามารถทำเพียงฉบับเดียวได้ จึงเป็นข้อสนับสนุนให้เห็นถึงเจตนาของจำเลยที่ 1 ที่จะแยกการกระทำต่างหากจากกัน การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7295/2554 จำเลยปลอมใบถอนเงินของธนาคารโจทก์ร่วมโดยเขียนข้อความและลงลายมือชื่อปลอมของผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อเบิกถอนเงินมอบฉันทะให้จำเลยเป็นผู้เบิกถอนเงิน รับเงิน และรับสมุดบัญชีเงินฝาก แล้วจำเลยใช้และอ้างใบถอนเงินปลอมแก่พนักงานโจทก์ร่วม จนพนักงานโจทก์ร่วมหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารสิทธิที่แท้จริง เป็นเหตุให้โจทก์ร่วมต้องจ่ายเงินตามใบถอนเงินปลอมให้แก่จำเลย โจทก์ร่วมจึงเป็นบุคคลที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอมตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) และมีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในความผิดฐานดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 30 และย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคหนึ่ง
พฤติการณ์ของจำเลยที่ลักและเอาไปเสียซึ่งสมุดบัญชีเงินฝากของผู้เสียหายแล้วปลอมใบถอนเงินของธนาคารโจทก์ร่วมเอาไปแสดงต่อพนักงานของโจทก์ร่วมเพื่อขอเบิกถอนเงิน เป็นการกระทำที่มีเจตนามุ่งหมายเพื่อให้ได้เงินจากธนาคารโจทก์ร่วมเป็นหลัก จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12795/2553 แม้ในฟ้องข้อ (ก) โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสี่ร่วมกันเบียดบังเอาเงินของผู้เสียหายไป ต่างวันต่างเวลากัน รวม 262 ครั้ง และฟ้องข้อ (ข) โจทก์บรรยายรวมกันมาว่า จำเลยทั้งสี่ร่วมกันกระทำผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน และบรรยายฟ้องต่อไปว่า จำเลยทั้งสี่ร่วมกันทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสียหรือทำให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ซึ่งเอกสารบันทึกการขายสินค้าประจำวัน (กระดาษเจอร์นอล) ของผู้เสียหาย จำนวน 262 แผ่น ต่างวันต่างเวลากัน จำนวน 262 ครั้ง ก็ตาม แต่โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับวันเวลากระทำความผิดของจำเลยทั้งสี่ในข้อ (ก) และข้อ (ข) ว่า เมื่อระหว่างวันที่ 13 สิงหาคม 2547 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 13 พฤษภาคม 2548 เวลากลางคืนหลังเที่ยง โดยมิได้ระบุว่าจำเลยทั้งสี่ร่วมกันยักยอกและเอาไปเสียซึ่งเอกสารในแต่ละครั้ง วันเวลาใดให้ชัดแจ้ง ส่วนวันเวลาที่โจทก์อ้างตามเอกสารท้ายฟ้องซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องนั้น เป็นเพียงวันเวลาที่แสดงว่าโจทก์ร่วมตรวจพบการทุจริตของพนักงานเก็บเงินในบริษัทโจทก์ร่วมเมื่อใด จะถือเอาวันเวลาตามเอกสารดังกล่าวมาประกอบกันเพื่อให้เข้าใจเอาเองว่ามีการกระทำผิดข้อหาร่วมกันยักยอกในแต่ละครั้งเกิดขึ้นตามวันเวลาดังกล่าวหาได้ไม่ จึงเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10959/2553 ผู้เสียหายว่าจ้างจำเลยให้ซ่อมและเปลี่ยนเครื่องยนต์รถยนต์รวมทั้งให้ดำเนินการจดทะเบียนเปลี่ยนหมายเลขเครื่องยนต์ จำเลยซื้อเครื่องยนต์จากบริษัท จ. โดยบริษัท จ. ออกเอกสารใบส่งของ/บิลเงินสด ใบกำกับภาษี กับหนังสือแจ้งจำหน่ายและการรับรองหลักฐานการส่งบัญชีรับและจำหน่ายเครื่องยนต์ ระบุชื่อผู้เสียหายเป็นผู้ซื้อ จำเลยนำเอกสารดังกล่าวไปให้บริษัท จ. แก้ไขเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ซื้อเป็น ส. โดยผู้เสียหายไม่ยินยอมทำให้ผู้เสียหายได้รับความเสียหายแม้ พ. เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท จ. และเป็นผู้ทำเอกสารจะเป็นผู้แก้ไข แต่เมื่อการแก้ไขเกิดจากการแจ้งของจำเลยโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้เสียหาย ย่อมไม่มีอำนาจ เป็นการปลอมเอกสารโดยถือได้ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนี้ด้วยการใช้ พ. เป็นเครื่องมือ
ใบกำกับภาษีเป็นหลักฐานแสดงว่าผู้ขายได้เรียกเก็บภาษีจากผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้ซื้อเครื่องยนต์แล้ว บริษัท พ. ไม่มีสิทธิเรียกเก็บภาษีจากผู้เสียหายอีกจึงเป็นหลักฐานแห่งการระงับไปซึ่งสิทธิ เป็นเอกสารสิทธิ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9141/2553 ผู้เสียหายมอบอำนาจให้ ป. ไปดำเนินการออกโฉนดที่ดินแทนผู้เสียหายการที่จำเลยยึดหน่วงโฉนดที่ดินของผู้เสียหายไว้ สืบเนื่องมาจาก ป. กู้ยืมเงินจากจำเลยเพื่อนำไปเป็นค่าใช้จ่ายในการออกโฉนดให้แก่ผู้เสียหาย โดย ป. จะได้รับค่าจ้างเป็นการตอบแทนหลังจากได้รับโฉนดที่ดินแล้ว และ ป. นำโฉนดที่ดินให้จำเลยยึดถือไว้เป็นประกัน อีกทั้ง ป. มิได้เป็นญาติหรือมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องอันใดกับผู้เสียหายในการที่จะดำเนินการรังวัดออกโฉนดให้ผู้เสียหายโดยไม่คิดค่าตอบแทน และผู้เสียหายก็ยอมรับว่า ป. แจ้งว่านำโฉนดที่ดินไปให้ไว้กับจำเลย หากผู้เสียหายชำระเงินจำนวน 700,000 บาท จะนำโฉนดที่ดินมาคืนให้ และจำเลยยังได้โทรศัพท์มาหาผู้เสียหายให้ผู้เสียหายชำระเงินคืนให้ พฤติการณ์มีเหตุอันสมควรทำให้จำเลยเข้าใจว่า ป. มีสิทธิได้รับค่าใช้จ่ายจากผู้เสียหาย เมื่อ ป. ตกลงให้จำเลยรับเงินจากผู้เสียหายแทนโดยมอบโฉนดที่ดินแก่ผู้เสียหายจนกว่าผู้เสียหายจะชำระค่าใช้จ่ายในการออกโฉนดที่ดินให้ก่อนนั้น จำเลยจึงขาดเจตนากระทำความผิด ตาม ป.อ. มาตรา 188
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8490/2552 การที่จำเลยกับพวกร่วมกันวางแผนโดยใช้โฉนดที่ดินพิพาทปลอมที่มีรอยตราปลอมประทับอยู่ ไปแลกเอาโฉนดที่ดินพิพาทฉบับจริงของผู้เสียหายมาอันเป็นการเอาไปเสียซึ่งเอกสารและลักทรัพย์โดยใช้กลอุบาย แล้วนำโฉนดที่ดินพิพาทฉบับจริงพร้อมหนังสือมอบอำนาจปลอมของผู้เสียหายไปใช้แสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดิน การกระทำทั้งหมดล้วนมีจุดประสงค์เพียงอย่างเดียว คือ การทำให้สามารถขายหรือขายฝากที่ดินพร้อมอาคารของผู้เสียหายเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวแต่ผิดต่อกฎหมายหลายบท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6820/2552 การที่จำเลยเอาไปเสียซึ่งเอกสารบัตรเครดิตวีซ่าการ์ดของบริษัท บ. อันเป็นบัตรอิเล็กทรอนิกส์ และเอกสารตาม ป.อ. มาตรา 1 (7) ซึ่งออกให้แก่ น. ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ น. และบริษัท บ. แล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามบทบัญญัติมาตรา 188
การที่จำเลยเอาไปเสียซึ่งบัตรเครดิตวีซ่าการ์ดของบริษัท บ. ซึ่งออกให้แก่ น. แล้วใช้บัตรเครดิตวีซ่าการ์ดดังกล่าวชำระค่าสินค้าแทนการชำระด้วยเงินสดอันเป็นความผิดฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นชำระค่าสินค้า ค่าบริการหรือหนี้อื่นแทนการชำระด้วยเงินสดโดยมิชอบตาม ป.อ. มาตรา 269/5 และ มาตรา 269/7 รวม 3 ครั้ง เมื่อปรากฏว่าโจทก์ฟ้องจำเลยแยกออกเป็นข้อๆ และการกระทำตามที่โจทก์บรรยายฟ้องมาในแต่ละข้อต่างเป็นความผิดสำเร็จในตัวเองต่างกรรมต่างวาระ ทั้งทรัพย์ที่จำเลยได้จากการกระทำผิดก็เป็นทรัพย์คนละประเภทแตกต่างกัน เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องถือได้ว่าจำเลยกระทำความผิดโดยมีเจตนาต่างกัน การกระทำของจำเลยฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารบัตรเครดิตกับฐานใช้บัตรเครดิตจึงเป็นความผิดหลายกรรมตาม ป.อ. มาตรา 91 และเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ตามฟ้องและคำให้การรับสารภาพของจำเลยว่าจำเลยนำบัตรเครดิตวีซ่าการ์ดดังกล่าวไปใช้ชำระค่าสินค้าโทรศัพท์เคลื่อนที่ กล้องวีดีโอและกล้องถ่ายรูปดิจิทัลแทนการชำระด้วยเงินสดจำนวน 3 คราว การกระทำของจำเลยในส่วนนี้จึงเป็นความผิด 3 กรรมต่างกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5883/2552 จำเลยซึ่งเป็นนายวงแชร์มีหน้าที่นำเช็คทั้งหกฉบับจากลูกวงแชร์ที่ยังประมูลแชร์ไม่ได้ไปมอบให้ผู้เสียหาย การที่จำเลยเอาเช็คตามฟ้องทั้งหกฉบับที่ลูกวงแชร์สั่งจ่ายให้ไปเรียกเก็บเงินในบัญชีของตนเอง เพื่อประโยชน์ของจำเลยโดยที่จำเลยไม่มีสิทธิ จึงเป็นความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188
จำเลยในฐานะนายวงแชร์มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามข้อตกลงการเล่นแชร์ว่า เมื่อจำเลยได้เช็คจากลูกวงแชร์แล้วจะต้องนำเช็คไปมอบให้ ส. ซึ่งประมูลแชร์ได้ ดังนั้น การที่จำเลยรับเช็คตามฟ้องจึงเป็นการรับไว้แทน ส. เมื่อจำเลยนำเช็คไปเรียกเก็บเงินออกจากบัญชีจึงเป็นการครอบครองเงินของ ส. แล้วเบียดบังเอาเงินนั้นไป ส. จึงเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานยักยอกเงินตามเช็ค
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5168/2552 แม้คำฟ้องของโจทก์พอที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีว่าวันเวลาที่จำเลยกระทำความผิดเป็นช่วงวันเวลาใด และจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องก็ตามแต่โจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยลักโฉนดที่ดินของผู้เสียหายไปในวันใดแน่ จึงต้องฟังเป็นคุณว่าจำเลยลักโฉนดที่ดินของผู้เสียหายในในวันที่ 22 กรกฎาคม 2545 แล้วปลอมหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยขายที่ดินดังกล่าว ต่อมาวันที่ 23 กรกฎาคม 2545 จำเลยนำหนังสือมอบอำนาจปลอมที่ทำขึ้นไปใช้ในการทำสัญญาขายที่ดินดังกล่าวให้แก่ตนเอง การกระทำของจำเลยแสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาเพื่อต้องการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินของผู้เสียหายเป็นสำคัญ จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท หาใช่เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันไม่ ส่วนหนังสือมอบอำนาจเป็นเอกสารธรรมดาซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่าผู้มอบอำนาจมอบให้บุคคลอีกคนหนึ่งมีอำนาจจัดการทำนิติกรรมแทนผู้มอบอำนาจเท่านั้น ไม่เป็นเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวนหรือระงับซึ่งสิทธิแต่อย่างใด จึงไม่ใช่เอกสารสิทธิ การที่จำเลยปลอมหนังสือมอบอำนาจและใช้หนังสือมอบอำนาจปลอมจึงเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมตาม ป.อ. มาตรา 264 วรรคแรก และมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก เท่านั้น
เมื่อกรณีเป็นการลักทรัพย์โฉนดที่ดินของผู้เสียหายทรัพย์ที่ผู้เสียหายสูญเสียไปเป็นเอกสารคืนโฉนดที่ดิน พนักงานอัยการคงมีสิทธิเรียกคืนได้แต่โฉนดที่ดินเท่านั้น จะขอให้จำเลยใช้เงิน 1,000,000 บาท เท่ากับราคาที่ดินตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 หาได้ไม่ เพราะไม่อาจกล่าวได้ว่าผู้เสียหายได้สูญเสียทรัพย์สินที่มีราคาเท่ากับมูลค่าของที่ดินแม้โฉนดที่ดินสูญหายไปก็ยังฟ้องเรียกร้องที่ดินกันได้ มิใช่ว่าที่ดินจะสูญไปด้วย ที่ดินยังคงอยู่ผู้เสียหายชอบที่จะไปฟ้องเป็นคดีแพ่งเรียกทรัพย์คืนได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบ มาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3063/2552 ในคดีความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรมและความผิดเกี่ยวกับเอกสาร ซึ่งผู้เสียหายถึงแก่ความตายด้วยโรคประจำตัว ผู้บุพการีไม่มีอำนาจเป็นโจทก์ฟ้องหรือเข้าร่วมกับพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องแทนผู้เสียหาย เพราะไม่ต้องด้วยบทบัญญัติของ ป.วิ.อ. มาตรา 3 (2) ประกอบมาตรา 5 (2) ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้
จำเลยกับพวกร่วมกันนำเอาโฉนดที่ดินของผู้เสียหายและแบบพิมพ์หนังสือมอบอำนาจที่มีเพียงลายมือชื่อของผู้เสียหายลงไว้ในช่องผู้มอบอำนาจไปโดยไม่ได้รับอนุญาต แล้วนำไปกรอกข้อความว่าผู้เสียหายมอบอำนาจให้จำเลยยื่นขอจดทะเบียนโอนที่ดินของผู้เสียหายให้แก่จำเลยโดยเสน่หา เป็นการกระทำความผิดฐานทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ซึ่งเอกสารของผู้อื่น ตาม ป.อ. มาตรา 188 และเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม ตาม ป.อ. มาตรา 264 วรรคสอง และมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคสอง และมาตรา 83 แต่การกระทำความผิดดังกล่าวก็เพื่อโอนที่ดินเป็นของจำเลยซึ่งเป็นเจตนาเดียว การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 188 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1094/2552 การที่จำเลยกับพวกร่วมกันไปเอาเสียซึ่งหนังสือเดินทางประเทศออสเตรเลียและปลอมหนังสือเดินทางเล่มดังกล่าว โดยนำรูปถ่ายของจำเลยมาติดแทนภาพของผู้มีชื่อในหนังสือเดินทาง จากนั้นจำเลยกับพวกได้ปลอมรอยตราประทับบันทึกการตรวจอนุญาตให้คนเดินทางออกนอกราชอาณาจักรของเจ้าพนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง เป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงโดยมีเจตนาเดียวกันคือเพื่อให้จำเลยออกนอกราชอาณาจักร ความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่นและความผิดฐานปลอมเอกสารกับปลอมเอกสารราชการจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3903/2551 จำเลยเอาไปเสียซึ่งเช็คของผู้เสียหายแล้วปลอมเช็คดังกล่าวโดยกรอกข้อความและจำนวนเงินในเช็คกับปลอมลายมือชื่อของผู้มีอำนาจสั่งจ่ายเช็ค แล้วนำเช็คดังกล่าวไปเบิกเงินจากธนาคารตามเช็ค ได้รับเงินจำนวน 850,000 บาท ไป เป็นการกระทำที่มีเจตนามุ่งหมายเพื่อจะได้เงินจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของผู้เสียหายเป็นหลัก การกระทำต่าง ๆ เป็นเพียงวิธีการเพื่อจะให้ได้เงินไปเท่านั้น แม้การกระทำแต่ละอย่างจะเป็นความผิดแยกต่างหากจากกัน การกระทำของจำเลยก็เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2512/2550 โจทก์ฟ้องจำเลยแยกเป็น 2 ข้อ คือ ข้อ 1.1 และข้อ 1.2 การกระทำตามที่บรรยายฟ้องมาแต่ละข้อเป็นความผิดสำเร็จในตัวเอง โดยโจทก์บรรยายฟ้องข้อ 1.1 ว่า จำเลยได้ลักทรัพย์และเอาไปเสียซึ่งบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคาร ก. ที่ออกให้แก่ผู้เสียหายไปโดยทุจริต ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย ธนาคาร ก. ผู้อื่นและประชาชน ความผิดดังกล่าวย่อมสำเร็จเมื่อจำเลยลักเอาบัตรดังกล่าวไป และโจทก์ได้บรรยายฟ้องข้อ 1.2 ว่าภายหลังการกระทำความผิดตามฟ้องข้อ 1.1 แล้ว จำเลยได้นำบัตรอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวไปใช้ลักทรัพย์เบิกถอนโอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากของผู้เสียหายโดยทุจริต ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย ธนาคาร ก. ผู้อื่นและประชาชน ดังนี้ การกระทำของจำเลยในข้อ 1.2 จึงเป็นคนละวาระกันกับการกระทำความผิดตามฟ้องข้อ 1.1 ทั้งทรัพย์ที่ได้จากการกระทำความผิดก็แตกต่างกัน กล่าวคือ ทรัพย์ที่ได้จากการกระทำความผิดตามฟ้องข้อ 1.2 คือเงินจำนวน 92,640 บาท เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง จึงถือได้ว่าจำเลยกระทำความผิดโดยมีเจตนาต่างกัน การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดหลายกรรม หาใช่กรรมเดียวดังที่จำเลยฎีกาไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1894/2550 เหตุที่จำเลยหลอกลวงผู้เสียหายทั้งเจ็ดว่า จำเลยเป็นเจ้าหน้าที่ของสำนักงานฟื้นฟูเกษตรกรไทย จังหวัดมหาสารคาม มีโครงการให้เกษตรกรกู้ยืมเงิน ก็เพื่อให้ผู้เสียหายทั้งเจ็ดมอบโฉนดที่ดิน สำเนาทะเบียนบ้าน และบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่จำเลยเพื่อใช้ประกอบการขอกู้ยืมเงิน แม้ความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนกับความผิดฐานทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ของผู้เสียหายทั้งเจ็ดจะต่างวาระกัน แต่ก็เป็นเจตนาของจำเลยที่จะหลอกลวงผู้เสียหายทั้งเจ็ดเพื่อทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย ทำให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ของผู้เสียหายทั้งเจ็ดนั่นเอง ความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนและความผิดฐานทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ซึ่งเอกสารของผู้อื่น จึงเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงเป็นกรรมเดียวกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8450/2548 ความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 กฎหมายมุ่งคุ้มครองเอกสารที่เป็นพยานหลักฐานในทำนองเดียวกันกับพินัยกรรมเป็นสำคัญ มิได้มุ่งถึงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิในการเป็นเจ้าของกระดาษหรือวัตถุที่ทำให้ปรากฏความหมายเป็นเอกสารซึ่งเป็นบทบัญญัติว่าด้วยความผิดที่เกี่ยวกับทรัพย์ไว้เป็นการทั่วไปอยู่แล้ว คำว่า "เอาไปเสีย" ตามมาตรา 188 จึงมิได้มีความหมายเป็นอย่างเดียวกับคำว่า "เอาไปเสีย" ที่ใช้ในความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334 แต่หมายถึงเอาไปจากที่เอกสารนั้นอยู่ในประการที่น่าจะเกิดจากความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนที่อาจขาดเอกสารนั้นเป็นพยานหลักฐาน
ใบเสร็จรับเงินและใบกำกับภาษีเป็นเอกสารที่โจทก์ร่วมจัดทำขึ้นมอบให้แก่จำเลยที่ 1 นำไปใช้เก็บค่าสินค้าซึ่งหากลูกค้าชำระค่าสินค้าจำเลยที่ 1 จะต้องมอบใบเสร็จรับเงินและใบกำกับภาษีให้ลูกค้าไป ส่วนสมุดบัญชีเงินฝากโจทก์ร่วมเปิดบัญชีเพื่อประโยชน์ในการหักทอนบัญชีหนี้สินระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่เกิดจากกิจการที่จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าให้แก่โจทก์ร่วม โดย ว. หรือจำเลยที่ 1 คนใดคนหนึ่งลงชื่อประทับตราสำคัญของโจทก์ร่วมมีสิทธิเบิกถอนเงินได้ และเมื่อหักทอนบัญชีกันแล้วเงินคงเหลือก็คือค่าบำเหน็จตอบแทนการขายซึ่งตกเป็นของจำเลยที่ 1 ทั้งนับแต่เปิดบัญชีจำเลยที่ 1 เป็นผู้เบิกถอนเงินและเป็นผู้เก็บรักษาสมุดบัญชีเงินฝากตลอดมา ดังนั้น แม้ต่อมาโจทก์ร่วมได้ถอนจำเลยที่ 1 ออกจากการเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าของโจทก์ร่วม จำเลยที่ 1 ต้องส่งคืนใบเสร็จรับเงินและใบกำกับภาษีรวมทั้งสมุดบัญชีเงินฝากให้แก่โจทก์ร่วม แต่จำเลยที่ 1 ยึดหน่วงไว้ไม่ยอมส่งคืนอันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ร่วม ก็เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดในทางแพ่งยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5161/2547 เอกสารข้อมูลเกี่ยวกับหนังสือรับรองของบริษัท บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น งบบัญชีกำไร-ขาดทุน และ สำเนาหนังสือเดินทาง เป็นเอกสารที่บุคคลสามารถไปขอตรวจสอบและขอคัดสำเนาได้จากกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์จึงไม่ถือเป็นความลับของบริษัทลูกค้าโจทก์ร่วมอันต้องปกปิด การที่จำเลยใช้เอกสารดังกล่าวปฏิบัติในหน้าที่ให้แก่โจทก์ร่วมเสร็จแล้วไม่นำกลับคืนแก่โจทก์ร่วม จึงไม่น่าจะเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมหรือลูกค้าของโจทก์ร่วมต้องเสียหาย การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหาย แก่โจทก์ร่วมหรือผู้อื่น
ข้อมูล ตามพจนานุกรมให้ความหมายว่า ข้อเท็จจริง หรือ สิ่งที่ถือหรือยอมรับว่าเป็นข้อเท็จจริง สำหรับใช้เป็นหลักอนุมานหาความจริงหรือการคำนวณ ส่วนข้อเท็จจริง หมายความว่า ข้อความแห่งเหตุการณ์ที่เป็นมาหรือที่เป็นอยู่จริง ข้อความหรือเหตุการณ์ที่จะต้องวินิจฉัยว่าเท็จหรือจริง ดังนั้นข้อมูลจึงไม่นับเป็นวัตถุมีรูปร่าง สำหรับตัวอักษร ภาพ แผนผัง และตราสารเป็นเพียงสัญลักษณ์ที่ถ่ายทอดความหมายของข้อมูลออกจากแผ่นบันทึกข้อมูล โดยอาศัยเครื่องคอมพิวเตอร์ มิใช่รูปร่างของข้อมูล เมื่อ ป.พ.พ. มาตรา 137 บัญญัติว่า ทรัพย์ หมายความว่า วัตถุมีรูปร่าง ข้อมูลในแผ่นบันทึกข้อมูลจึงไม่ถือเป็นทรัพย์ การที่จำเลยนำแผ่นบันทึกข้อมูลเปล่าลอกข้อมูลจากแผ่นบันทึกข้อมูลของโจทก์ร่วม จึงไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3336 - 3337/2547 บทบัญญัติใน ป.อ. มาตรา 84 หมายความว่า ผู้ใช้ใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดโดยผู้ถูกใช้รู้ว่าการกระทำตามที่ถูกใช้เป็นความผิด หากผู้ถูกใช้กระทำความผิดตามที่ถูกใช้ ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ หากผู้ถูกใช้ไม่กระทำผิดตามที่ถูกใช้ ผู้ใช้ต้องรับโทษหนึ่งในสามของโทษที่กำหนด คดีนี้ บ. เป็นนักการภารโรงไม่มีส่วนได้เสียในบัญชีเงินกู้และไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้ว่าจ้างหรือให้ประโยชน์แก่ บ. ในการเผาทำลายบัญชีเงินกู้ จึงไม่มีเหตุที่ บ. ต้องเผาบัญชีเงินกู้ หาก บ. ทราบว่าการเผาทำลายบัญชีเงินกู้เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย บ. ก็คงไม่กระทำตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 เนื่องจาก บ. อาจต้องรับโทษโดยที่ตนเองไม่ได้ประโยชน์ แต่ บ. ยอมเผาบัญชีเงินกู้ตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาคงเชื่อโดยสุจริตว่าเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้บังคับบัญชา การที่จำเลยที่ 1 สั่งให้ บ. เผาบัญชีเงินกู้นั้น จึงไม่ใช่เป็นการใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิด เพราะ บ. ผู้ถูกใช้ไม่รู้ว่าการกระทำนั้นเป็นความผิด แต่เป็นการที่จำเลยที่ 1 ใช้ บ. เป็นเครื่องมือของจำเลยที่ 1 ในการกระทำความผิด ถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำความผิดเองโดยอ้อม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8435/2544 ผู้เสียหายได้สั่งจ่ายเช็คพิพาทมอบให้จำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างของผู้เสียหายนำไปชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ จำเลยเป็นผู้ครอบครองเช็คพิพาทในฐานะตัวแทนของผู้เสียหายและจำเลยมีหน้าที่ต้องนำเช็คพิพาทไปมอบให้แก่เจ้าหนี้ของผู้เสียหาย การที่จำเลยนำเช็คพิพาทไปเข้าบัญชีของจำเลยเพื่อเรียกเก็บเงินและได้มีการเรียกเก็บเงินตามเช็คพิพาทได้ ถือได้ว่าเป็นการเบียดบังเอาเช็คพิพาทของผู้เสียหายไปโดยทุจริต จึงเป็นความผิดฐานยักยอกเช็คพิพาท มิใช่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ และการที่จำเลยเอาเช็คพิพาทของผู้เสียหายไปเรียกเก็บเงินย่อมเป็นการทำให้เช็คพิพาทนั้นไร้ประโยชน์ที่จะใช้ได้อีก จึงเป็นความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่น ตาม ป.อ. มาตรา 188 อีกบทหนึ่ง ต้องลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 188 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด
จำเลยยักยอกเช็คพิพาทของผู้เสียหายแล้วนำไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารตามเช็ค ผู้เสียหายย่อมจะต้องถูกธนาคารตามเช็คหักเงินจากบัญชีของผู้เสียหายไปตามจำนวนเงินที่สั่งจ่ายในเช็ค เท่ากับว่าผู้เสียหายต้องสูญเสียเงินจำนวนตามเช็คนั้นไปเนื่องจากการกระทำผิดของจำเลยโดยตรง พนักงานอัยการจึงมีสิทธิขอให้จำเลยคืนหรือใช้เงินตามเช็คแก่ผู้เสียหายได้ ตาม ป.วิ. อ. มาตรา 43
ตามคำร้องของผู้เสียหายที่ยื่นเข้ามาประกอบเพื่อขอให้ศาลอนุญาตปล่อยตัวจำเลยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ มิใช่เป็นการยอมความตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5674/2544 แบบพิมพ์เช็คที่ยังไม่ได้กรอกรายการเท่ากับยังมิได้ทำให้ปรากฏความหมายด้วยตัวอักษร ตัวเลข อันเป็นหลักฐานแห่งความหมายนั้นจึงไม่เป็นเอกสารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(7) แม้จำเลยเอาแบบพิมพ์เช็คของผู้เสียหายไป ก็ไม่มีความผิดตามมาตรา 188
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1312/2544 จำเลยเป็นพนักงานของโจทก์ร่วมได้รับเช็คของลูกค้าเพื่อชำระค่าสินค้าให้แก่โจทก์ร่วม แต่กลับนำเช็คนั้นไปเบิกเงินแล้วเก็บไว้เองจึงมีความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเช็คอันเป็นเอกสารของโจทก์ร่วมและทำให้ไร้ประโยชน์ ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ร่วมผู้อื่นหรือประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 และฐานยักยอกเงินตามเช็คตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9/2543 จำเลยฎีกาว่า บัตร เอ.ที.เอ็ม. 2 ใบตามฟ้อง โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่ามีข้อความใดปรากฏอยู่บ้าง ย่อมรับฟังไม่ได้ว่า บัตร เอ.ที.เอ็ม. เป็นเอกสาร จึงลงโทษจำเลยฐานเอาเอกสารของผู้อื่นไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 ไม่ได้ ปัญหาดังกล่าวจำเลยมิได้ยกขึ้นโต้เถียงในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลล่างทั้งสอง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ประกอบด้วย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15
จำเลยลักเอาบัตร เอ.ที.เอ็ม.ไปจากผู้เสียหายแล้วนำบัตรเอ.ที.เอ็ม. ของผู้เสียหายดังกล่าวไปลักเอาเงินของผู้เสียหายโดยผ่านเครื่องฝากถอนเงิน ทรัพย์ที่จำเลยลักเป็นทรัพย์คนละประเภทและเป็นความผิดสำเร็จในตัวต่างกรรมต่างวาระ การลักเอาบัตร เอ.ที.เอ็ม. ไป กับการลักเงินจึงเป็นความผิดหลายกรรม
การที่จำเลยลักเอาบัตร เอ.ที.เอ็ม. ของผู้เสียหายไปเป็นความผิดทั้งฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 และความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334
บัตร เอ.ที.เอ็ม. ของผู้เสียหาย 2 ใบ ที่จำเลยลักไป เป็นบัตรต่างธนาคารกัน และเงินฝากของผู้เสียหายที่ถูกลักไปก็เป็นเงินฝากในบัญชีต่างธนาคารกันด้วย เจตนาในการกระทำผิดของจำเลยจึงแยกจากกันได้ตามความมุ่งหมายในการใช้บัตรแต่ละใบ การกระทำของจำเลยที่ใช้บัตร เอ.ที.เอ็ม. 2 ใบ ของผู้เสียหายดังกล่าวลักเอาเงินฝากของผู้เสียหายต่างบัญชีกัน แม้จะทำต่อเนื่องกันก็เป็นความผิดสองกรรม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 507/2542 จำเลยเป็นตัวแทนของคณะนายทหารประเทศเธอร์แลนด์นำเช็ค 4 ฉบับ ไปชำระหนี้ให้แก่การสื่อสารแห่งประเทศไทย3 ฉบับ และบริษัทท. อีก 1 ฉบับ ซึ่งตราบใดที่เช็คทั้งสี่ฉบับดังมิได้ส่งมอบให้แก่การสื่อสารฯ และบริษัทท.เช็คทั้งสี่ฉบับจึงยังไม่โอนไปยังการสื่อสารฯ และบริษัทท. คณะนายทหารดังกล่าวยังเป็นเจ้าของเช็คทั้งสี่ฉบับและเป็นผู้ได้รับความเสียหาย การที่จำเลยนำเอาเช็คสามฉบับที่ผู้เสียหายสั่งจ่ายให้แก่ การสื่อสารแห่งประเทศไทยไปเพื่อประโยชน์ของจำเลยโดยที่ จำเลยไม่มีสิทธิ แม้เช็คทั้งสามฉบับดังกล่าวจะไม่มีการขีดฆ่า คำว่าผู้ถือออกก็ตาม ก็ไม่เป็นเหตุให้จำเลยพ้นจากความรับผิด ฐานเอาไปเสียซึ่งเช็คทั้งสามฉบับดังกล่าวได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 496/2542 จำเลยเป็นพนักงานของธนาคารผู้เสียหาย ตำแหน่งเจ้าหน้าที่อำนวยการบริการมีหน้าที่รับฝาก-ถอนเงินให้แก่ลูกค้าของผู้เสียหายตามวันเกิดเหตุโจทก์ร่วมได้นำเงินมอบให้จำเลยเพื่อฝากเข้าบัญชีกระแสรายวันของโจทก์ร่วมที่ธนาคารผู้เสียหาย รวม 9 ครั้งเป็นเงิน 487,810 บาท ในการฝากเงินของโจทก์ร่วม เมื่อโจทก์ร่วมมอบเงินฝากให้จำเลย จำเลยจะเป็นผู้เขียนกรอกข้อความลงในต้นฉบับชุดฝากเงินสด-เช็ค โดยใช้กระดาษคาร์บอนอัดสำเนาแล้วฉีกต้นฉบับไว้และมอบสำเนาให้โจทก์ร่วมเป็นหลักฐานต่อมาจำเลยได้แก้ไขจำนวนเงินที่เป็นตัวเลขและตัวอักษรในต้นฉบับชุดฝากเงินสด-เช็ครวม 5 ฉบับ ให้น้อยลงกว่าจำนวนเงินที่โจทก์ร่วมนำมาฝากจริงแล้วจำเลยนำเอกสารที่จำเลยแก้ไขดังกล่าวพร้อมจำนวนเงินตามเอกสารที่แก้ไขใหม่ให้หัวหน้าหน่วยการเงินตรวจสอบความถูกต้องก่อนส่งเงินเก็บรักษา การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการแก้ไขต้นฉบับชุดฝากเงินสด-เช็คที่แท้จริงเพื่อแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น และก่อให้เกิดความเสียหายแก่ธนาคารผู้เสียหายแล้ว จึงเป็นการปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอมทั้ง 5 ฉบับและการที่จำเลยเขียนต้นฉบับชุดฝากเงินสด-เช็คขึ้นใหม่รวม 3 ฉบับ ระบุจำนวนเงินที่เป็นตัวเลขและตัวอักษรให้น้อยลงกว่าจำนวนเงินที่โจทก์ร่วมนำมาฝากแล้วนำเอกสารที่จำเลยแก้ไขดังกล่าวพร้อมจำนวนเงินตามเอกสารที่ทำขึ้นใหม่ให้หัวหน้าหน่วยการเงินตรวจสอบความถูกต้องก่อนส่งเงินเก็บรักษาต่อไป เป็นการทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับเพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงและก่อให้เกิดความเสียหายแก่ธนาคารผู้เสียหายแล้ว จึงเป็นการปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอมทั้ง 3 ฉบับเช่นเดียวกัน ไม่ใช่เป็นเพียงการปลอมเอกสารธรรมดาเพราะต้นฉบับชุดฝากเงินสด-เช็คมีข้อความแสดงว่าได้รับเงินเพื่อฝากเข้าบัญชีกระแสรายวันของโจทก์ร่วม ย่อมเป็นหลักฐานแห่งการก่อตั้งสิทธิแก่โจทก์ร่วมที่จะเรียกถอนเงินฝากคืนได้เอกสารดังกล่าวจึงเป็นเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(9) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 และฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมตามมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 จำเลยทำลายต้นฉบับชุดฝากเงินสด-เช็ค 4 ฉบับ อันเป็นหลักฐานของธนาคารผู้เสียหายซึ่งจำเลยจะต้องนำไปลงบัญชีในเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อแสดงยอดเงินฝากของโจทก์ร่วม โดยจำเลยไม่มีสิทธิจะทำลายต้นฉบับดังกล่าว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานทำลายเอกสารของผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 จำเลยได้ยักยอกเงินฝากของโจทก์ร่วมรวม 9 ครั้ง เป็นจำนวนเงิน 140,000 บาท โดยจำเลยได้แก้ไขจำนวนเงินในต้นฉบับชุดฝากเงินสด-เช็ครวม 5 ฉบับ ให้จำนวนเงินน้อยลงกว่าความเป็นจริง และจำเลยได้เขียนต้นฉบับชุดฝากเงินสด-เช็คขึ้นมาใหม่รวม 3 ฉบับ ระบุจำนวนเงินฝากน้อยกว่าจำนวนเงินที่โจทก์ร่วมนำมาฝาก แล้วจำเลยนำเงินลงบัญชีกระแสรายวันของโจทก์ร่วมตามจำนวนเงินในต้นฉบับชุดฝากเงินสด-เช็คที่จำเลยแก้ไขและทำขึ้นใหม่ และการฝากเงินในวันที่เกิดเหตุมีแต่สำเนาชุดฝากเงินสด-เช็คระบุจำนวนเงินฝาก 20,000 บาท แต่จำเลยไม่นำเงินฝากเข้าบัญชีกระแสรายวันของโจทก์ร่วมการที่จำเลยได้เบียดบังเงินจำนวนดังกล่าวไป 9 ครั้งเป็นจำนวนเงิน 140,000 บาท โดยทุจริตจึงเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ การที่จำเลยเป็นพนักงานธนาคารมีหน้าที่รับฝาก-ถอนเงินให้แก่ลูกค้าของธนาคารผู้เสียหาย ซึ่งเป็นผู้มีอาชีพอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน จึงต้องรับโทษหนักขึ้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 354 ฎีกาจำเลยที่ว่า โจทก์ร่วมไม่ใช่ผู้เสียหาย ไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์นั้น ไม่ว่าโจทก์ร่วมจะเป็นผู้เสียหายตามที่จำเลยฎีกาหรือไม่เมื่อไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไปศาลฎีกาจึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4683/2541 พิมพ์คำพิพากษา จำเลยกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาตามฟ้องโจทก์ แต่ความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน โจทก์นำสืบแต่เพียงว่า จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจำเลยให้การรับสารภาพ โดยโจทก์ไม่ได้นำสืบว่าจำเลยเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนหรือไม่ และอาวุธปืนดังกล่าวมีเครื่องหมายของเจ้าพนักงานประทับหรือไม่ เมื่อจำเลยให้การปฏิเสธในชั้นพิจารณา พยานหลักฐานโจทก์จึงไม่มีน้ำหนักพอลงโทษจำเลยในฐานนี้
สำหรับความผิดฐานย้ายศพเพื่อปิดบังการตายหรือเหตุแห่งการตายข้อเท็จจริง เมื่อปรากฏจากการนำสืบของโจทก์ว่า ศพของผู้ตายถูกเคลื่อนย้ายไปเพียง20 เมตร และย้ายไปอยู่ในที่เปิดเผยสามารถถูกพบได้โดยง่าย จึงไม่มีลักษณะเป็นการย้ายเพื่อปิดบังการตายหรือเหตุแห่งการตายอันจะเป็นความผิดในฐานนี้ จำเลยจึงไม่มีความผิดในฐานนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2723/2541 โจทก์ร่วมทำหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้จำเลยนำไปจดทะเบียนจำนองเป็นประกันค่าเสียหายที่จำเลยไปทำงานเป็นพนักงานเก็บเงินค่ากระแสไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคแต่จำเลยนำไปจดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวเป็นของจำเลยซึ่งไม่ตรงกับเจตนาของโจทก์ร่วม โดยโจทก์ร่วมมิได้ยินยอมยกให้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเอาไปเสียซึ่งเอกสารสิทธิของโจทก์ร่วมในการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ร่วม เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 ตามบทบัญญัติลักษณะ 3 ความผิดเกี่ยวกับการยุติธรรมหมวด 1 ความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรมนั้นมิได้บัญญัติโดยมุ่งหมายเฉพาะการกระทำความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรมเท่านั้น แต่ยังบัญญัติโดยมุ่งหมายไปในทางพยานหลักฐานแห่งคดีอีกด้วยการที่จำเลยเอาไปเสียซึ่งเอกสารหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของโจทก์ร่วมในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ร่วม จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5309/2540 การที่โจทก์ร่วมฝากให้จำเลยเก็บรักษาหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของโจทก์ร่วมไว้แล้วจำเลยไม่ยอมคืนให้เมื่อโจทก์ร่วมทวงคืนในภายหลังเป็นกรณีที่ต้องว่ากล่าวกันทางแพ่งถือไม่ได้ว่าจำเลยเจตนาเอาเอกสารหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของโจทก์ร่วมไปในลักษณะที่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188ลงโทษจำเลยในข้อหานี้ไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4688/2540 จำเลยกระทำความผิดโดยเอาไปเสียซึ่งเอกสารเช็ครวม2 คราว แล้วจำเลยได้กระทำการปลอมเอกสารในวันเดียวกันนั้นคือ แก้ไขตัวเลขจำนวนเช็คในเอกสารบัญชีจ่ายเงินซื้อลดเช็ค-ต่อเช็ค และลบตัดทอนข้อความในเอกสารการ์ดลูกหนี้ทั้งนี้ก็โดยเจตนาปกปิดและทำให้ผู้เกี่ยวข้อหลงเชื่อว่าเช็คที่จำเลยเอาไปเสียมิได้มาขายลดเช็คกับบริษัท อ.จึงเป็นการกระทำต่อเนื่องกัน เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188และ 264 ต้องลงโทษตามมาตรา 188 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามมาตรา 90 แม้ปัญหาดังกล่าวจะไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2923/2540 พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ดึงใบสมัครงานทั้งสองฉบับไปจากมือของผู้เสียหายเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นในทันทีทันใดโดยจำเลยที่ 1 กระทำลงไปตามลำพัง จำเลยที่ 2มิได้สมคบร่วมรู้เห็นมาก่อน ดังนั้น แม้จำเลยที่ 2 จะเห็นการโต้ตอบระหว่างผู้เสียหายกับจำเลยที่ 1 และเห็นจำเลยที่ 1 แย่งเอกสารจากผู้เสียหายซึ่งเป็นเอกสารสำคัญ โดยมีพนักงานของจำเลยที่ 1 ประมาณ 20 คน ยืนล้อมผู้เสียหายอยู่และจำเลยที่ 2 ยอมรับเอกสารดังกล่าวมาเก็บรักษาไว้ก็ตาม ก็ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ร่วมมือกับจำเลยที่ 1 โดยยอมรับผลของการกระทำของจำเลยที่ 1 เพราะจำเลยที่ 2 มิได้มีการกระทำการใด ๆ ที่ส่อแสดงว่ามีการยอมรับการกระทำของจำเลยที่ 1 หรือร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำต่อผู้เสียหาย ทั้งจำเลยที่ 2 ก็มิได้มีหน้าที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลร้ายจากการกระทำของจำเลยที่ 1 ด้วย ฉะนั้น การที่จำเลยที่ 2 เพียงแต่รับเอกสารจากจำเลยที่ 1 ผู้เป็นนายจ้างมาเก็บรักษาไว้ ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1599/2540 สัญญากู้ 14 ฉบับ ผู้เสียหายในฐานะผู้ให้กู้และจำเลยในฐานะผู้กู้ได้ลงลายมือชื่อไว้ในสัญญา มีข้อความระบุว่าจำเลยได้กู้เงินผู้เสียหายไปจำนวน 1,100,000 บาท มีพยานรับรองถูกต้องจึงเป็นสัญญากู้ที่สมบูรณ์ เป็นเอกสารที่สามารถนำมาใช้เป็นหลักฐานฟ้องร้องบังคับคดี ให้ชำระเงินกู้จำนวนดังกล่าวได้การที่จำเลยนำเอกสารสัญญากู้ดังกล่าวไป โดยมิได้นำมาคืนให้แก่ผู้เสียหาย ไม่ว่าจะนำไปทำลาย หรือทำให้สูญหาย หรือเอาไปด้วยประการใดๆ เป็นการกระทำที่ทำให้ผู้เสียหายขาดหลักฐานในการฟ้องร้องบังคับคดี จึงเป็นการกระทำโดยประการที่น่าก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5055/2539 ผู้เสียหายและ ล.พี่สาวมีอาชีพให้เช่าเช็คเดินทางเพื่อให้ผู้เช่านำไปเป็นหลักฐานขอวีซ่าเข้าประเทศญี่ปุ่น ส่วนจำเลยและ บ.มีอาชีพติดต่อขอวีซ่าให้แก่บุคคลที่จะเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น ในการให้เช่าเช็คเดินทางเพื่อนำไปเป็นหลักฐานขอวีซ่าเข้าประเทศญี่ปุ่นนั้นผู้เสียหายและ ล.จะซื้อเช็คเดินทางจากธนาคารโดยไม่ลงลายมือชื่อที่ข้างบนและข้างล่างด้านหน้าของเช็คเดินทาง เมื่อมีผู้ขอเช่าผู้เสียหายจะให้ผู้เช่าลงลายมือชื่อที่ข้างบนด้านหน้าเช็คเดินทางแล้วมอบเช็คเดินทางดังกล่าวให้ผู้เช่านำไปเป็นหลักฐานขอวีซ่า เมื่อเจ้าหน้าที่สถานทูตออกวีซ่าให้แก่ผู้เช่าแล้ว ผู้เช่าจะลงลายมือชื่อที่ข้างล่างด้านหน้าเช็คเดินทางแล้วส่งคืนให้แก่ผู้เสียหาย ดังนี้พฤติการณ์ที่จำเลยกับ บ.เข้ามาพูดทำทีขอเช่าเช็คเดินทางจากผู้เสียหายและ ล.ก่อนที่จำเลยจะดึงเอาเช็คเดินทางจากมือผู้เสียหายไป การที่จำเลยพูดห้ามมิให้ผู้เสียหายและ ล.วิ่งตาม บ.ขึ้นไปที่อาคารชั้น 4 อันเป็นที่ทำการสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น และบอกว่าจะชำระค่าเช่าให้แก่ผู้เสียหายตลอดทั้งจะคืนเช็คเดินทางให้ผู้เสียหายเป็นเพียงอุบายที่จำเลยกับ บ.จะให้ผู้เสียหายส่งมอบการครอบครองเช็คเดินทางของผู้เสียหายเพื่อจำเลยและ บ.จะเอาเช็คเดินทางของผู้เสียหายไปโดยไม่คิดจะคืนให้ผู้เสียหาย จำเลยจึงมีความผิดฐานร่วมกับพวกลักทรัพย์และการที่จำเลยกับพวกเอาเอกสารเช็คเดินทางของผู้เสียหายไปแล้วไม่คืนให้แก่ผู้เสียหาย แม้ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยกับพวกได้นำไปเรียกเก็บเงินจากธนาคาร การกระทำของจำเลยก็เป็นเหตุให้ผู้เสียหายไม่สามารถนำเอกสารดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ได้ น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย จึงเป็นการเอาเอกสารผู้อื่นไปเสีย จำเลยจึงมีความผิดตาม ป.อ.มาตรา 188 ด้วย
การจับกุมกับการสอบสวนเป็นการดำเนินการคนละขั้นตอนกันในคดีอาญา เมื่อการสอบสวนได้ดำเนินการไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ถึงแม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าการจับกุมอาจมิชอบด้วยกฎหมาย ก็เป็นเรื่องที่จะว่ากล่าวกันอีกต่างหาก หาทำให้การสอบสวนซึ่งชอบด้วยกฎหมายแล้วนั้นกระทบกระเทือนถึงการฟ้องคดีอาญาไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7775/2538 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 188, 335,357 จำเลยให้การรับสารภาพฐานรับของโจร อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา357 วรรคหนึ่ง ซึ่งมีโทษเบากว่า ป.อ. มาตรา 188 ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังว่าจำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 357 วรรคหนึ่งเท่านั้น ศาลจะลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 188 ไม่ได้ เพราะจำเลยไม่ได้ให้การรับสารภาพตามข้อหาดังกล่าว ปัญหานี้แม้จำเลยจะไม่ได้ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้เพราะเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสองประกอบมาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2182/2538 จำเลยเอาเอกสารบัญชีรายชื่อหัวหน้าครอบครัวในเขตชุมชนซึ่งประชาชนนำมามอบให้ผู้เสียหายเป็นผู้เก็บรักษาไว้ไปแล้วไม่คืนให้ผู้เสียหายเป็นเหตุให้ผู้เสียหายไม่สามารถนำไปยื่นต่อผู้อำนวยการเขตเพื่อให้ความเห็นชอบให้จำเลยพ้นจากตำแหน่งประธานชุมชนได้เป็นการกระทำที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหายหรือประชาชนมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา188
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1608/2538 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฐานเป็นธุระจัดหาหรือชักพาไปเพื่อการอนาจารซึ่งหญิงโดยใช้อุบายหลอกลวงตาม ป.อ.มาตรา 283 แต่ทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นธุระจัดหาหรือชักพาไปเพื่อการอนาจารซึ่งหญิงโดยหญิงนั้นสมัครใจยินยอมเอง อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 282 ศาลก็มีอำนาจที่จะลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3ตาม ป.อ. มาตรา 282 ได้
เมื่อความผิดฐานเป็นธุระจัดหาหรือชักพาไปเพื่อการอนาจารซึ่งหญิงโดยหญิงนั้นสมัครใจยินยอม ตาม ป.อ. มาตรา 282 และฐานจัดหาผู้กระทำการค้าประเวณีเป็นปกติธุระ ตาม พ.ร.บ. ปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2503มาตรา 8 เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ย่อมต้องลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 282 อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90
การที่จำเลยที่ 2 ยึดถือหนังสือเดินทางและตั๋วโดยสารเครื่องบินของพวกผู้เสียหายไว้ เป็นไปโดยความยินยอมของพวกผู้เสียหายตามข้อตกลงแล้วการกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 188แม้ความผิดข้อหานี้ต้องห้ามมิให้ฎีกา แต่เมื่อการกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3ไม่เป็นความผิดแล้ว ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษายกฟ้องโจทก์ได้ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 185 ประกอบด้วยมาตรา 215 และมาตรา 225
จำเลยที่ 1 เพียงขับรถพาหญิงซึ่งสมัครใจค้าประเวณีไปส่งตามที่จำเลยที่ 2 มอบหมาย การที่จำเลยที่ 1 รับเงินค่าหญิงบริการจากเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมมาก็ต้องนำไปมอบให้แก่จำเลยที่ 2 เป็นการรับไว้แทนจำเลยที่ 2การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นเพียงผู้สนับสนุนจำเลยที่ 2 ในความผิดตาม ป.อ.มาตรา 282 และ พ.ร.บ. ปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2503 มาตรา 8 ประกอบกับ ป.อ. มาตรา 86
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2205/2537 ฟ. ทำพินัยกรรมมอบแก่พระครูน.เก็บรักษาไว้ ต่อมาจำเลยที่ 1ได้มาขอรับเอาพินัยกรรมดังกล่าวไป แล้วจำเลยที่ 1 ไม่ยอมนำออกมาเปิดเผย เพื่อมิให้โจทก์ได้รับมรดกตามพินัยกรรม เมื่อโจทก์ขอพินัยกรรมจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ก็ไม่ยอมให้ดู ดังนี้ จึงเป็นการเอาไปเสียซึ่งพินัยกรรมของ ฟ. ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 188 แต่โจทก์มิได้ฟ้องและได้ตัวจำเลยที่ 1 มายังศาลภายใน10 ปีนับแต่วันกระทำผิดฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95(3)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1918/2537 จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของโจทก์ร่วม เอาใบวางบิลกับบิลเงินสดและใบส่งของซึ่งเป็นเอกสารของโจทก์ร่วมไปเก็บเงินค่าสินค้าจากลูกค้าของโจทก์ร่วมโดยมีเจตนาจะเอาเงินค่าสินค้าเป็นของตนเป็นการเอาไปเสียซึ่งเอกสารของโจทก์ร่วมในประการหนึ่งที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ร่วม และการที่เอาเช็คที่ลูกค้าของโจทก์ร่วมสั่งจ่ายชำระหนี้ค่าสินค้าให้แก่โจทก์ร่วมไปเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงินตามเช็คแล้วเบิกเงินไปเป็นของตนเป็นการทำให้เช็คดังกล่าวซึ่งเป็นเอกสารของโจทก์ร่วมไร้ประโยชน์ที่จะใช้ได้อีก จำเลยที่ 1จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 898/2537 จำเลยเอาเอกสารเกี่ยวกับการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ ซึ่งเป็นของโจทก์ร่วมไปจากโจทก์ร่วม แล้วนำไปดำเนินการโอนทะเบียนรถยนต์ให้แก่ผู้อื่นแสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาเอาเอกสารของโจทก์ร่วมไปโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ร่วมจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 แม้จำเลยมิได้ฎีกาขอให้รอการลงโทษ แต่เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีประกอบกับจำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนศาลฎีกาเห็นควรให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดีโดยให้รอการลงโทษจำคุกจำเลย แต่ให้ลงโทษปรับจำเลยด้วยได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4135/2535 คดีสำหรับจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 2เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันเอาความเท็จมากล่าวอ้างกับโจทก์ว่า โจทก์เป็นหนี้ค่าโฆษณาสินค้าแก่บริษัท ม.โจทก์หลงเชื่อจึงได้ออกเช็คมอบให้จำเลยที่ 1 เพื่อนำไปชำระหนี้ให้บริษัท ม. แต่จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันนำเช็คดังกล่าวไปเรียกเก็บเงินเป็นของจำเลยที่ 1 พอเข้าใจได้ว่า จำเลยที่ 1 หลอกลวงโจทก์โจทก์หลงเชื่อจึงได้ออกเช็คชำระหนี้ให้แก่บริษัท ม. โดยมอบเช็คให้แก่จำเลยที่ 1 เพื่อนำไปมอบให้บริษัท ม. แต่จำเลยที่ 1 ได้นำเช็คไปเรียกเก็บเงินเป็นของจำเลยที่ 1 เสียเอง เป็นการบรรยายว่าจำเลยที่ 1 เอาไปเสียซึ่งเช็คของโจทก์ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ ครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 188 แล้ว ฟ้องของโจทก์จึงสมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2323/2534 การซื้อขายรถยนต์ระหว่างโจทก์ร่วมและจำเลยเป็นการซื้อขายเสร็จเด็ดขาด กรรมสิทธิ์ในรถและสมุดคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ย่อมตกเป็นของโจทก์ร่วม เมื่อโจทก์ร่วมชำระราคารถยนต์ครบถ้วนแล้วจำเลยย่อมไม่มีสิทธิยึดหน่วงสมุดคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ แต่มีหน้าที่ส่งมอบแก่โจทก์ร่วม การที่จำเลยนำสมุดคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ดังกล่าวไปจดทะเบียนใส่ชื่อบริษัท ซ. จำกัด เป็นเจ้าของรถถือได้ว่าเป็นการเอาไปเสียซึ่งเอกสารใดของผู้อื่นในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น เป็นการผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 188
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1033/2534 โจทก์มอบเช็คพิพาทที่จำเลยที่ 2 สั่งจ่ายชำระหนี้ค่าซื้อฟิล์มภาพยนตร์ซึ่งจำเลยที่ 1 ซื้อไปจากโจทก์คืนให้แก่จำเลยทั้งสองโดยหลงเชื่อคำขอของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองจะนำรถยนต์มามอบให้แก่โจทก์เป็นการแลกกับเช็คพิพาทในวันรุ่งขึ้นซึ่งไม่เป็นความจริง จำเลยทั้งสองมีเจตนาทุจริตมาตั้งแต่แรกในขณะที่จำเลยทั้งสองมาแจ้งโจทก์ว่าจะนำรถยนต์มามอบให้แก่โจทก์ไม่ใช่เรื่องผิดคำมั่นสัญญา เพราะการที่จำเลยทั้งสองแจ้งโจทก์ว่าจะนำรถยนต์มามอบให้โจทก์ไม่ใช่เหตุการณ์ตามความเป็นจริงในขณะนั้น แต่เป็นแผนการกำหนดขึ้นเพื่อให้โจทก์หลงเชื่อเป็นการหลอกลวงโจทก์ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ และโดยการหลอกลวงดังกล่าวได้ไปซึ่งเช็คอันเป็นทรัพย์สินจากโจทก์ จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดตาม ป.อ.มาตรา 341 และยังเป็นการเอาไปเสียซึ่งเอกสารของโจทก์ ทำให้โจทก์ขาดเอกสารที่จะฟ้องร้องบังคับคดีตามกฎหมาย อันน่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 188 อีกด้วย.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 975/2534 จำเลยรับเช็คของกลางซึ่งเป็นของผู้เสียหายมาโดยทราบว่าเป็นทรัพย์ที่ถูกลักมาอันเป็นความผิดฐานรับของโจรตาม ป.อ.มาตรา 357 เมื่อจำเลยนำเช็คไปเบิกเงินจากธนาคารจึงเป็นการเอาไปเสียซึ่งเช็คของผู้เสียหายในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหายอันเป็นความผิดตามมาตรา 188 อีกบทหนึ่งด้วย.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2218/2533 โจทก์ฟ้องว่า จำเลยพยายามฉ้อโกงนางสาว ส. ผู้เสียหายและทำลายเอกสารของนาย ธ. ผู้เสียหาย โดยจำเลยหลอกลวงว่าจำเลยเป็นผู้สื่อข่าวสามารถฝากนางสาว สง เข้าทำงานที่กรมตำรวจได้ และนางสาว ส.ต้องเสียเงินให้จำเลย30,000บาทจนนางสาวส.หลงเชื่อ แต่นาย ธ. ตรวจสอบพบว่าจำเลยไม่ใช่ผู้สื่อข่าวจึงนำเงิน 5,500 บาท มอบให้จำเลยเป็นค่ามัดจำค่าใช้จ่ายเพื่อเป็นหลักฐานในการจับกุมจำเลย จำเลยรับเงินไว้แล้วสั่งจ่ายเช็คให้นาย ธ. ไว้เป็นประกัน ต่อมาจำเลยได้แย่งเช็คดังกล่าวคืนมาจากนาย ธ. แล้วฉีกทำลายในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่นาย ธ. เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพในข้อหาฐานความผิดทำลายเอกสารของผู้อื่น ข้อเท็จจริงจึงยุติตามคำฟ้องว่าเช็คดังกล่าวเป็นของผู้อื่น และการที่จำเลยทำลายนั้นน่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นอันเป็นการกระทำที่ครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 188 แล้ว เช็คของกลางที่จำเลยฉีกขาดนั้น มิใช่ทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 จึงไม่อาจริบได้และต้องคืนให้เจ้าของ สำหรับของกลางในข้อหาฉ้อโกงที่ผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์ ศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งคืน จึงคืนให้เจ้าของ.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1367/2531 การที่จำเลยเอาหนังสือสัญญาจะซื้อขายที่ดินที่จำเลยทำไว้กับโจทก์ร่วมไปจากโจทก์ร่วมและนำไปใช้อายัดต่อเจ้าพนักงานที่ดิน ห้ามทำนิติกรรมใด ๆ เกี่ยวกับที่ดินแปลงนั้นแม้หนังสือสัญญาจะซื้อขายฉบับดังกล่าวจะถูกยกเลิกไปแล้วโดยคู่สัญญาได้ทำสัญญาขึ้นใหม่แล้วก็ตามการกระทำของจำเลยก็ถือได้ว่าเป็นการเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่นและทำให้โจทก์ร่วมได้รับความเสียหายแล้ว จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 973/2531 โจทก์ยินยอมให้จำเลยที่ 1 กู้เงินมาตั้งแต่แรก การที่จำเลยที่ 1 ให้คำรับรองว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 จะเปลี่ยน น.ส.3 ให้โจทก์และจะค้ำประกันการกู้ยืมเงินของจำเลยที่ 1 เป็นเหตุการณ์ในภายหน้าที่จำเลยที่ 1 รับจะดำเนินการดังกล่าวให้ หากโจทก์ไม่พอใจในหลักประกัน แม้ต่อมาจำเลยที่ 2 ที่ 3 ไม่เปลี่ยนน.ส.3 และไม่ยอมค้ำประกันจำเลยที่ 1 ก็เป็นเรื่องที่จำเลยที่1 ไม่ปฏิบัติตามคำรับรองที่ให้ไว้แก่โจทก์เท่านั้น จำเลยที่1 ไม่มีความผิดฐานฉ้อโกง
ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 188 จะต้องเป็นการทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหาย หรือไร้ประโยชน์ซึ่งพินัยกรรมหรือเอกสารใดของผู้อื่น โจทก์บรรยายฟ้องว่า น.ส.3ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 เอาไปจากโจทก์ เป็นของจำเลยที่ 2 และที่3 เองจึงมิใช่เป็นการเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่น การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่เป็นความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าว.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3833/2529 การที่จำเลยขีดฆ่าและฉีกเอกสารของโจทก์ร่วม แม้เอกสารดังกล่าวยังสามารถอ่านเข้าใจได้ ก็ถือได้ว่าจำเลยทำให้เสียหาย ทำลายซึ่งเอกสารในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ร่วม อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 แล้ว หาจำต้องทำให้เอกสารนั้นสูญสิ้นไปหมดทั้งฉบับไม่
เมื่อจำเลยขีดฆ่าและฉีกเอกสารขาดจากกัน การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดสำเร็จครบถ้วนองค์ความผิดแล้ว หาใช่อยู่ในขั้นเพียงพยายามกระทำความผิดไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 270/2528 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 นั้น ต้องฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลแล้ว อายุความจึงจะหยุดนับ บทบัญญัติตามมาตรานี้ไม่ได้ใช้บังคับในกรณีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์เท่านั้น ในกรณีที่ราษฎรเป็นโจกท์ก็ต้องถือหลักอย่างเดียวกัน
โจทก์บรรยายฟ้องว่า เหตุเกิดระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2507 ถึงวันที่ 30 มีนาคม 2514 ความผิดของจำเลยที่โจทก์ฟ้องมีอายุความสิบปี โจทก์จะต้องฟ้องและได้ตัวจำเลยผู้กระทำผิดมายังศาลภายในวันที่ 30 มีนาคม 2524 คดีจึงจะไม่ขาดอายุความ โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยวันที่ 30 มีนาคม 2524 แต่ศาลชั้นต้นต้องทำการไต่สวนมูลฟ้องของโจทก์ต่อไป ระหว่างนั้นจะถือว่าได้ตัวจำเลยมายังศาลและจำเลยอยู่ในอำนาจศาลแล้วไม่ได้ อายุความยังไม่หยุดนับศาลชั้นต้นสั่งคดีมีมูล หมายเรียกจำเลยแก้คดีและได้ตัวจำเลยมาพิจารณาเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2524 เกินสิบปีนับแต่วันที่กล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดคดีโจทก์จึงขาดอายุความแล้ว (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 1735/2514 ประชุมใหญ่)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 200/2528 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 ศาลอุทธรณ์ย่อมลงโทษจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192 วรรคสาม
ผู้ใดร่วมกับผู้อื่นเอาเอกสาร (เช็ค) ของผู้อื่นไปโดยทุจริต ย่อมมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 และเป็นความผิดตามมาตรา 335 อีกบทหนึ่งด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 30/2528 ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าไม่ปรากฏจำเลยที่ 2 ได้ร่วมในการกระทำผิดคดีสำหรับจำเลยที่ 2 ไม่มีมูล พิพากษายกฟ้องศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ดังนี้ จึงเป็นคดีซึ่งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์โดยอาศัยข้อเท็จจริง โจทก์ฎีกาว่าจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกระทำผิดเป็นการฎีกาโต้เถียงในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 220 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย การที่จำเลยที่ 1 เอาเช็คขีดคร่อมเฉพาะของโจทก์ไปขึ้นเงินเป็นของจำเลยที่ 1 ย่อมเป็นการทำให้เช็คนั้นไร้ประโยชน์ที่จะใช้ได้อีกตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 ส่วนที่จำเลยที่ 1เอาแบบพิมพ์เช็คของโจทก์มากรอกรายการสั่งจ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 1 เองแบบพิมพ์เช็คที่ยังไม่ได้กรอกรายการนี้ยังมิได้ทำให้ปรากฏความหมายหรือเป็นหลักฐานแห่งความหมายอย่างใดเลย จึงไม่เป็นเอกสารตามมาตรา 1(7) แห่งประมวลกฎหมายอาญา แม้จำเลยที่ 1 จะได้เอาแบบพิมพ์เช็คของโจทก์ไปใช้ดังที่โจทก์ฟ้อง ก็หาเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3658/2526 การที่จำเลยเขียนกรอกข้อความลงในเช็คผู้ถือซึ่งมิได้ลงวันที่ไว้เป็นวันที่ 5 มีนาคม 2515 ซึ่งย้อนหลังไปจากวันที่ผู้เสียหายนำเช็คไปขอแลกเงินจากจำเลยเป็นเวลาถึง 8 ปีเศษ ซึ่งธนาคารชอบที่จะปฏิเสธการจ่ายเงิน เพราะถือเป็นความผิดของผู้ทรงที่ยื่นเช็คเพื่อให้ใช้เงินเมื่อพ้นหกเดือนนับแต่วันออกเช็ค และผู้ทรงเช็คก็หมดสิทธิฟ้องไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยผู้สั่งจ่าย หากจำเลยสู้ว่าฟ้องพ้นอายุความหนึ่งปีนับแต่วันเช็คถึงกำหนดตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 991(2) และ1002การกระทำของจำเลยย่อมแสดงว่ามีเจตนาที่จะให้เสียหายและไร้ประโยชน์ซึ่งเอกสารเช็คในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย จำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 70/2525 สัญญากู้ยืมเงินคู่ฉบับเป็นหลักฐานการกู้ยืมเงินระหว่างผู้เสียหายกับจำเลย จำเลยเอาไปดูแล้วไม่ยอมคืนให้ผู้เสียหาย ทั้งกลับปฏิเสธอ้างว่าผู้เสียหายคืนให้จำเลยเพราะจำเลยชำระหนี้แล้ว ดังนี้ จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1209/2522 โจทก์ร่วมเป็นภริยาจำเลยได้ยื่นฟ้องจำเลยเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูและขอให้เปิดประตูบ้านที่โจทก์ร่วมอาศัยอยู่ การที่โจทก์ร่วมได้ให้ช่างภาพถ่ายภาพห้อง เครื่องใช้ตู้เสื้อผ้า และของอื่น ๆ ภายในบ้านนั้น เห็นได้ว่าภาพดังกล่าวเป็นภาพจำลองของห้อง เครื่องใช้ ฯลฯ เท่านั้นไม่ได้แสดงความหมายให้ปรากฏแต่อย่างใด ห้อง เครื่องใช้ฯลฯ มีสภาพเป็นอยู่อย่างไร เมื่อถ่ายเป็นภาพออกมาก็ปรากฏอยู่ในสภาพอย่างนั้น ไม่เป็นหลักฐานแห่งความหมายอย่างใด ๆ เลย ภาพถ่ายและฟิล์มของภาพถ่ายดังกล่าวจึงไม่เป็นเอกสารตามมาตรา 1(7) แห่งประมวลกฎหมายอาญาฉะนั้น การที่ร้านถ่ายภาพได้นำภาพถ่ายไปมอบให้โจทก์ร่วมที่บ้านซึ่งถ่ายภาพ จำเลยเป็นผู้รับไว้ และให้คนไปเอาฟิล์มภาพถ่ายจากร้านแล้วเอาไปเสียไม่ยอมคืนให้โจทก์ร่วมดังนี้ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2254/2521 โฉนดและหนังสือมอบอำนาจซึ่งผู้เสียหายลงแต่ลายมือชื่อให้ไว้และอยู่ในความครอบครองของสามีจำเลยที่ 1 เมื่อสามีตายได้ตกอยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 1 ต่อมาได้มีการกรอกข้อความปลอม กับปลอมลายมือชื่อนายอำเภอผู้รับรอง และปลอมรอยดวงตราอำเภอลงในหนังสือมอบอำนาจ แล้วจำเลยที่ 1ที่ 2 ร่วมกันนำไปแสดงเป็นหลักฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานที่ดินทำการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 เจ้าพนักงานที่ดินหลงเชื่อหนังสือมอบอำนาจ ได้ทำการโอนและแก้ทะเบียนโฉนดฉบับหลวงด้วยแล้วการกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268,252,267 แต่เป็นการกระทำเพื่อประสงค์ให้มีการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน และเป็นการกระทำต่อเนื่องเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษตามมาตรา 252 ซึ่งเป็นบทหนักแต่การที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันเอาโฉนดพิพาทซึ่งเป็นเอกสารสิทธิของผู้เสียหายไปในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย และเป็นการกระทำต่างกรรมกับที่จำเลยกระทำมาดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงต้องมีความผิดตามมาตรา 188 อีกกระทงหนึ่ง
จำเลยที่ 1 ยึดถือโฉนดพิพาทไว้ก็เพื่อประสงค์กรรมสิทธิ์ในที่ดิน ไม่มีเจตนายักยอกโฉนดนั้น จำเลยที่ 1จึงไม่มีความผิดฐานยักยอกตามมาตรา 352
========================================================= |
รับ ทวงหนี้ ตามหนี้ เร่งรัดหนี้สิน โดยทีมงานเร่งรัดหนี้สินมืออาชีพ |
บริษัท สกายอินเตอร์เนชั่นแนลลีกัลจำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการด้าน นักสืบเอกชนและกฎหมายแบบครบวงจร มีการให้บริการด้าน การ เร่งรัดหนี้สิน การ รับทวงหนี้ การติด ตามหนี้ สินค้างชำระ การเจรจา ประนอมหนี้ การเจรจาต่อรองการ ชำระหนี้ ทำหนังสือ รับสภาพหนี้ การ ปรับโครงสร้างหนี้ เป็นต้น โดยรับติดตามหนี้สินทุกประเภท ทั้งหนี้สินที่เกี่ยวเนื่องกับคดีแพ่ง เช่น การติดตามหนี้เงินกู้ การติดตามหนี้การค้างชำระค่าสินค้า การติดตามคนค้ำประกันเงินกู้ ทั้งประเภทที่มีสัญญาหรือเอกสารหลักฐานอื่นที่สามารถฟ้องร้องกันได้ตาม กฎหมาย หนี้นอกระบบ และประเภทที่ไม่มีหลักฐานในการฟ้องร้องกันได้ตามกฎหมาย และมูลหนี้ที่ไม่สามรถฟ้องร้องบังคับกันได้ตามกฎหมาย เช่น หนี้ที่เกิดจากการพนัน ( รวมถึงกรณีที่เป็นหนี้ที่ขาดอายุ ความ เช่น เช็คขาดอายุความ ) หนี้สินที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา เช่น คดีจราจร (รถชนกันได้รับความเสียหาย) คดียักยอก ฉ้อโกง ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ และความผิดอื่นๆ ตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งผู้เสียหายมีสิทธิฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งจากผู้ต้องหาได้ รวมถึงการติดตามจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับด้วย โดยทีมงานนักสืบและพนักงานเร่งรัดหนี้สินที่มีประสบการณ์และความชำนาญในการ เร่งรัดติดตามหนี้สิน (อ่านรายละเอียด)
========================================================= |
กรณีที่ท่านมีความสงสัยหรือต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถติดต่อมาได้ที่ บริษัท สกายอินเตอร์เนชั่นแนลลีกัล จำกัด เลขที่ 725 อาคารเอส เมโทร ชั้น 20 ห้อง 174 ถนนสุขุมวิท แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร 10110 โทร 081-9151522, 090-0700080 email: skyinterlegal@gmail.com , ดูแผนที่ (คลิกที่นี่)
|