หน้าแรก เกี่ยวกับเรา ติดต่อเรา

เมนู

 

คำพิพากษาศาลฎีกา คดีล้มละลาย


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5969/2559
               การฟ้องคดีล้มละลายมิใช่เป็นการฟ้องเพื่อบังคับเอาแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ไปชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ดังเช่นคดีแพ่งทั่วไป แต่เป็นการฟ้องเพื่อดำเนินการเข้าจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ตามกระบวนการที่กฎหมายกำหนดเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย ทั้งนี้เพื่อที่จะนำเงินที่ได้จากการจัดการทรัพย์สินนั้นมาแบ่งชำระหนี้ให้แก่บรรดาเจ้าหนี้ ดังนั้น กระบวนพิจารณาคดีล้มละลายจึงเป็นกระบวนการที่จะต้องดำเนินการรวบรวมและจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ แล้วนำมาจัดสรรแบ่งชำระหนี้ให้แก่บรรดาเจ้าหนี้ของลูกหนี้ จำเลยที่ 1 มีฐานะเป็นหน่วยงานราชการของรัฐ ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ถือเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน ย่อมไม่อาจยึดเพื่อการบังคับคดีไม่ว่าด้วยเหตุใด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1307 จึงเป็นทรัพย์สินที่ตามกฎหมายไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี ทั้งจำเลยที่ 1 ยังมีอำนาจหน้าที่ตามที่ พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2496 กำหนดไว้ และการจะได้รับชำระหนี้ของส่วนราชการนั้น โจทก์ย่อมสามารถกระทำได้โดยวิธีการอื่น เช่น การเบิกจ่ายเงินจากงบประมาณแผ่นดิน เป็นต้น นอกจากการฟ้องขอให้หน่วยงานราชการของรัฐตกเป็นบุคคลล้มละลายซึ่งไม่อาจกระทำได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ล้มละลาย
   

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5263/2559
               ในวันที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 สถานะของจำเลยที่ 1 ตามหนังสือรับรองคือ ได้จดทะเบียนเลิกห้าง ซึ่งนายทะเบียนได้รับจดทะเบียนไว้แล้วเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2545 และขณะนี้ยังไม่ได้จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี ดังนั้น ในวันที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้จำเลยที่ 1 จึงมีสภาพนิติบุคคล โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และศาลล้มละลายกลางก็มีอำนาจที่จะพิจารณาคดีสำหรับจำเลยที่ 1 ได้ แม้ต่อมานายทะเบียนได้ขีดชื่อจำเลยที่ 1 ออกจากทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนร้าง ตามความใน ป.พ.พ. มาตรา 1273/3 เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2555 ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลล้มละลายกลางก็ตาม แต่เมื่อฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ชอบด้วยกฎหมาย การที่นายทะเบียนได้ขีดชื่อจำเลยที่ 1 ออกจากทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนร้าง ก็ไม่มีผลกระทบแก่การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีล้มละลายที่มุ่งประสงค์ที่จะให้มีการจัดการทรัพย์สินของจำเลยที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวตามกฎหมายล้มละลายเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายได้แม้จำเลยจะสิ้นสภาพนิติบุคคลตาม ป.พ.พ. ก็ตาม การดำเนินกระบวนพิจารณาและมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาดของศาลล้มละลายกลางจึงชอบแล้ว
   

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3158/2559
               การฟ้องคดีล้มละลายมิใช่การฟ้องเพื่อบังคับเอาแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ไปชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ดังเช่นคดีแพ่งทั่วไป แต่เป็นการฟ้องเพื่อจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ตามกระบวนการที่กฎหมายล้มละลายกำหนดเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย อีกทั้งตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 บัญญัติว่า "ในการพิจารณาคดีล้มละลายตามคำฟ้องของเจ้าหนี้นั้น ศาลต้องพิจารณาเอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 หรือมาตรา 10 ถ้าศาลพิจารณาได้ความจริงให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด แต่ถ้าไม่ได้ความจริงหรือลูกหนี้นำสืบได้ว่าอาจชำระหนี้ได้ทั้งหมดหรือมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลายให้ศาลยกฟ้อง" ดังนั้น การที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 4 ไว้ในคดีหมายเลขดำที่ 223/2555 ต่อศาลล้มละลายกลางแล้ว โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 4 ในคดีนี้อีก แม้โจทก์จะอาศัยมูลหนี้ที่รับโอนมาจากสถาบันการเงินคนละสถาบันและคนละมูลหนี้ในการฟ้องแต่ละคดีก็ตาม แต่ศาลก็ต้องพิจารณาเอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 เช่นเดียวกัน สภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับก็เป็นอย่างเดียวกัน ถือได้ว่าเป็นการยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันต่อศาลเดียวกันในขณะที่คดีหมายเลขดำที่ 223/2555 อยู่ในระหว่างพิจารณา ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14
 

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1815/2559
               โจทก์ฟ้องจำเลยให้ล้มละลายโดยอาศัยมูลหนี้ตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดอุบลราชธานี คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1526/2544 ซึ่งเป็นสิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดยคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุดอันมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/32 แต่เนื่องจาก ป.วิ.พ. มาตรา 147 วรรคสอง บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งใดซึ่งอาจอุทธรณ์ ฎีกา หรือมีคำขอให้พิจารณาใหม่ได้นั้น ถ้ามิได้อุทธรณ์ ฎีกา หรือร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ภายในเวลาที่กำหนดไว้ ให้ถือว่าเป็นที่สุดตั้งแต่ระยะเวลาเช่นว่านั้นได้สิ้นสุดลง เมื่อคดีแพ่งดังกล่าวศาลมีคำพิพากษาชี้ขาดให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีเนื่องจากจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การตาม ป.วิ.พ. มาตรา 198 ทวิ กรณีเช่นนี้จำเลยซึ่งศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดให้แพ้คดีโดยขาดนัดยื่นคำให้การ และมิได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น ย่อมมีสิทธิขอให้พิจารณาใหม่โดยยื่นคำขอต่อศาลภายใน 15 วัน นับจากวันที่ได้ส่งคำบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งให้แก่จำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การ แต่ถ้าศาลได้กำหนดการอย่างใด ๆ เพื่อส่งคำบังคับเช่นว่านี้โดยวิธีส่งหมายธรรมดาหรือโดยวิธีอื่นแทน จะต้องได้มีการปฏิบัติตามข้อกำหนดนั้นแล้วดังที่บัญญัติใน ป.วิ.พ. มาตรา 199 ตรี และมาตรา 199 จัตวา วรรคหนึ่ง แต่คดีดังกล่าวหลังจากศาลพิพากษาก็มิได้มีการออกคำบังคับมาก่อน ศาลเพิ่งออกคำบังคับเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2546 และส่งคำบังคับแก่จำเลยโดยการปิดประกาศหน้าศาลในวันเดียวกัน การส่งคำบังคับโดยการปิดประกาศดังกล่าวมีผลเมื่อกำหนดเวลา 15 วัน ได้ล่วงพ้นไปแล้วตาม ป.วิ.พ. มาตรา 79 วรรคสอง จึงต้องถือว่าการส่งคำบังคับโดยการปิดประกาศดังกล่าวมีผลในวันที่ 8 มีนาคม 2546 จำเลยมีสิทธิยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ได้ภายในวันที่ 23 มีนาคม 2546 คดีในส่วนของจำเลยจึงเป็นที่สุดตั้งแต่วันถัดจากวันที่ 23 มีนาคม 2546 การที่โจทก์ฟ้องจำเลยขอให้ล้มละลายคดีนี้ในวันที่ 27 กรกฎาคม 2555 จึงยังไม่พ้นกำหนดอายุความ 10 ปี นับแต่วันที่คำพิพากษาคดีแพ่งถึงที่สุด คดีจึงยังไม่ขาดอายุความ โจทก์ย่อมฟ้องจำเลยให้ล้มละลายได้
   

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15638/2558
               ผู้ร้องนำสืบเพียงการรับโอนสิทธิเรียกร้องของผู้ร้องและการเป็นหนี้ค้างชำระของลูกหนี้ที่ 1 ถึงที่ 5 และ ส. ลูกหนี้ที่ตายหลังจากผู้ร้องรับโอนสิทธิเรียกร้องรายนี้มาเท่านั้น มิได้นำสืบถึงมูลหนี้เดิมเพื่อให้รับฟังได้ว่าฝ่ายลูกหนี้เป็นหนี้เจ้าหนี้เดิมในหนี้ประเภทใด และผิดนัดผิดสัญญาต่อเจ้าหนี้เดิมเมื่อใดหรือชำระหนี้ครั้งสุดท้ายก่อนผู้ร้องรับโอนสิทธิเรียกร้องเมื่อใด ซึ่งแม้หากนับอายุความตั้งแต่ขณะนั้นตามแต่กรณีจนถึงวันที่ผู้ร้องยื่นคำร้องคดีนี้ยังไม่พ้นกำหนดอายุความ แต่ฝ่ายลูกหนี้ยื่นคำคัดค้านโต้แย้งว่า มูลหนี้เดิมเป็นหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี หนังสือรับรองการขายตั๋วสัญญาใช้เงิน สัญญาค้ำประกันและจำนอง ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ อายุความจึงมีกำหนด 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ฝ่ายลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้แก่ธนาคารเจ้าหนี้เดิมตั้งแต่ปี 2537 และโต้แย้งด้วยว่า การที่ฝ่ายลูกหนี้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ซึ่งก็คือทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้และบันทึกข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาปรับโครงสร้างหนี้เมื่อปี 2548 และปี 2549 เป็นการรับสภาพความรับผิดหลังจากหนี้ขาดอายุความแล้ว อายุความมีกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่ได้รับสภาพความรับผิดตาม มาตรา 193/35 หนี้ตามคำร้องของผู้ร้องขาดอายุความแล้ว ดังนี้ หากข้อเท็จจริงเป็นดังที่ฝ่ายลูกหนี้คัดค้านดังกล่าว คดีของผู้ร้องย่อมขาดอายุความตามที่ฝ่ายลูกหนี้คัดค้าน เมื่อผู้ร้องมิได้นำสืบว่า เจ้าหนี้เดิมและผู้ร้องอาจบังคับสิทธิเรียกร้องจากฝ่ายลูกหนี้ตั้งแต่เมื่อใดหรือมีเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงเพื่อแสดงให้เห็นว่าคดีของผู้ร้องไม่ขาดอายุความจึงต้องฟังว่าสิทธิเรียกร้องของผู้ร้องขาดอายุความ ผู้ร้องไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 เด็ดขาด กับพิพากษาให้จัดการทรัพย์มรดกของ ส. ลูกหนี้ที่ตายตาม พ.ร.ก. บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 58 วรรคสี่ ประกอบ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14 และมาตรา 82
   

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15341/2558
               แม้หนี้ตามคำพิพากษาของศาลแพ่งที่จำเลยเป็นหนี้โจทก์ จำเลยรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันหนี้ของบริษัท ท. และบริษัท ท. ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นได้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ และชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามแผนแล้วก็ตาม แต่ในส่วนความรับผิดของผู้ค้ำประกัน พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/60 วรรคสอง บัญญัติว่า "คำสั่งของศาลซึ่งเห็นชอบด้วยแผนไม่มีผลเปลี่ยนแปลงความรับผิดของบุคคลซึ่งเป็นหุ้นส่วนกับลูกหนี้ หรือผู้รับผิดร่วมกับลูกหนี้ หรือผู้ค้ำประกันหรืออยู่ในลักษณะอย่างผู้ค้ำประกันของลูกหนี้ในหนี้ที่มีอยู่ก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน และไม่มีผลให้บุคคลเช่นว่านั้นต้องรับผิดในหนี้ที่ก่อขึ้นตามแผนตั้งแต่วันดังกล่าว..." เช่นนี้ หนี้ส่วนที่ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดย่อมระงับไปเฉพาะส่วนที่เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการตามแผน แต่ในหนี้ส่วนที่ขาดผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอยู่ตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง เมื่อได้ความว่าตามแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ชั้นต้นกำหนดให้โจทก์ได้รับชำระหนี้จากส่วนที่เป็นต้นเงิน 12,299,632.50 บาท หาใช่เต็มจำนวน 44,820,878.50 บาท ตามที่โจทก์ขอรับชำระหนี้ไม่ ดังนั้น แม้โจทก์จะได้รับชำระหนี้ครบถ้วนตามแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ชั้นต้น โจทก์ก็ยังมีสิทธิเรียกร้องส่วนที่ขาดจากจำเลยซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันได้ เมื่อส่วนที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์มีจำนวนไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์ในมูลหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท 
จำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาของศาลแพ่ง แม้โจทก์จะได้รับชำระหนี้จากบริษัท ท. ลูกหนี้ชั้นต้นตามแผนฟื้นฟูกิจการแล้ว แต่ยังไม่ครบถ้วน เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยชำระหนี้ให้โจทก์ กรณีจึงไม่มีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลาย


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14281/2558
               คู่สมรสของจำเลยทั้งสี่ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินของบริษัท น. ต่อบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ว. เจ้าหนี้เดิม โดยจำเลยทั้งสี่ลงลายมือชื่อเป็นพยานและเป็นผู้ให้ความยินยอมในฐานะเป็นภริยาของคู่สมรสที่ทำสัญญาค้ำประกัน จำเลยทั้งสี่จึงเป็นลูกหนี้ร่วมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1490 (4 ) ซึ่งต้องรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1489 แต่จำเลยทั้งสี่ก็มิใช่ผู้ค้ำประกันหนี้ต่อโจทก์โดยตรง ความรับผิดของจำเลยทั้งสี่ต่อโจทก์เป็นเพียงลูกหนี้ร่วมตามบทบัญญัติของกฎหมายครอบครัวซึ่งมิใช่ความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันในฐานะผู้ค้ำประกัน กรณีจึงไม่อาจนำบทบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 692 มาใช้บังคับกับจำเลยทั้งสี่ได้ ส่วนการที่โจทก์นำคดีไปฟ้องคู่สมรสของจำเลยทั้งสี่ แม้จะมีผลทำให้อายุความในหนี้ที่คู่สมรสของจำเลยทั้งสี่ที่ต้องรับผิดต่อโจทก์สะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (2) ก็ตาม แต่อายุความที่สะดุดหยุดลงดังกล่าวย่อมเป็นโทษเฉพาะคู่สมรสของจำเลยทั้งสี่ในฐานะผู้ค้ำประกัน ไม่มีผลเป็นโทษแก่จำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมตาม ป.พ.พ. มาตรา 295
   

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13283/2558
               สิทธิเรียกร้องในหนี้ตามสัญญาวงเงินสินเชื่อ กฎหมายมิได้บัญญัติอายุความไว้เฉพาะ จึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ส่วนสิทธิเรียกร้องในหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงิน ซึ่งตามข้อตกลงในสัญญาข้อ 2.1 กำหนดให้จำเลยที่ 1 ผู้กู้ชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยเป็นรายเดือนไม่น้อยกว่าเดือนละ 433,840 บาท กรณีจึงเป็นหนี้เงินที่ต้องชำระเพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวด ๆ มีกำหนดอายุความ 5 ปี ตามมาตรา 193/33 (2) เมื่อเจ้าหนี้เดิมได้อนุมัติวงเงินสินเชื่อทั้งสองวงเงินให้แก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 นำตั๋วสัญญาใช้เงินมาขายลดแก่เจ้าหนี้เดิมแล้ว จำเลยที่ 1 ได้ชำระดอกเบี้ยในวงเงินตามตั๋วเงินบางส่วนเพียงวันที่ 31 ตุลาคม 2540 และชำระดอกเบี้ยในวงเงินกู้ยืมเพียงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2540 ยังคงมีต้นเงินและดอกเบี้ยค้างชำระเป็นต้นมา เจ้าหนี้เดิมทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้หลายครั้งแล้ว แต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉย ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัด แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ตั้งแต่วันดังกล่าวหรืออย่างช้าสำหรับหนี้วงเงินสินเชื่อในวันที่ครบกำหนดชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินคือ วันที่ 20 พฤศจิกายน 2540 ส่วนวันที่ 18 พฤษภาคม 2548 ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นคำนวณดอกเบี้ยตามรายงานภาระหนี้ก็เป็นเพียงวันที่โจทก์คิดดอกเบี้ยแก่จำเลยที่ 1 ต่อมาภายหลังจากมีการบังคับรับโอนทรัพย์หลักประกันแล้วเท่านั้น หาใช่เป็นวันที่ผิดนัดไม่ ลำพังที่โจทก์บังคับรับโอนทรัพย์หลักประกันฝ่ายเดียวเพื่อนำเงินมาหักชำระหนี้ตาม พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 76 ไม่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงแต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อนับแต่วันที่ลูกหนี้ที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ดังกล่าวซึ่งเป็นวันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้จนถึงวันที่โจทก์ฟ้องวันที่ 31 มีนาคม 2553 สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในหนี้วงเงินสินเชื่อ และหนี้เงินกู้พ้นระยะเวลา 10 ปี และ 5 ปี ตามลำดับแล้ว คดีของโจทก์จึงขาดอายุความ 
แม้จำเลยทั้งสองจะไม่ยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา แต่การพิจารณาคดีล้มละลายตามกฎหมายล้มละลาย ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน มีผลในทางตัดสิทธิและเสรีภาพของผู้ที่ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์และพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย ศาลจึงต้องพิจารณาเอาความจริงตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 ว่าคดีมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลายหรือไม่ เมื่อหนี้ของโจทก์ขาดอายุความ จึงเป็นหนี้ที่ไม่อาจขอรับชำระหนี้ได้ตามมาตรา 94 (1) ถือได้ว่ามีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยทั้งสองล้มละลายตามมาตรา 14 ตอนท้าย ศาลย่อมพิพากษายกฟ้องโจทก์เสียได้ ปัญหานี้แม้คู่ความมิได้ยกขึ้นในชั้นอุทธรณ์ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เนื่องจากเป็นปัญหาที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 28


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12506/2558
               ในคดีฟ้องเรียกหนี้สินซึ่งห้างหุ้นส่วนหรือผู้ชำระบัญชีเป็นลูกหนี้อยู่ในฐานเช่นนั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนด 2 ปี นับแต่วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1272 เมื่อปรากฏจากหนังสือรับรอง ของผู้ร้องว่า นายทะเบียนจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีของลูกหนี้ที่ 1 เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2552 และผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 1 เด็ดขาดเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2553 จึงไม่เกิน 2 ปีนับแต่วันที่ 7 มกราคม 2552 อันเป็นวันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี ผู้ร้องจึงมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 1 เด็ดขาดได้ 
ผู้ร้องมีหนังสือแจ้งให้ลูกหนี้ที่ 1 ติดต่อและเสนอแผนปรับโครงสร้างหนี้หลายครั้ง ตามหนังสือเรื่องบอกกล่าวให้ชำระหนี้หรือปรับโครงสร้างหนี้ ใบตอบรับในประเทศและประกาศหนังสือพิมพ์ แต่ลูกหนี้ที่ 1 เพิกเฉย ไม่ติดต่อไม่ชำระหนี้และไม่เสนอแผนปรับโครงสร้างหนี้ต่อผู้ร้อง พฤติการณ์ของลูกหนี้ที่ 1 ดังกล่าวถือว่าลูกหนี้ที่ 1 ไม่ให้ความร่วมมือกับผู้ร้องในการปรับโครงสร้างหนี้ตามที่ผู้ร้องสั่งโดยที่ลูกหนี้ที่ 1 อยู่ในฐานะที่จะดำเนินการได้ เมื่อ ณ วันยื่นคำร้อง (วันที่ 5 เมษายน 2553) ลูกหนี้ที่ 1 มีภาระหนี้ค้างชำระผู้ร้อง 24,530,708 บาท และลูกหนี้ที่ 1 ไม่ยื่นคำคัดค้านและขาดนัดพิจารณา กรณีจึงเห็นควรมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 1 เด็ดขาด
   

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10287/2558
               การที่โจทก์นำหนี้ตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดร้อยเอ็ดมาฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามล้มละลาย ถือว่าเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดยคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุด ซึ่งมีกำหนดอายุความ 10 ปี อย่างไรก็ตามหลังจากศาลมีคำพิพากษาตามยอมในคดีดังกล่าวเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2542 โดยกำหนดให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้งวดแรกวันที่ 29 มิถุนายน 2542 แล้ว เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2548 จำเลยทั้งสามทำบันทึกข้อตกลงปรับโครงสร้างหนี้หลังมีคำพิพากษากับโจทก์ โดยยอมรับว่า ณ วันทำบันทึกจำเลยทั้งสามค้างชำระหนี้โจทก์เป็นต้นเงิน 1,900,000 บาท ดอกเบี้ย 1,780,000 บาท และตกลงให้นำดอกเบี้ยบางส่วนจำนวน 950,000 บาท ซึ่งเป็นดอกเบี้ยส่วนลดพักชำระหนี้ไว้เป็นเวลา 2 ปี ส่วนดอกเบี้ยค้างชำระที่เหลือจำนวน 830,000 บาท ตกลงพักชำระหนี้ไว้เป็นเวลาไม่เกิน 2 ปี ในส่วนต้นเงินคงเหลือโจทก์ผ่อนผันการคิดอัตราดอกเบี้ยให้และให้ผ่อนชำระดอกเบี้ยกับต้นเงินเป็นงวดรายเดือน หากจำเลยทั้งสามผิดนัดงวดหนึ่งงวดใดยอมให้โจทก์ยกเลิกการพักชำระดอกเบี้ยและยินยอมให้เปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยไปคิดอัตราตามคำพิพากษาหรือสัญญาประนีประนอมยอมความ และให้โจทก์ใช้สิทธิบังคับคดีได้ทันที บันทึกข้อตกลงดังกล่าวเป็นกรณีที่โจทก์ผ่อนผันการชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมให้แก่จำเลยทั้งสามเท่านั้น หาใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่อันทำให้หนี้เดิมตามคำพิพากษาระงับสิ้นไปไม่ แต่เป็นกรณีที่จำเลยทั้งสามรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ อันทำให้อายุความสะดุดหยุดลง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) และให้เริ่มนับอายุความใหม่ตามอายุความเดิมตั้งแต่เวลานั้นเป็นต้นไป ตามมาตรา 193/15 ดังนั้น เมื่อนับตั้งแต่อายุความสะดุดหยุดลงจนถึงวันฟ้องวันที่ 16 สิงหาคม 2555 ยังไม่เกิน 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
   

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10096/2558
               สิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดยคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุดให้มีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/32 แต่เนื่องจากเป็นสิทธิเรียกร้องตามคำพิพากษาตามยอม อายุความจึงให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปตามมาตรา 193/12 เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ และศาลพิพากษาตามยอมตั้งแต่งวดแรกซึ่งถึงกำหนดชำระในวันที่ 30 สิงหาคม 2543 โจทก์จึงอาจบังคับสิทธิเรียกร้องตามคำพิพากษาตามยอมได้ทันทีนับแต่วันดังกล่าวเป็นต้นไป อายุความ 10 ปี จึงเริ่มนับตั้งแต่วันดังกล่าว ซึ่งครบกำหนดอายุความในวันที่ 30 สิงหาคม 2553 แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2553 พ้นกำหนดอายุความแล้ว ฟ้องของโจทก์จึงขาดอายุความ อันเป็นเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยที่ 1 ล้มละลาย ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7405/2558
               การฟ้องหรือร้องขอให้ลูกหนี้ล้มละลาย มิใช่เป็นการฟ้องเพื่อบังคับเอาแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ไปชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ดังเช่นการฟ้องคดีแพ่งทั่วไป แต่เป็นการฟ้องหรือร้องขอเพื่อให้มีการจัดการกับทรัพย์สินของลูกหนี้ตามกระบวนการที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่บรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายของลูกหนี้ ดังนั้น แม้คำร้องของโจทก์ในคดีก่อนจะเป็นการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 เด็ดขาดตาม พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 58 วรรคสี่ ส่วนคดีนี้เป็นการยื่นคำฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 เด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ก็ตาม แต่ตาม พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 58 วรรคสี่ ก็ได้บัญญัติให้ศาลและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลายต่อไปโดยเร็ว จึงเห็นได้ว่า การยื่นคำร้องของโจทก์ในคดีก่อน ศาลก็ต้องพิจารณาให้ได้ความจริงไปตามหลักเกณฑ์อันเป็นเงื่อนไขของการร้องขอให้ลูกหนี้ล้มละลายตามบทกฎหมายดังกล่าวประกอบ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 เช่นเดียวกับการพิจารณาคำฟ้องโจทก์ของศาลในคดีนี้ สภาพแห่งข้อหา และคำขอบังคับในคดีก่อนกับในคดีนี้จึงเป็นอย่างเดียวกันคือ เป็นกรณีที่โจทก์ดำเนินคดีเพื่อขอให้มีการจัดการทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 เช่นเดียวกันนั่นเอง ซึ่งแม้ว่ามูลหนี้ในคดีก่อนกับในคดีนี้จะเป็นคนละมูลหนี้กันก็ตาม แต่โจทก์ก็เป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ของจำเลยที่ 2 มาแต่เพียงผู้เดียว สิทธิเรียกร้องในคดีก่อนกับในคดีนี้ โจทก์ย่อมสามารถฟ้องหรือร้องขอรวมกันมาคราวเดียวกันได้ในคดีก่อน เพราะคู่ความในคดีก่อนกับในคดีนี้ก็เป็นคู่ความเดียวกัน กล่าวคือ เป็นคดีระหว่างบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย ผู้ร้องในคดีก่อนซึ่งเป็นโจทก์ในคดีนี้ กับ ม. ลูกหนี้ที่ 4 ในคดีก่อนซึ่งเป็นจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ เมื่อปรากฏว่าศาลล้มละลายกลางในคดีก่อนได้วินิจฉัยไว้แล้วว่า จำเลยที่ 2 กับพวกได้ทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้กับโจทก์ และได้มีการโอนทรัพย์สินคือ ที่ดินตีชำระหนี้ให้แก่โจทก์แล้วบางส่วน และมีคำสั่งยกคำร้องของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ซึ่งคำสั่งดังกล่าวได้ถึงที่สุดแล้ว การที่โจทก์ยื่นคำฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 เด็ดขาดและพิพากษาให้ล้มละลายเป็นคดีนี้อีก จึงถือได้ว่าเป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน กรณีจึงเป็นการฟ้องซ้ำกับคำร้องในคดีก่อนที่ศาลได้มีคำสั่งอันถึงที่สุดให้ยกคำร้องของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 แล้ว คำฟ้องของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6625/2558
               โจทก์อ้างส่งหนังสือรับรอง ระบุว่า จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการของบริษัท ส. และเคยเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนและประกอบกิจการในราชอาณาจักรโดยจำเลยที่ 2 ไม่มีพยานหลักฐานมาหักล้างในเรื่องความเกี่ยวพันของจำเลยที่ 2 กับบริษัทดังกล่าวจนถึงวันฟ้องคดีนี้ จึงต้องฟังว่าจำเลยที่ 2 ยังคงมีความเกี่ยวพันกับบริษัทดังกล่าว ถือว่าจำเลยที่ 2 ยังคงประกอบกิจการด้วยตนเองในราชอาณาจักร โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ 
กระบวนพิจารณาในกรณีขอให้พิจารณาคดีใหม่นั้น พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะจึงต้องนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาใช้บังคับโดยอนุโลมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14 ซึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 199 เบญจ ประกอบมาตรา 207 การที่ศาลจะอนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่จะต้องมีเหตุอันควรเชื่อว่าการขาดนัดยื่นคำให้การหรือขาดนัดพิจารณาของคู่ความที่ยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่มิได้เป็นไปโดยจงใจหรือมีเหตุอันควรและผู้ขอมีทางชนะคดีได้ 
การที่จำเลยที่ 2 เดินทางออกนอกราชอาณาจักรในวันที่ 16 พฤษภาคม 2539 ก็เพื่อหลบหนีการจับกุมตัวมาดำเนินคดีอาญา หลังจากนั้นจำเลยที่ 2 ไม่ได้เดินทางกลับเข้ามาในราชอาณาจักรอีกจนสำนักงานอัยการสูงสุดต้องดำเนินการขอให้ทางประเทศแคนาดาออกหมายจับและควบคุมตัวของจำเลยที่ 2 ไว้ ตั้งแต่วันที่ 7 กรกฎาคม 2539 แล้วดำเนินเรื่องขอส่งตัวกลับมาในราชอาณาจักร จนได้ตัวจำเลยที่ 2 มาดำเนินคดีในราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2552 ภายหลังจำเลยที่ 2 เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรเป็นเวลากว่า 13 ปีแสดงถึงเจตนาของจำเลยที่ 2 ว่าไม่ประสงค์ต่อสู้คดีทุกเรื่องที่ถูกฟ้องในประเทศไทย ทั้งการที่จำเลยที่ 2 หลบหนีคดีอาญาไปนอกราชอาณาจักรเป็นเหตุที่เกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 2 เองจะนำมาอ้างในทำนองว่าเป็นพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้เพื่อขอให้พิจารณาคดีในสำนวนของจำเลยที่ 2 ใหม่หาได้ไม่ กรณีจึงไม่มีเหตุอันสมควรที่จะให้พิจารณาคดีสำหรับจำเลยที่ 2 ใหม่


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5695/2558
               การนำมูลหนี้ตามคำพิพากษาของศาลแพ่งอันถึงที่สุดมาเป็นมูลฟ้องขอให้จำเลยล้มละลาย ไม่ใช่เรื่องการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งตามที่บัญญัติไว้ในภาค 4 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งจึงไม่อาจนำบทบัญญัติเกี่ยวกับระยะเวลาการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 มาใช้บังคับแก่กรณีนี้ได้ แต่เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องจำเลยให้ล้มละลายโดยอาศัยมูลหนี้ตามคำพิพากษาของศาลแพ่งซึ่งเป็นสิทธิเรียกร้องอันตั้งหลักฐานขึ้นโดยคำพิพากษาที่ถึงที่สุด มีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/32 คดีดังกล่าวศาลแพ่งอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2547 ซึ่งเป็นวันที่คดีถึงที่สุด อายุความจึงเริ่มนับ แต่ปรากฏว่าระหว่างยังไม่พ้นอายุความในวันที่ 21 มกราคม 2554 จำเลยชำระหนี้บางส่วนตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์เป็นเงิน 2,064,440 บาท กรณีถือได้ว่าเป็นการที่จำเลยรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ตามสิทธิเรียกร้องโดยชำระหนี้ให้บางส่วน ย่อมมีผลให้อายุความสะดุดหยุดลง ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นจึงไม่นับเข้าในอายุความ ต้องเริ่มนับอายุความใหม่นับถัดจากวันที่ 21 มกราคม 2554 ไปอีก 10 ปี ตามมาตรา 193/14 (1) ประกอบมาตรา 193/15 การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2555 จึงอยู่ในกำหนดอายุความ 10 ปี นับแต่เหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดลง โจทก์จึงมีสิทธินำมูลหนี้ตามคำพิพากษานั้นมาฟ้องจำเลยให้ล้มละลายได้ และแม้ว่าเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2554 จำเลยได้นำเงินไปชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์บางส่วนเป็นเงิน 2,064,440 บาท เพื่อให้โจทก์ถอนการบังคับคดีแพ่งเฉพาะจำเลย ซึ่งโจทก์ไม่ดำเนินการ แต่ก็เป็นเงินจำนวนไม่มากนักเมื่อเปรียบเทียบกับยอดหนี้ตามคำพิพากษาและจำเลยคงเป็นหนี้โจทก์ถึงวันฟ้องเป็นเงินรวมทั้งสิ้นถึง 12,584,200.40 บาท และไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ผ่อนชำระหนี้ให้แก่โจทก์อีกเลย พฤติการณ์แห่งคดีจึงไม่มีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลาย


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12758/2555
               เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 (2) บัญญัติให้อำนาจเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่เพียงผู้เดียวในการเก็บรวบรวมและรับเงินหรือทรัพย์สินซึ่งจะตกได้แก่ลูกหนี้หรือซึ่งลูกหนี้มีสิทธิจะได้รับจากผู้อื่น แม้ทรัพย์สินนั้นจะอยู่ในระหว่างการบังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดีก็ยังต้องปฏิบัติตามคำขอของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เกี่ยวกับทรัพย์สินนั้น เว้นแต่การบังคับคดีได้สำเร็จบริบูรณ์แล้วก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ตามมาตรา 110 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 112 ทั้งนี้ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้มาแบ่งเฉลี่ยให้แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายโดยเสมอภาคตามส่วน แต่อำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่กระทบถึงสิทธิของเจ้าหนี้มีประกันในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันตามมาตรา 110 วรรคท้าย 
คดีนี้หลังจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2546 และมีคำพิพากษาให้จำเลยล้มละลายเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2547 แล้ว ไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้มีคำขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเกี่ยวกับทรัพย์จำนอง หรือมอบหมายให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองในคดีนี้แทน หรือเจ้าพนักงานบังคับคดีได้มีหนังสือสอบถามไปยังเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองที่ยึดไว้อันถือได้ว่าเป็นการกระทำแทนเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลาย แต่กลับปรากฏว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองในคดีนี้ต่อไปในวันที่ 8 มิถุนายน 2548 และเพิ่งมามีคำสั่งในคำร้องของโจทก์ที่ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2551 ว่าให้สอบถามเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่าจะให้ดำเนินการอย่างไรเกี่ยวกับทรัพย์ของจำเลยในคดีนี้ ซึ่งเป็นการสอบถามภายหลังจากที่ดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองไปแล้ว จึงมีผลเท่ากับว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาดทรัพย์จำนองไปตามอำนาจหน้าที่ของตนในการบังคับคดีแพ่ง ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ภาค 4 ลักษณะ 2 การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง หาใช่เป็นการขายทอดตลาดในคดีล้มละลายอันเป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือถือได้ว่าได้รับมอบหมายจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ ประกอบกับทรัพย์จำนองเป็นหลักประกันการชำระหนี้แก่โจทก์เดิม แม้ศาลล้มละลายกลางจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดแล้ว แต่คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ย่อมไม่กระทบถึงสิทธิของโจทก์เดิมในฐานะเจ้าหนี้มีประกันในการที่จะบังคับคดีแก่ทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันนั้นต่อไปตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์จำนองฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายดังที่ศาลล่างวินิจฉัย โจทก์ย่อมมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดในคดีนี้ได้ โดยหาจำต้องไปยื่นคำร้องในคดีล้มละลายดังที่ผู้ซื้อทรัพย์ฎีกาไม่
   

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5478/2553
               ตามคำฟ้องในคดีแพ่งโจทก์ฟ้องขอให้ชำระหนี้และบังคับจำนอง หากยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดไม่พอชำระหนี้ยอมให้ยึดทรัพย์สินอื่นออกขายทอดตลาดได้ แต่เมื่อทำสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมกลับระบุในสัญญาประนีประนอมยอมความว่า หากจำเลยผิดนัดชำระหนี้งวดใดงวดหนึ่งให้ถือว่าผิดนัดชำระหนี้ทั้งหมด ยอมให้โจทก์บังคับคดีและให้ยึดทรัพย์จำนองตามฟ้องได้ทันที โดยไม่ติดใจเรียกร้องเงินอื่นใดอีก ไม่ปรากฏข้อความว่า หากบังคับชำระหนี้เอาทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดได้เงินไม่พอชำระหนี้ก็ให้บังคับเอาแก่ทรัพย์สินอื่นได้ด้วย ดังนี้ แสดงว่าโจทก์และจำเลยประสงค์จะบังคับคดีแก่ทรัพย์จำนองตามฟ้องเท่านั้น เมื่อโจทก์บังคับเอาแก่ทรัพย์จำนองแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิที่จะบังคับเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยได้อีก โจทก์จึงไม่มีอำนาจนำหนี้ดังกล่าวมาฟ้องจำเลยเป็นคดีล้มละลาย
   

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4797/2553
               พ.ร.บ.ล้มละลายฯ เป็นกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนมีผลในทางตัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์หรือพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย ศาลต้องพิจารณาเอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 หรือมาตรา 10 ถ้าได้ความจริงจึงจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด แต่ถ้าไม่ได้ความจริงหรือจำเลยนำสืบได้ว่าอาจชำระหนี้ได้ทั้งหมด หรือมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลาย ศาลต้องพิพากษายกฟ้องดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 14 แม้ในชั้นพิจารณาของศาลล้มละลายกลางไม่มีผู้ใดยกปัญหาอำนาจฟ้องของโจทก์ขึ้นมาต่อสู้ จำเลยที่ 2 ก็มีสิทธิยกปัญหาดังกล่าวขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ 
ก่อนถูกโจทก์ฟ้องคดีนี้จำเลยที่ 2 ถูกศาลแพ่งมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย ทั้งได้รับการปลดจากล้มละลายตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 81/1 ซึ่งมีผลให้จำเลยที่ 2 หลุดพ้นจากหนี้ทั้งปวงอันพึงขอรับชำระหนี้ได้ หนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องคดีนี้เป็นหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมที่ศาลแพ่งมีคำพิพากษาก่อนวันที่ศาลแพ่งมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 จึงเป็นหนี้ที่โจทก์ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีดังกล่าว ทั้งเป็นหนี้ที่ไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 77 (1) และ (2) โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจนำหนี้ดังกล่าวมาฟ้องจำเลยที่ 2 ให้ล้มละลาย
   

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4464/2552
               เหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลายตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 เป็นข้อที่ศาลชอบที่จะหยิบยกในชั้นพิจารณาเอาความจริงตามคำฟ้องโจทก์ก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด ดังนี้ แม้ภายหลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดแล้ว โจทก์จะได้รับชำระหนี้ครบจำนวนตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ แต่ก็ไม่อาจถือเป็นเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลาย
   

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4082/2552
               จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินกับโจทก์ในขณะที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดแล้ว สัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวจึงเป็นนิติกรรมที่กระทำไปโดยฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22, 24 และตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 แม้ต่อมาศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ คำพิพากษาดังกล่าวก็ไม่มีผลผูกพันศาลในคดีล้มละลายเนื่องจากฎหมายล้มละลายเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน การที่ศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์เด็ดขาดหรือพิพากษาให้บุคคลใดล้มละลายย่อมกระทบถึงความสามารถ สถานะและทรัพย์สินของบุคคลนั้นตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 ในการพิจารณาคดีล้มละลายตามคำฟ้องของโจทก์ ศาลจึงต้องพิจารณาให้ได้ความจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 หรือมาตรา 10 จึงจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดได้ เมื่อโจทก์นำหนี้ตามคำพิพากษามาฟ้องโดยหนี้ดังกล่าวมีมูลหนี้มาจากสัญญากู้ยืมเงินที่ตกเป็นโมฆะจึงเป็นนิติกรรมที่ไม่มีผลตามกฎหมาย จำเลยมิได้เป็นหนี้โจทก์ตามมาตรา 9 (2) โจทก์ไม่มีสิทธินำมูลหนี้ดังกล่าวมาฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายได้


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3915/2552
               จำเลยถูกยึดทรัพย์ตามหมายบังคับคดี กรณีจึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8 (5) ว่า จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว จำเลยมีหน้าที่นำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าว แต่จำเลยไม่สืบพยานกรณีจึงไม่อาจหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายได้ ส่วนที่จำเลยอ้างในอุทธรณ์ว่า จำเลยได้รับโอนที่ดิน 1 แปลง เพียงพอชำระหนี้ได้นั้น คดีนี้จำเลยขอเลื่อนการนัดฟังคำพิพากษาหลายครั้งเพื่อเจรจาประนอมหนี้กับโจทก์ จนกระทั่งปรากฏว่าเช็คที่ญาติของจำเลยออกให้เพื่อชำระหนี้แก่โจทก์นั้น ธนาคารได้ปฏิเสธการจ่ายเงินทุกฉบับ จึงมีการโอนที่ดินให้แก่จำเลยก่อนวันนัดฟังคำพิพากษา 3 วัน พฤติการณ์แห่งคดีเห็นได้ว่าเป็นการโอนที่ดินให้เพื่อเป็นพยานหลักฐานให้ศาลพิพากษายกฟ้องในคดีล้มละลาย ซึ่งมีผลให้จำเลยไม่ต้องรับผิดในหนี้ส่วนที่ค้างชำระตามคำพิพากษาคดีแพ่งอีกต่อไปเนื่องจากพ้นกำหนดระยะเวลาบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว และกรณีไม่มีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลาย
       

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10687/2551
               แม้วัตถุประสงค์ของโจทก์และธนาคาร ท. ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ตามหนังสือรับรองจะมิได้มีข้อความว่า โจทก์สามารถมอบอำนาจให้สถาบันการเงินหรือนิติบุคคลอื่นฟ้องคดีหรือดำเนินคดีแทน และธนาคาร ท. สามารถเป็นผู้รับมอบอำนาจจากสถาบันการเงินอื่นหรือนิติบุคคลอื่นในการฟ้องคดีหรือดำเนินคดีแทนสถาบันการเงินหรือนิติบุคคลอื่นได้ก็ตาม แต่ทั้งโจทก์และธนาคาร ท. ต่างก็มีวัตถุประสงค์ฝากเงิน ให้กู้ยืมเงิน ประกอบกิจการเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน นายหน้า ตัวแทนเรียกเก็บหนี้ รับซื้อ รับโอนลูกหนี้หรือสิทธิเรียกร้องเช่นเดียวกัน เมื่อจำเลยทั้งห้ากับพวกเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษา โจทก์ย่อมมีอำนาจบังคับให้จำเลยทั้งห้ากับพวกชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีล้มละลายนี้ได้ และย่อมมีอำนาจมอบอำนาจให้ธนาคาร ท. ดำเนินคดีนี้และให้มีอำนาจมอบอำนาจช่วงได้ด้วย ธนาคาร ท. ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
   

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4665/2551
               จำเลยอุทธรณ์อ้างว่า มูลหนี้ที่โจทก์รับโอนสิทธิเรียกร้องนำมาฟ้องจำเลยให้ล้มละลายเป็นหนี้ตามคำพิพากษาของศาลแพ่งซึ่งพิพากษาให้ธนาคารเจ้าหนี้เดิมคิดดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี แต่ต้องไม่เกินกว่าอัตราสูงสุดที่ธนาคารเจ้าหนี้เดิมมีสิทธิคิดได้ ต่อมาได้มีประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศของธนาคารเจ้าหนี้เดิมเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยสูงสุดหลายครั้งโดยมีอัตราต่ำกว่าร้อยละ 18.5 ต่อปี โจทก์คิดดอกเบี้ยไม่ถูกต้อง มูลหนี้ตามฟ้องมีจำนวนไม่แน่นอน กรณีจึงมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลายนั้น ในชั้นพิจารณาจำเลยไม่ยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ข้อเท็จจริงที่จำเลยอ้างว่าได้มีประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศของธนาคารเจ้าหนี้เดิมเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยสูงสุดหลายครั้งหลังจากศาลแพ่งมีคำพิพากษาก็เพิ่งปรากฏในอุทธรณ์ของจำเลยเท่านั้น ดังนั้น มูลหนี้ตามคำพิพากษาคดีแพ่งที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นหนี้เงินสามารถกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนแล้วทั้งกรณีไม่มีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลาย
   

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2763/2551
               สัญญาเช่าทรัพย์แบบลีสซิ่งถือได้ว่าเป็นสัญญาเช่าทรัพย์อย่างหนึ่งที่โจทก์ในฐานะผู้ให้เช่าให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์ที่เช่าให้แก่จำเลยที่ 1 ผู้เช่าเมื่อครบกำหนดการเช่าแล้ว และกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เช่ายังไม่ตกเป็นของผู้เช่าจนกว่าจะแสดงเจตนารับคำมั่นของผู้ให้เช่าจนเกิดเป็นสัญญาซื้อขาย เงินค่าเช่าก็ไม่อาจถือว่ารวมค่าแห่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เช่าไว้ด้วย และผู้เช่าไม่อาจบอกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดการเช่าได้ เมื่อสัญญาเช่าทรัพย์แบบลีสซิ่งดังกล่าวมิใช่สัญญาเช่าซื้อ การที่ศาลล้มละลายกลางนำบทบัญญัติมาตรา 574 แห่ง ป.พ.พ. บรรพ 3 ลักษณะ 5 เช่าซื้อ มาปรับใช้แก่มูลหนี้ตามฟ้องแล้ววินิจฉัยว่ามูลหนี้ตามฟ้องยังไม่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน และพิพากษายกฟ้องนั้นจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย 
จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ค่าเช่าตั้งแต่งวดที่ 3 ถึง 19 และยังคงค้างชำระค่าเช่ารวม 6,881,401.90 บาท ดังนี้ แม้มูลหนี้ดังกล่าวจะยังมิได้คำนวณเบี้ยปรับตามสัญญา จำเลยที่ 1 ก็เป็นหนี้โจทก์เป็นจำนวนแน่นอนไม่น้อยกว่า 2,000,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมและไม่จำกัดจำนวนต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ค่าเช่าที่ค้างชำระดังกล่าวต่อโจทก์ หนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ตามสัญญาที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนแล้ว
   

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1876/2551
               จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้ยืมไว้กับธนาคารเจ้าหนี้ จำนวน 4,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย โดยมีโจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 กับพวกอีก 6 คน เป็นผู้ค้ำประกันในวงเงินต่างกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตาม ป.พ.พ. มาตรา 682 วรรคสอง เมื่อโจทก์ชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 ไปจำนวน 4,880,000 บาท ให้แก่ธนาคารเจ้าหนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิไล่เบี้ยจำเลยที่ 1 และเข้ารับช่วงสิทธิของธนาคารเจ้าหนี้ไล่เบี้ยผู้ค้ำประกันอื่นได้ตามสัดส่วนที่ผู้ค้ำประกันแต่ละคนเข้าผูกพันชำระหนี้ตามมาตรา 693 ประกอบมาตรา 229 (3), 296 การที่ศาลแพ่งมีคำพิพากษาในคดีแพ่งให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระต้นเงินจำนวน 3,020,952.37 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ย โดยมิได้ระบุสัดส่วนความรับผิดของจำเลยที่ 3 ไว้ด้วย และโจทก์ได้นำยอดหนี้ดังกล่าวมาฟ้องจำเลยที่ 3 เป็นคดีล้มละลายนั้น ต่อมาศาลแพ่งได้มีคำสั่งแก้ไขเพิ่มเติมข้อผิดพลาดหรือข้อผิดหลงของคำพิพากษาดังกล่าวแล้วโดยให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ตามส่วนที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันไว้ แม้คำสั่งแก้ไขเพิ่มเติมคำพิพากษาในรายงานกระบวนพิจารณาของศาลแพ่งดังกล่าวจำเลยที่ 3 เพิ่งยกขึ้นอ้างส่งในชั้นอุทธรณ์ แต่การพิจารณาคดีล้มละลายเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนและตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 14 กำหนดให้ศาลต้องพิจารณาเอาความจริงตามมาตรา 9 หรือมาตรา 10 ศาลฎีกาจึงมีอำนาจรับฟังพยานเอกสารดังกล่าวได้ และเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้แล้วว่า จำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ตามสัดส่วนที่ทำสัญญาค้ำประกันไว้ในวงเงินเพียง 500,000 บาท และมียอดหนี้คำนวณถึงวันฟ้องคดีนี้ไม่ถึง 1,000,000 บาท ฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 9 (2)
   

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8716/2550
               โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสี่ให้ล้มละลายโดยอาศัยมูลหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งเป็นสิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดยคำพิพากษาที่ถึงที่สุดแล้วมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/32 การที่โจทก์ดำเนินการบังคับคดีตามคำพิพากษาภายในกำหนด 10 ปี และได้นำเงินมาชำระหนี้บางส่วนนั้น โจทก์ก็ต้องร้องขอให้บังคับคดีแก่ทรัพย์สินของจำเลยทั้งสี่เพื่อบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษาในส่วนที่เหลือภายในระยะเวลา 10 ปี นับแต่วันที่อาจใช้สิทธิบังคับคดี เมื่อโจทก์มิได้ร้องขอภายในกำหนดดังกล่าว โจทก์ย่อมหมดสิทธิบังคับคดีตามคำพิพากษาในส่วนที่เหลือ ทั้งการกระทำดังกล่าวไม่ใช่การกระทำอื่นใดอันมีผลเป็นอย่างเดียวกันกับการฟ้องคดีที่จะเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (5) เมื่อโจทก์นำหนี้ตามคำพิพากษามาฟ้องขอให้จำเลยทั้งสี่ล้มละลายเมื่อพ้นกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด สิทธิเรียกร้องตามคำพิพากษาดังกล่าวจึงขาดอายุความแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธินำคดีดังกล่าวมาฟ้องขอให้จำเลยทั้งสี่ล้มละลายได้
   

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6517/2550
               โจทก์โอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งที่มีต่อจำเลยให้แก่บริษัท บ. สิทธิเรียกร้องดังกล่าวจึงมิใช่สิทธิเรียกร้องของโจทก์อีกต่อไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 303 เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายภายหลังจากที่โจทก์โอนสิทธิเรียกร้องไปแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 246, 247 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลายฯ มาตรา 28
   

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5399/2550
               ภายหลังจากศาลในคดีแพ่งมีคำพิพากษาให้จำเลยทั้งสองส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อไปคืนให้โจทก์ในสภาพใช้การได้ดี หากคืนไม่ได้ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ราคาแทนเป็นเงิน 1,600,000 บาท โจทก์ติดตามยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนเรื่อยมา แต่หาไม่พบ เมื่อโจทก์ไม่สามารถบังคับให้จำเลยทั้งสองคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อได้ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกให้จำเลยทั้งสองชดใช้ราคาแทนจำนวน 1,600,000 บาท ตามคำพิพากษาดังกล่าว หนี้ส่วนนี้จึงเป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนที่โจทก์อาจนำมาฟ้องจำเลยทั้งสองให้ล้มละลายได้แล้ว
   

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3370/2550
               พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย ฯ หมวด 4 การบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ส่วนที่ 1 ว่าด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ มาตรา 57 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติถึงวัตถุประสงค์ในการปรับโครงสร้างหนี้ไว้ว่า มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ โดยการแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว และเพื่อให้ลูกหนี้ที่สุจริตอยู่ในฐานะที่จะชำระหนี้ได้ภายในเวลาที่กำหนดและสามารถดำเนินกิจการเดิมหรือกิจการใหม่ได้ต่อไป และคำว่า "สินทรัพย์ด้อยคุณภาพ" ตามบทนิยามมาตรา 3 หมายถึง "สินทรัพย์ที่มีลักษณะเป็นสินทรัพย์ไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้ หรือเป็นสินทรัพย์ที่สงสัยว่าจะไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้..." 
การที่ลูกหนี้ทั้งสี่เพิกเฉยไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่ผู้ร้องซึ่งได้รับโอนสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ค้างชำระที่ลูกหนี้ทั้งสี่มีต่อเจ้าหนี้เดิม โดยมียอดหนี้ค้างชำระถึงวันยื่นคำร้องเป็นจำนวนมาก รวมเป็นเงินทั้งสิน 904,377,813.29 บาท สิทธิเรียกร้องดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่ลูกหนี้ทั้งสี่ไม่สามารถชำระหนี้ทั้งหมดได้แล้ว และลูกหนี้ทั้งสี่มีหน้าที่จะต้องให้ข้อมูลต่าง ๆ เช่น สถานะทางการเงินที่แท้จริง ความสามารถในการชำระหนี้ หรือแผนการปรับโครงสร้างหนี้ที่ชัดเจนโดยเร็วเพื่อให้ผู้ร้องนำมาประกอบการพิจารณาได้ว่าลูกหนี้ทั้งสี่สุจริต สามารถเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ได้เนื่องจากยังอยู่ในฐานะที่จะชำระหนี้ได้ภายในเวลาที่กำหนดและสามารถดำเนินกิจการเดิมหรือเริ่มกิจการใหม่ได้ต่อไป การที่ลูกหนี้ทั้งสี่มีพฤติการณ์เพิกเฉยมิได้ดำเนินการเสนอแผนปรับโครงสร้างหนี้พร้อมนำส่งเอกสารข้อมูลกิจการและทรัพย์สินส่วนบุคคลซึ่งอยู่ในความรับรู้และการครอบครองของตนภายในระยะเวลาตามที่ผู้ร้องกำหนดโดยไม่ปรากฏเหตุผลอันสมควร และทำให้การแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของลูกหนี้ทั้งสี่ล่าช้าไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ตาม พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย ฯ กรณีถือได้ว่าลูกหนี้ทั้งสี่ไม่ให้ความร่วมมือกับผู้ร้องในการปรับโครงสร้างหนี้ตามที่ผู้ร้องสั่ง โดยที่ตนอยู่ในฐานะที่จะดำเนินการได้ ผู้ร้องจึงดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ทั้งสี่เด็ดขาดได้ตามมาตรา 58 วรรคสี่


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1182/2550
               โจทก์เคยนำมูลหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งมาฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายในคดีก่อน แต่โจทก์ขาดนัดพิจารณาและศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีของโจทก์แล้วโดยที่ยังมิได้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีตามคำฟ้องดังกล่าว ดังนั้น การที่โจทก์ฟ้องจำเลยใหม่เป็นคดีนี้โดยอ้างเหตุอย่างเดียวกับคดีก่อน จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ 
นอกจากพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบฟังได้ว่า โจทก์เป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้เดิมที่มีต่อจำเลยโดยทำสัญญาซื้อขายสินทรัพย์กับองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) โดยชอบแล้ว จำเลยยังคงต้องผูกพันตามคำพิพากษาในคดีแพ่งที่วินิจฉัยว่า ปรส. มีอำนาจในการขายสินทรัพย์จนกว่าคำพิพากษานั้นได้ถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับหรืองดเสีย จำเลยจึงเป็นหนี้โจทก์ในมูลหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวและเป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนแล้ว แม้จำเลยอุทธรณ์คำพิพากษาในคดีแพ่งดังกล่าวและคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ กรณีก็ถือไม่ได้ว่ามีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลาย
   

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6017/2549
               คดีนี้แม้โจทก์จะฟ้องว่าจำเลยทั้งสี่เป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาตามยอมของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ก็ตาม แต่ตามหนังสือรับรองเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 2 ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ โดยจำเลยที่ 2 มิได้ให้การโต้แย้งว่าหนังสือรับรองเอกสารท้ายคำฟ้องดังกล่าวไม่ถูกต้องแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างจำเลยที่ 1 ดังนั้น จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดในบรรดาหนี้สินของห้างจำเลยที่ 1 โดยไม่จำกัดจำนวนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1070, 1077 (2), 1080 และมาตรา 1087 เมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาด คดีถึงที่สุดแล้วตามคำสั่งของศาลล้มละลายกลาง จำเลยที่ 2 ซึ่งต้องร่วมรับผิดในหนี้ตามฟ้องกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ด้วย จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์โต้เถียงว่าตนเองมิใช่เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวอีกได้ เมื่อหนี้ที่จำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์มีจำนวน 5,813,980.32 บาท และจำเลยที่ 2 เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ทั้งกรณีไม่มีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยที่ 2 ล้มละลาย คดีย่อมมีเหตุที่ศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 เด็ดขาดตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 ได้
   

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5119/2549
               การที่โจทก์นำหนี้ตามคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุดแล้วมาเป็นมูลฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองล้มละลาย มิใช่เรื่องการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งตามที่บัญญัติไว้ในภาค 4 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง จึงไม่อาจนำบทบัญญัติเกี่ยวกับระยะเวลาการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 มาใช้บังคับแก่กรณีนี้ได้ แต่เป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองให้ล้มละลายโดยอาศัยมูลหนี้ตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดนนทบุรีซึ่งเป็นสิทธิเรียกร้องอันตั้งหลักฐานขึ้นโดยคำพิพากษาที่ถึงที่สุด มีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/32 ดังนั้น เมื่อศาลจังหวัดนนทบุรีมีคำพิพากษาคดีดังกล่าวเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2538 โดยคู่ความมิได้อุทธรณ์คดีดังกล่าวจึงถึงที่สุดเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2538 การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองล้มละลายเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2548 จึงอยู่ภายในกำหนดอายุความ 10 ปี นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด โจทก์มีสิทธินำหนี้ตามคำพิพากษานั้นมาฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองล้มละลายได้ 
เมื่อปรากฏว่าจำเลยทั้งสองเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท และจำเลยทั้งสองถูกยึดทรัพย์ตามหมายบังคับคดี ทั้งจำเลยทั้งสองไม่มีทรัพย์สินอื่นใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้อีก จึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8 (5) ว่าเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว จึงชอบที่ศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดตามมาตรา 14
   

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4899 - 4901/2549
               เมื่อ พ.ร.บ.ล้มละลายฯ หมวด 3/1 ว่าด้วยกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้กำหนดให้ศาลเข้ามามีบทบาทในการกำกับตรวจสอบดูแลกระบวนพิจารณาคดีฟื้นฟูกิจการรวมทั้งให้ศาลมีอำนาจในการตั้งผู้ทำแผนและควบคุมดูแลการทำงานของผู้ทำแผนให้เป็นไปตามกฎหมาย และในการดำเนินการฟื้นฟูกิจการนั้น พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90/25 ให้ผู้ทำแผนมีอำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ โดยในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ทำแผนดังกล่าวให้นำบทบัญญัติมาตรา 90/12 (9) มาใช้บังคับแก่ผู้ทำแผนโดยอนุโลมด้วย เช่นนี้หากผู้ทำแผนจะกระทำการจำหน่าย จ่าย โอน ชำระหนี้ ก่อหนี้ หรือกระทำการใดๆ ที่ก่อให้เกิดภาระในทรัพย์สินนอกจากเป็นการกระทำที่จำเป็นเพื่อให้การดำเนินการค้าตามปกติของลูกหนี้สามารถดำเนินต่อไปได้แล้วจะต้องได้รับอนุญาตจากศาลที่รับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการก่อน เมื่อการขอเบิกจ่ายค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายของผู้ทำแผนในคดีนี้ปรากฏว่าผู้ทำแผนได้เบิกเงินเกินจำนวนที่ศาลมีคำสั่งดังกล่าวไปก่อนแล้ว ผู้ทำแผนจึงมีหน้าที่ต้องส่งคืนเงินส่วนที่เบิกเกินไปให้แก่ลูกหนี้ทั้งสาม และถือได้ว่าคำสั่งศาลดังกล่าวเป็นคำสั่งซึ่งจะต้องมีการบังคับคดีและศาลมีอำนาจออกคำบังคับให้ผู้ทำแผนปฏิบัติตามได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 272 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลายฯ มาตรา 14 และหากผู้ทำแผนไม่ปฏิบัติตามคำบังคับดังกล่าว บุคคลผู้มีส่วนได้เสียก็ย่อมขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีต่อไปได้


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 694/2549
               การฟ้องคดีล้มละลายมิใช่เป็นการฟ้องเพื่อบังคับเอาทรัพย์สินของลูกหนี้ไปชำระแก่เจ้าหนี้ดังเช่นคดีแพ่งทั่วไป แต่เป็นการฟ้องเพื่อจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ ตามกระบวนการที่กฎหมายกำหนดเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย ดังนี้ การที่โจทก์ยื่นคำฟ้องคดีนี้ในส่วนของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ศาลก็ต้องพิจารณาเอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ. ล้มละลายฯ มาตรา 14 เช่นเดียวกับการพิจารณาเกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ในคดีหมายเลขดำที่ 556/2547 สภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับก็เป็นอย่างเดียวกัน ถือได้ว่าเป็นการยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกัน ในขณะที่คดีหมายเลขดำที่ 556/2547 อยู่ในระหว่างการพิจารณา ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลายฯ มาตรา 14
   

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6440/2548
               หนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องจำเลยให้ล้มละลายในคดีนี้เป็นหนี้ตามคำพิพากษาของศาลแพ่งคดีหมายเลขแดงที่ 6312/2537 ที่โจทก์อาจขอรับชำระหนี้ได้ในคดีล้มละลายของศาลแพ่งคดีหมายเลขแดงที่ ล. 171/2541 แต่โจทก์มิได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีดังกล่าวจนต่อมาเจ้าหนี้ที่ขอรับชำระหนี้จำนวน 3 ราย ได้ถอนคำขอรับชำระหนี้ในคดีดังกล่าวทุกราย ศาลแพ่งจึงถือเป็นเหตุไม่ควรให้จำเลยถูกพิพากษาให้ล้มละลายและมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายของจำเลยแล้ว แม้ผลของคำสั่งดังกล่าวไม่ทำให้จำเลยหลุดพ้นหนี้สินตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 135 (2) ประกอบมาตรา 136 และโจทก์ยังอาจนำหนี้ตามคำพิพากษาของศาลแพ่งคดีหมายเลขแดงที่ 6312/2537 มาฟ้องจำเลยให้ล้มละลายได้อีกในคดีนี้ก็ตาม แต่พฤติการณ์ที่โจทก์ละเลยมิได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายของศาลแพ่งหมายเลขแดงที่ ล. 171/2541 โดยไม่ปรากฏเหตุอันสมควรทั้งที่มีหน้าที่ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 91 กรณีดังกล่าวจึงถือเป็นเหตุที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลายตามมาตรา 14
   

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4098/2548
               จำเลยที่ 1 กับเพื่อนได้ร่วมกันกู้ยืมเงินโจทก์เพื่อใช้เป็นทุนในการเปิดคลินิกทันตแพทย์ ต่อมาโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีแพ่ง โดยจำเลยที่ 1 ไม่ได้ต่อสู้คดีเพราะเห็นว่าเป็นหนี้โจทก์จริง หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ติดต่อชำระหนี้แก่โจทก์อีกหลายครั้งแต่ไม่สามารถตกลงกันได้ และเมื่อถูกฟ้องเป็นคดีล้มละลาย จำเลยที่ 1 ก็ได้ติดต่อกับเจ้าหน้าที่ของโจทก์อีกเพื่อขอผ่อนชำระหนี้ ปัจจุบันจำเลยที่ 1 ได้ทำงานประจำที่คลินิกทันตกรรม มีรายได้ประมาณไม่ต่ำกว่าเดือนละ 60,000 บาท กรณีเห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์มาเพื่อลงทุนในการประกอบอาชีพโดยสุจริต แม้ไม่ประสบความสำเร็จก็ยังพยายามติดต่อขวนขวายชำระหนี้แก่โจทก์เรื่อยมา การกระทำดังกล่าวย่อมแสดงถึงความรับผิดชอบของจำเลยที่ 1 ในภาระหนี้ที่มีต่อโจทก์ เมื่อพิจารณาถึงฐานะของจำเลยที่ 1 ซึ่งประกอบอาชีพทันตแพทย์และมีรายได้ในการประกอบอาชีพที่แน่นอน ประกอบกับความพยายามโดยสุจริตในการที่จะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ และไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้บุคคลอื่นอีก จำเลยที่ 1 ยังอยู่ในวิสัยที่จะใช้ความรู้ความสามารถของตนหาเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ได้ กรณีจึงถือเป็นเหตุที่ไม่ควรให้จำเลยที่ 1 ล้มละลาย
   

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2985/2548
               ทนายจำเลยทั้งสองสืบพยานจำเลยทั้งสองได้เพียงปากเดียวแล้วขอเลื่อนคดีถึง 2 ครั้งติด ๆ กัน กับยกเลิกวันนัดอีก 1 นัด ในการขอเลื่อนคดีทุกครั้ง ศาลชั้นต้นได้กำชับให้ทนายจำเลยทั้งสองเตรียมพยานมาให้พร้อมสืบ แต่พอถึงวันนัดทนายจำเลยทั้งสองขอเลื่อนคดีอีกเป็นครั้งที่ 3 ด้วยเหตุผลเดิม ๆ ว่า พยานที่ขอให้ศาลออกหมายเรียกไม่มาศาล ทั้ง ๆ ที่พยานดังกล่าวเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ซึ่งควรจะนำมาศาลได้โดยง่าย พฤติการณ์แห่งคดีแสดงว่าจำเลยทั้งสองมิได้ให้ความสนใจและความสำคัญต่อการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น ทั้งตามคำแถลงขอเลื่อนคดีก็มิได้แสดงให้เป็นที่พอใจของศาลว่าหากไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีแล้วจะทำให้เสียความยุติธรรมอย่างไร ที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเลยทั้งสองจงใจประวิงคดีและไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีกับให้งดสืบพยานจำเลยทั้งสองจึงชอบแล้ว 
เอกสารเกี่ยวกับหลักฐานแสดงฐานะและทรัพย์สินของจำเลยทั้งสองที่ระบุว่าจำเลยทั้งสองถือหุ้นอยู่ในบริษัทต่าง ๆ และเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ห้องชุด มีมูลค่าพอชำระหนี้โจทก์ได้ ซึ่งจำเลยทั้งสองเพิ่งนำมาแสดงหลังจากที่ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานจำเลยทั้งสองแล้ว ไม่ต้องห้ามมิให้ศาลฎีการับฟัง เพราะ พ.ร.บ. ล้มละลายฯ มาตรา 14 เป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งกำหนดให้ศาลต้องพิจารณาเอาความจริงว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ ลูกหนี้อาจชำระหนี้ได้ทั้งหมดหรือมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลายหรือไม่ จำเลยทั้งสองจึงชอบที่จะเสนอพยานเอกสารต่อศาลเพื่อให้ความจริงปรากฏได้ อย่างไรก็ตาม จำเลยทั้งสองไม่ได้แสดงถึงงบการเงินเพื่อให้เห็นว่าบริษัทต่าง ๆ ที่จำเลยถือหุ้นอยู่มีผลประกอบการเป็นอย่างไร และหุ้นต่าง ๆ ที่จำเลยทั้งสองถืออยู่มีมูลค่าที่แท้จริงเป็นเงินตามจำนวนที่ระบุไว้หรือไม่ และยังได้ความตามหนังสือรับรองของบริษัทต่าง ๆ ที่จำเลยทั้งสองถือหุ้นอยู่ว่าขาดส่งงบการเงินปี 2542 รวม 10 บริษัท นายทะเบียนได้ขีดชื่อออกจากทะเบียนบริษัทร้าง 1 บริษัท ส่วนห้องชุดที่จำเลยที่ 2 ถือกรรมสิทธิ์มีภาระจำนองอีกด้วย ทรัพย์สินต่าง ๆ ที่จำเลยทั้งสองอ้างมา จึงไม่อาจรับฟังได้ว่ามีมูลค่าเพียงพอชำระหนี้ได้ทั้งหมด ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองมีหนี้สินล้นพ้นตัวและไม่มีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยทั้งสองล้มละลาย
   

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2384/2548
               การที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ไม่มีประกันจะฟ้องให้จำเลยล้มละลายจะต้องบรรยายคำฟ้องให้เข้าหลักเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 9 คดีนี้โจทก์ได้บรรยายคำฟ้องว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์ในมูลหนี้ตามคำพิพากษา 3 คดี เป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท จำเลยไม่ชำระหนี้ดังกล่าว จำเลยเป็นบุคคลมีหนี้สินล้นพ้นตัวและหนี้ดังกล่าวนั้นอาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน คำฟ้องของโจทก์จึงเข้าหลักเกณฑ์ตามที่ พ.ร.บ.ล้มละลายฯ กำหนดไว้แล้ว ส่วนจำเลยจะเป็นบุคคลมีหนี้สินล้นพ้นตัวอยางไร จำเลยได้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งอันต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ เป็นข้อที่ต้องไปว่ากล่าวในชั้นพิจารณา 
มูลหนี้ตามคำพิพากษาที่พิพากษาให้จำเลยกับพวกหลายคนร่วมกันรับผิดชำระหนี้ จำเลยแต่ละคนซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งดังกล่าวต้องร่วมกันรับผิดจนกว่าเจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้โดยสิ้นเชิง และขณะเดียวกันเจ้าหนี้ก็ย่อมมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้ลูกหนี้ร่วมคนใดคนหนึ่งชำระหนี้ก็ได้ เมื่อจำเลยอยู่ในฐานะลูกหนี้มิได้ปฏิบัติหน้าที่ในการชำระหนี้ กรณีจึงไม่มีเหตุที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลาย
   

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2358/2548
               ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยมิใช่บุคคลผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว โจทก์มิได้อุทธรณ์ ข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยมิใช่บุคคลผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวจึงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น การที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยมิได้เป็นหนี้โจทก์และโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง แม้จะพิจารณาปัญหาตามฎีกาของจำเลยก็ไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป จึงไม่จำต้องวินิจฉัย ส่วนปัญหาว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์หรือไม่ จะต้องไปว่ากันในคดีแพ่งต่อไป


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1866/2548
               การพิจารณาว่าลูกหนี้ร่วมคนใดมีหนี้สินล้นพ้นตัวไม่สามารถชำระหนี้ได้หรือไม่ หรือมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลายหรือไม่ เป็นเรื่องเฉพาะตัวของลูกหนี้ร่วมแต่ละคน เมื่อจำเลยทั้งสามเป็นลูกหนี้ร่วมต่อโจทก์ตามคำพิพากษาจำนวน 5,495,094.53 บาท และไม่มีทรัพย์สินอื่นใดนอกจากที่ดิน 3 แปลงที่จำนองเป็นประกันไว้แก่เจ้าหนี้รายอื่น โดยไม่ปรากฏว่าทรัพย์สินที่จำนองเป็นประกันมีราคามากกว่าหนี้ที่จำนองเป็นประกันหรือไม่ จำเลยทั้งสามเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาตามยอม แต่มิได้ขวนขวายที่จะนำเงินมาชำระหนี้ จนโจทก์นำยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดชำระหนี้ดังกล่าว จำเลยทั้งสามจึงมีหนี้สินล้นพ้นตัวและไม่มีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยทั้งสามล้มละลาย
   

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3619/2547
               คำสั่งศาลชั้นต้นซึ่งให้ยกเลิกการล้มละลายมีผลทำให้จำเลยพ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลายและเท่ากับศาลได้มีคำสั่งยกเลิกการพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดของจำเลยไปด้วยในตัว ศาลชั้นต้นจึงชอบที่จะแจ้งคำสั่งดังกล่าวให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ทราบเพื่อมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความของศาลอุทธรณ์ภาค 1 เพราะไม่มีประโยชน์ที่จะพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยอีกต่อไป การที่ศาลชั้นต้นมิได้แจ้งคำสั่งยกเลิกการล้มละลายของจำเลยให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ทราบ และศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้พิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยแล้วมีคำพิพากษาให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด จึงไม่ชอบ
       

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2147/2547
               เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดของศาลล้มละลายกลางและให้ศาลล้มละลายกลางดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานจำเลยทั้งสองต่อไป คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดย่อมถูกเพิกถอนไป และต้องดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่เฉพาะในส่วนที่ผิดพลาดและถูกเพิกถอนเท่านั้น กระบวนพิจารณาในส่วนนี้ย่อมนำ ป.วิ.พ. มาใช้ได้แต่ในคดีล้มละลายยังมีกระบวนพิจารณาโดยเฉพาะซึ่งมีความแตกต่างไปจากคดีแพ่งทั่วไปตามที่ พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 6 บัญญัติไว้ ซึ่งอาจกระทำโดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือเริ่มต้นที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็ได้หลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้วเมื่อคำขอรับชำระหนี้ของผู้ร้องไม่มีส่วนใดที่ผิดกฎหมาย จึงไม่ถูกเพิกถอนและยังคงมีผลใช้ได้ แม้ศาลอุทธรณ์จะยกคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดของศาลล้มละลายกลางแล้วต่อมาศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งใหม่โดยมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเช่นเดิม คำขอรับชำระหนี้ของผู้ร้องที่ยื่นไว้เดิมจึงยังคงมีผลใช้ได้โดยไม่ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ใหม่ 
ในคดีล้มละลายเมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เจ้าหนี้จะขอรับชำระหนี้ได้ก็แต่โดยยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในกำหนดระยะเวลาที่กฎหมายบัญญัติไว้ การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตามคำสั่งศาลล้มละลายกลางอีกครั้งหนึ่งนั้น การโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในครั้งที่สองนี้มีความประสงค์เพียงเพื่อให้เจ้าหนี้ที่จำเลยทั้งสองไปก่อหนี้สินขึ้นภายหลังวันที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ยกคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดของศาลล้มละลายกลาง จนถึงวันก่อนวันอ่านคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดครั้งที่สองของศาลล้มละลายกลางมีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้เท่านั้นเมื่อผู้ร้องซึ่งได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้แล้วในคราวโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ครั้งแรกจึงถือได้ว่ายื่นคำขอใว้แล้วก่อนระยะเวลาที่กำหนดให้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามประกาศโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดครั้งที่สองสิ้นสุดลง ผลของการยื่นคำขอรับชำระหนี้ของผู้ร้องจึงยังคงมีอยู่โดยไม่ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ใหม่
  

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5189/2546
               คดีล้มละลายเป็นคดีที่ฟ้องให้จัดการทรัพย์สินของบุคคลผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายของบุคคลผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวนั้น การพิจารณาคดีล้มละลายไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อจะชี้ขาดหรือพิพากษาบังคับให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์โดยเฉพาะจึงย่อมผิดแผกแตกต่างกับการพิจารณาคดีแพ่งสามัญเพราะประเด็นสำคัญในคดี 
ล้มละลายมีอยู่ว่าจำเลยซึ่งถูกฟ้องขอให้ล้มละลายเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวและเป็นหนี้โจทก์จำนวนแน่นอนไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท สำหรับจำเลยซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา หรือไม่น้อยกว่า 2,000,000 บาท สำหรับจำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคล หรือไม่ หากศาลพิจารณาได้ความจริงเช่นนั้นก็ต้องมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด หากพิจารณาไม่ได้ความจริงหรือแม้ได้ความจริงแต่จำเลยนำสืบได้ว่าอาจชำระหนี้ได้ทั้งหมดหรือมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลาย ศาลจะต้องพิพากษายกฟ้อง ดังนั้นการพิจารณาคดีล้มละลายศาลจะมีคำสั่งหรือคำพิพากษาได้เพียง 2 ประการ คือ มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดหรือพิพากษายกฟ้องตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14 เท่านั้น โดยไม่เปิดช่องให้ศาลมีคำวินิจฉัยในประเด็นอื่นใดนอกเหนือไปจากที่กล่าวได้ จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะฟ้องแย้งให้ศาลมีคำพิพากษาให้โจทก์กระทำหรือไม่กระทำการใดได้อีกเพราะเป็นเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิม เมื่อจำเลยให้การปฏิเสธหนี้สินที่โจทก์อ้างให้รับผิดตามสัญญารับผิดชดใช้หนี้เพราะสัญญาดังกล่าวปลอม จึงมีประเด็นที่โจทก์ต้องนำสืบถึงหนี้สินตามสัญญารับผิดชดใช้หนี้ ซึ่งหากศาลพิจารณาแล้วเชื่อว่าสัญญารับผิดชดใช้หนี้เป็นสัญญาปลอมดังที่จำเลยให้การต่อสู้ ศาลก็ชอบที่จะพิพากษายกฟ้องโจทก์ เมื่อเป็นเช่นนี้จำเลยจึงไม่มีสิทธิฟ้องแย้งขอให้ศาลพิพากษาว่าสัญญารับผิดชดใช้หนี้เป็นสัญญาปลอม
   

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3704/2546
               การฟื้นฟูกิจการมีผลให้มีการปรับลดปรับโครงสร้างหนี้ของบริษัทจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ แต่คำสั่งของศาลที่เห็นชอบด้วยแผนก็ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงความรับผิดของผู้ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/60 วรรคสอง หนี้ส่วนที่ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดย่อมระงับไปเฉพาะส่วนที่เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ ในส่วนที่ขาดผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอยู่ตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง
การที่แผนฟื้นฟูกิจการกำหนดให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นความรับผิดไปเสียทีเดียวโดยมิได้คำนึงว่าเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ครบถ้วนแล้วหรือไม่ และกำหนดให้เจ้าหนี้บางกลุ่มได้รับชำระหนี้เพียงบางส่วนย่อมขัดต่อพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/60 วรรคสอง อันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนจึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150
การพิจารณาว่ามีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 14 หรือไม่ จะต้องพิจารณาเหตุเฉพาะตัวของจำเลยคนนั้น ๆ การที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ของบริษัทจำเลยที่ 1 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการของจำเลยที่ 1 เป็นมติของที่ประชุมเจ้าหนี้ที่ไว้วางใจให้จำเลยที่ 2 บริหารแผนซึ่งเป็นเรื่องของการฟื้นฟูกิจการของจำเลยที่ 1 และเป็นเรื่องในอนาคตซึ่งไม่มีความแน่นอน ลำพังการได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บริหารแผนยังไม่มีเหตุเพียงพอที่จะถือว่าเป็นเหตุอื่นที่ไม่สมควรให้จำเลยที่ 2 ล้มละลาย


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5756/2545
               จำเลยประกอบกิจการรับจ้างทำสื่อโฆษณามาตั้งแต่ปี 2535 และในปัจจุบันยังประกอบการเป็นปกติ แม้ในช่วงระหว่างปี 2540 ถึง 2542 ผลประกอบการยังขาดทุนแต่ก็สามารถลดยอดขาดทุนลงได้มากในปี 2542 ส่วนผลประกอบการในปี 2543 ดีขึ้นมาก โดยจำเลยยื่นแบบ ภ.ง.ด. 51 เพื่อชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งของรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2543 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2543 มียอดรายรับหรือยอดขายก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ของรอบระยะเวลาบัญชีก่อนปีปัจจุบันที่ยื่นแสดงรายการไว้สูงถึง50,779,121.63 บาท และยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) แบบยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (ภ.ง.ด.1 และ ภ.ง.ด. 1 ก.) กับได้ชำระภาษีสำหรับเดือนมกราคมถึงเดือนตุลาคม 2543 เป็นเงินประมาณ 700,000 บาท แม้เอกสารหนังสือเสนอขอชำระหนี้แก่โจทก์จะมิใช่เอกสารทางบัญชีที่แสดงรายได้และผลกำไรในปี 2543 แต่สามารถนำมาพิจารณาประกอบเพื่อแสดงถึงสถานภาพของจำเลยว่าการประกอบกิจการของจำเลยยังสามารถดำเนินต่อไปได้ด้วยดี ประกอบกับโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้หลังจากศาลแพ่งมีคำพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้เพียง 1 ปีเศษและจำเลยเคยยื่นข้อเสนอในการชำระหนี้แก่โจทก์ก่อนหน้าถูกฟ้องคดีนี้ ซึ่งโจทก์ก็มิได้โต้แย้งว่าจำเลยมิได้ยื่นข้อเสนอเช่นนั้น แสดงว่าจำเลยมิได้ละเลยในการชำระหนี้แก่โจทก์ ดังนั้นเมื่อไม่มีเจ้าหนี้รายอื่นยื่นฟ้องจำเลยและไม่ปรากฏจากพยานหลักฐานโจทก์ให้เห็นเป็นอย่างอื่น แสดงว่าจำเลยยังมีความน่าเชื่อถือในการประกอบกิจการและฐานะทางการเงินมิใช่เป็นเพียงการคาดคะเน ฉะนั้น เมื่อจำเลยยังประกอบกิจการอยู่เป็นปกติ ยังมีรายได้และผลกำไร จึงอยู่ในวิสัยและมีลู่ทางที่จะชำระหนี้แก่โจทก์ได้ กรณียังมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 14
   

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1863/2545
               จำเลยมีเงินเดือนและเบี้ยเลี้ยงรวมเดือนละประมาณ 26,000 บาท จำเลยเป็นหนี้โจทก์จำนวน 104,025.39 บาท ซึ่งเป็นหนี้ที่เกิดจากการใช้บัตรเครดิตซื้อสินค้าและเบิกเงินสดโดยจำเลยไม่เคยชำระหนี้แก่โจทก์เลยเป็นเวลานานเกือบ 4 ปี ทำให้จำนวนหนี้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อนับถึงวันฟ้องมีจำนวน 204,600 บาท ซึ่งเมื่อเทียบกับรายได้ต่อเดือนของจำเลยแล้วจำนวนหนี้มีมากกว่ารายได้ แม้จำเลยเป็นข้าราชการมีเงินเดือน แต่เงินเดือนตลอดทั้งบำเหน็จบำนาญไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 286(2) จำเลยรับราชการมานานแต่ไม่มีทรัพย์สินอื่นใดอีก แสดงว่าเงินเดือนและเบี้ยเลี้ยงของจำเลยมีจำนวนเพียงแค่การดำรงชีพของจำเลยในแต่ละเดือนเท่านั้น ไม่เหลือพอที่จะแบ่งไปผ่อนชำระหนี้แก่โจทก์ได้ เงินสะสมของข้าราชการมีสภาพเป็นส่วนหนึ่งของเงินเดือนข้าราชการ แม้จำเลยจะมีเงินสะสมในกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการก็ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีเช่นกัน ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวและไม่อาจชำระหนี้ได้ทั้งหมดทั้งพฤติการณ์ของจำเลยมิได้แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจในทางที่จะขวนขวายเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ด้วยความสุจริตใจ คดีจึงไม่มีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลาย
   

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1490/2545
               โจทก์ฟ้องจำเลยให้ล้มละลายในคดีก่อนโดยอาศัยมูลหนี้ตามคำพิพากษาที่มีการบังคับคดีแต่ยังไม่พอชำระหนี้และจำเลยทั้งสามไม่มีทรัพย์สินอื่นที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้อีกอันต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่า จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว ศาลอุทธรณ์แผนกคดีล้มละลายพิพากษายกฟ้องและคดีถึงที่สุดแล้ว เนื่องจากยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามฟ้องหรือไม่ ทั้งทรัพย์สินที่โจทก์นำยึดได้เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาไว้เป็นเงิน 304,500 บาท ซึ่งอาจขายทอดตลาดได้ราคาสูงกว่าที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินไว้ก็ได้ จึงมีเหตุที่ยังไม่ควรให้ล้มละลาย โจทก์กลับนำมูลหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวมาฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายอีกในเหตุดังที่เคยอ้างและศาลได้วินิจฉัยชี้ขาดไปแล้วในคดีก่อน จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148ประกอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153 แม้คดีนี้ โจทก์อ้างว่ามีข้อเท็จจริงที่แตกต่างจากคดีก่อน โดยโจทก์ยึดทรัพย์ขายทอดตลาดได้เงินเพียง 42,900 บาท และโจทก์ได้รับชำระหนี้เพียง 36,479 บาทส่วนคดีก่อนยังมิได้ขายทอดตลาดก็ตาม
   

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 835/2545
               โจทก์เคยนำหนี้ภาษีการค้ามาฟ้องให้จำเลยล้มละลาย ซึ่งศาลฎีกาวินิจฉัยว่าแม้จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว แต่มีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลาย จึงพิพากษายกฟ้องแต่ต่อมาโจทก์นำหนี้ภาษีการค้าดังกล่าวรวมกับหนี้เงินเพิ่มภาษีการค้าและหนี้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามาฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่งต่อศาลภาษีอากรกลาง ซึ่งศาลดังกล่าวมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยชำระหนี้ทั้งสามจำนวนนั้น แต่จำเลยไม่ชำระ โจทก์จึงนำหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวมาฟ้องจำเลยให้ล้มละลายอีก ดังนั้น การที่โจทก์นำหนี้ภาษีการค้าจำนวนเดิมรวมกับหนี้ภาษีจำนวนใหม่มาฟ้องจำเลยเป็นคดีล้มละลายนี้จึงเป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน เป็นฟ้องซ้ำต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 153 ส่วนหนี้เงินเพิ่มภาษีการค้าและหนี้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาซึ่งเป็นหนี้จำนวนใหม่ เมื่อรวมกันแล้วมีจำนวนเพียง 40,000 บาทเศษไม่เข้าองค์ประกอบที่จะฟ้องจำเลยให้ล้มละลายได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯมาตรา 9(2)
   

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 545/2545
               ผู้ร้องจดทะเบียนสมรสกับ ร. เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2516 ในระหว่างสมรสผู้ร้องมาจดทะเบียนสมรสซ้อนกับจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2521 ผู้ร้องซื้อและจดทะเบียนรับโอนที่ดินพิพาทจาก จ. เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2523 ต่อมาวันที่ 10มีนาคม 2526 ผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 จดทะเบียนหย่าขาดกันกรณีต้องบังคับตามบทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 ซึ่งแม้ผู้ร้องจะทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่แล้วอันจะทำให้การสมรสระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 ตกเป็นโมฆะก็ตาม แต่เมื่อในระหว่างที่ผู้ร้องจดทะเบียนรับโอนที่ดินพิพาทมายังไม่มีผู้มีส่วนได้เสียคนใดร้องขอต่อศาลให้การสมรสเป็นโมฆะตามมาตรา 1495(เดิม) ต้องถือว่าการสมรสระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 ยังมีผลสมบูรณ์อยู่ที่ดินพิพาทจึงเป็นทรัพย์สินที่ผู้ร้องได้มาระหว่างสมรสกับ ร. และจำเลยที่ 1 จึงเป็นสินสมรสระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 ด้วย โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยที่ 1 มีส่วนเกี่ยวข้องรู้เห็นหรือออกเงินช่วยผู้ร้องชำระราคาที่ดินพิพาทหรือไม่แม้ภายหลังผู้ร้องกับจำเลยที่ 1จะจดทะเบียนหย่าขาดจากกันก็ต้องจัดการแบ่งที่ดินพิพาทแก่ผู้ร้องตามสิทธิที่ผู้ร้องมีอยู่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1532 และ 1533 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้คัดค้านจึงมีสิทธิยึดที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างมาดำเนินการตามที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดได้
   

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 266/2545
               การบังคับคดีเป็นสิทธิตามกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 271 โจทก์จะบังคับคดีเมื่อใดภายใน 10 ปี จึงเป็นสิทธิที่โจทก์สามารถทำได้โดยชอบ จำเลยเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษามีหน้าที่ชำระหนี้ เมื่อจำเลยไม่ชำระ จึงต้องรับผิดในหนี้ที่เพิ่มขึ้นจากจำนวนดอกเบี้ยที่ศาลกำหนดไว้ในคำพิพากษามิใช่เป็นผลจากการที่โจทก์ไม่ดำเนินการบังคับคดี การที่โจทก์เพิกเฉยไม่ดำเนินการบังคับคดีในทันทีทำให้จำเลยเป็นหนี้โจทก์มากขึ้นจึงมิใช่เหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลาย
   

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 265/2545
               การจะพิจารณาว่าจำเลยทั้งสองสมควรล้มละลายหรือไม่ ต้องพิจารณาตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ขณะที่มีการยื่นฟ้องและคดีนั้นยังคงค้างพิจารณาอยู่ในศาล ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2542 มาตรา 34 ที่บัญญัติว่า "บรรดาคดีล้มละลายที่ได้ยื่นฟ้องก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และยังค้างพิจารณาอยู่ในศาล? ให้บังคับตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลายซึ่งใช้อยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ" เมื่อคดีนี้ยื่นฟ้องก่อนที่ พ.ร.บ. ดังกล่าวใช้บังคับและได้ความว่าจำเลยทั้งสองเป็นลูกหนี้โจทก์กำหนดจำนวนได้แน่นอนไม่น้อยกว่า 50,000 บาท จึงเข้าองค์ประกอบตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 9 (เดิม) ประกอบกับในการพิจารณาคดีล้มละลายต้องอยู่ในบังคับของมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ซึ่งศาลต้องพิจารณาเอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 (เดิม) หรือมาตรา 10 (เดิม) ถ้าศาลพิจารณาได้ความจริง ให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด แต่ถ้าไม่ได้ความจริงหรือลูกหนี้นำสืบได้ว่าอาจชำระหนี้ได้ทั้งหมด หรือมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลาย ให้ยกฟ้อง ฉะนั้น เมื่อคดีนี้โจทก์นำสืบได้ว่าจำเลยทั้งสองไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้แก่โจทก์ได้ และจำเลยทั้งสองนำสืบไม่ได้ว่าอาจชำระหนี้ได้ทั้งหมด ลำพังเหตุที่มีการแก้ไขบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวโดยเพิ่มจำนวนหนี้ที่จะฟ้องล้มละลายให้สูงขึ้น ยังไม่พอฟังว่ามีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลาย
   

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 253/2545
               หลังจากที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้แก่โจทก์แล้ว จำเลยทั้งสามไม่ชำระ และโจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้ไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง ซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน จำเลยทั้งสามได้รับหนังสือดังกล่าวแล้วและไม่ชำระหนี้ จึงเข้าข้อสันนิษฐานว่าจำเลยทั้งสามมีหนี้สินล้นพ้นตัวตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 8(9) แม้โจทก์จะยังมิได้นำยึดทรัพย์จำเลยทั้งสามตามหมายบังคับคดี แต่โจทก์ก็นำสืบว่าจำเลยทั้งสามไม่มีทรัพย์สินให้บังคับชำระหนี้ได้จำเลยทั้งสามมีหน้าที่ต้องนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าว
จำเลยที่ 3 อ้างว่าตนรับราชการมีเงินเดือน แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าหลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา จำเลยที่ 3 มิได้นำเงินเดือนดังกล่าวมาผ่อนชำระหนี้แก่โจทก์แต่อย่างใดประกอบกับเงินเดือนของจำเลยที่ 3 ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 286(2) โจทก์ย่อมไม่สามารถบังคับในคดีแพ่งให้จำเลยที่ 3 ชำระหนี้ด้วยเงินเดือนได้ ทั้งการที่อ้างว่าได้ทำสัญญาจะซื้อที่ดินของ ป. ในราคา 6 ล้านบาทเศษ โดยได้วางมัดจำเป็นเงิน 4 ล้านบาทเศษแล้วนั้น ก็ปรากฏจากบันทึกตกลงในสัญญาดังกล่าวว่าจำเลยที่ 3 ตกลงรับโอนที่ดินในวันที่ที่ระบุไว้ พร้อมกับชำระราคาที่ดินที่เหลืออีก 2 ล้านบาทเศษ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือว่าสัญญาเป็นอันเลิกกันและ ป. สามารถริบเงินมัดจำได้ ซึ่งเมื่อครบกำหนดเวลาดังกล่าวจำเลยที่ 3 ก็มิได้รับโอนและชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลือสัญญาดังกล่าวเป็นอันเลิกกัน จำเลยที่ 3 จึงไม่ใช่เจ้าของที่ดินที่จะโอนชำระหนี้แก่โจทก์ได้ ฉะนั้น ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่าพร้อมที่จะโอนที่ดินแปลงดังกล่าวชำระหนี้แก่โจทก์จึงฟังไม่ขึ้น


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9189/2544
               เจ้าหนี้ได้รับทรัพย์มรดกของผู้ตายได้แก่รถบรรทุกและเงินฝากธนาคารชำระหนี้แล้ว เมื่อหักกลบกับหนี้ ตามฟ้องแล้วจะเหลือหนี้ค้างชำระเพียงจำนวนเล็กน้อยประมาณ 10,000 บาท อีกทั้งไม่ปรากฏว่าผู้ตายเป็นลูกหนี้ บุคคลอื่นอีก รูปคดีจึงยังไม่พอฟังว่าลูกหนี้ที่ตายเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว กรณีมีเหตุที่ไม่ควรให้จัดการทรัพย์มรดก ของผู้ตายตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 82
   

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5272/2544
               ในชั้นพิจารณาคำขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลายจำเลยอุทธรณ์ 2 ประการ คือไม่มีเหตุที่จะถือว่าจำเลยทุจริตดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยประการหนึ่ง และคดีมีเหตุไม่สมควรให้จำเลยล้มละลายเนื่องจากมีการแก้ไขกฎหมายล้มละลายโดย พ.ร.บ. ล้มละลาย (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2542 กำหนดจำนวนหนี้ขั้นต่ำที่จะฟ้องคดีล้มละลายไว้ไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท และในคดีมีเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เพียง 4 ราย ขอให้ศาลอุทธรณ์หยิบยกมาตรา 14 ขึ้นพิจารณาอีกประการหนึ่ง แต่ศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยในปัญหาที่สองว่าจำเลยจะสามารถขอให้ศาลยกเหตุที่ไม่ควรให้จำเลยล้มลายตามมาตรา 14 มาพิจารณาในชั้นขอประนอมหนี้ได้หรือไม่ อย่างไร จึงเป็นกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่งตามมาตรา 243 (1) และมาตรา 247 ประกอบด้วย พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153 แต่เพื่อให้การพิจารณาคดีเป็นไปโดยรวดเร็วสมดั่งเจตนารมณ์ของกฎหมายล้มละลาย ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวนี้ไปเสียทีเดียว 
ในการพิจารณาคดีล้มละลายนั้น กฎหมายได้กำหนดลำดับขั้นตอนไว้อย่างชัดเจนแล้วกล่าวคือ เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย มาตรา 14 ลูกหนี้มีสิทธิทำคำขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลายตามมาตรา 45 เมื่อที่ประชุมเจ้าหนี้ลงมติพิเศษยอมรับคำขอประนอมหนี้ของลูกหนี้แล้วเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจขอต่อศาลให้สั่งว่าจะเห็นชอบหรือไม่ ซึ่งการพิจารณาในชั้นนี้ ห้ามมิให้ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย หากมีข้อเท็จจริงตามมาตรา 53 และมาตรา 54 ในชั้นพิจารณาว่าจะเห็นชอบกับการประนอมหนี้ก่อน ล้มละลายหรือไม่นั้น จึงต้องพิจารณาเพียงแต่ว่ามีเหตุที่ห้ามมิให้ศาลเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้หรือไม่เท่านั้น เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยกระทำการทุจริต จำเลยมิได้ฎีกาจึงเป็นอันยุติไป ส่วนที่ว่าจะมีเหตุไม่ควรให้จำเลย ล้มละลายหรือไม่เป็นเรื่องที่จะต้องยกขึ้นว่ากล่าวก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาด เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด คดีส่วนดังกล่าวถึงที่สุดไปแล้วจนถึงขั้นพิจารณาคำขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย จึงเป็นการล่วงเลยขั้นตอนที่จะหยิบยกเหตุดังกล่าวขึ้นวินิจฉัย
   

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2235/2544
               เงินเพิ่มตามประมวลรัษฎากรฯ มาตรา 27 บัญญัติให้คำนวณในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องเสียหรือนำส่งโดยไม่รวมเบี้ยปรับ และให้เริ่มคำนวณเงินเพิ่มเมื่อพ้นกำหนดเวลายื่นรายการหรือนำส่งภาษีจนถึงวันชำระหรือนำส่งภาษี และในกรณีที่มีการผ่อนชำระภาษีค้าง เงินเพิ่มดังกล่าวจึงลดลงเป็นสัดส่วนกับภาษีอากรที่ค้างชำระ โจทก์นำคดีมาฟ้องมีรายการภาษีค้างชำระ 1,363,492.11 บาท (ยังไม่รวมเงินเพิ่มตามกฎหมาย)ย่อมต้องถือว่า ณ วันฟ้องนั้นเอง โจทก์นำมูลหนี้จำนวน1,363,492.11 บาทมาฟ้องให้จำเลยทั้งสองล้มละลาย โจทก์มิได้คำนวณเงินเพิ่มมาให้ชัดเจน ทั้ง ๆ ที่สามารถคำนวณได้ในวันฟ้อง และแม้ว่าโจทก์จะยื่นคำแถลงถึงเงินเพิ่มที่จำเลยต้องชำระแต่ก็มิได้แก้ไขคำฟ้องให้ปรากฏ ดังนี้ การฟ้องล้มละลายต้องถือมูลหนี้ในวันที่ฟ้องคดี ซึ่งระหว่างสืบพยานจำเลย จำเลยทั้งสองได้ผ่อนชำระหนี้ค่าภาษีอากรค้างดังกล่าวแก่โจทก์ครบถ้วนแล้วเงินเพิ่มที่เกิดขึ้นภายหลังวันฟ้องจำนวน 227,118.54 บาท จึงไม่ใช่มูลหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องให้ล้มละลายเพราะไม่ใช่เป็นการฟ้องขอให้ชำระหนี้ทั้งหมดเช่นคดีแพ่งทั่วไป ลูกหนี้จึงนำสืบได้ว่าอาจชำระหนี้ได้ทั้งหมดแล้ว ชอบที่ศาลจะพิพากษายกฟ้อง
  

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2230/2544
               หนี้ภาษีอากรที่เป็นภาษีอากรค้าง อธิบดีกรมสรรพากรผู้ว่าราชการจังหวัด หรือนายอำเภอมีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ต้องรับผิดเสียภาษีอากรเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ดังกล่าวได้โดยไม่ต้องขอให้ศาลออกหมายยึดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 12 และมาตรา 30แต่ต้องดำเนินการภายใน 10 ปี นับแต่วันที่เกิดสิทธิตามบทกฎหมายดังกล่าว เมื่อจำเลยได้รับแบบแจ้งการประเมินในวันที่ 31 สิงหาคม 2530 จำเลยมิได้อุทธรณ์คัดค้านการประเมินการที่กรมสรรพากรโจทก์นำหนี้ภาษีอากรค้างมาฟ้องให้จำเลยล้มละลายเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2541 เป็นการล่วงเลยระยะเวลาที่โจทก์มีสิทธิบังคับชำระหนี้แล้ว ส่วนการที่จำเลยได้ชำระหนี้ให้โจทก์บางส่วนเป็นเพียงขั้นตอนในการบังคับชำระหนี้และวิธีการในการชำระหนี้เท่านั้น ไม่มีผลทำให้ระยะเวลาในการบังคับชำระหนี้ขยายออกไป โจทก์หมดสิทธิในการบังคับชำระหนี้แล้วจึงไม่อาจนำหนี้ดังกล่าวมาฟ้องจำเลยเป็นคดีล้มละลายได้
   

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 761/2544
               จำเลยเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาต้องชำระหนี้เงินกู้แก่จำเลย 450,000 บาท แต่สิทธิในการบังคับคดีดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 271 กำหนดให้เป็นสิทธิของคู่ความฝ่ายที่ชนะคดี (เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา) เท่านั้น ที่จะร้องขอให้บังคับคดีได้ โจทก์มิใช่บุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะคดี จึงไม่มีสิทธิตามมาตรา 271 และโจทก์ไม่อาจเข้าสวมสิทธิในการบังคับคดีของจำเลย ซึ่งเป็นสิทธิที่กฎหมายให้ไว้แก่บุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะคดี
โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยก่อนวันที่พระราชบัญญัติล้มละลาย(ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2542 ใช้บังคับและคดียังคงค้างพิจารณาอยู่ในศาลจึงต้องบังคับตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ที่เป็นกฎหมายว่าด้วยล้มละลายซึ่งใช้อยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 5)พ.ศ. 2542 ใช้บังคับตามพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2542มาตรา 34 จึงไม่อาจนำหลักเกณฑ์จำนวนหนี้ขั้นต่ำที่อาจฟ้องขอให้ลูกหนี้ล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลายฉบับดังกล่าวมาเปรียบเทียบและถือเป็นเหตุอันไม่สมควรให้จำเลยล้มละลายในคดีนี้ได้ กรณีจึงไม่มีเหตุที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 14
  

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 586/2544
               การที่จำเลยได้รับแจ้งการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลรอบระยะเวลาบัญชีประจำปี 2526 และ 2527 ถือว่าเจ้าพนักงานประเมินของกรมสรรพากรโจทก์ได้ใช้สิทธิเรียกร้องบังคับเอาแก่จำเลยแล้ว เป็นการที่เจ้าหนี้ได้กระทำการอันนับว่ามีผลเป็นอย่างเดียวกับการฟ้องคดี เพราะประมวลรัษฎากรมาตรา 12 ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ต้องรับผิดเสียภาษีอากรค้างได้โดยมิต้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีจึงเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/14(5) เมื่อเจ้าพนักงานประเมินกำหนดให้จำเลยชำระเงินค่าภาษีอากรภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมินโดยจำเลยได้รับหนังสือดังกล่าวเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2530 อายุความจึงเริ่มต้นนับใหม่เมื่อพ้น 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม 2530 ซึ่งอาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป
การยึดหรืออายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ต้องรับผิดเสียภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร มาตรา 12 วรรคสี่ ให้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งโดยอนุโลม จึงต้องใช้อำนาจภายในกำหนดเวลา 10 ปี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 271 นับแต่วันที่อาจใช้อำนาจตามมาตรานี้ได้ แต่กำหนดเวลาในการบังคับคดีตามมาตรา 271 มิใช่อายุความอันจะอยู่ในบังคับแห่งบทบัญญัติว่าด้วยอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จึงไม่อาจนำบทบัญญัติอายุความสะดุดหยุดลงมาใช้บังคับได้การที่โจทก์มีคำสั่งอายัดเงินมัดจำขวดและลังที่จำเลยมีสิทธิได้รับจากบริษัท บ. และบริษัทดังกล่าวส่งเงินอายัดให้โจทก์เมื่อวันที่ 30ธันวาคม 2534 ก็เป็นเพียงขั้นตอนในการบังคับคดีเท่านั้นไม่ใช่การกระทำอื่นใดอันมีผลเป็นอย่างเดียวกันกับการฟ้องคดีไม่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง เมื่อโจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 18มิถุนายน 2541 เกิน 10 ปี นับแต่วันที่ 26 มิถุนายน 2530ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ได้ใช้สิทธิเรียกร้องบังคับเอาแก่จำเลยแล้วโจทก์ย่อมหมดสิทธิที่จะบังคับคดีแก่จำเลย จึงไม่อาจนำหนี้มาฟ้องจำเลยให้ล้มละลายได้
   

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7703/2543
               แม้ผู้ร้องจะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของลูกหนี้ แต่ผู้ร้องยื่นคำขอรับชำระหนี้เกินกำหนดเวลาตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯมาตรา 91 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงได้ยกคำขอรับชำระหนี้ของผู้ร้องดังนี้ ผู้ร้องจึงมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียที่จะมีสิทธิขอให้ศาลสั่งยกเลิกการล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 135 ได้ นอกจากนั้นเหตุต่าง ๆ ที่ผู้ร้องยกขึ้นอ้างในคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายของลูกหนี้นั้นล้วนแต่เป็นเหตุที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดซึ่งเป็นข้อที่ศาลชั้นต้นจะพึงหยิบยกขึ้นวินิจฉัยก่อนที่จะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 14 คือถ้ามีเหตุดังกล่าวก็ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลาย ศาลก็จะพิพากษายกฟ้อง แต่เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดและถึงที่สุดแล้ว ผู้ร้องก็ไม่มีสิทธิที่จะหยิบยกเอาเหตุดังกล่าวมาขอให้ศาลสั่งยกเลิกการล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 135(2) ได้อีก
  

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6830/2543
               ศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยให้ครบถ้วนตามประเด็นแห่งคดีของโจทก์เป็นกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่ง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 141(5),246 ประกอบพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153 แต่โจทก์ได้ยกปัญหาดังกล่าวเป็นข้อฎีกาขึ้นมาแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยตามปัญหาข้อนี้โดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่
ศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดก็ต่อเมื่อข้อเท็จจริงในทางพิจารณาได้ความว่าลักษณะของจำเลยต้องด้วยกฎเกณฑ์ตามกฎหมายที่ศาลจะพิพากษาให้เป็นคนล้มละลายได้แล้ว แต่กฎหมายกำหนดให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดเสียก่อน เพื่อให้จำเลยได้มีโอกาสขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลายหากไม่มีการประนอมหนี้หรือการประนอมหนี้ไม่ได้รับการยอมรับจากที่ประชุมเจ้าหนี้และศาลมีคำสั่งเห็นชอบแล้ว ศาลต้องพิพากษาให้จำเลยล้มละลายตามมาตรา 61 ทันที คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจึงเป็นคำสั่งชี้ขาดคดีมีผลเป็นคำพิพากษา ดังนั้น คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้พิจารณาใหม่ภายหลังเมื่อมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดจึงมิใช่คำสั่งในระหว่างพิจารณาและไม่ต้องห้ามอุทธรณ์
เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้พิจารณาใหม่แล้ว โจทก์ได้ยื่นคำแถลงขอคัดและถ่ายเอกสารคำเบิกความพยานโจทก์รายงานกระบวนพิจารณารายงานเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์พร้อมเอกสารประกอบรายงาน คำสั่งให้พิจารณาใหม่เพื่อใช้ประกอบการเขียนอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตแล้ว แต่จนกระทั่งก่อนครบกำหนดอุทธรณ์ 1 วัน และเป็นวันที่โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์เจ้าหน้าที่ศาลชั้นต้นก็ยังไม่สามารถจัดการให้โจทก์ได้รับสำเนาเอกสารดังกล่าวซึ่งเป็นเรื่องนอกเหนือการบังคับของโจทก์ ถือเป็นกรณีที่มีพฤติการณ์พิเศษ ชอบที่ศาลชั้นต้นจะขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้โจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ประกอบพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153
เมื่อศาลฎีกาเห็นสมควรขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้ถึงวันตามที่โจทก์ขอ อุทธรณ์ของโจทก์ซึ่งได้ยื่นต่อศาลชั้นต้นในวันดังกล่าวจึงเป็นอุทธรณ์ที่ได้ยื่นต่อศาลชั้นต้นภายในกำหนดที่ศาลฎีกาขยายระยะเวลาให้ ชอบที่จะรับฎีกาโจทก์ไว้ดำเนินการต่อไป
อุทธรณ์ในส่วนที่เป็นการโต้แย้งคัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้เลื่อนการอ่านคำพิพากษาให้จำเลยล้มละลาย ซึ่งเป็นคำสั่งที่แยกได้ต่างหากจากคำสั่งระหว่างพิจารณาในการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลย โจทก์มิได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวภายในกำหนดระยะเวลาตามกฎหมายและไม่ได้ขอขยายระยะเวลาไว้เป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงไม่อาจรับไว้ดำเนินการได้
   

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5429/2543  

               แม้จำเลยจะเพิ่งได้รับโอนที่ดินมาภายหลังที่โจทก์ฟ้องคดีล้มละลายแล้วย่อมเป็นทรัพย์สินที่โจทก์สามารถบังคับชำระหนี้ได้ หามีกฎหมายกำหนดว่าต้องเป็นทรัพย์สินที่มีอยู่ก่อนฟ้องคดีล้มละลายไม่ จำเลยจึงไม่ใช่บุคคลมีหนี้สินล้นพ้นตัวไม่ควรให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย
   

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4287/2543
               การพิจารณาว่าลูกหนี้ร่วมคนใดมีหนี้สินล้นพ้นตัวไม่สามารถชำระหนี้ได้หรือมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลายนั้น เป็นเรื่องเฉพาะตัวของลูกหนี้ร่วมแต่ละคน แม้ข้อเท็จจริงจะฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 มีหนี้สินล้นพ้นตัว แต่เมื่อโจทก์นำสืบว่า จำเลยที่ 2 ต้องข้อสันนิษฐานว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัวโดยจำเลยที่ 2 มิได้นำพยานเข้าสืบให้ศาลเห็นเป็นอย่างอื่นจึงต้องฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 2 มีหนี้สินล้นพ้นตัว และการที่จำเลยที่ 1 มีทรัพย์สินพอที่จะชำระหนี้แก่โจทก์ได้ ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยที่ 2 ล้มละลาย


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3687/2543
               ในคดีล้มละลาย ศาลต้องพิจารณาให้ได้ความจริงว่าจำเลยเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 14 ประเด็นพิพาทในคดีจึงมีว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่
คดีก่อน โจทก์นำมูลหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมมาฟ้องขอให้จำเลยกับห้างหุ้นส่วนจำกัด ล. และ ส. ล้มละลาย แต่ศาลวินิจฉัยชี้ขาดข้อเท็จจริงว่า ส. ยังมีที่ดินอีก 11 แปลง ที่โจทก์อาจยึดมาชำระหนี้ได้ คดียังฟังไม่ได้ว่าจำเลยกับห้างหุ้นส่วนจำกัด ล. และ ส. ไม่มีทรัพย์สินที่จะพึงยึดมาชำระหนี้จำเลยจึงไม่เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว การที่โจทก์กลับนำมูลหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมดังกล่าวมาฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายอีกโดยอ้างว่า เมื่อได้ยึดที่ดินของ ส. ที่ปลอดจำนองทั้งหมดอีก 6 แปลงแล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาไว้ไม่พอชำระหนี้โจทก์ทั้งหมด และจำเลยไม่มีทรัพย์สินที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้ ก็เป็นเหตุดังที่เคยอ้างและศาลได้วินิจฉัยชี้ขาดไปแล้วในคดีก่อนเมื่อคู่ความในคดีก่อนกับคดีนี้เป็นคู่ความเดียวกันเป็นมูลหนี้ตามคำพิพากษาเดียวกันและเหตุที่อ้างว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวก็เป็นมูลเหตุเช่นเดียวกันซึ่งศาลได้พิพากษาคดีถึงที่สุดแล้ว จึงเป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 วรรคหนึ่งประกอบด้วยมาตรา 153 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3242/2543
               จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกและทายาทของ ด. ยอมรับสภาพหนี้ของ ด. ต่อโจทก์ มีผลผูกพันกองมรดกของ ด. เท่านั้นที่จะต้องรับผิดในหนี้สินตามที่ปรากฏในหนังสือรับสภาพหนี้ ไม่อาจถือได้ถึงขนาดว่าจำเลยยอมเข้าผูกพันตนเป็นลูกหนี้แทนในลักษณะแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ จำเลยจึงมิใช่ลูกหนี้โดยตรงของโจทก์
แม้จำเลยจะเป็นทายาทมีสิทธิรับมรดกแต่ก็รับผิดไม่เกินทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ตน โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ไม่อาจก้าวล่วงไปบังคับเอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่มิใช่ทรัพย์มรดก ประกอบกับหนี้ตามฟ้องเป็นหนี้ที่ ด. ก่อขึ้นเอง หาก ด. ยังคงมีชีวิตอยู่ ด. อาจถูกฟ้องขอให้ล้มละลายได้ ด. จึงมีหน้าที่และความรับผิดตามกฎหมายล้มละลายต่อโจทก์และเป็นหน้าที่และความรับผิดโดยเฉพาะของ ด. ไม่ใช่เป็นมรดกที่จะตกทอดแก่จำเลยผู้เป็นทายาทหรือผู้จัดการมรดกของ ด. โจทก์จึงนำหนี้ตามฟ้องมาฟ้องจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ ด. ให้ล้มละลายไม่ได้แต่ชอบที่จะฟ้องขอให้จัดการทรัพย์มรดกของ ด. ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 82
   

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3181/2543
               เมื่อโจทก์นำพยานเข้าสืบฟังได้ว่าจำเลยต้องข้อสันนิษฐานว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัวแล้วก็เป็นหน้าที่ของจำเลยจะต้องนำพยานมาสืบหักล้างข้อสันนิษฐาน เมื่อจำเลยไม่ยื่นคำให้การและยังขาดนัดพิจารณาอีกด้วย จึงต้องฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวแล้ว ข้อเท็จจริงที่ว่าโจทก์ปล่อยปละละเลยไม่ดำเนินการบังคับคดี เมื่อระยะเวลาในการบังคับคดีใกล้จะสิ้นสุดจึงมาฟ้องคดี ทำให้มีการคำนวณดอกเบี้ยเรื่อยมาและเป็นจำนวนมากนั้น เป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายและเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริต จะถือเป็นกรณีที่มีเหตุไม่ควรให้จำเลยล้มละลายหาได้ไม่
  

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2900/2543
               กำหนดระยะเวลาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 เป็นระยะเวลาที่กำหนดไว้ในกฎหมายวิธีสบัญญัติ มิใช่เรื่องอายุความแห่งสิทธิเรียกร้องอันจะอยู่ในบังคับแห่งบทบัญญัติว่าด้วยอายุความตาม ป.พ.พ.อันเป็นกฎหมายสารบัญญัติ จึงไม่อาจนำบทบัญญัติเกี่ยวกับอายุความสะดุดหยุดลงมาใช้บังคับแก่กำหนดระยะเวลาบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งได้ 
โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองภายในกำหนด10 ปี และจำเลยนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์บางส่วน เป็นเพียงขั้นตอนในการบังคับคดีเมื่อหนี้ที่ค้างชำระโจทก์มิได้ดำเนินการบังคับคดีเสียภายใน 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาโจทก์ย่อมหมดสิทธิที่จะบังคับคดีแก่จำเลยแล้ว โจทก์จึงไม่อาจนำหนี้ที่พ้นกำหนดเวลาบังคับคดีมาฟ้องจำเลยให้ล้มละลายได้
   

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1564/2543
               จำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตายก่อนที่ศาลอุทธรณ์จะมีคำพิพากษาให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาด ถือว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ถึงแก่ความตายในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์จึงไม่อาจมีคำพิพากษาให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14 ได้ กรณีเช่นว่านี้โจทก์อาจขอให้จัดการทรัพย์มรดกของจำเลยที่ 1 โดยโจทก์จะต้องขอให้เรียกทายาทหรือผู้จัดการมรดกหรือผู้ปกครองทรัพย์เข้ามาแก้คดีแทนลูกหนี้ที่ตายนั้น ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 83 และ 87 ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ก่อน การที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาดจึงไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา ศาลฎีกาให้ศาลอุทธรณ์ดำเนินกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ใหม่
การที่ศาลออกหมายบังคับคดี แต่จำเลยที่ 2 ไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้นั้น เข้าข้อสันนิษฐานว่าจำเลยที่ 2 มีหนี้สินล้นพ้นตัวตามมาตรา 8(5) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 จำเลยที่ 2 จึงมีหน้าที่ต้องนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าว แต่พยานหลักฐานของจำเลยที่ 2 คงมีเพียงคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นการเบิกความกล่าวอ้างลอย ๆ หามีน้ำหนักไม่ เมื่อข้อนำสืบของจำเลยที่ 2 ไม่อาจหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าว คดีจึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 มีหนี้สินล้นพ้นตัว และไม่อาจชำระหนี้โจทก์ได้ทั้งหมด ทั้งไม่มีเหตุที่ไม่ควรให้จำเลยที่ 2 ล้มละลาย
 

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8799/2542
               โจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์ ดำเนินธุรกิจเพื่อหากำไร การที่โจทก์รับจำนองที่ดินในราคา 8,000,000 บาท เป็นการแสดงให้เห็นว่าที่ดินดังกล่าวมีราคาที่แท้จริงสูงกว่า 8,000,000 บาท หากโจทก์ตรวจสอบทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ให้ดีก่อนฟ้องคดีนี้แล้ว โจทก์ย่อมทราบว่าจำเลยที่ 2 มีที่ดินที่จำนองแก่โจทก์อีก 5 แปลง ซึ่งสามารถยึดมาชำระหนี้จำนองได้และยังมีเงินเหลือที่จะนำมาชำระหนี้ในคดีนี้ได้อีกด้วย ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 มีทรัพย์สินพอที่จะชำระหนี้โจทก์ได้ทั้งหมด 
แม้หนี้ตามคำพิพากษาที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดเป็นหนี้ร่วม และจำเลยที่ 2 มีทรัพย์สินเพียงพอที่จะชำระหนี้ ให้โจทก์ได้ทั้งหมดก็ตาม แต่การมีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่เป็นเรื่องเฉพาะตัวของลูกหนี้ร่วมแต่ละคน และโจทก์สามารถเรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ได้เต็มจำนวน เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้ จึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าจำเลยที่ 1 มีหนี้สินล้นพ้นตัวตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 8 (5) นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ไม่เคยติดต่อชำระหนี้ให้แก่โจทก์แต่อย่างใด พฤติการณ์แห่งคดีจึงไม่มีเหตุที่ไม่ควรให้จำเลยที่ 1 ล้มละลาย
  

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5606/2542
               การที่ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้ยกเลิกการล้มละลายย่อมมีผลให้จำเลยทั้งสองหลุดพ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลาย และเท่ากับว่าศาลได้มีคำสั่งยกเลิกการพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองไปด้วยแล้วในตัวจึงไม่มีประโยชน์ที่จะพิจารณาฎีกาของจำเลยทั้งสองอีกต่อไป
 

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4604/2542
               การที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามให้ล้มละลายโดยอาศัยมูลหนี้ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นซึ่งเป็นสิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดยคำพิพากษาที่ถึงที่สุด มีอายุความ 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/32 และอายุความจะสะดุดหยุดลงได้ก็ต่อเมื่อมีกรณีตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา193/14 แต่การที่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์ของจำเลยออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์นั้นเป็นการกระทำเพื่อให้เกิดผลตามคำพิพากษามิใช่เป็นการกระทำการอื่นใดอันมีผลอย่างเดียวกันกับการฟ้องคดีอันเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตามมาตรา 193/14(5)ฉะนั้นการที่โจทก์นำหนี้ที่เหลือมาฟ้องให้จำเลยทั้งสามล้มละลายเมื่อพ้นกำหนด 10 ปีนับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ
 

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3789/2542
               หนี้ค่าธรรมเนียมและค่าภาษีอากรการโอนที่ดินยังเป็นประเด็นที่ต้องวินิจฉัยในชั้นตรวจคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อีกว่า โจทก์มีสิทธิจะได้รับชำระหนี้ค่าธรรมเนียมและค่าภาษีการโอนภายหลังจากจำเลยทั้งสองผิดนัดหรือไม่เพียงใดดังนั้นในชั้นนี้หนี้ค่าธรรมเนียมและค่าภาษีอากรการโอนที่ดินจึงยังไม่เป็นหนี้ที่สามารถกำหนด จำนวนที่แน่นอนได้ โจทก์จะนำมารวมเป็นหนี้ฟ้องจำเลยทั้งสองให้ล้มละลายหาได้ไม่ จำเลยที่ 2 รับราชการเป็นอาจารย์ระดับ 7 มีเงินเดือน ๆ ละ 14,070 บาทและเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินราคาประมาณ 1,300,000 บาท แม้จะติดจำนองสหกรณ์ออมทรัพย์จำนวน 800,000 บาท แต่ราคาที่ดินก็ยังสูงกว่าหนี้จำนองที่มีอยู่ ดังนั้นหนี้ที่จำเลยที่ 2 มีอยู่ต่อโจทก์เพียง 200,000 บาท จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 มีหนี้สินล้นพ้นตัว ส่วนจำเลยที่ 1 ไม่ปรากฏว่ามีทรัพย์สินอย่างใด เมื่อจำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือทวงถามจากโจทก์ให้ชำระหนี้ไม่น้อยกว่าสองครั้ง ซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวัน และจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ จึงเข้าข้อสันนิษฐานว่าเป็นบุคคลมีหนี้สินล้นพ้นตัวแล้ว ในคดีเดิมที่โจทก์จำเลยทั้งสองทำสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นโจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดในหนี้เพียง 337,500 บาท และดอกเบี้ยตามกฎหมายซึ่งจำเลยที่ 1 ยินยอมโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 692 ราคาทั้งแปลง 12,000,000 บาทและโจทก์รับโอนที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์แล้ว แม้โจทก์จะเบิกความว่าจำเลยที่ 1จำนองที่ดินดังกล่าวไว้แก่โจทก์เป็นเงินอีก 700,000 บาท แต่มูลค่าของราคาที่ดินที่โจทก์ได้รับเห็นได้ชัดว่าโจทก์ได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินของจำเลยในจำนวนที่สูงกว่าหนี้เดิมมากอันเป็นประโยชน์แก่โจทก์อย่างยิ่งแล้ว นับได้ว่าเป็นเหตุอื่นที่ไม่สมควรให้จำเลยที่ 1ล้มละลาย
 

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3778/2542
               จำเลยทั้งสองและ ส. ต่างเป็นลูกหนี้โจทก์ร่วมกัน โจทก์มีสิทธิเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้แต่คนใดคนหนึ่งสิ้นเชิงหรือแต่โดยส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือก แต่จำเลยทั้งสองกับ ส. ก็ยังคงต้องผูกพันอยู่จนกว่าหนี้นั้นจะได้ชำระเสร็จสิ้นตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 291 ดังนั้นการที่โจทก์บังคับคดียึดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 2 และของ ส. แต่ขายทอดตลาดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 2เพียงรายเดียว และรับชำระหนี้จาก ส. 7,200,000 บาท แล้วปลดจำนองให้ ส. นั้นจึงเป็นการใช้สิทธิของโจทก์ที่กระทำได้โดยชอบ การที่ศาลจะพิพากษาให้ผู้ใดล้มละลายเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาเป็นรายบุคคลเฉพาะบุคคลนั้น ๆ จะนำเหตุที่โจทก์ไม่ฟ้อง ส. ให้ล้มละลาย ทั้งที่ ส. เป็นลูกหนี้ร่วมกับจำเลยทั้งสองมาเป็นเหตุยกฟ้องโจทก์ย่อมไม่ได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่มีหลักฐานยืนยันถึงจำนวนเงินรายได้ต่อเดือนมาแสดง ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่มีหลักฐานเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดินมายืนยันอีกทั้งทรัพย์สินบางรายการก็ติดจำนอง กับเป็นมรดกระหว่างพี่น้องจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองอาจชำระหนี้ได้ทั้งหมดอันจะเป็นเหตุให้ศาลยกฟ้องตามมาตรา 14

 

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3470/2542
               การที่โจทก์ได้มีหนังสือส่งทางไปรษณีย์ตอบรับทวงถามให้จำเลยทั้งสี่ชำระหนี้โจทก์แล้วสองครั้งซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวันและจำเลยทั้งสี่ได้รับหนังสือแล้ว ไม่ชำระหนี้โจทก์ ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสี่มีทรัพย์สินอื่นอันจะพึงยึดมาชำระหนี้โจทก์ได้กรณีจึงเข้าข้อสันนิษฐานแล้วว่าจำเลยทั้งสี่มีหนี้สินล้นพ้นตัวตามพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 8(5)(9) นอกจากนี้ยังได้ความอีกว่า ว่าจำเลยเสนอขอทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อโจทก์และต่อบริษัทธนาคาร อ. ที่ฟ้องเรียกหนี้ประมาณ 800,000,000 บาทซึ่งจำเลยที่ 1 เองก็ยอมรับว่าไม่สามารถผ่อนชำระหนี้ให้แก่สถาบันการเงินได้ ดังนี้ เป็นกรณีลูกหนี้เสนอคำขอประนอมหนี้แก่เจ้าหนี้ตั้งแต่สองคนขึ้นไปตามมาตรา 8(8) แห่งพระราชบัญญัติ ล้มละลายฯ เมื่อจำเลยทั้งสี่มิได้นำสืบให้เห็นว่ามีทรัพย์สิน พอสามารถชำระหนี้ได้ทั้งหมดหรือมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลย ทั้งสี่ล้มละลาย ศาลจึงต้องสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลย ทั้งสี่เด็ดขาด
 

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1289/2542
               แม้จำเลยจะเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วซึ่งเป็นหนี้ที่ผูกพันจำเลยอันถือว่าเป็นหนี้จำนวนแน่นอนและเป็นหนี้โจทก์ไม่น้อยกว่าห้าหมื่นบาทก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดีทำการยึดทรัพย์ของจำเลยแล้วและได้ถอนการยึดทรัพย์เสียกรณีจึงไม่เข้าข้อที่จะสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 8(5) เมื่อโจทก์ขอถอนการ ยึดทรัพย์แล้ว ต่อมาจำเลยได้นำเงินจำนวน 170,000 บาท มาชำระแก่โจทก์ ซึ่งเป็นจำนวนที่ยังไม่ครบตามคำพิพากษา ประกอบกับภายหลังที่โจทก์บังคับคดียึดทรัพย์แล้ว โจทก์ไม่ได้ ยึดทรัพย์ของจำเลยรายการอื่น ๆ อีก แม้ภายหลังที่โจทก์ ฟ้องคดีแล้วจะทราบว่าจำเลยมีที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งเป็นทรัพย์ที่จำนองไว้กับโจทก์ยังเป็นทรัพย์ติดจำนองอยู่ แต่จำเลยก็ได้ผ่อนชำระเป็นรายเดือนมาโดยตลอดประกอบกับปัจจุบันจำเลยมีอาชีพเป็นผู้จัดการเขตของบริษัท ท.จำเลยยังมีทรัพย์สินและประกอบอาชีพเป็นหลักแหล่งมีรายได้แน่นอนเพียงพอที่จะขวนขวายนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ได้ทั้งไม่มีข้อเท็จจริงใด ๆ ที่พอจะแสดงได้ว่าจำเลยยังเป็นหนี้บุคคลหรือเจ้าหนี้รายอื่นอีก ข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานโจทก์จึงยังไม่เพียงพอแก่การพิจารณาหาความจริงว่าจำเลยเป็นบุคคลมีหนี้สินล้นพ้นตัวและสมควรจะเป็นบุคคลล้มละลายหรือไม่ ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 14
 

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1153/2542
               แม้จำเลยจะมีเงินเดือนประจำ และมีทรัพย์สินเป็น หุ้นอยู่ในสหกรณ์ออมทรัพย์กรมชลประทานก็ตาม แต่เงินเดือน ของจำเลยหลังจากหักค่าใช้จ่ายในครอบครัวแล้วคงเหลือ ประมาณ 2,000 บาท ซึ่งพอเพียงสำหรับการผ่อนชำระหนี้ ได้เฉพาะดอกเบี้ยเท่านั้น แต่จำเลยก็หาได้ชำระให้แก่โจทก์ไม่นอกจากนี้จำเลยยังเป็นหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์สูงเกินกว่าทุนเรือนหุ้นที่จำเลยถืออยู่ในสหกรณ์อีกด้วย ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ทั้งไม่มีเหตุที่ไม่ควรให้ล้มละลายตาม พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14
 

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 780/2542
               ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 8(5)เป็นเพียงข้อสันนิษฐานถึงพฤติการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งหรือเป็น เพียงเหตุหนึ่งที่กฎหมายให้อำนาจโจทก์ฟ้องจำเลยให้ ล้มละลายได้เท่านั้น ส่วนการพิจารณาคดีล้มละลายตามคำฟ้องของโจทก์นั้น ศาลต้องพิจารณาเอาความจริงด้วยว่าจำเลยตกอยู่ในฐานะเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวเพียงใด ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 มาตรา 10 และมาตรา 14 โดยคำนึงถึงเหตุอื่นประกอบที่พอแสดงให้เห็นว่าจำเลย ตกอยู่ในภาวะดังกล่าวจริง เดิมศาลจังหวัดนนทบุรีพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้จำนวน 170,784 บาทแก่โจทก์คดีถึงที่สุด แต่โจทก์ไม่สามารถสืบหาทรัพย์สินของจำเลยเพื่อนำยึดมาชำระหนี้ได้ โจทก์จึงฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ (ศาลจังหวัดนครสวรรค์) ซึ่งโจทก์นำสืบให้เห็นแต่เพียงว่าจำเลยไม่มีทรัพย์สินในเขตจังหวัดนนทบุรีและไม่เคยชำระหนี้ให้โจทก์ แต่หานำสืบให้เห็นด้วยว่าในเขตจังหวัดนครสวรรค์จำเลยก็ไม่มีทรัพย์สินเช่นเดียวกัน อีกทั้งเหตุที่โจทก์อ้างเป็นเหตุฟ้องจำเลยให้ล้มละลายนี้สืบเนื่องจากกล่าวอ้างว่าจำเลยไม่มีทรัพย์สินที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้โดยโจทก์ไม่มีหลักฐานอื่น สนับสนุนหรือนำมาประกอบให้เพียงพอที่จะแสดงหรือพิสูจน์ ให้เห็นได้เป็นข้อสำคัญว่า จำเลยไม่มีความสามารถชำระหนี้ หรือเป็นบุคคลตกอยู่ในสภาพมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สินแล้ว ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยยังเป็นลูกหนี้บุคคลอื่น ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว
 

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 752/2542
               จำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาถึงที่สุดซึ่งพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 40,500 บาท และร่วมกันคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดีแก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน 145,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์คืนหรือใช้ราคาแทน กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแทนโจทก์แม้หนี้ตามคำพิพากษาส่วนที่ให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ถือได้ว่าเป็นหนี้ที่กำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน แต่เมื่อรวมกับค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยชดใช้แก่โจทก์แล้วก็ยังมีจำนวนน้อยกว่า 50,000 บาทส่วนหนี้ตามคำพิพากษาส่วนที่ให้จำเลยร่วมกันคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อในสภาพใช้การได้ดีแก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน 145,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย เป็นการกำหนดให้จำเลยกระทำการชำระหนี้ทีละอย่างก่อนหลังตามลำดับ ไม่ใช่การอันมีกำหนดพึงกระทำเพื่อชำระหนี้มีหลายอย่างอันจำเลยจะพึงเลือกได้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 198หนี้ตามคำพิพากษาที่จำเลยจะต้องกระทำก่อนจึงเป็นหนี้ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืน เมื่อโจทก์ยังคงมีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่เช่าซื้อและมีสิทธิติดตามเอาคืนจากจำเลย และจำเลยมีหน้าที่ต้องส่งคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อในสภาพใช้การได้ดี หากคืนไม่ได้จึงจะใช้ราคาแทน และปรากฏว่ารถยนต์ที่เช่าซื้อยังมีอยู่และโจทก์สามารถบังคับให้จำเลยคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อได้ กรณีจึงไม่แน่นอนว่าหนี้ที่จะบังคับให้ใช้ราคาแทนการส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อจะมีหรือไม่ หนี้ตามคำพิพากษาส่วนนี้จึงเป็นหนี้ที่ไม่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน ดังนี้โจทก์จึงฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายในหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวไม่ได้ คดีล้มละลาย โจทก์อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่พิพากษายกฟ้องโจทก์ เป็นการอุทธรณ์คำพิพากษาตามคำฟ้องขอให้ล้มละลาย ต้องเสียค่าขึ้นศาลสำหรับคำฟ้องอุทธรณ์ 50 บาทตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 179(1)
   

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 737/2542
               โจทก์นำมูลหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งที่ถึงที่สุดมาฟ้อง ขอให้จำเลยล้มละลายโดยมูลหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวเกิดจากจำเลยผิดสัญญาประกันผู้ต้องหาต่อโจทก์และ ในการประกันผู้ต้องหานั้น จำเลยได้นำที่ดินตาม น.ส.3 ของบุคคลภายนอกวางเป็นหลักประกันไว้ ขณะที่จำเลยยื่น คำร้องขอประกันและทำสัญญาประกันผู้ต้องหาโดยมิได้จดทะเบียน จำนอง โจทก์จึงไม่ใช่ผู้มีสิทธิเหนือทรัพย์สินของจำเลย ในที่ดินที่เป็นหลักประกันถือไม่ได้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตาม คำพิพากษาเป็นเจ้าหนี้มีประกัน ดังนั้นโจทก์จึงสามารถฟ้องจำเลยให้ล้มละลายได้ตาม พระราชบัญญัติล้มละลายฯมาตรา 9 โดยมิต้องปฏิบัติตามความในมาตรา 10 จำเลยได้รับหนังสือทวงถามจากโจทก์ให้ชำระหนี้แล้วไม่น้อยกว่าสองครั้ง มีระยะห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวันจำเลยไม่ชำระหนี้ และไม่ปรากฏว่าจำเลยมีทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่งที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้ พฤติการณ์ของจำเลยจึงเข้าข้อสันนิษฐานว่าเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 8(5)(9)


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 478/2542
               ข้อที่จำเลยฎีกาว่า มีทรัพย์สินเพียงพอชำระหนี้ดังที่ บรรยายมาในฎีกาเพื่อแสดงว่าจำเลยสามารถชำระหนี้ทั้งหมดของโจทก์ได้นั้น เป็นการล่วงพ้นเวลาที่จำเลยจะพิสูจน์ว่าสามารถชำระหนี้ได้ เพราะจำเลยมิได้นำสืบไว้ให้ปรากฏ ในชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้นทั้งเมื่อจำเลยเป็นหนี้โจทก์ ตามคำพิพากษาและศาลได้หมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี บังคับเอาชำระหนี้ของจำเลยแล้ว จำเลยก็มิได้ขวนขวายหาเงิน มาชำระหนี้หรือเอาทรัพย์สินมาตีใช้หนี้โจทก์ การที่จำเลยอ้าง ขึ้นมาในชั้นฎีกาว่า มีทรัพย์สินพอชำระหนี้โจทก์ได้ทั้งหมดนั้น จำเลยควรแถลงข้อความจริงและส่งมอบทรัพย์สินต่าง ๆเหล่านั้นให้แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เพราะทรัพย์สินต่าง ๆของจำเลยเป็นทรัพย์สินในคดีล้มละลายอันอาจแบ่งแก่เจ้าหนี้ทั้งหลายได้ กรณีจึงไม่มีเหตุที่ไม่สมควรให้จำเลยล้มละลาย
   

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6669/2541
               แม้ทรัพย์สินของจำเลยจะติดจำนองธนาคารก็ถือว่าทรัพย์สินดังกล่าวยังเป็นทรัพย์สินของจำเลย ทั้งไม่ปรากฏว่าธนาคารอื่น ๆ ที่รับจำนองทรัพย์สินของจำเลยไว้มีการบังคับจำนองบ้างแล้วหรือไม่ หรือมีจำนวนหนี้จำนองท่วมราคาทรัพย์หรือไม่ก็ไม่มีหลักฐานปรากฏ ประกอบกับจำเลยได้พยายามติดต่อโจทก์เพื่อขอชำระหนี้มิได้หลบหนี ดังนั้น เมื่อโจทก์ยังมิได้ดำเนินการขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยเพื่อจัดการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของจำเลยนำเงินมาชำระหนี้ ทั้งการฟ้องคดีล้มละลายที่จะขอให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลายมิใช่เป็นการฟ้องคดีเพื่อบังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้แก่เจ้าหนี้โดยตรง แต่เป็นเพียงวิธีการจัดการทรัพย์ของลูกหนี้เพื่อชำระหนี้แก่บรรดาเจ้าหนี้ของลูกหนี้ด้วยแล้ว เมื่อจำเลยยังมีทรัพย์สินที่เป็นอสังหาริมทรัพย์และจำเลยยังมีอาชีพประกอบกิจการค้าขายยังพอมีรายได้จึงมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6058/2541
               บทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 60มีความหมายชัดแจ้งว่า เมื่อศาลมีคำสั่งยกเลิกการประนอมหนี้แล้ว ต้องพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายสถานเดียว จะกลับไปใช้มาตรา 14 มาใช้บังคับแก่กรณีนี้มิได้ เพราะบทบัญญัติดังกล่าวต้องใช้บังคับแก่กรณีที่ยังไม่ได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ดังนั้นเมื่อศาลได้มีคำสั่งยกเลิกการประนอมหนี้แล้ว ศาลจึงต้องพิพากษาให้จำเลยล้มละลายตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5035/2541
               โจทก์นำหนี้ตามคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุดแล้วมาเป็น มูลฟ้องขอให้จำเลยล้มละลาย มิใช่เรื่องการบังคับตาม คำพิพากษาหรือคำสั่ง ตามที่บัญญัติไว้ในภาค 4 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง จึงไม่อาจนำบทบัญญัติเกี่ยวกับระยะเวลาการบังคับคดีตามมาตรา 271 มาบังคับแก่กรณีนี้ได้ แต่เป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องจำเลยกับพวกให้ล้มละลายโดย อาศัยมูลหนี้ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ซึ่งเป็นสิทธิเรียกร้องอันตั้งหลักฐานขึ้นโดยคำพิพากษาที่ถึงที่สุดมีอายุความ 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/32 การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายภายในกำหนดอายุความ 10 ปี นับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุด โจทก์จึงมีสิทธินำหนี้ดังกล่าวมาฟ้องให้จำเลยกับพวกล้มละลายได้ และย่อมมีผลเท่ากับเป็น การฟ้องคดีเพื่อให้ชำระหนี้อย่างหนึ่งตามวิธีการที่พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 บัญญัติไว้โดยเฉพาะอันทำให้อายุความสะดุดหยุดลง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/14(2) กรณีมิใช่เรื่องการบังคับคดี จึงต้องเริ่มนับอายุความโดยเริ่มนับแต่เหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงคือ ถัดจากวันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 500,000 บาท และจำเลยที่ 2 ที่ 3เป็นบุคคลธรรมดาเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาไม่น้อยกว่า 50,000บาท และจำเลยทั้งสามไม่มีทรัพย์สินอื่นใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้ ซึ่งต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 8(5) ว่าเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว จึงชอบที่ศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสามเด็ดขาด ตามมาตรา 14
       

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4046/2541
               จำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ห้องชุดและเป็นเจ้าของที่ดินมีโฉนดซึ่งมีราคาประเมินที่ทางราชการรับรองมีมูลค่ารวมกันแล้วเกินกว่าหนึ่งล้านบาททั้งจำเลยยังประกอบอาชีพเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทเอกชน มีรายได้เดือนละ70,000 บาท เชื่อได้ว่าจำเลยมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สินที่มีต่อโจทก์จำนวน 729,345 บาท และจำเลยยังประกอบอาชีพที่มีรายได้สูงพอที่จะชำระหนี้ให้โจทก์ได้และแม้ว่าที่ดินและห้องชุดดังกล่าวจำเลยจะได้รับโอนกรรมสิทธิ์มาภายหลังจากที่โจทก์ได้ฟ้องคดีล้มละลายแล้วก็ตามแต่ทรัพย์สินของจำเลยที่โจทก์อาจบังคับชำระหนี้ได้นั้นไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินที่จำเลยมีอยู่ก่อนหรือได้มาภายหลังจากที่จำเลยถูกโจทก์ฟ้องคดีล้มละลายแล้ว ย่อมเป็นทรัพย์สินที่โจทก์สามารถบังคับชำระหนี้ได้ หามีกฎหมายกำหนดว่าต้องเป็นทรัพย์สินที่มีอยู่ก่อนฟ้องคดีล้มละลายไม่ จำเลยจึงมิใช่บุคคลมีหนี้สินล้นพ้นตัวที่ควรพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย
   

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3101/2541
               ในการตรวจคำขอรับชำระหนี้และทำความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เสนอต่อศาลเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจเต็มที่ที่จะสอบสวนและมีความเห็นในเรื่องหนี้ที่เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ และศาลย่อมมีอำนาจพิจารณาสั่งตามมาตรา106 และมาตรา 107 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 แม้มูลหนี้เดิมตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจะขาดอายุความตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนเสนอความเห็นต่อศาลก็ตาม แต่มูลหนี้ที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้รายนี้โดยสภาพแห่งหนี้มิใช่หนี้ที่เจ้าหนี้จะฟ้องร้องให้บังคับคดีไม่ได้ เมื่อเจ้าหนี้ฟ้องลูกหนี้ให้ชำระเงินตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีและศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลูกหนี้ชำระหนี้แก่โจทก์แล้ว ทั้งก่อนที่เจ้าหนี้จะยื่นคำขอรับชำระหนี้ เจ้าหนี้ก็ได้อาศัยหนี้ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลาย ลูกหนี้ก็ไม่ได้ให้การต่อสู้เป็นประเด็นไว้ว่ามูลหนี้หรือสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ขาดอายุความ จนศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว จึงมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาดคดีแพ่งและคดีล้มละลายถึงที่สุดแล้ว ดังนี้ หนี้ตามคำขอรับชำระหนี้รายนี้ย่อมมิใช่หนี้ที่จะฟ้องร้องให้บังคับคดีไม่ได้จึงไม่ต้องห้ามมิให้เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ตามความในมาตรา 94(1) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะยกอายุความเป็นเหตุ ขอให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้หาได้ไม่
   

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1970/2541
              โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยรับผิดตามสัญญาเช่า ขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารกับให้ใช้ค่าเสียหาย เมื่อปรากฎว่าศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยชั่วคราวแล้วตั้งแต่ก่อนโจทก์ยื่นฎีกา ซึ่งเมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้วเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอำนาจในการเก็บรวบรวมและรับเงิน หรือทรัพย์สินซึ่งจะตกได้แก่ลูกหนี้หรือซึ่งลูกหนี้มีสิทธิจะได้รับจากผู้อื่น แม้แต่คำสั่งของศาลที่ให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ไว้ชั่วคราว หรือหมายบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้นั้นก็จะใช้ยันแก่ จ.พ.ท.ของลูกหนี้ไม่ได้ตาม พ.ร.บ ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 (2) และมาตรา 110 วรรคหนึ่ง ดังนั้นโจทก์จึงไม่อาจจะฎีกาขอให้ศาลในคดีนี้มีคำสั่งกำหนดวิธีการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของโจทก์โดยให้เจ้าพนักงานบังคับคดีหรือตัวแทนของโจทก์เข้าไปตรวจสอบรายรับรายจ่ายของรายได้จากเงินค่าเช่าทรัพย์สินที่พิพาท แล้วให้นำเงินค่าเช่าบางส่วนหลังจากหักค่าใช้จ่ายมาวางศาลในระหว่างการพิจารณาตาม ป.วิ.พ มาตรา 264 ได้
    
               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1196/2541
               พ.และย. ร่วมกันลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของโจทก์มอบอำนาจให้ น. มีอำนาจกระทำการต่าง ๆตามที่ระบุไว้ รวมทั้งมีอำนาจฟ้องและดำเนินคดีล้มละลายทุกศาลแทนโจทก์ได้ ขณะ พ. ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจนั้น พ. ยังเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์ หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวจึงมีผลให้ น. มีอำนาจฟ้องคดีล้มละลายแทนโจทก์ได้ทั้งหนังสือมอบอำนาจปิดอากรแสตมป์ 30 บาท อันแสดงว่าโจทก์มอบอำนาจให้กระทำการแทนโจทก์ได้มากกว่าครั้งเดียวดังนี้ ตราบใดโจทก์ยังมิได้ยกเลิกหรือเพิกถอนหนังสือมอบอำนาจดังกล่าว น. ย่อมมีอำนาจกระทำการต่าง ๆ ตามที่ระบุไว้ทั้งหมดแทนโจทก์ได้ตลอดไป แม้ต่อมาภายหลังขณะยื่นฟ้องนั้นพ. จะมิได้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์อีกต่อไปก็ตามเพราะการที่ พ.และย. ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของโจทก์นั้นเป็นการมอบอำนาจในนามโจทก์ น. จึงมีอำนาจฟ้องและดำเนินคดีนี้แทนโจทก์ มูลหนี้ที่โจทก์ฟ้องเป็นหนี้ที่จำเลยที่ 1เบิกเงินเกินบัญชีและหนี้ที่เกิดจากการที่จำเลยที่ 1ขายลดเช็คตามสัญญาขายลดเช็คพร้อมดอกเบี้ย หนี้ดังกล่าวจึงเป็นหนี้ที่กำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน ส่วนที่โจทก์ตีราคาหลักประกันมาในฟ้องเป็นการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติล้มละลายมาตรา 10(2) ที่ให้กระทำเช่นนั้น เพียงแต่เมื่อหักกับจำนวนหนี้ของตนแล้ว เงินยังขาดอยู่สำหรับลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 50,000 บาท หรือลูกหนี้ซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 500,000 บาทก็ฟ้องเป็นคดีล้มละลายได้โดยไม่จำต้องฟ้องเป็นคดีแพ่งและนำยึดหลักประกันออกขายทอดตลาดก่อน ที่จำเลยที่ 2ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ทั้งที่มีอยู่แล้วขณะค้ำประกันและที่จะมีขึ้นต่อไปในภายหน้า โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 เป็นจำนวนเงิน 5,000,000 บาทเมื่อจำเลยที่ 1 เป็นหนี้ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 8,423,598.91บาท โจทก์ตีราคาหลักประกันเป็นเงิน 3,856,300 บาทเมื่อหักกันจำนวนหนี้ดังกล่าวเงินยังขาดอยู่ 4,567,298.91บาท อันเป็นจำนวนเงินที่กำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนซึ่งจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ในจำนวนเงินดังกล่าวแก่โจทก์ โจทก์จึงฟ้องให้จำเลยที่ 2 ล้มละลายได้ จำเลยที่ 2 ได้รับหนังสือทวงถามจากโจทก์ให้ชำระหนี้ดังกล่าวแล้ว 2 ครั้ง แต่ละครั้งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน และจำเลยที่ 2 ไม่ชำระหนี้จึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่า จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว ที่จำเลยที่ 2นำสืบว่า มีรถยนต์บรรทุกหลายคันคงมีแต่จำเลยที่ 2คนเดียวเบิกความลอย ๆ ไม่มีพยานหลักฐานอื่นสนับสนุนข้ออ้างของจำเลยที่ 2 ให้เห็นว่าเป็นความจริง ส่วนจำเลยที่ 2นำสืบว่าจำเลยที่ 2 ประกอบการขนส่งเมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วมีรายได้เดือนละ 30,000 บาท ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2ได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ทั้งที่จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ในจำนวนหนี้ของจำเลยที่ 1 ดังวินิจฉัยมาข้างต้นหาใช่ไม่มีหน้าที่ต้องรับชำระหนี้แก่โจทก์ดังที่จำเลยที่ 2ฎีกาไม่ พยานหลักฐานของจำเลยที่ 2 ไม่อาจหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 มีหนี้ล้นพ้นตัว


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 356/2541
               จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด ซึ่งต้องรับผิดในหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 โดยไม่จำกัดจำนวนเมื่อจำเลยที่ 1 เป็นหนี้ภาษีอากร โจทก์จึงนำหนี้ภาษีอากรของจำเลยที่ 1 มาฟ้องจำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียวขอให้ล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 9 ได้ การที่โจทก์นำหนี้ภาษีอากรของจำเลยที่ 1 มาฟ้องจำเลยทั้งสองให้ล้มละลายเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์ย่อมอุทธรณ์เฉพาะคดีสำหรับจำเลยที่ 2 ได้โดยไม่จำเป็นต้องอุทธรณ์คดีสำหรับจำเลยที่ 1ด้วย เพียงแต่การพิจารณาคดีสำหรับจำเลยที่ 2 ศาลต้องพิจารณาเอาความจริงตามมาตรา 9 ตามที่พระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 14 บัญญัติไว้ กรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 89 ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์อ้างว่า โจทก์จะอุทธรณ์เพื่อให้จำเลยที่ 2 ล้มละลายแต่ลำพังไม่ได้และไม่รับวินิจฉัยและพิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์ จึงเป็นการไม่ชอบ
   

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7848/2540
              แม้จำเลยจะเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว แต่หนี้ตามที่โจทก์ฟ้องเป็นหนี้ค่าอุปการะเลี้ยงดูที่จำเลยยอมจะจ่ายให้โจทก์ตามกฎหมายและหน้าที่ทางศีลธรรมซึ่งกำหนดให้มีการชำระเป็นงวด ๆ ในจำนวนไม่มากนัก ส่วนหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูนั้น จำเลยก็ถูกหักเงินเดือนเพื่อผ่อนชำระหนี้ดังกล่าวอยู่ อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เงินเดือนของจำเลยเหลือไม่พอจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูให้แก่โจทก์ ทั้งยังได้ความอีกว่า จำเลยยินยอมให้โจทก์รับเงินเดือนส่วนที่เหลือได้ แต่โจทก์ไม่ยอมรับเพราะเห็นว่าไม่ครบตามจำนวนที่ตกลงไว้ แสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาที่จะปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความด้วยดี แต่โจทก์กลับไม่ยอมรับ เมื่อคำนึงถึงว่าขณะโจทก์จำเลยหย่ากันนั้นมีทรัพย์สินเช่นบ้านและที่ดินเป็นสินสมรสแต่จำเลยก็ยกให้โจทก์ทั้งหมด โดยจำเลยไม่ต้องการส่วนแบ่งในทรัพย์สินดังกล่าวแต่อย่างใด รูปคดีจึงมีเหตุที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14
 

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7268/2540
               การที่โจทก์นำหนี้ตามคำพิพากษาอันเป็นสิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดยคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุดซึ่งมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/32 มาเป็นมูลฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาย่อมมีผลเท่ากับเป็นการฟ้องคดีเพื่อให้ชำระหนี้อย่างหนึ่งตามวิธีการที่พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 บัญญัติไว้โดยเฉพาะ อันทำให้อายุความสะดุดหยุดลง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14(2)
ขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาและการที่การฟ้องคดีนี้มีผลทำให้อายุความแห่งสิทธิเรียกร้องในหนี้ตามคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุดสะดุดหยุดลง ระยะเวลาภายหลังจากนั้นจึงไม่นับเข้าเป็นอายุความด้วย กรณีมิใช่เรื่องการบังคับคดี จึงไม่อาจนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 มาใช้บังคับ
เมื่อจำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษามีจำนวนไม่น้อยกว่าห้าหมื่นบาท และจำเลยไม่มีทรัพย์สินพอที่จะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ได้อีกซึ่งต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 8 ว่า จำเลยเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวจึงชอบที่ศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดตามมาตรา 14 แม้ต่อมาในระหว่างการพิจารณาและก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดจะพ้นกำหนด 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาแล้วก็ตาม ก็หามีผลต่อคดีไม่ ส่วนที่โจทก์จะขอรับชำระหนี้ได้หรือไม่เป็นเรื่องที่จะไปว่ากล่าวกันในชั้นคำขอรับชำระหนี้

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7258/2540
               ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 กำหนดให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาร้องขอบังคับคดีตามคำพิพากษาภายในสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษา และมาตรา 279 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจะต้องดำเนินการบังคับคดีแต่ในระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตกในวันทำการงานตามปกติ เว้นแต่ในกรณีมีเหตุฉุกเฉินโดยได้รับอนุญาตจากศาล เมื่อปรากฏว่าวันครบกำหนดสิบปีที่จะบังคับคดีได้เป็นวันอาทิตย์ เมื่อวันสุดท้ายของระยะเวลาที่จะขอบังคับคดีได้เป็นวันหยุดทำการโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจึงมีสิทธิที่จะขอบังคับคดีได้ถึงในวันจันทร์อันเป็นวันเริ่มทำการใหม่ต่อจากวันที่หยุดทำการนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/8
การพิจารณาคดีล้มละลาย ศาลต้องพิจารณาเอาความจริงดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 หรือมาตรา 10 ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14 เมื่อปรากฏว่านับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา โจทก์เพียงแต่ขอหมายบังคับคดีเท่านั้น มิได้ดำเนินการบังคับคดี คงปล่อยปละละเลยมาเป็นเวลานานจนถึงวันสุดท้ายที่จะบังคับคดีได้ จึงมาฟ้องขอให้จำเลยล้มละลาย ซึ่งมิฉะนั้นนับถัดจากวันฟ้องคดีล้มละลายนี้แล้ว หนี้ตามคำพิพากษาของโจทก์ก็พ้นกำหนดเวลาที่จะบังคับคดีได้ และเป็นหนี้ที่ไม่อาจจะขอรับชำระหนี้ได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 94(1) และเมื่อไม่ปรากฏว่านอกจากโจทก์แล้ว จำเลยเป็นหนี้บุคคลอื่นอีก กรณีจึงมีเหตุที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลาย


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7254/2540
               กระบวนพิจารณาคดีล้มละลายตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่ได้เป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ แต่เมื่อพฤติการณ์ไม่เปิดช่องให้กระทำได้เพราะเจ้าพนักงานบังคับคดียังมิได้ขายทอดตลาดทรัพย์ คู่ความย่อมมีสิทธิยกขึ้นอ้างได้ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 249 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483มาตรา 153 ทั้งข้ออ้างของโจทก์เป็นประเด็นข้อสำคัญในคดีที่จะต้องพิจารณาเอาความจริงว่า จำเลยทั้งสองมีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยให้ 
จำเลยทั้งสองกับพวกอีก 3 คน เป็นหนี้โจทก์ แม้จำเลยที่ 2จะนำสืบว่าจำเลยที่ 2 มีเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งรวมกันเดือนละ 25,000บาท แต่เมื่อลำพังแต่เงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งดังกล่าวยังไม่อาจชำระหนี้โจทก์ได้ทั้งหมด ทั้งโจทก์ไม่สามารถยึดเงินเดือนมาชำระหนี้ได้ และนอกจากจำเลยที่ 2เป็นหนี้โจทก์ในคดีนี้แล้ว จำเลยที่ 2 ยังเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาถึงที่สุดอีก 2 คดีเป็นเงินรวมกันประมาณ 1,000,000 บาท ซึ่งแม้จำเลยที่ 2 จะได้นำเงินไปวางศาลเพื่อชำระหนี้โจทก์แล้วคดีหนึ่งแล้ว แต่จำเลยที่ 2 ก็ไม่อาจชำระหนี้โจทก์ได้ทั้งหมดและหนี้ตามฟ้องเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นโดยผลของคำพิพากษาซึ่งถึงที่สุดให้จำเลยทั้งสองกับพวกอีก 3 คน ร่วมกันชำระหนี้ต่อโจทก์ แม้โจทก์ยังมิได้นำยึดทรัพย์ของพวกจำเลยทั้งสองดังกล่าว แต่เมื่อหนี้ตามฟ้องเป็นหนี้ที่กำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนและหนี้นั้นถึงกำหนดชำระแล้วโจทก์จึงนำมาฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองล้มละลายได้ แม้การพิจารณาว่าลูกหนี้ร่วมคนใดมีหนี้สินล้นพ้นตัวไม่สามารถชำระหนี้ได้หรือไม่นั้น เป็นเรื่องเฉพาะตัวของลูกหนี้ร่วมแต่ละคน ไม่เกี่ยวกับลูกหนี้ร่วมคนอื่นก็ตาม แต่เมื่อข้อนำสืบของจำเลยทั้งสองไม่อาจหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายได้ และคดีฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองมีหนี้สินพ้นตัวและไม่อาจชำระหนี้โจทก์ได้ทั้งหมด เมื่อไม่มีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยทั้งสองล้มละลาย จึงชอบที่ศาลจะมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสองเด็ดขาดด้วยกัน
   

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7249/2540
               จำเลยเป็นข้าราชการตำรวจตำแหน่งรองผู้กำกับการสืบสวนสอบสวนมีรายได้ประจำจากเงินเดือนเดือนละ 18,360 บาท ถือได้ว่ามีอาชีพการงานเป็นหลักแหล่งมีความมั่นคง แม้โจทก์ไม่อาจยึดเงินเดือนของจำเลยมาชำระหนี้ได้ก็ตาม แต่ก็เป็นคนละเรื่องกับความสามารถในการชำระหนี้ของจำเลย จำเลยเป็นหนี้โจทก์เพียง 130,950บาท ไม่ปรากฏว่า จำเลยมีความประพฤติเสียหายในเรื่องการเงินและมิได้เป็นหนี้บุคคลอื่นใดอีก เชื่อได้ว่า จำเลยยังสามารถขวนขวายหาเงินมาชำระหนี้ได้ ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่านอกจากจำเลยจะเป็นหนี้โจทก์แล้ว จำเลยยังถูก ม. ฟ้องต่อศาลแขวงพระนครเหนือในข้อหากระทำผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 ถึง3 คดี ซึ่งรวมหนี้ของจำเลยที่ถูก ม. ฟ้องเป็นเงินประมาณ 1,262,000 บาท นั้น เมื่อปรากฏว่าคดีดังกล่าวเป็นคดีอาญาและยังไม่ถึงที่สุด ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นหนี้จริงรูปคดียังไม่พอฟังว่าจำเลยเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ต้องยกฟ้องตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 14
 

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7248/2540
               ข้อสันนิษฐานว่าจำเลยเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 8 นั้น เป็นเพียงเหตุหนึ่งที่กฎหมายให้อำนาจโจทก์ฟ้องจำเลยให้ล้มละลายได้เท่านั้น ส่วนการพิจารณาคดีล้มละลาย มาตรา 14 ให้ศาลพิจารณาเอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 หรือมาตรา 10 และการที่ศาลจะมีคำสั่งให้ผู้ใดเป็นบุคคลล้มละลาย ไม่ใช่อาศัยแต่ลำพังข้อเท็จจริงอันเป็นเงื่อนไขตามข้อสันนิษฐานของกฎหมายอย่างเดียว แต่ยังต้องพิเคราะห์ถึงเหตุผลอื่นประกอบที่พอแสดงให้เห็นว่าจำเลยตกอยู่ในฐานะผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวจริง เพราะการวินิจฉัยให้บุคคลล้มละลายนั้นย่อมกระทบถึงสิทธิและเสรีภาพในการดำรงชีวิตตามกฎหมายตลอดจนสถานะของบุคคลและสิทธิในทางทรัพย์สินของผู้นั้นโดยตรง ข้อเท็จจริงในคดีนี้แม้จะรับฟังว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 72,915.75 บาท และมีพฤติการณ์เข้าข้อสันนิษฐานตามกฎหมายก็ตาม แต่มูลคดีเดิมที่โจทก์ฟ้องต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้นั้นเป็นมูลหนี้เกิดขึ้นในปี 2532 ซึ่งยอดหนี้ที่จำเลยจะต้องรับผิดเพียง 36,077.25 บาทเท่านั้น โจทก์รอจนกระทั่งปี 2539 จึงได้นำคดีมาฟ้องเป็นคดีล้มละลาย พฤติการณ์เช่นนี้ก่อให้เกิดการคิดคำนวณดอกเบี้ยเรื่อยมานับแต่ปี 2532 ทำให้ต้นเงินและดอกเบี้ยเมื่อคิดถึงวันฟ้องคดีนี้เป็นจำนวนถึง 72,915.75 บาท อีกทั้งการสืบหาทรัพย์สินของจำเลยปรากฏว่าบ้านทาวน์เฮาส์ 2 ชั้นของจำเลยปิดประตูใส่กุญแจอยู่ในลักษณะทิ้งร้างเท่านั้น แต่โจทก์ไม่ได้เข้าไปตรวจดูว่ามีทรัพย์สินอื่นใดบ้างกลับแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีว่าไม่มีทรัพย์สินของจำเลยอยู่ในบ้านและโจทก์ก็มิได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ไปทำการยึดทรัพย์สินมาเบิกความสนับสนุนให้เห็นถึงฐานะของจำเลยว่าไม่มีทรัพย์สินอันจะพึงให้ยึดได้จริง เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยเป็นหนี้บุคคลอื่นใดอีกรูปคดียังไม่พอฟังว่าจำเลยเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว กรณีมีเหตุที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลาย


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7225/2540
               การพิจารณาว่าลูกหนี้ร่วมคนใดมีหนี้สินล้นพ้นตัวไม่อาจชำระหนี้ได้ทั้งหมดหรือไม่ หรือมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ร่วมคนใดล้มละลายหรือไม่ เป็นเรื่องเฉพาะตัวของลูกหนี้ร่วมแต่ละคนไม่เกี่ยวกับลูกหนี้ร่วมคนอื่น
คำสั่งของศาลชั้นต้นในคดีล้มละลายที่ให้งดสืบพยานจำเลยที่เหลือเพราะทนายความจำเลยทั้งสามไม่มาศาลและไม่มีพยานมาสืบเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226(2) ประกอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153 คู่ความจะต้องโต้แย้งคำสั่งนั้นไว้จึงจะอุทธรณ์ฎีกาได้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยานจำเลยที่เหลือเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2539 เวลา 1 นาฬิกา เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีโอกาสเพียงพอที่จะโต้แย้งคำสั่งได้แต่จำเลยที่ 2 และที่ 3 มิได้โต้แย้งไว้ ดังนี้ จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะอุทธรณ์ฎีกาขอให้เพิกถอนคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและให้สืบพยานจำเลยที่ 2 และที่ 3 ต่อไปอีกไม่ได้
   

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6176/2540
               ศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ให้แก่โจทก์วันที่ 14 มิถุนายน 2528 โจทก์ชอบที่จะร้องขอบังคับคดีแก่จำเลยทั้งสองภายในสิบปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความ มาตรา 271แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่าโจทก์ได้ขอหมายบังคับคดีเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2529 และนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ในวันที่ 19 ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์2529 และวันที่ 27 เมษายน 2532 ซึ่งต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีได้นำทรัพย์ที่ยึดออกขายทอดตลาดก็ตาม ก็เป็นขั้นตอนของการดำเนินการบังคับคดี เมื่อหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องคดีนี้โจทก์มิได้ดำเนินการบังคับคดีเสียภายในสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษา โจทก์ย่อมหมดสิทธิที่จะบังคับคดี แก่จำเลยทั้งสอง จึงไม่อาจนำหนี้ที่พ้นกำหนดเวลาบังคับคดีดังกล่าวมาฟ้องจำเลยทั้งสองให้ล้มละลายได้
 

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6107/2540
               แม้จำเลยจะมีเงินเดือนเดือนละ 15,420 บาทแต่ก็เป็นเงินเดือนของข้าราชการไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 286(2) โจทก์ย่อมไม่สามารถบังคับคดีแพ่งให้จำเลยชำระหนี้ด้วยเงินเดือนได้ ที่จำเลยอ้างว่ามีรายได้พิเศษจากการเป็นพนักงานขายของเดือนละประมาณ 10,000 บาทแต่จำเลยก็ไม่เคยผ่อนชำระให้แก่โจทก์เลย ส่วนทรัพย์สินที่ มารดา จะยกให้นั้น แม้จะมีอยู่จริงแต่ก็ไม่แน่นอนว่ามารดาจะยกให้จริงหรือไม่ ข้ออ้างของจำเลยดังกล่าวคงฟังได้เฉพาะเรื่องเงินเดือนเท่านั้น ส่วนทรัพย์สินอื่น ๆฟังไม่ได้ดังที่อ้าง เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยมีทรัพย์สินอื่นใดที่จะยึดมาชำระหนี้ได้ ถือได้ว่าจำเลยเป็นบุคคลมีหนี้สินพ้นตัว แม้จำเลยจะเป็นข้าราชการ แต่ไม่พยายามชำระหนี้หรือขวนขวายหาเงินมาชำระหนี้โดยสุจริตจึงไม่มีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลาย
   
               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3366/2540
               จำเลยเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดของห้างหุ้นส่วนจำกัด พ. ต้องรับผิดในหนี้สินร่วมกับห้างหุ้นส่วนจำกัด พ. ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1070 และ 1077 โดยไม่จำกัดจำนวน เมื่อห้างหุ้นส่วนจำกัด พ. เป็นหนี้แก่โจทก์เป็นเงินทั้งสิ้น 190,000 บาทเศษ โจทก์ย่อมฟ้องให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลายโดยอาศัยมูลหนี้ที่จำเลยต้องรับผิดร่วมกับห้างหุ้นส่วนจำกัด พ. ทั้งหมดดังกล่าวได้
จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว แต่จำเลยตายระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จึงมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 14 ไม่ได้ ศาลฎีกาพิพากษาให้จัดการทรัพย์มรดกของจำเลยตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 84
   

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2776/2540
               การที่จำเลยถูกยึดทรัพย์ตามหมายบังคับคดี และจำเลยไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้นั้นเข้าข้อสันนิษฐานว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวตามมาตรา 8(5) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายฯ จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าวที่จำเลยนำสืบว่า ปัจจุบันห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. ซึ่งจำเลยค้ำประกันหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องคดีนี้ยังประกอบกิจการค้ามีทรัพย์สินมูลค่าประมาณ 40,000,000บาท มาเป็นเหตุผลประกอบพยานหลักฐานอื่นของจำเลยว่าจำเลยอยู่ในฐานะที่สามารถขวนขวายและมีเหตุที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลายก็ตาม แต่ที่จำเลยอยู่ในฐานะลูกหนี้ร่วมกับห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. นั้น โจทก์ก็มีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระหนี้ทั้งหมดแก่โจทก์โดยสิ้นเชิงโดยไม่ต้องคำนึงว่าหากลูกหนี้ร่วมคนอื่นชำระหนี้แก่โจทก์ด้วยจะสามารถชำระหนี้แก่โจทก์ทั้งหมดหรือไม่ เพราะการพิจารณาว่าลูกหนี้ร่วมคนใดมีหนี้สินล้นพ้นตัวไม่สามารถชำระหนี้ได้หรือไม่นั้น เป็นเรื่องเฉพาะตัวของลูกหนี้ร่วมแต่ละคน จึงต้องพิจารณาเฉพาะตัวลูกหนี้ร่วมผู้นั้นว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่เท่านั้น ไม่เกี่ยวกับลูกหนี้ร่วมคนอื่นดังนั้น แม้โจทก์จะไม่ใช้สิทธิบังคับเอาแก่ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. ก็มิได้เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่ประการใด จึงนำมาเป็นเหตุที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลายหาได้ไม่เมื่อจำเลยได้รับเงินเดือนจากบริษัท 3 แห่ง แห่งละ 6,000 บาท แต่เงินเดือนดังกล่าวก็นำมาเป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัวของจำเลยเดือนละ 3,000 บาท ส่วนที่เหลือให้แก่ภริยาและบุตร จึงไม่มีเงินเดือนเหลือชำระหนี้ให้แก่โจทก์ได้ ศาลชอบที่จะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด
 

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1374/2540
               เจ้าพนักงานประเมินของกรมสรรพากรโจทก์ประเมินภาษีเงินได้กับภาษีการค้าและแจ้งให้จำเลยทราบแล้วแต่จำเลยไม่ได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 30 การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินของโจทก์จึงเป็นอันยุติ จำเลยมีหน้าที่ต้องชำระภาษีอากรตามที่มีการประเมิน เมื่อจำเลยถูกฟ้องให้ล้มละลายเพราะไม่ชำระค่าภาษีดังกล่าว จำเลยจึงไม่มีสิทธิยกข้อต่อสู้ว่าเจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ประเมินภาษีไม่ถูกต้อง


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1217/2540
               ข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าจำเลยเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 8(4)ข และ (5) เป็นแต่เพียงเหตุบางประการที่กฎหมายให้อำนาจโจทก์ฟ้องจำเลยให้ล้มละลายได้เท่านั้น ส่วนการพิจารณาคดีล้มละลายตามฟ้องของโจทก์นั้นมาตรา 14 ให้ศาลพิจารณาเอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 หรือมาตรา 10 และการที่ศาลจะมีคำสั่งให้ผู้ใดเป็นบุคคลล้มละลายไม่ใช่อาศัยแต่ลำพังข้อเท็จจริงอันเป็นเงื่อนไขตามข้อสันนิษฐานของกฎหมายอย่างเดียว แต่ยังต้องพิเคราะห์ถึงเหตุผลอื่นประกอบที่พอแสดงให้เห็นว่า จำเลยตกอยู่ในฐานะผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวจริงเพราะการวินิจฉัยให้บุคคลล้มละลายนั้น ย่อมกระทบถึงสิทธิและเสรีภาพในการดำรงชีวิตตามกฎหมายตลอดจนสถานะของบุคคลและสิทธิในทางทรัพย์สินของผู้นั้นโดยตรง จำเลยเป็นหนี้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องคดีนี้รวมเป็นเงิน 174,733.68 บาท และมีพฤติการณ์เข้าข้อสันนิษฐานตามกฎหมาย แต่ก็ปรากฏว่ามูลคดีเดิมที่โจทก์ฟ้องต่อศาลในทางแพ่งนั้นเป็นมูลหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนปี 2519 ซึ่งมียอดหนี้ที่จำเลยกับพวกรวม4 คน จะต้องรับผิดเพียง 46,262.43 บาท เท่านั้นแต่โจทก์ก็ไม่ขวยขวายดำเนินการฟ้อง จำเลยกับพวกคงปล่อยปละละเลยนานเกือบ 10 ปี จึงได้มีการฟ้องให้จำเลยรับผิด เมื่อศาลพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยกับพวกชำระหนี้แก่โจทก์ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม2529 โจทก์ก็มิได้ดำเนินการสืบหาเพื่อยึดทรัพย์ของจำเลยกับพวกแต่อย่างใด รอจนกระทั่งปี 2538 จึงได้นำคดีมาฟ้องเป็นคดีล้มละลายพฤติการณ์เช่นนี้ก่อให้เกิดมีการคิดคำนวณดอกเบี้ยเรื่อยมานับแต่ปี 2529 ทำให้รวมทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยเมื่อคิดถึงวันฟ้องคดีนี้เป็นจำนวนถึง 174,733.68 บาท อีกทั้งการสืบหาทรัพย์สินของจำเลยอื่น มิได้กระทำต่อจำเลยนี้โดยตรง ผู้ที่ทำรายงานผลการสืบหาทรัพย์สินดังกล่าว โจทก์ก็มิได้นำตัวมาสืบสนับสนุนแสดงให้เห็นถึงฐานะของจำเลยว่า ไม่มีทรัพย์สินอันจะพึงให้ยึดอันถือได้ว่าจำเลยตกอยู่ในสภาพมีหนี้สินล้นพ้นตัวอย่างใดจึงยังไม่พอฟังว่าจำเลยเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวตามที่โจทก์ฟ้อง ดังนี้ศาลต้องยกฟ้องตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14
   

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1149/2540
               ข้อสันนิษฐานตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯมาตรา8(5)ที่ว่าลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้เป็นแต่เพียงเหตุที่กฎหมายให้อำนาจโจทก์ฟ้องจำเลยให้ล้มละลายได้เท่านั้นส่วนการพิจารณาคดีล้มละลายมาตรา14ในศาลพิจารณาเอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา9หรือมาตรา10และการที่ศาลจะมีคำสั่งให้ผู้ใดล้มละลายก็ไม่ใช่อาศัยแต่ลำพังข้อเท็จจริงอันเป็นเงื่อนไขตามข้อสันนิษฐานของกฎหมายอย่างเดียวแต่ยังต้องพิเคราะห์ถึงเหตุผลอื่นมาประกอบที่พอแสดงให้เห็นได้ว่าจำเลยตกอยู่ในฐานะผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวเพราะการวินิจฉัยให้บุคคลล้มละลายนั้นย่อมกระทบถึงสิทธิและเสรีภาพในการดำรงชีวิตตามกฎหมายตลอดจนสถานะบุคคลและสิทธิในทางทรัพย์สินของผู้นั้นโดยตรงจึงต้องเป็นไปโดยมีเหตุผลสมควรจริงไม่ใช่ให้ใช้กฎหมายล้มละลายเป็นเครื่องมือบีบคั้นลูกหนี้เมื่อจำเลยเป็นหนี้โจทก์74,826.66บาทซึ่งเป็นจำนวนไม่มากนักลำพังแต่ทางนำสืบของโจทก์ซึ่งได้ความว่าได้สืบหาทรัพย์สินของจำเลยแล้วไม่ปรากฎว่าจำเลยมีทรัพย์สินใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้อันเป็นข้อสันนิษฐานของกฎหมายเพียงอย่างเดียวโดยไม่ปรากฎข้อเท็จจริงอื่นมาสนับสนุนแสดงให้เห็นถึงฐานะของจำเลยว่าตกอยู่ในสภาพมีหนี้สินล้นพ้นตัวอย่างใดรูปคดียังไม่พอฟังว่าจำเลยเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9237/2539
               จำเลยทั้งสองให้การว่าโจทก์มอบเงินให้จำเลยที่1นำไปให้บุคคลภายนอกกู้โดยคิดดอกเบี้ยอัตราระหว่างร้อยละ7ถึง25ต่อเดือนแล้วแบ่งผลประโยชน์กันสัญญากู้เงินตามฟ้องโจทก์นำเงินมาให้จำเลยที่1ปล่อยกู้เพียง375,000บาทแต่โจทก์นำดอกเบี้ยอัตราร้อยละ25ต่อเดือนเป็นเวลา1ปีเป็นเงิน1,125,000บาทมารวมเข้ากับต้นเงินดังกล่าวเป็นเงิน1,500,000บาทแล้วให้จำเลยที่1ทำสัญญากู้เงินโดยมีจำเลยที่2เป็นผู้ค้ำประกันไว้เป็นหลักประกันจำเลยที่1ได้ขายบ้านพร้อมที่ดินของจำเลยที่1ชำระหนี้แทนโจทก์ให้แก่ส.ไปแล้วจำนวน250,000บาทส่วนที่เหลือจำเลยที่1ก็ชำระคืนให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้วคำให้การของจำเลยทั้งสองดังกล่าวจำเลยทั้งสองย่อมนำสืบพยานบุคคลหักล้างได้ว่าสัญญากู้เงินดังกล่าวไม่ถูกต้องสมบูรณ์ทั้งหมดไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา94วรรคท้ายนอกจากนี้การที่ห้ามนำสืบพยานบุคคลเพื่อให้มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารอันเป็นการตัดรอนมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานดังกล่าวย่อมขัดต่อพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.2483อันเป็นกฎหมายพิเศษที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนซึ่งกำหนดให้เป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องพิจารณาเอาความจริงให้ได้ว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวจริงหรือไม่จำเลยทั้งสองชอบที่จะนำสืบพยานดังกล่าวได้
  
               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5494/2539
               เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้แก่โจทก์3คดีโจทก์ชอบที่จะร้องขอบังคับคดีแก่จำเลยทั้งสามภายในสิบปีนับแต่วันที่ศาลในคดีนั้นๆพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา271แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่าในคดีแรกโจทก์ได้ร้องขอให้บังคับคดีศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดทรัพย์และประกาศขายทอดตลาดแต่ไม่สามารถขายได้เพราะทรัพย์ที่ถูกยึดสูญหายและจำเลยทั้งสามชำระหนี้ให้โจทก์บางส่วนเป็นเงิน1,500,000บาทภายในสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาก็ตามก็เป็นขั้นตอนของการบังคับคดีเมื่อหนี้ตามคำพิพากษาแต่ละคดีที่โจทก์นำมาฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามล้มละลายโจทก์มิได้ดำเนินการบังคับคดีเสียภายในสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาโจทก์ย่อมหมดสิทธิที่จะบังคับคดีแก่จำเลยทั้งสามโจทก์จึงไม่อาจนำหนี้ที่พ้นกำหนดเวลาบังคับคดีดังกล่าวแล้วมาฟ้องจำเลยทั้งสามให้ล้มละลายได้


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4358/2539
               โจทก์ฟ้องให้จำเลยล้มละลายเนื่องจากจำเลยไม่ชำระหนี้ค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยจำเลยยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับปี 2519 ถึง 2523 ต่อโจทก์ แสดงรายรับไม่ถูกต้องซึ่งผลการตรวจสอบจำเลยจะต้องชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2520 ถึงปี 2523 รวม 4 ปี เพิ่มอีก เป็นเงิน 237,842.08 บาท การที่เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ได้ประเมินให้จำเลยเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2525 และส่งแบบแจ้งภาษีเงินได้ที่จำเลยต้องชำระเพิ่ม(ภ.ง.ด. 11) ไปให้จำเลย ณ ถิ่นที่อยู่ของจำเลย โดยวิธีปิดใบแจ้งเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2526 จึงเป็นการที่เจ้าพนักงานประเมินได้ปฏิบัติตามประมวลรัษฎากร มาตรา 8, 18 และ 20 ให้ครบถ้วนบริบูรณ์ ถือได้ว่าโจทก์ได้แจ้งการประเมินภาษีให้จำเลยทราบโดยชอบแล้ว หากไม่มีการอุทธรณ์การประเมิน เจ้าพนักงานประเมินก็มีอำนาจหน้าที่บังคับตามประมวลรัษฎากรมาตรา 18 ตรี ต่อไป คือ ผู้มีหน้าที่เสียภาษีต้องชำระภาษีนั้นภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน ถ้าไม่ชำระหรือนำส่งภาษีภายในกำหนดดังกล่าวก็ต้องเสียเงินเพิ่มตามมาตรา 27 และเมื่อถึงกำหนดชำระแล้ว ถ้ามิได้เสียภาษีหรือนำส่งให้ถือว่าเป็นภาษีอากรค้าง ซึ่งเจ้าพนักงานของรัฐตามที่กฎหมายกำหนดไว้มีอำนาจหน้าที่ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ต้องรับผิดเสียภาษีหรือนำส่งภาษีโดยไม่ต้องนำคดีมาฟ้องต่อศาลตามมาตรา 12 
การออกหนังสือแจ้งการประเมินเรียกเก็บภาษีอากรเพิ่มไปยังบุคคลผู้มีหน้าที่ต้องเสียภาษีอากร เป็นขั้นตอนหนึ่งของการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานประเมินตามที่กฎหมายกำหนดเพื่อให้เกิดผลบังคับในการจัดเก็บภาษีแม้จำเลยได้ทำบันทึกในคำให้การและบันทึกข้อตกลงยินยอมการชำระภาษีเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2525 ว่า จำเลยยอมชำระภาษีที่เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ได้ประเมินให้จำเลยชำระเพิ่มโดยไม่โต้แย้งหรืออุทธรณ์ใด ๆ ทั้งสิ้นซึ่งก็ถือได้ว่าเป็นการที่จำเลยยอมรับสภาพหนี้อันมีผลทำให้อายุความสะดุดหยุดลงและเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2525 แต่การที่เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์แจ้งการประเมินภาษีที่จำเลยต้องชำระเพิ่มไปให้จำเลยทราบโดยปิดหนังสือแจ้งเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2526 ซึ่งเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานประเมินตามที่กฎหมายกำหนดเพื่อให้เกิดผลบังคับในการจัดเก็บภาษีก็ถือได้ว่ามีผลเป็นอย่างเดียวกันกับการฟ้องคดีให้ชำระภาษีที่ต้องชำระเพิ่มภายในกำหนด 10 ปี นับตั้งแต่วันที่เริ่มนับอายุความใหม่เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2525ซึ่งเป็นเหตุทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (5) และเริ่มนับอายุความใหม่อีกครั้งหนึ่งตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2526 เช่นกัน ซึ่งครบกำหนด 10 ปี ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2536 ซึ่งตรงกับวันเสาร์หยุดราชการโจทก์ฟ้องจำเลยขอให้ล้มละลายเมื่อวันจันทร์ที่ 24 พฤษภาคม 2536 ซึ่งเป็นวันแรกที่เริ่มเปิดทำงานใหม่ ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ.มาตรา 193/31 กรณีหาใช่ว่าเมื่อจำเลยยอมรับสภาพหนี้แล้วจะทำให้โจทก์ไม่มีความจำเป็นต้องทำหนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้ต่อจำเลยอีกเพราะเป็นการซ้ำซ้อนและไม่มีผลบังคับแก่จำเลยไม่.
  

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4229/2539
               ศาลชั้นต้นได้ยกขึ้นวินิจฉัยว่า การที่โจทก์ได้ดำเนินการบังคับคดีแก่จำเลยที่ 2 ภายในสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาตามยอมนับได้ว่ามีผลอย่างเดียวกับการฟ้องคดีเพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้องและเพื่อให้ชำระหนี้ตามที่เรียกร้องย่อมเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความบังคับคดี โจทก์จึงมีสิทธิบังคับคดีแก่จำเลยที่ 2 อีกได้ แม้ศาลชั้นต้นจะได้พิพากษายกฟ้องโจทก์ โดยฟังว่าโจทก์ไม่นำสืบให้รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นหนี้โจทก์เท่าใดแน่นอน ประกอบกับจำเลยที่ 2 มีเงินมาวางศาลประกันการชำระหนี้พอกับจำนวนหนี้ที่โจทก์อ้างว่ายังค้างชำระ คดีจึงยังไม่มีเหตุที่จะให้จำเลยที่ 2 เป็นบุคคลล้มละลายก็ตาม แต่ปัญหาที่ว่าหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องขอให้จำเลยที่ 2 ล้มละลายนั้นเป็นหนี้ที่โจทก์มีสิทธิบังคับคดีได้หรือไม่ ย่อมเป็นประเด็นโดยตรงที่ศาลต้องพิจารณาเอาความจริงในการพิจารณาคดีล้มละลายตามคำฟ้องของโจทก์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 14 แห่งพ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ด้วย ดังนั้น ประเด็นที่ว่าโจทก์มีสิทธิที่จะบังคับคดีเอาแก่จำเลยที่ 2 ได้อีกหรือไม่ จึงนับว่าประเด็นสำคัญโดยตรงในคดีหาใช่นอกประเด็นของคดีล้มละลายไม่ และคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นดังกล่าวอาจมีผลผูกพันคู่ความในคดีและกระทบต่อสิทธิของจำเลยที่ 2 ให้ต้องผูกพันตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้น อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 จึงเป็นสาระแก่คดีที่ศาลอุทธรณ์ต้องวินิจฉัยให้แม้จำเลยที่ 2 จะเป็นฝ่ายชนะในผลแห่งคดีก็ตาม 
กำหนดเวลาให้บังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 มิใช่เรื่องอายุความแห่งสิทธิเรียกร้องอันจะอยู่ในบังคับแห่งบทบัญญัติว่าด้วยอายุความตาม ป.พ.พ. จึงไม่อาจนำบทบัญญัติเกี่ยวกับอายุความสะดุดหยุดลงมาใช้บังคับแก่คดีนี้ได้ 
หนี้ตามคำพิพากษาตามยอมจำเลยทั้งสองตกลงจะชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายใน 1 ปี นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งครบกำหนดเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2526 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์อาจบังคับตามคำพิพากษาได้แล้วการที่จำเลยที่ 2 ไม่ชำระหนี้และโจทก์ได้บังคับเอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 2ชำระหนี้บางส่วนแล้วก็ตาม โจทก์ก็ชอบที่จะบังคับคดีเพื่อชำระหนี้ที่เหลือจากจำเลยที่ 2 ภายใน 10 ปี นับแต่วันที่ 19 มกราคม 2526 แต่โจทก์ได้นำหนี้ดังกล่าวมาฟ้อง จำเลยที่ 2 ขอให้ล้มละลายเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2536 ซึ่งพ้นกำหนดสิบปีแล้ว โจทก์จึงหมดสิทธิที่จะบังคับคดีเพื่อหนี้ตามฟ้อง โจทก์ย่อมไม่มีสิทธินำหนี้ตามฟ้องมาเป็นมูลฟ้องขอให้จำเลยที่ 2 ล้มละลายได้
   

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3021/2539
               เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค2เห็นว่าการที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยฟังข้อเท็จจริงว่าตามพฤติการณ์ยังไม่พอฟังว่าจำเลยเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวและโจทก์มิได้อุทธรณ์โต้แย้งจึงฟังเป็นยุติว่าจำเลยมิใช่เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวศาลอุทธรณ์จึงชอบที่จะไม่จำต้องวินิจฉัยในประเด็นเรื่องหนี้สินระหว่างโจทก์จำเลยจะระงับไปแล้วหรือไม่เพราะไม่ทำให้ผลคดีส่วนที่เปลี่ยนแปลงไปถือว่าเป็นอุทธรณ์ที่ไม่เป็นสาระ
        

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2837/2539
               ข้อสันนิษฐานตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 8(5) และ (9) เป็นแต่เพียงเหตุหนึ่งที่กฎหมายให้อำนาจโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ล้มละลายได้เท่านั้น ส่วนการพิจารณาคดีล้มละลายตามฟ้องของโจทก์นั้น มาตรา 14ให้ศาลพิจารณาเอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 หรือมาตรา 10 และการที่ศาลจะมีคำสั่งให้ผู้ใดล้มละลายก็ไม่ใช่อาศัยแต่ลำพังข้อเท็จจริงอันเป็นเงื่อนไขตามข้อสันนิษฐานของกฎหมายอย่างเดียวแต่ยังต้องพิเคราะห์ถึงเหตุผลอื่นมาประกอบที่พอแสดงให้เห็นได้ว่าจำเลยตกอยู่ในฐานะผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว การตัดรอนมิให้ศาลในคดีล้มละลายรับฟ้องพยานหลักฐานเพราะมิได้ส่งสำเนาให้โจทก์ก่อนสืบพยานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 90 ย่อมขัดต่อบทบัญญัติของพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 อันเป็นกฎหมายพิเศษที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนซึ่งกำหนดให้เป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องพิจารณาเอาความจริงให้ได้ว่าจำเลยเป็นบุคคลผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวจริงหรือไม่ ดังนั้นจำเลยจึงชอบที่จะเสนอพยานเอกสารดังกล่าวเพื่อให้ปรากฏความจริง ให้ศาลรับฟังได้แม้จะไม่ได้ส่งสำเนาให้โจทก์ก่อนสืบพยาน
   

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2430/2539
               พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบฟังได้แต่เพียงว่าจำเลยทั้งสามเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาและพฤติการณ์ของจำเลยทั้งสามเข้าข้อสันนิษฐานตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.2483มาตรา8ว่าเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวเท่านั้นปัญหาว่าความจริงจำเลยทั้งสามมีทรัพย์สินพอชำระหนี้ได้หรือไม่เป็นหน้าที่ของจำเลยที่อาจนำสืบหักล้างประโยชน์ที่โจทก์ได้รับจากข้อสันนิษฐานแห่งกฎหมายได้พยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบปรากฎชัดว่าจำเลยที่2และที่3มีทรัพย์สินคือที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่บริษัทไทยประเมินราคา จำกัดได้ประเมินราคาไว้สูงถึง36,775,820บาทแม้จะเป็นการประเมินราคาของเอกชนแต่ก็เป็นการประเมินเพื่อประโยชน์ในการขอกู้เงินจากธนาคารและต่อมาธนาคารได้รับจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้ในวงเงิน13,000,000บาทแสดงถึงความเชื่อถือของธนาคารและจำเลยที่2และที่3มีหนังสือสัญญาขายที่ดินนำสืบว่ามีราคาเกือบ2,000,000บาทแม้หนังสือสัญญาขายที่ดินเป็นสำเนาเอกสารแต่ก็รับรองสำเนาโดยเจ้าหน้าที่ว่าเป็นภาพถ่ายจากเอกสารต้นฉบับที่ถูกต้องแล้วจึงรับฟังได้ข้อนำสืบของจำเลยที่2และที่3มีน้ำหนักพอที่จะหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายได้ส่วนจำเลยที่1แม้ไม่ปรากฎว่ามีทรัพย์สินที่โจทก์จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้แต่เมื่อหนี้ตามคำพิพากษาของโจทก์เป็นหนี้ร่วมที่จำเลยทั้งสามต้องรับผิดต่อโจทก์และจำเลยที่2และที่3มีทรัพย์สินเพียงพอชำระหนี้แก่โจทก์ได้คดีมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยที่1ล้มละลาย
 

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1503/2539
               หนี้ตามคำพิพากษาเป็นสิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดยคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุดซึ่งมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/32 การที่โจทก์นำหนี้ตามคำพิพากษามาเป็นมูลฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายภายในกำหนด 10 ปีนับแต่วันมีคำพิพากษาซึ่งอยู่ภายในกำหนดอายุความตามบทบัญญัติดังกล่าวแล้วย่อมมีผลเท่ากับเป็นการฟ้องคดีเพื่อให้ชำระหนี้อย่างหนึ่งตามวิธีการที่ พ.ร.บ.ล้มละลายพ.ศ. 2483 บัญญัติไว้โดยเฉพาะอันทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ.มาตรา 193/14 (2) คดีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่า การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นการตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้องอันจะทำให้อายุความสะดุดหยุดลงหรือไม่อีก 
ขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาและเมื่อการฟ้องคดีนี้มีผลทำให้อายุความแห่งสิทธิเรียกร้องในหนี้ตามคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุดสะดุดหยุดลงแล้ว ระยะเวลาภายหลังจากนั้นจึงไม่นับเข้าเป็นอายุความด้วย กรณีมิใช่เรื่องการบังคับคดี ไม่อาจนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 271 มาใช้บังคับ เมื่อปรากฏว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวก็ชอบที่ศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดได้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา8, 14 แม้ต่อมาในระหว่างการพิจารณาและก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดจะพ้นกำหนด 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาแล้วก็ตาม ก็หามีผลต่อคดีไม่ ส่วนข้อที่ว่าโจทก์จะขอรับชำระหนี้ได้หรือไม่ เป็นเรื่องที่จะไปว่ากล่าวกันในชั้นขอรับชำระหนี้
 

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1067/2539   

               แม้คำให้การจำเลยจะยกข้อต่อสู้คำฟ้องโจทก์ว่า หนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายโจทก์หมดสิทธิบังคับคดีแก่จำเลย โจทก์ไม่อาจนำหนี้ดังกล่าวมาฟ้องจำเลยให้ล้มละลายได้ อันเป็นข้อต่อสู้เกี่ยวกับระยะเวลาการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 ก็ตาม แต่เมื่อตามคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายถึงเหตุที่โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องจำเลยขอให้ล้มละลายเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาว่าโจทก์เคยนำหนี้ดังกล่าวฟ้องจำเลยขอให้ล้มละลายต่อศาลจังหวัดเชียงรายเมื่อวันที่7 มิถุนายน 2536 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่ครบกำหนดสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษา แต่ในระหว่างการพิจารณา คดีโจทก์มิได้อยู่ในเขตอำนาจของศาลจังหวัดเชียงรายศาลจังหวัดเชียงรายได้มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งรับฟ้องเป็นไม่รับคำฟ้อง โจทก์จึงมาฟ้องจำเลยต่อศาลนี้ อันเป็นข้ออ้างซึ่งเป็นเหตุทำให้อายุความสิทธิเรียกร้องที่โจทก์นำมาเป็นมูลฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายขยายออกไปอีกหกสิบวันตาม ป.พ.พ.มาตรา 193/17 วรรคสอง คดีจึงมีประเด็นพิพาทโต้เถียงกันโดยตรงด้วยว่า โจทก์มีสิทธินำหนี้ตามคำพิพากษามาฟ้องให้จำเลยล้มละลายได้หรือไม่ เมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่าโจทก์ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดสิบปีนับแต่มีคำพิพากษาถึงที่สุด โจทก์จึงหมดสิทธิที่จะบังคับคดีหนี้ตามคำพิพากษาและไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยให้ล้มละลายในมูลหนี้เดียวกันอีกพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ว่า หนี้ตามคำพิพากษาของโจทก์ไม่ขาดอายุความเพราะมีเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามคำฟ้องและโจทก์ได้ฟ้องจำเลยภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ศาลจังหวัดเชียงรายมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องนั้นถึงที่สุด อุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นการยกข้อกฎหมายขึ้นอ้างตรงตามคำฟ้องของโจทก์ซึ่งคัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่เห็นว่า หนี้ตามคำพิพากษาของโจทก์โจทก์หมดสิทธิบังคับคดีแล้วศาลอุทธรณ์จึงชอบที่จะยกขึ้นวินิจฉัยซึ่งปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ได้ว่า ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความเพราะมีเหตุให้ขยายอายุความออกไปอีกหกสิบวันตาม ป.พ.พ.มาตรา 193/17 วรรคสอง หรือไม่ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงชอบด้วยกฎหมาย 
การที่โจทก์นำหนี้ตามคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุดแล้วมาเป็นมูลฟ้องขอให้จำเลยล้มละลาย มิใช่เรื่องการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งตามที่บัญญัติไว้ในภาค 4 แห่ง ป.วิ.พ. จึงไม่อาจนำบทบัญญัติเกี่ยวกับระยะเวลาการบังคับคดีตามมาตรา 271 มาใช้บังคับได้ 
การฟ้องคดีล้มละลายนอกจากเป็นการฟ้องเพื่อให้จัดการทรัพย์ของลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลล้มละลายตามวิธีการที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 แล้ว หากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาด เจ้าหนี้ก็ยังจะต้องนำมูลหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งไม่ว่าจะเป็นมูลหนี้ที่ฟ้องจำเลยให้ล้มละลายหรือไม่ก็ตามมาขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในมาตรา 27, 91แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 อีกด้วย มิฉะนั้นย่อมหมดสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้อีกต่อไป การฟ้องคดีล้มละลายจึงมีผลเป็นการฟ้องเพื่อให้ชำระหนี้อย่างหนึ่งตามวิธีการที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ เมื่อ ป.พ.พ. มาตรา 193/32 บัญญัติให้สิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดยคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุดมีกำหนดอายุความ 10 ปีทั้งนี้ไม่ว่าสิทธิเรียกร้องเดิมจะมีอายุความเท่าใดและโจทก์ได้นำเอามูลหนี้ตามคำพิพากษาที่ถึงที่สุดของศาลแพ่งมาฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายต่อศาลจังหวัดเชียงรายภายในกำหนดอายุความ 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษา แต่ในระหว่างพิจารณาของศาลจังหวัดเชียงราย ศาลจังหวัดเชียงรายมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งรับฟ้องเป็นไม่รับฟ้องเพราะเหตุที่คดีไม่อยู่ในอำนาจของศาลจังหวัดเชียงรายเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2536 และคดีถึงที่สุดแล้ว เมื่ออายุความแห่งสิทธิเรียกร้องในหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวครบกำหนดไปแล้วในระหว่างพิจารณาคดีของศาลจังหวัดเชียงรายเช่นนี้ กรณีจึงต้องอยู่ในบังคับของบทบัญญัติในมาตรา 193/17วรรคสอง แห่ง ป.พ.พ.ซึ่งบัญญัติให้เจ้าหนี้มีสิทธิฟ้องคดีเพื่อชำระหนี้ภายใน 60 วันนับแต่วันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งที่ไม่รับคำฟ้องนั้นถึงที่สุด การที่โจทก์นำมูลหนี้ตามคำพิพากษามาฟ้องจำเลยให้ล้มละลายเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2536 ซึ่งยังไม่พ้นกำหนด 60 วัน ตามบทบัญญัติดังกล่าวโจทก์จึงมีสิทธิฟ้องคดีได้
  

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7823/2538
               การที่ศาลจะมีคำสั่งหรือพิพากษาให้บุคคลใดล้มละลาย ย่อมกระทบถึงสิทธิและความสามารถตลอดจนสถานะบุคคลและทรัพย์สินของบุคคลนั้นเป็นอเนกประการ ซึ่งยังผลให้บุคคลภายนอกสามารถยกขึ้นอ้างและใช้ยันแก่บุคคลผู้นั้นได้ ฉะนั้น ก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งหรือคำพิพากษาเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 จึงบัญญัติให้ศาลพิจารณาเอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 และมาตรา 10 ถ้าศาลพิจารณาได้ความจริงให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ไว้เด็ดขาด แต่ถ้าไม่ได้ความจริงหรือลูกหนี้นำสืบได้ว่าอาจชำระหนี้ได้ทั้งหมดหรือมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลาย ให้ศาลยกฟ้อง 
จำเลยยื่นคำร้องขอระบุพยานเพิ่มเติมโดยอ้างว่าจำเลยมีสิทธิเรียกร้องจากค่าจ้างว่าความจากบุคคลตามที่ระบุในหนังสือสัญญาจ้างว่าความรวมประมาณ 2,850,000 บาท และหนังสือรับรองเงินเดือนอีกเดือนละ 28,000บาท กับอ้างพยานบุคคลอีกหลายปากภายหลังสืบพยานโจทก์เสร็จแล้วเพื่อแสดงให้เห็นถึงฐานะและความสามารถในการชำระหนี้ของจำเลย แต่ศาลชั้นต้นไม่รับบัญชีพยานเพิ่มเติมของจำเลย แล้วมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาด เป็นการไม่ให้โอกาสจำเลยนำพยานเข้าสืบเพื่อพิจารณาความจริงตามเจตนารมณ์แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 กรณีมีเหตุจำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นสืบพยานจำเลยตามบัญชีพยานเพิ่มเติมของจำเลย
  

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6756/2538
               ฎีกาจำเลยที่ 4 ที่ว่า ศาลไม่ชอบที่จะรับฟ้องโจทก์ไว้พิจารณาเพราะโจทก์เป็นเจ้าหนี้มีประกันได้บรรยายฟ้องโดยไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติใน พ.ร.บ.ล้มละลาย มาตรา 10 (2) แม้จำเลยที่ 4 มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 แต่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนจำเลยที่ 4 มีสิทธิที่จะยกขึ้นอ้างซึ่งปัญหาเช่นว่านี้ได้ในชั้นฎีกา 
โจทก์บรรยายฟ้องว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย หากจำเลยทั้งสี่ไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้โจทก์ ถ้าไม่พอให้ยึดทรัพย์อื่นของจำเลยทั้งสี่ขายทอดตลาดชำระหนี้จนครบ ในการบังคับคดีโจทก์ได้นำยึดที่ดินจำนองของจำเลยที่ 4ขายทอดตลาดได้เงินชำระหนี้บางส่วน เมื่อหักยอดหนี้แล้วจำเลยทั้งสี่ยังค้างชำระหนี้โจทก์ จำเลยทั้งสี่ไม่ชำระ คำฟ้องของโจทก์มิได้ฟ้องจำเลยทั้งสี่ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันเพราะในขณะฟ้องคดีโจทก์ไม่ใช่เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิเหนือทรัพย์สินของจำเลยทั้งสี่ในทางจำนอง จำนำหรือสิทธิยึดหน่วงหรือเจ้าหนี้ผู้มีบุริมสิทธิที่บังคับได้ทำนองเดียวกับผู้รับจำนำตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ล้มละลาย มาตรา 6 โจทก์จึงไม่จำเป็นต้องบรรยายฟ้องตามหลักเกณฑ์ของมาตรา 10 (2) 
จำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2ที่จะต้องชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์ เมื่อโจทก์ได้บังคับยึดที่ดินจำนองของจำเลยที่ 4 ขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้ได้เพียงบางส่วน ส่วนที่เหลือจำเลยทั้งสี่ย่อมมีหน้าที่ต้องร่วมกันรับผิดชำระแก่โจทก์จนครบ ซึ่งโจทก์มีสิทธิเรียกให้จำเลยคนใดคนหนึ่งชำระหนี้ได้โดยสิ้นเชิงหรือแต่โดยส่วนตามแต่จะเลือกก็ได้การที่จะพิจารณาว่าลูกหนี้คนใดมีหนี้สินล้นพ้นตัวไม่สามารถชำระหนี้ได้หรือไม่นั้นเป็นเรื่องเฉพาะตัวของลูกหนี้ร่วมแต่ละคน จึงต้องพิจารณาเฉพาะตัวลูกหนี้ร่วมผู้นั้นว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่เท่านั้น ไม่เกี่ยวกับลูกหนี้ร่วมคนอื่น เมื่อคดีสำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่สุดไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ฟังว่าที่ดินของจำเลยที่ 2 กับภรรยาไม่อาจเพียงพอที่จะชำระหนี้ได้ และจำเลยที่ 2 ไม่มีทรัพย์สินอื่นที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ จำเลยที่ 2 จึงเป็นบุคคลผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวเช่นนี้ จำเลยที่ 3และที่ 4 ย่อมไม่อาจฎีกายกข้อเท็จจริงเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ซึ่งคดีถึงที่สุดไปแล้วนั้นโต้เถียงเป็นอย่างอื่นได้


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2645/2538
               โจทก์ได้ส่งแบบแจ้งการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหักณที่จ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีการค้าให้แก่จำเลยที่1ทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับแล้วแต่ส่งไม่ได้เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ผู้นำส่งรายงานว่าไม่มีผู้รับกรณีเช่นนี้นับว่าเป็นกรณีที่ไม่สามารถจะส่งตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในมาตรา8วรรคหนึ่งแห่งประมวลรัษฎากรโจทก์ชอบที่จะเลือกส่งตามวิธีการใดวิธีการหนึ่งในสองวิธีตามที่บัญญัติไว้ในวรรคสามการที่โจทก์ลงโฆษณาแบบแจ้งการประเมินในหนังสือพิมพ์ท้องที่จึงถือได้ว่าจำเลยที่1ได้รับแบบแจ้งการประเมินตามความในวรรคท้ายแห่งบทกฎหมายดังกล่าวแล้วเมื่อจำเลยที่1มิได้อุทธรณ์การประเมินจึงมีผลให้หนี้ภาษีอากรตามฟ้องเป็นหนี้เด็ดขาดและมีจำนวนแน่นอนเกินกว่าห้าแสนบาทขึ้นไปจำเลยที่2ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างจำเลยที่1จะกลับมาปฏิเสธว่าหนี้ดังกล่าวไม่ชอบหรือจำนวนหนี้ไม่ถูกต้องอีกหาได้ไม่ เจ้าพนักงานประเมินได้กำหนดให้จำเลยที่1ชำระเงินค่าภาษีอากรตามที่ประเมินแก่โจทก์ภายในกำหนด30วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมินโจทก์ได้ส่งแบบแจ้งการประเมินให้จำเลยที่1ทราบโดยวิธีโฆษณาในหนังสือพิมพ์ท้องที่เมื่อวันที่26กุมภาพันธ์2528ซึ่งถือได้ว่าจำเลยที่1ได้รับแบบแจ้งการประเมินภาษีในวันที่ได้ลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์อายุความจึงเริ่มต้นเมื่อครบกำหนด30วันนับแต่วันที่จำเลยที่1ได้รับแบบแจ้งการประเมินภาษีอากรเมื่อคำนวณถึงวันฟ้องแล้วยังไม่เกิน10ปีคดีของโจทก์ไม่ขาดอายุความ คดีห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่1เป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าจำเลยที่1เป็นหนี้ภาษีอากรค้างแก่โจทก์และจำเลยที่1มีหนี้สินล้นพ้นตัวไม่มีทรัพย์สินใดชำระหนี้แก่โจทก์ได้จำเลยที่2หุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่1ซึ่งต้องรับผิดในบรรดาหนี้ของจำเลยที่1โดยไม่จำกัดจำนวนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1070,1077และมาตรา1080จึงไม่อาจต่อสู้ว่าตนมีทรัพย์สินพอที่จะชำระหนี้ของจำเลยที่1หรือมิใช่เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวได้

=========================================================


รับ ทวงหนี้ ตามหนี้ เร่งรัดหนี้สิน โดยทีมงานเร่งรัดหนี้สินมืออาชีพ


               บริษัท สกายอินเตอร์เนชั่นแนลลีกัลจำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการด้าน นักสืบเอกชนและกฎหมายแบบครบวงจร มีการให้บริการด้าน การ เร่งรัดหนี้สิน การ รับทวงหนี้ การติด ตามหนี้ สินค้างชำระ การเจรจา ประนอมหนี้ การเจรจาต่อรองการ ชำระหนี้ ทำหนังสือ รับสภาพหนี้ การ ปรับโครงสร้างหนี้ เป็นต้น โดยรับติดตามหนี้สินทุกประเภท ทั้งหนี้สินที่เกี่ยวเนื่องกับคดีแพ่ง เช่น การติดตามหนี้เงินกู้ การติดตามหนี้การค้างชำระค่าสินค้า การติดตามคนค้ำประกันเงินกู้ ทั้งประเภทที่มีสัญญาหรือเอกสารหลักฐานอื่นที่สามารถฟ้องร้องกันได้ตาม กฎหมาย หนี้นอกระบบ และประเภทที่ไม่มีหลักฐานในการฟ้องร้องกันได้ตามกฎหมาย และมูลหนี้ที่ไม่สามรถฟ้องร้องบังคับกันได้ตามกฎหมาย เช่น หนี้ที่เกิดจากการพนัน ( รวมถึงกรณีที่เป็นหนี้ที่ขาดอายุ ความ เช่น เช็คขาดอายุความ ) หนี้สินที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา เช่น คดีจราจร (รถชนกันได้รับความเสียหาย) คดียักยอก ฉ้อโกง ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ และความผิดอื่นๆ ตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งผู้เสียหายมีสิทธิฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งจากผู้ต้องหาได้ รวมถึงการติดตามจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับด้วย โดยทีมงานนักสืบและพนักงานเร่งรัดหนี้สินที่มีประสบการณ์และความชำนาญในการ เร่งรัดติดตามหนี้สิน (อ่านรายละเอียด)


=========================================================


          กรณีที่ท่านมีความสงสัยหรือต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถติดต่อมาได้ที่ บริษัท สกายอินเตอร์เนชั่นแนลลีกัล จำกัด
เลขที่ 725 อาคารเอส เมโทร ชั้น 20 ห้อง 174 ถนนสุขุมวิท แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร 10110
โทร 081-9151522, 090-0700080  email: skyinterlegal@gmail.com , ดูแผนที่ (คลิกที่นี่)



บริษัท สกายอินเตอร์เนชั่นแนลลีกัล จำกัด 
725 อาคารเอส เมโทร ชั้น 20 ห้อง 174 ถนนสุขุมวิท
แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร 10110

โทร. 081-9151522, 090-0700080            E-mail : skyinterlegal@gmail.com           Facebook : Skyinterlegal
Copyright 2011-2022 Sky International Legal Co.,Ltd. All rights reserved.
 
  
view