คำพิพากษาศาลฎีกา กรณีชนแล้วหนี |
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 169/2562 การที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยขับรถในทางก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลแล้วไม่หยุดรถให้การช่วยเหลือและแสดงตัวต่อเจ้าพนักงานเป็นเหตุให้บุคคลนั้นถึงแก่ความตาย ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 โจทก์ร่วมไม่ใช่ผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดฐานนี้โดยตรง จึงไม่ใช่ผู้เสียหายตามกฎหมายและไม่มีสิทธิอุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดตาม พ.ร.บ. ดังกล่าวได้ และเมื่อโจทก์มิได้บรรยายฟ้องอ้างเหตุว่าการที่จำเลยไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือตามสมควร ไม่แสดงตัวและไม่แจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันทีอันเป็นการไม่ปฏิบัติตามมาตรา 78 แห่ง พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ นั้น เป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตาย คดีจึงไม่อาจลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 160 วรรคสอง ได้ และปัญหานี้แม้คู่ความจะมิได้อุทธรณ์ฎีกา แต่เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ขณะเกิดเหตุ รถจำเลยแล่นอยู่ในช่องเดินรถที่ 1 มิได้วิ่งคร่อมช่องเดินรถที่ 1 และที่ 2 การที่รถจำเลยเฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์ของผู้ตาย ผู้ตายจึงมีส่วนประมาทอยู่ด้วย ทำนองว่าจำเลยมิได้กระทำความผิดตามฟ้องนั้น เป็นข้อเท็จจริงที่ยกขึ้นใหม่และขัดแย้งกับคำให้การรับสารภาพของจำเลย จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5371/2557 บทบัญญัติตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 78 วรรคสอง เป็นข้อสันนิษฐานในคดีอาญาเพื่อให้ผู้ขับรถเข้าแสดงตนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือแสดงความบริสุทธิ์ จึงไม่ใช่ข้อสันนิษฐานเด็ดขาด คู่ความมีสิทธินำพยานหลักฐานเข้าสืบเพื่อหักล้างได้ คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า ล. ลูกจ้างของจำเลยขับรถโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังชนรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยได้รับความเสียหาย จำเลยให้การปฏิเสธว่า เหตุคดีนี้เกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของ ช. ผู้ขับรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัย เป็นกรณีที่โจทก์อ้างว่า ล. ทำละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 และจำเลยให้การปฏิเสธว่า ล. ไม่ได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อ โจทก์จึงมีหน้าที่นำสืบว่า ล. เป็นฝ่ายประมาทเลินเล่อเพราะโจทก์เป็นผู้กล่าวอ้างข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84 (ซึ่งใช้บังคับในขณะนั้น) โจทก์จึงไม่ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตามมาตรา 84 (2) ทั้งโจทก์บรรยายฟ้องขอให้จำเลยรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 กรณีจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติ มาตรา 437
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18527/2556 พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 บัญญัติเกี่ยวกับความผิดฐานขับรถในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น แล้วไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือตามสมควรและไม่แจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ไว้ตามมาตรา 78 วรรคหนึ่ง ซึ่งมีบทลงโทษตามมาตรา 160 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า "ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 78 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ" และวรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า "ถ้าการไม่ปฏิบัติตามมาตรา 78 เป็นเหตุให้บุคคลอื่นได้รับอันตรายสาหัสหรือตาย ผู้ไม่ปฏิบัติตามต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือนหรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ" ดังนี้ ผู้ขับขี่ที่จะได้รับโทษหนักขึ้นตามมาตรา 160 วรรคสอง หมายถึงกรณีที่ขับขี่รถในทางก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นแล้วไม่ปฏิบัติตามมาตรา 78 วรรคหนึ่ง และการไม่ปฏิบัติตามนี้เป็นเหตุให้บุคคลอื่นได้รับอันตรายสาหัสหรือตาย คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องในความผิดฐานขับรถก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลแล้วไม่หยุดรถช่วยเหลือพร้อมทั้งแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าภายหลังจากจำเลยขับรถในทางที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลและทรัพย์สินแล้ว จำเลยได้หลบหนีไม่ให้ความช่วยเหลือตามสมควรและไม่ไปแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ใกล้เคียงทันที มิได้บรรยายฟ้องอ้างเหตุว่าการที่จำเลยไม่อยู่ให้ความช่วยเหลือตามสมควร ไม่แสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ใกล้เคียงทันทีโดยจำเลยได้หลบหนีไปจากที่เกิดเหตุอันเป็นการไม่ปฏิบัติตามมาตรา 78 วรรคหนึ่ง นั้น เป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตาย คดีจึงไม่อาจลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 160 วรรคสองได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12458/2556 การที่พนักงานสอบสวนสอบปากคำ อ. พยานซึ่งเป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี และบันทึกโดยไม่แยกกระทำเป็นส่วนสัดในสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับเด็ก และให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ และพนักงานอัยการร่วมอยู่ด้วยในการถามปากคำเด็กนั้น เป็นการไม่ชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 133 ทวิ วรรคหนึ่ง แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยแถลงยอมรับข้อเท็จจริงในชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้นว่า อ. ให้การเป็นพยานต่อพนักงานสอบสวนตามบันทึกคำให้การไว้จริง ศาลจึงรับฟังตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่ในคำให้การดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานได้ และชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 226 แล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4992/2553 คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยขับรถยนต์บรรทุกหกล้อโดยเห็นอยู่แล้วว่าในช่องเดินรถด้านหน้าช่องเดินรถเดียวกับจำเลยมีรถจักรยานยนต์ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน ซึ่งมี ส. เป็นผู้ขับ กำลังขับสวนทางมา จำเลยยังคงขับรถด้วยความเร็วสูงเกินสมควรโดยไม่ชะลอความเร็วของรถให้ช้าลง เป็นเหตุให้รถที่จำเลยขับพุ่งเข้าเฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ที่ ส. ขับจนล้มลง รถทั้งสองคันได้รับความเสียหายและ ส. ถึงแก่ความตายทันที ฟ้องของโจทก์ไม่ได้บรรยายว่า ผู้ตายมีส่วนในการกระทำผิดทางอาญาด้วย ดังนั้น ตามฟ้องของโจทก์ถือว่า ผู้ตายเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) ข. โจทก์ร่วมซึ่งเป็นบุตรของผู้ตายจึงมีอำนาจจัดการแทนผู้ตายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) และมีสิทธิขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการตาม ป.วิ.อ. มาตรา 3 (2)
แม้ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า เหตุที่รถทั้งสองคันชนกันมิได้เกิดขึ้นจากความประมาทของจำเลย แต่เกิดจากความประมาทของผู้ตายก็ตาม แต่โจทก์ร่วมยื่นอุทธรณ์โต้แย้งคำวินิจฉัยดังกล่าวว่า เหตุเกิดขึ้นเพราะความประมาทของจำเลยฝ่ายเดียว ซึ่งโจทก์ร่วมมีสิทธิที่จะอุทธรณ์ได้ ข้อเท็จจริงจึงยังรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่ได้ว่า เหตุเกิดเนื่องมาจากผู้ตายมีส่วนกระทำโดยประมาทด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3674/2550 พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 78 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ผู้ใดขับรถหรือขี่หรือควบคุมสัตว์ในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นไม่ว่าจะเป็นความผิดของผู้ขับขี่หรือผู้ขี่หรือควบคุมสัตว์หรือไม่ก็ตาม ต้องหยุดรถหรือสัตว์และให้ความช่วยเหลือตามสมควรและพร้อมทั้งแสดงตัวแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที..." การที่จำเลยหลบหนีไปจากที่เกิดเหตุโดยไม่แสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามที่บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวบังคับไว้ ทั้งเมื่อพิจารณาอาการบาดเจ็บของจำเลยแล้วเห็นได้ว่าจำเลยมิได้รับบาดเจ็บมากจนกระทั่งไม่สามารถปฏิบัติตามบทกฎหมายดังกล่าวได้ จำเลยจึงมีความผิดตามมาตรา 78 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7705/2549 พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 11 และมาตรา 78 วรรคหนึ่ง ประสงค์ที่จะลงโทษผู้ขับรถในทางในเวลาที่มีแสงสว่างไม่เพียงพอที่จะมองเห็นโดยไม่เปิดโคมไฟให้แสงสว่าง และลงโทษผู้ขับรถในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นแล้วไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือตามสมควร และพร้อมทั้งแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที หาใช่กรณีประสงค์จะลงโทษผู้ขับรถที่จอดรถอยู่ไม่
จำเลยกระทำโดยประมาทจอดรถยนต์บนถนนกีดขวางทางจราจร ทั้งไม่ได้เปิดโคมไฟให้แสงสว่าง เพื่อแสดงว่ามีรถยนต์จอดอยู่ เป็นเหตุให้ผู้ตายและผู้เสียหายซึ่งขับรถจักรยานยนต์และซ้อนท้ายกันมาชนท้ายรถยนต์ของจำเลย แล้วจำเลยหลบหนีไป การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 11, 148 และมาตรา 78, 160 ตามที่โจทก์ฟ้อง ทั้งโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยขับรถโดยมีเครื่องอุปกรณ์ไม่ครบถ้วน ที่ศาลชั้นต้นปรับบทลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 6 วรรคสอง ตามที่โจทก์ขอมาท้ายฟ้องด้วยจึงไม่ถูกต้อง แม้จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลก็ไม่อาจลงโทษจำเลยตามบทบัญญัติดังกล่าวได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยมิได้ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัย และแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 195 วรรคสอง, 215 และ 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1368/2549 ผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 78 วรรคหนึ่ง, 160 วรรคหนึ่ง ต้องเป็นผู้ขับรถในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นและไม่หยุดให้ความช่วยเหลือพร้อมแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งการจะเป็นความผิดดังกล่าวได้ ต้องเป็นผู้ขับรถที่กำลังแล่นอยู่ หาใช่กรณีผู้ขับรถที่จอดหรือหยุดรถไม่ เมื่อเหตุเกิดขณะจำเลยจอดรถ จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานขับรถในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นตามบทมาตราดังกล่าว ปัญหาดังกล่าวแม้จำเลยที่ 1 จะไม่ได้ยกขึ้นในชั้นอุทธรณ์และฎีกา แต่เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษายกฟ้องในข้อหาดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 215, 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2429/2548 โจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่า จำเลยขับรถด้วยความประมาท เป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 1 ได้รับอันตรายสาหัส และผู้เสียหายที่ 2 ถึงที่ 4 ได้รับอันตรายแก่กาย โดยโจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้เห็นว่าจำเลยขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่นอันเป็นการไม่ปฏิบัติตามมาตรา 43 (8) แห่ง พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ คดีจึงไม่อาจลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 160 วรรคสาม ได้ ปัญหานี้แม้คู่ความมิได้อุทธรณ์ฎีกา แต่เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2816/2545 กรณีที่รถเก๋งที่จำเลยที่ 1 ขับเฉี่ยวชนกับรถยนต์บรรทุกหกล้อที่จำเลยที่ 2 ขับสวนทางกัน รถทั้งสองคันได้รับความเสียหายแม้ว่าความเสียหายนั้นจะมิได้เกิดขึ้นเพราะความผิดของจำเลยที่ 2 ก็ตาม ก็ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ขับรถในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นแล้ว เมื่อจำเลยที่ 2 หลบหนี ไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือตามสมควร ทั้งไม่แสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที เป็นการไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายบังคับไว้ จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 78 วรรคหนึ่ง ซึ่งต้องระวางโทษตามมาตรา 160 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8663/2544 ผู้ขับรถในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินที่ต้องหยุดรถให้ความช่วยเหลือพร้อมทั้งแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ใกล้เคียงทันทีไม่ว่าจะเป็นความผิดของผู้ขับขี่หรือไม่ ตาม พ.ร.บ.จราจร ทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 78 หมายถึง ผู้ควบคุมรถที่กำลังแล่นอยู่และมีความเสียหายเกิดขึ้น หาใช่ผู้ขับรถที่จอดอยู่หรือหยุดอยู่ไม่
จำเลยหยุดรถในช่องเดินรถด้ายซ้ายอยู่แล้ว โดยมีผู้โดยสารกำลังขึ้นรถ มิใช่ขับมาแล้วหยุดกะทันหัน การที่ผู้ตายขับรถจักรยานยนต์มาด้วยความประมาทเฉี่ยวชนท้ายรถแท๊กซี่ที่จำเลยขับ จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้ก่อความเสียหายอันจะต้องหยุดรถให้ความช่วยเหลือและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 78, 160 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7488/2544 ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ ส. มารดาของผู้ตาย และเป็นยายของเด็กชาย ก. ผู้ตาย เข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการเฉพาะความผิดตาม ป.อ. มาตรา 291 โจทก์ร่วมจึงไม่มีอำนาจอุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยสถานหนักและไม่รอการลงโทษในความผิดฐานหลบหนีไม่แจ้งเหตุตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 78 การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้โทษของจำเลยในความผิดฐานหลบหนีไม่แจ้งเหตุตามที่โจทก์ร่วมอุทธรณ์ จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้องโดยถือว่าโทษของจำเลยในความผิดฐานหลบหนีไม่แจ้งเหตุเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7285/2544 พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 (4) และมาตรา 78 วรรคหนึ่ง ประสงค์ที่จะลงโทษผู้ขับขี่ซึ่งขับรถโดยประมาทหรือน่าหวาดเสียวอันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน และลงโทษผู้ขับรถในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นแล้วไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือตามสมควร และพร้อมทั้งแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที หาใช่กรณีผู้ขับรถที่จอดรถอยู่ไม่
จำเลยกระทำโดยประมาทจอดรถยนต์บนถนนในที่มืดโดยไม่เปิดสัญญาณไฟและไม่ทำสัญญาณแสดงว่ามี รถยนต์จอดอยู่ เป็นเหตุให้ผู้ตายทั้งสองซึ่งขับรถจักรยานยนต์นั่งซ้อนท้ายกันมาชนท้ายรถยนต์ของจำเลย แล้วจำเลยหลบหนีไป การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 (4), 78 วรรคหนึ่ง ตามที่โจทก์ฟ้อง แม้จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลก็ไม่อาจลงโทษจำเลยได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมาย ที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้ไม่มีคู่ความยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วย มาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7282/2544 รถบรรทุกคันที่จำเลยขับเป็นรถที่บรรทุกอ้อยยื่นเกินความยาวของตัวรถขณะที่อยู่ในทางเดินรถ และถนนที่เกิดเหตุมีแสงสว่างเพียงพอที่จะทำให้มองเห็นรถจำเลยได้โดยชัดแจ้งภายในระยะไม่น้อยกว่า 150 เมตร จำเลยซึ่งเป็น ผู้ขับรถในทางต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 11 มาตรา 15 กฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2522) และข้อกำหนดกรมตำรวจ คือต้องใช้หรือมีโคมไฟแสงแดงติดไว้ที่ปลายสุดของต้นอ้อยส่วนที่ยื่นล้ำออกนอกท้ายรถจำเลยโดยให้ไฟสัญญาณแสงแดงส่องออกท้ายรถให้สามารถเห็นแสงไฟได้ชัดเจนในระยะไม่น้อยกว่า 150 เมตร
การที่จำเลยขับรถบรรทุกคันเกิดเหตุซึ่งเป็นรถที่บรรทุกต้นอ้อยยื่นล้ำออกนอกตัวรถโดยไม่มีโคมไฟแสงแดง ติดไว้ที่ปลายสุดของต้นอ้อยส่วนที่ยื่นออกไปด้วย ทำให้รถยนต์ที่ ถ. ขับตามหลังมาไม่สามารถมองเห็นรถจำเลยหรือแสงไฟได้ชัดเจนในระยะไม่น้อยกว่า 150 เมตร การกระทำของจำเลยเป็นการขับรถโดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 11 มาตรา 15 กฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2522 ) และข้อกำหนดกรมตำรวจ ซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นเพื่อความปลอดภัยในการขับรถ และการกระทำดังกล่าวเป็นสาเหตุโดยตรงที่ทำให้รถยนต์ ที่ ถ. ขับพุ่งชนท้ายรถบรรทุกที่จำเลยขับ จนเป็นเหตุให้ ถ. ได้รับบาดเจ็บสาหัสถือได้ว่าจำเลยขับรถโดยประมาท ส่วนที่ ถ. ขับรถโดยประมาทด้วย ก็หาทำให้การกระทำของจำเลยที่เป็นการกระทำโดยประมาทกลับเป็นไม่ประมาทไปได้ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4445/2543 พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 4 (15) บัญญัตินิยามคำว่า "รถ" ไว้ว่า ยานพาหนะทางบกทุกชนิด เว้นแต่รถไฟและรถรางทั้งตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 กำหนดความหมายของคำว่า"ยาน" คือ เครื่องนำไป พาหนะต่าง ๆ เช่น รถ เกวียน เรือ คำว่า "พาหนะ"คือ เครื่องนำไป เครื่องขับขี่ ยานต่าง ๆ มีรถและเรือเป็นต้น เรียกว่ายานพาหนะกับกำหนดความหมายของคำว่า "ขับ" คือ บังคับให้เคลื่อนไป เช่น ขับรถ ขับเรือดังนี้ "รถเข็น" ของจำเลยเป็นเพียงวัสดุ อุปกรณ์ และเครื่องใช้ในการประกอบอาชีพขายโรตี มิใช่ใช้ด้วยเจตนามุ่งประสงค์ในอันที่จะขนเคลื่อนบุคคลหรือทรัพย์สินใดจากที่แห่งหนึ่งไปยังที่อีกแห่งหนึ่งในลักษณะของยานพาหนะ จึงมิใช่ "รถ" ตามความหมายที่บัญญัตินิยามไว้ดังกล่าว และย่อมไม่อยู่ในบังคับแห่ง พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 78
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1116/2543 จำเลยมิได้ขับรถยนต์บรรทุกโดยประมาทจนเป็นเหตุให้รถยนต์บรรทุกที่จำเลยขับเฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ที่ผู้ตายขับ จำเลยจึงมิได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินในอันที่ผู้ก่อจะต้องหยุดช่วยเหลือหรือแสดงตัว และแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที จำเลยไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 78 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 362/2543 จำเลยขับรถบรรทุกคนโดยสารโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้ตายซึ่งนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ตกลงจากรถจักรยานยนต์แล้วถูกรถของจำเลยแล่นทับถึงแก่ความตายทันทีตรงที่เกิดเหตุ หลังเกิดเหตุจำเลยได้แสดงตัวต่อเจ้าพนักงานตำรวจ และมอบใบสั่งของเจ้าพนักงานตำรวจจราจรกับบัตรประจำตัวประชาชนแก่เจ้าพนักงานตำรวจดังกล่าวตรงที่เกิดเหตุ ซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจได้ควบคุมตัวจำเลยไว้ ต่อมาจำเลยขออนุญาตเจ้าพนักงานตำรวจไปโทรศัพท์แล้วหลบหนีไป เมื่อข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยสะบัดมือแล้วหลบหนีไปทันที รูปคดีจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยไม่ให้ความช่วยเหลือตามสมควร และไม่แจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานขับรถในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นแล้วไม่ให้ความช่วยเหลือตามสมควร และแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7871/2542 จำเลยปฏิบัติฝ่าฝืนบทบัญญัติ พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 78 วรรคหนึ่ง คือขับรถในทาง เกิดเหตุแล้วหลบหนี ซึ่งวรรคสองแห่งมาตราดังกล่าวให้สันนิษฐานว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดจึงเป็นหน้าที่ของจำเลยต้องนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าว เมื่อพยานจำเลยไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือและมีเหตุผลควรเชื่อตามพยานโจทก์ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่าจำเลยได้กระทำโดยประมาท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1412/2541 จำเลยขับรถยนต์โดยประมาท เป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายและได้รับอันตรายแก่กายสาหัส กับรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายได้รับความเสียหาย เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43(4)(8)ประกอบด้วย มาตรา 157 และเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กาย และได้รับอันตรายแก่กายสาหัส ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390,300 การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ซึ่งต้องลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 และเมื่อเกิดเหตุแล้ว จำเลยได้หลบหนีและไม่ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้เสียหาย ไม่แสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายหลัง จากการที่จำเลยขับรถยนต์ชนรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายแล้ว ซึ่งเป็นการกระทำโดยเจตนาของจำเลยแยกต่างหากจากการกระทำความผิดฐานขับรถยนต์โดยประมาทอันเป็นเรื่องต่างกรรมกันจำเลยจึงต้องมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 78 ประกอบด้วย มาตรา 160 วรรคหนึ่งอีกกระทงหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4130/2540 เกิดเหตุรถชนแล้วจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ขับรถคู่กรณีหลบหนีไปส่อแสดงพิรุธว่าเป็นฝ่ายกระทำผิดจริง และยังต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้กระทำผิดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 78 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 แม้ฝ่ายโจทก์จะมิได้นำสืบ น. ซึ่งเป็นพยานคู่กับโจทก์ที่ 1ในคราวเดียวกันก็ดี แต่ศาลย่อมใช้ดุลพินิจในการชั่งน้ำหนักคำพยานดังกล่าวแล้วได้กฎหมายมิได้บัญญัติห้ามมิให้รับฟัง ร้อยตำรวจเอกป.เป็นพนักงานสอบสวนผู้ตรวจสถานที่เกิดเหตุการพบร่องรอยตลอดจนเศษวัสดุต่าง ๆ ที่ตกอยู่ในที่เกิดเหตุจึงเป็นประจักษ์พยานไม่ใช่เป็นพยานบอกเล่า สำเนาใบเสร็จรับเงินเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาลของโจทก์ที่ 1 ที่โรงพยาบาลออกให้เพื่อเป็นหลักฐานแสดงว่าโจทก์ที่ 1 ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลตามเอกสารดังกล่าวจริง ดังนี้แม้ฝ่ายโจทก์มิได้ส่งสำเนาเอกสารให้แก่จำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 90 แต่กรณีเห็นได้ว่าเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในเรื่องค่ารักษาพยาบาล ฉะนั้นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมศาลมีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานข้างต้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87 ในกรณีทำให้เสียหายแก่ร่างกายนั้น ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้ เพราะไม่สามารถประกอบการงาน และค่าเสียหายเพื่อการที่เสียความสามารถประกอบการงานสิ้นเชิงหรือแต่บางส่วนทั้งในเวลาปัจจุบันและในเวลาอนาคตด้วยตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 443 วรรคสอง และมาตรา 444 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนี้ ผู้ทำละเมิดจึงต้องใช้ค่าขาดรายได้อันเป็นค่าเสียหายที่ขาดประโยชน์ทำมาหาได้อีกส่วนหนึ่ง ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 กล่าวคือ ค่าเสียหายของรถจักรยานยนต์เป็นเงิน 40,000 บาท ค่ารักษาพยาบาลเป็นเงิน 29,564 บาทค่าเสียหายเพื่อการที่เสียความสามารถประกอบการงานสิ้นเชิงหรือแต่บางส่วนเพราะทุพพลภาพเป็นเงิน 60,000 บาท และค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานเป็นเงิน 120,000 บาท รวมค่าเสียหายของโจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 249,564 บาท แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 กลับพิพากษาให้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 209,564 บาท กรณีเป็นที่เห็นได้ชัดว่าเกิดจากความผิดพลาดหรือผิดหลงในการรวมคำนวณยอดค่าเสียหายของโจทก์ที่ 1 ซึ่งถือได้ว่าเป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยที่แก้ไขได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143 ศาลฎีกาจึงมีอำนาจพิพากษาแก้ไขคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในส่วนนี้ให้ถูกต้องได้ ส.มีหน้าที่ควบคุมดูแลตรวจสอบการทำงานของคนขับรถของจำเลยที่ 1 หากคนขับไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับส.สามารถเสนอเรื่องให้กรรมการของจำเลยที่ 1 ลงโทษได้นอกจากนี้ด้านข้างของรถยนต์บรรทุกสิบล้อคันเกิดเหตุระบุตัวอักษรชื่อย่อของจำเลยที่ 1 อีกทั้งภายหลังเกิดเหตุ ส. พนักงานของจำเลยที่ 1 ยังไปติดต่อขอชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ถูกกระทำละเมิด พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าจำเลยที่ 2 มีฐานะเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และได้กระทำไปในทางการที่จ้าง จำเลยทั้งสองฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาเฉพาะเกี่ยวกับโจทก์ที่ 1 เท่านั้น และมีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยทั้งสองในส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์ที่ 2 และที่ 3 เพราะต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงแต่ศาลชั้นต้นมิได้สั่งคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาของทุนทรัพย์ในส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์ที่ 2 และที่ 3 จึงยังไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาให้ศาลชั้นต้นคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาตามจำนวนทุนทรัพย์ในส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ให้แก่จำเลยทั้งสองทั้งหมด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9299/2539 ความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522มาตรา 78,160 รัฐเท่านั้นที่เป็นผู้เสียหาย โจทก์ร่วมมิใช่ผู้เสียหาย จึงขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในข้อหานี้ไม่ได้ แม้ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ร่วมเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีนี้ได้ก็ต้องหมายถึงอนุญาตให้เข้าร่วมเป็นโจทก์ได้เฉพาะที่โจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายในข้อหาความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291 เท่านั้น โจทก์ร่วมจึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ในข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6172/2538 บุคคลใดจะยื่นคำร้องขอต่อศาลโดยทำเป็นคำร้องขอฝ่ายเดียวเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทตาม ป.วิ.พ. มาตรา 188 ได้นั้น จะต้องเป็นกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติให้อำนาจไว้ การยื่นคำร้องขอของผู้ร้องที่ขอให้ศาลมีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนคืนรถยนต์พิพาทที่ถูกยึดไว้ในคดีที่รถยนต์พิพาทเกิดอุบัติเหตุเพื่อประกอบคดีนั้นไม่มีกฎหมายใดสนับสนุนให้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอฝ่ายเดียวเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทได้ หากผู้ร้องถูกโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่เกี่ยวกับรถยนต์พิพาทประการใด ผู้ร้องก็ชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลส่วนแพ่งที่มีเขตอำนาจได้ โดยเป็นโจทก์ยื่นฟ้องอย่างคดีมีข้อพิพาทตามป.วิ.พ. มาตรา 55 ผู้ร้องไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลอย่างคดีไม่มีข้อพิพาท
เมื่อผู้ร้องไม่อาจใช้สิทธิทางศาลได้ ผู้ร้องย่อมไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอ แม้ผู้คัดค้านจะยื่นคำคัดค้านเข้ามาในคดี ก็ไม่สามารถดำเนินคดีต่อไปอย่างคดีที่มีข้อพิพาท ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 188 (4) ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2870/2538 ข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา43, 78, 157, 160 วรรคหนึ่ง มีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ 1 เดือนลงมา จึงมีอายุความเพียง 1 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 95 (5) จำเลยกระทำความผิดวันที่ 4 มกราคม 2529 นับถึงวันฟ้องคือวันที่ 8 มิถุนายน 2537 คดีของโจทก์สำหรับความผิดตามมาตราดังกล่าวจึงเป็นอันขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6) ปัญหานี้ แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกาศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1118/2538 พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2535 มาตรา 30เป็นการแก้ไข พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 160 ซึ่งมีข้อความเกี่ยวกับ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (1) (2) (5) หรือ(8) และมาตรา 78 เมื่อโจทก์มิได้ขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกพ.ศ.2522 มาตรา 43 (1) (2) (5) หรือ (8) และมาตรา 78 มาด้วยจึงไม่ต้องปรับบทลงโทษตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2535มาตรา 30
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6746/2537 คำพิพากษาศาลชั้นต้นจะถึงที่สุดก็ต่อเมื่อไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ คดีนี้แม้โจทก์จะเป็นผู้อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยให้หนักขึ้นและไม่รอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยก็ตาม คำพิพากษาศาลชั้นต้นสำหรับจำเลยก็ยังไม่ถึงที่สุด
ปัญหาเรื่องการกำหนดโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำผิดเป็นดุลพินิจของศาล ถ้าศาลชั้นต้นกำหนดมาไม่เหมาะสม และคดีขึ้นมาสู่ศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ย่อมแก้ได้เสมอเมื่อคดีส่วนของจำเลยคนนั้นยังไม่ถึงที่สุด ไม่ว่าฝ่ายใดจะยกขึ้นอุทธรณ์มาโดยเฉพาะหรือไม่ก็ตาม โดยคำนึงถึงพฤติการณ์ประกอบการกระทำความผิดศาลอุทธรณ์คงถูกห้ามเพียงแต่มิให้พิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย เว้นแต่โจทก์จะได้อุทธรณ์ในทำนองนั้นตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 212 เท่านั้น คดีนี้โจทก์เองเป็นผู้อุทธรณ์ทำนองขอให้เพิ่มโทษจำเลย และศาลอุทธรณ์ก็กำหนดโทษน้อยกว่าที่ศาลชั้นต้นวางไว้จึงไม่ต้องห้ามแต่อย่างใด และบทบัญญัติแห่ง ป.อ. มาตรา 55เป็นเรื่องกฎหมายให้อำนาจศาลจะกำหนดโทษจำคุกตามกฎหมายให้น้อยลง แต่คดีนี้เป็นเรื่องที่ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจลงโทษจำเลยให้น้อยลงกว่าศาลชั้นต้น จึงนำหลักเกณฑ์ตาม ป.อ. มาตรา 55 มาปรับแก่คดีนี้ไม่ได้
โจทก์มิได้บรรยายฟ้องอ้างเหตุว่าการที่จำเลยไม่อยู่ให้ความช่วยเหลือตามสมควร ไม่แสดงตัวและไม่แจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันทีอันเป็นการไม่ปฏิบัติตามมาตรา 78 แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ.2522 นั้น เป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตาย คดีจึงไม่อาจลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 160 วรรคสอง ได้ และปัญหานี้แม้คู่ความจะมิได้อุทธรณ์ฎีกา แต่เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสองประกอบมาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 114/2537 ภายหลังจากเกิดเหตุรถชนกันแล้ว มีผู้นำผู้ตายและโจทก์ร่วมส่งโรงพยาบาล ผู้ตายถึงแก่ความตายในคืนนั้น ส่วนจำเลยอยู่ในที่เกิดเหตุประมาณ 2 นาทีแล้วหลบหนีไป ต่อมาอีก 6 วัน จำเลยจึงเข้ามอบตัวต่อสู้คดี ดังนี้ การที่จำเลยไม่ให้ความช่วยเหลือตามสมควร ไม่แสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันทีเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมได้รับอันตรายสาหัสและผู้ตายถึงแก่ความตาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 160 วรรคสอง
การที่รถยนต์เกิดเหตุทั้งสองคันชนกันจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายไม่ได้เกิดเพราะความประมาทเลินเล่อของจำเลย จำเลยเพียงแต่หลบหนีไปเมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงสมควรให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดีโดยให้รอการลงโทษจำคุกไว้
ความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 78วรรคแรก, 160 วรรคสอง เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้ลงโทษจำคุก 3 เดือน คดีจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ.มาตรา 218 วรรคแรก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5439/2536 จำเลยขับรถไถในทางเวลากลางคืนมีหน้าที่ต้องเปิดไฟแสงแดงที่ท้ายรถตามกฎกระทรวงฉบับที่ 2(พ.ศ. 2522) ออกตามความในพระราชบัญญัติ จราจรทางบก พ.ศ. 2522 เมื่อท้ายรถไถที่จำเลยขับมีผานไถและจานไถบรรทุกอยู่ยื่นออกนอกตัวรถไปด้านท้ายประมาณ 2 เมตรจำเลยมีหน้าที่ต้องใช้โคมไฟแสงแดงติดไว้ที่ปลายสุดของผานไถและเปิดไว้ด้วย แต่เมื่อจำเลยเปิดไฟท้ายและไฟส่องผานไถซึ่งเป็นไฟสปอตไลท์ขนาดใหญ่ สามารถส่องกระจายแสงได้กว้างและเห็นได้ในระยะไกล และข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าขณะเกิดเหตุจำเลยยกผานไถไว้ในระดับที่บดบังไฟท้าย ไฟส่องผานไถและแผ่นวงกลมสีแดงสะท้อนแสงจนไม่สามารถมองเห็นรถไถได้จากระยะไม่น้อยกว่า 150 เมตร แม้จำเลยจะไม่ติดโคมไฟแสงแดงไว้ที่ปลายสุดของผานไถ ก็ไม่ใช่สาเหตุโดยตรงให้รถยนต์ที่ผู้ตายขับตามหลังชนถูกผานรถไถที่จำเลยขับ การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4416/2536 โจทก์มิได้บรรยายฟ้องอ้างเหตุว่า การที่จำเลยไม่อยู่ให้ความช่วยเหลือตามสมควร ไม่แสดงตัวและไม่แจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ใกล้เคียงทันทีโดยจำเลยได้หลบหนีไปจากที่เกิดเหตุอันเป็นการไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 78 นั้น เป็นเหตุให้บุคคลอื่นได้รับอันตรายสาหัส คดีจึงไม่อาจลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 160 วรรคสองได้ และปัญหาข้อนี้แม้คู่ความจะมิได้อุทธรณ์ฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1432/2535 จำเลยขับรถเทรลเลอร์ บรรทุกตู้สำนักงานชั่วคราวไปตามถนนวิทยุด้วยความเร็วสูงชนกับต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ที่เกาะกลางถนน เป็นเหตุให้ตู้สำนักงานชั่วคราวหลุดตกลงกระแทกกับรถยนต์ที่ผู้ตายขับสวนทางมารถผู้ตายเสียการทรงตัวแล่นไถลไปชนกับรถยนต์โดยสารปรับอากาศขนาดกลางและต้นไม้ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย การที่จำเลยขับรถยนต์ลากจูงรถพ่วงบรรทุกตู้สำนักงานขนาดใหญ่ ซึ่งมีความสูงจากพื้นถนนถึง 3.60 เมตร ไปตามถนนซึ่งมีต้นไม้ใหญ่ขึ้นปกคลุมบนเกาะกลางถนนตลอดเส้นทางด้วยความเร็วสูง ในขณะที่ไฟฟ้าสาธารณะริมถนนดับหมด จนเป็นเหตุให้ตู้สำนักงานชั่วคราวที่บรรทุกมาบนรถจำเลยเฉี่ยวชนกับต้นไม้ใหญ่ข้างทาง ถือได้ว่า เป็นการกระทำโดยประมาทจำเลยจึงมีความผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย การกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 กับตามพระราชบัญญัติ จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 35,157 และมาตรา78,160 วรรคแรก เป็นความผิดต่างกรรม รวม 3 กระทง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1124/2534 โจทก์ฟ้องกล่าวเป็นประเด็นในคำฟ้องว่า จำเลยทั้งสองยึดรถของโจทก์ไว้โดยไม่มีสิทธิและอำนาจที่จะพึงกระทำได้ โจทก์ไม่ได้กล่าวในฟ้องว่าเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจกระทำการยึดรถไว้โดยไม่มีความจำเป็นที่ต้องกระทำ ข้อเท็จจริงตามฎีกาโจทก์ที่ว่าเจ้าพนักงานไม่มีความจำเป็นต้องยึดรถโจทก์ไว้ต่อไปแล้ว จึงเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์เพิ่งยกขึ้นมาอ้างในชั้นฎีกา ไม่ใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่วินิจฉัยให้ โจทก์อ้างว่า ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522มาตรา 160 วรรคแรก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินสองพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับคดีจะขาดอายุความในหนึ่งปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95(5) พนักงานเจ้าหน้าที่จึงมีอำนาจยึดรถไว้ถึงวันที่ 1 มกราคม 2527 เท่านั้น พ้นจากนั้นอำนาจในการยึดย่อมสิ้นสุดลง และจะต้องคืนรถทันที จำเลยทั้งสองไม่คืนให้เป็นการละเมิดโจทก์ ปรากฏว่าโจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 19 ธันวาคม 2526ในวันดังกล่าวจำเลยทั้งสองยังมีอำนาจยึดรถของโจทก์ไว้ได้ตามพระราชบัญญัติ จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 78 การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นละเมิด.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 912/2534 จำเลยขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและได้รับบาดเจ็บ จำเลยแจ้งให้เจ้าพนักงานตำรวจซึ่งมายังที่เกิดเหตุทราบว่าจำเลยเป็นคนขับรถยนต์คันเกิดเหตุ และมีผู้อื่นนำส่งผู้บาดเจ็บไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลเรียบร้อยแล้ว แม้ต่อมาจำเลยหลบหนีไปก็จะถือว่าจำเลยไม่ได้ให้ความช่วยเหลือตามสมควรแก่ผู้ตายและผู้บาดเจ็บกับไม่ได้แสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ใกล้เคียงทันทีไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2137/2532 การที่ ส. ถึงแก่ความตายในที่เกิดเหตุ ส่วนโจทก์ร่วมและร. ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส สาเหตุเนื่องจากบาดแผลซึ่งเกิดจากรถชนกันไม่ปรากฏว่าการที่จำเลยหลบหนีโดยไม่ทำการช่วยเหลือหรือไม่แจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ใกล้เคียงทันทีตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 78 เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายหรือผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522มาตรา 160 วรรคสอง คงเป็นความผิดตามมาตรา 160 วรรคแรก แม้จำเลยจะขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ชนกับรถที่ ส.ขับทำให้ ส. ถึงแก่ความตาย โจทก์ร่วมกับพวกได้รับอันตรายสาหัสและได้รับอันตรายแก่กาย แต่ปรากฏตามฟ้องว่าผู้ตายเป็นฝ่ายขับรถโดยความประมาทด้วย และสาเหตุที่รถชนกันนั้นเป็นเพราะผู้ตายกลับรถกลางถนนในเขตชุมนุมชน ผู้ตายจึงเป็นผู้ก่อให้เกิดการกระทำผิดอยู่มากกรณีมีเหตุอันควรปรานี รอการลงโทษให้แก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1489/2532 การที่จำเลยขับรถยนต์โดยประมาทชนผู้ตายแล้วจำเลยนำผู้ตายไปส่งโรงพยาบาลในทันทีหลังจากเกิดเหตุ โดยมิได้แจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จะถือว่าจำเลยหลบหนีไปจนเป็นเหตุให้ผู้ตายได้รับอันตรายถึงตายตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522มาตรา 160 วรรคสอง หาได้ไม่ จำเลยคงมีความผิดตามมาตรา 160 วรรคแรกเท่านั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4405/2531 จำเลยจอดหยุดรถอยู่ในช่องทางเดินรถด้านขวาซึ่งอยู่ติดกับช่องว่างของเกาะกลางถนนเพื่อรอเลี้ยวกลับรถ แล้ว ก. ขับขี่รถจักรยานยนต์ด้วยความประมาทมาชนท้ายรถที่จำเลยขับ ถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหาย อันจำเลยจะต้องหยุดรถให้ความช่วยเหลือและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เพราะจำเลยมิได้เป็นผู้ขับรถที่กำลังแล่นอยู่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3557/2531 การที่จำเลยขับรถเลี้ยวขวาตัดหน้ารถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายสาหัส และรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายได้รับความเสียหายนั้น ถือได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4) ประกอบด้วยมาตรา 147 และเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายสาหัสอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 อันเป็นบทหนัก
เมื่อเกิดเหตุชนแล้ว จำเลยได้หลบหนีและไม่ให้ความช่วยเหลือผู้เสียหาย ไม่แสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ใกล้เคียงทันที เป็นการกระทำที่เกิดขึ้นภายหลังจากผู้เสียหายได้ขับรถจักรยานยนต์ชนรถยนต์คันที่จำเลยเป็นผู้ขับขี่ตัดหน้าซึ่งเป็นการกระทำโดยเจตนาของจำเลยแยกต่างหากจากการกระทำครั้งแรกอันเป็นเรื่องต่างกรรม จำเลยจึงต้องมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 78, 160 วรรคสอง อีกกระทงหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1141/2531 เจ้าของรถที่เสียหายเพราะถูกรถที่จำเลยขับชนมิใช่ผู้ที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดของจำเลยตามพระราชบัญญัติ จราจรทางบกที่โจทก์ฟ้องอันเป็นความผิดเกี่ยวกับรัฐ จึงมิใช่ผู้เสียหายที่จะมีสิทธิขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 126/2531 กรณีรถสองคันแล่นสวนทางกันและเกิดชนกันได้รับความเสียหายแม้ว่าความเสียหายนั้นจะมิได้เกิดขึ้นเพราะความผิดของจำเลยก็ตาม ก็ถือได้ว่าจำเลยขับรถในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของบุคคลอื่นแล้ว จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที เมื่อจำเลยมิได้แจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็เป็นการไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายบังคับไว้ จำเลยจึงต้องมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 78 วรรคแรก และมีโทษตามมาตรา 160 วรรคแรก. (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 1/2531)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2981/2530 ความผิดฐานหลบหนีไม่หยุดให้ความช่วยเหลือและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 78,160 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินห้าพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยไม่เชื่อว่าจำเลยเป็นผู้ขับรถชนผู้ตายแล้ว ความผิดในข้อหาดังกล่าวจึงต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ แม้ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์และศาลอุทธรณ์รับพิจารณาในข้อหานี้โดยลงโทษจำเลยก็เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องในข้อหาดังกล่าว.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1530/2530 จำเลยขับรถยนต์ชนรถยนต์คันอื่นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและได้รับอันตรายแก่กายสาหัส ส่วนจำเลยก็หมดสติไปไม่อยู่ในสภาวะที่จะช่วยตนเองได้ การที่จำเลยงดเว้นไม่ช่วยเหลือผู้อื่นและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่มิใช่เพราะจำเลยมีเจตนาฝ่าฝืนกฎหมายจึงมิใช่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 78
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2913 - 2915/2528 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 172 จำคุก 3 เดือนศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 172,174 วรรคสอง และ 83 ให้จำคุก 3 เดือนเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขเล็กน้อยต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 218 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 78 ให้อำนาจการยึดรถแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ไว้ 2 กรณี คือ ผู้ขับขี่หลบหนี หรือไม่แสดงตนว่าเป็นผู้ขับขี่กรณี ดังกล่าวพนักงานเจ้าหน้าที่หาจำต้องติดตามยึดรถในทันทีที่เกิดเหตุไม่ดังนั้นเมื่อมีการหลบหนีหรือหาตัวไม่พบพนักงานเจ้าหน้าที่ก็มีอำนาจติดตามยึดรถในเวลาต่อมาได้ จำเลยที่ 1 แจ้งความอันเป็นเท็จแก่พนักงานสอบสวนว่าจำเลยที่ 1 มีความเห็นว่าการกระทำของร้อยตำรวจเอก ก.กับพวกรวม 3 คน เป็นการร่วมกันเอารถยนต์ของตนไปโดยเจตนาทุจริตและใช้กำลังบังคับว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายผู้ดูแลรถอันเป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์และลักทรัพย์แสดงว่าจำเลยที่ 1 ยืนยันว่าการกระทำของร้อยตำรวจเอกก.กับพวกเป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์ หาใช่เป็นเพียงความเห็นหรือความเข้าใจไม่การกระทำของจำเลยที่ 1จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172,174 วรรคสองประกอบด้วยมาตรา 181(1) ซึ่งจะต้องได้รับโทษหนักขึ้นแม้ปัญหาดังกล่าวจะไม่มีฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้เพราะเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแต่เนื่องจากโจทก์ไม่ได้ฎีกาขอให้เพิ่มเติมโทษจำเลย จึงไม่อาจเพิ่มเติมโทษจำเลยที่ 1 ได้ จำเลยที่ 2 ที่ 3 ให้การอันเป็นเท็จต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้เห็นว่าร้อยตำรวจเอกก.ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบทำการยึดรถยนต์ไปโดยไม่มีอำนาจและไม่ทราบสาเหตุทั้งกระทำเกินความจำเป็นเพื่อสนับสนุนคำแจ้งความของจำเลยที่1 ให้กลายเป็นความจริงซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหายแก่ร้อยตำรวจเอก ก. กับพวกจึงเป็นการแจ้งความเท็จแก่เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172(อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 492/2509)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 340/2527 ขณะเกิดเหตุ จำเลย(มีใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคลชั่วคราว)ใช้รถยนต์รับจ้างในกิจการส่วนตัวมิได้ใช้รับจ้างบรรทุกคนโดยสาร จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานไม่มีใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะ จำเลยมิได้เป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นจึงไม่มีหน้าที่จะต้องหยุดช่วยเหลือหรือแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3989/2526 โจทก์บรรยายฟ้องแต่เพียงว่า จำเลยขับรถยนต์ด้วยความประมาทเป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตายและได้รับอันตรายสาหัส เกิดเหตุแล้วจำเลยหลบหนีไม่อยู่ช่วยเหลือ ทั้งไม่ได้แสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยมิได้บรรยายอ้างเหตุว่าการหลบหนีดังกล่าวเป็นเหตุให้บุคคลอื่นได้รับอันตรายสาหัสหรือตายด้วยดังนี้ ไม่อาจลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก ฯ มาตรา 160 วรรคสองได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2278/2525 โจทก์ฟ้องด้วยวาจาเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2524 ว่าจำเลยกระทำโดยประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายถึงสาหัสและกระทำผิดต่อพระราชบัญญัติจราจรทางบก ปรากฏในบันทึกคำฟ้องของศาลว่าจำเลยกระทำความผิดเมื่อวันที่ 31 มิถุนายน 2524 อันเป็นวันภายหลังที่โจทก์ฟ้อง แต่ปรากฏตามบันทึกการตกลงชดใช้ค่าเสียหายและคำร้องขอผัดฟ้องและฝากขังว่าจำเลยกระทำผิดเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2524 และต่อมาเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2524 จำเลยมอบตัวต่อพนักงานสอบสวน และให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน ในวันที่โจทก์ฟ้องจำเลยก็ยังได้ยื่นคำร้องยอมรับสารภาพว่าได้กระทำความผิดจริง แสดงว่าจำเลยทราบดีถึงการกระทำความผิดของจำเลยทั้งจำเลยมิได้หลงต่อสู้ การที่ศาลบันทึกวันกระทำผิดของจำเลยผิดพลาดไปเป็นเรื่องของความพลั้งเผลอจึงหาใช่เป็นการฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยกระทำผิดภายหลังวันที่โจทก์ฟ้องไม่ ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2255/2522 บรรยายฟ้องว่าจำเลยมีเจตนาจะให้รถยนต์ที่ผู้ตายขับชนกับรถโดยสารประจำทางซึ่งจำเลยย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นอยู่แล้วว่า เมื่อรถโดยสารแล่นสวนทางมาในระยะใกล้ หากจำเลยได้หยุดและหักรถหลบเข้ามาทางซ้าย ผู้ตายต้องหลบมาทางขวา จะชนกับรถโดยสารในทันที ผู้ตายและผู้โดยสารต้องถึงแก่ความตายและบาดเจ็บสาหัส และรถทั้งสองชนกันมีคนตายและบาดเจ็บสาหัสดังเจตนาของจำเลย หรือมิฉะนั้นก็ขับรถด้วยความประมาทแสดงว่าฟ้องมีความประสงค์ให้ลงโทษอย่างใดอย่างหนึ่ง หาใช่ขอให้ลงโทษทั้งสองอย่างไม่ ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) และจำเลยเข้าใจฟ้องได้ดี ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 1547/2511)
จำเลยขับรถปิดเส้นทางไม่ยอมให้ผู้ตายซึ่งขับรถตามหลังมาแซงขึ้นหน้า เมื่อรถโดยสารประจำทางแล่นสวนทางมา จำเลยก็แกล้งเบรคให้รถหยุดในทันที การกระทำเช่นนี้จำเลยย่อมเล็งเห็นได้ว่าผู้ตายต้องหักรถหลบไปทางขวาและชนกับรถโดยสารนั้น ซึ่งจำเลยย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำของจำเลยได้ว่าจะมีผู้ได้รับอันตรายบาดเจ็บและตายเกิดขึ้นจากเหตุที่รถชนกันนั้น ฉะนั้นเมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายด้วยผลแห่งการกระทำของจำเลยดังกล่าว จงได้ชื่อว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้ตาย
========================================================= |
นักสืบเอกชน บริษัทนักสืบเอกชน |
บริษัท สกายอินเตอร์เนชั่นแนลลีกัล จำกัด บริษัทนักสืบเอกชนผู้ให้บริการด้านงานสืบสวนแบบครบวงจร ให้บริการสืบทุกเรื่องที่คุณอยากรู้ เช่น ข้อมูลส่วนตัว ชู้สาว สืบทรัพย์ (บังคับคดี) สืบหาที่อยู่ สืบจับ ตามหมายจับ สืบหาข้อมูลยานพาหนะ ข้อมูลการใช้โทรศัพท์ บัญชีธนาคาร คู่แข่งธุรกิจ การเดินทาง เข้า-ออก ประเทศไทย สืบหาพยานหลักฐานในคดีแพ่ง คดีอาญา เป็นต้น (อ่านรายละเอียด)
========================================================= |
กรณีที่ท่านมีความสงสัยหรือต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถติดต่อมาได้ที่ บริษัท สกายอินเตอร์เนชั่นแนลลีกัล จำกัด เลขที่ 725 อาคารเอส เมโทร ชั้น 20 ห้อง 174 ถนนสุขุมวิท แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร 10110 โทร 081-9151522, 090-0700080 email: skyinterlegal@gmail.com , ดูแผนที่ (คลิกที่นี่)
|