คำพิพากษาศาลฎีกา ความผิดตาม พระราชบัญญัติ การเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 |
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20111 - 20112/2556 พ.ร.บ.การเล่นแชร์ พ.ศ.2534 มาตรา 6 บัญญัติว่า "ห้ามมิให้บุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ที่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้... (2) มีจำนวนสมาชิกวงแชร์รวมกันทุกวงมากกว่าสามสิบคน" จึงเห็นได้ว่าจำนวนสมาชิกที่เล่นแชร์นั้น กฎหมายไม่ได้กำหนดว่าต้องเป็นการเล่นแชร์วงเดียวกันเท่านั้น แต่อาจเป็นการเล่นแชร์คนละวงกันหรือหลายวงต่างกันได้ ข้อสำคัญอยู่ที่ว่าในการเป็นนายวงแชร์หรือเล่นแชร์นั้นมีสมาชิกวงแชร์ทุกวงจำนวนรวมกันมากกว่า 30 คน เมื่อตามฎีกาของจำเลยที่ 1 รับว่า แชร์วงใหญ่ประกอบด้วยวงแชร์ 2 วง จำนวนสมาชิกวงละ 29 คน จึงมีจำนวนรวมกัน 58 คน เป็นจำนวนมากกว่า 30 คน และแชร์วงเล็กมีจำนวนวงละ 27 คน จึงมีจำนวน 54 คน อันเป็นจำนวนมากกว่า 30 คนเช่นกัน จำเลยที่ 1 ย่อมมีความผิดตาม พ.ร.บ.การเล่นแชร์ พ.ศ.2534 มาตรา 6 (2)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8077/2553 การประมูลแชร์เป็นวิธีการหารายได้อย่างหนึ่ง เช่นเดียวกับการกู้ยืมเงินเพื่อเป็นทุนในการประกอบธุรกิจหรือการอื่นใดที่ต้องใช้เงิน เป็นกิจทั่วไปที่ดำเนินการได้เพื่อให้กิจการตามวัตถุประสงค์ที่ระบุในหนังสือรับรองดำเนินไปได้ จึงมิใช่เรื่องนอกเหนือวัตถุประสงค์ของจำเลย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2318/2553 การกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.การเล่นแชร์ พ.ศ.2534 มาตรา 4, 6 (1) (2), 17 ผู้กระทำจะต้องมีเจตนาจัดให้มีการเล่นแชร์หรือเป็นนายวงแชร์ที่แท้จริง ดังนี้ แม้ตามคำฟ้องตอนต้นระบุว่า จำเลยเป็นนายวงแชร์ 7 วง อันเป็นการจัดให้มีการเล่นแชร์มากกว่าสามวงและมีสมาชิกวงแชร์รวมกันทุกวงมากกว่าสามสิบคน และกระทำความผิดฐานฉ้อโกงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จและปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งเกี่ยวกับการจัดตั้งวงแชร์ของจำเลยต่อผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 7 และประชาชนทั่วไป แต่ในคำฟ้องต่อไปได้อธิบายถึงพฤติการณ์ของจำเลยว่า ความจริงจำเลยไม่มีสมาชิกครบตามจำนวนวงแชร์ดังที่จำเลยแจ้งต่อผู้เสียหายทั้งเจ็ดและผู้อื่น แต่จำเลยอ้างหรือจัดตั้งชื่อผู้มีชื่อขึ้นมาเป็นสมาชิกเพื่อให้ครบตามจำนวนสมาชิกวงแชร์ อันเป็นความเท็จ โดยจำเลยมีเจตนาทุจริตเพื่อให้ผู้เสียหายทั้งเจ็ดและผู้อื่นหลงเชื่อเข้าร่วมเป็นสมาชิกวงแชร์เพื่อให้จำเลยได้เงินค่างวดแชร์จากผู้เสียหายแต่ละคน แสดงว่าจำเลยเพียงแต่อ้างการจัดให้มีการเล่นแชร์มาเป็นข้อหลอกลวงเพื่อให้ได้เงินค่างวดแชร์ จำเลยมิได้มีเจตนาจัดให้มีการเล่นแชร์อันเป็นองค์ประกอบความผิดตามที่โจทก์ระบุในตอนต้นของคำฟ้อง ทั้งตามฟ้องโจทก์มิได้บรรยายชัดแจ้งว่าบุคคลที่เข้าร่วมเล่นแชร์กับจำเลยและผู้เสียหายทั้งเจ็ดในแต่ละวงที่แท้จริงมีจำนวนเท่าใด จึงยังฟังไม่ได้ว่าเป็นกรณีมีบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไปตกลงกันเป็นสมาชิกวงแชร์อันจะเป็นการเล่นแชร์ตาม พ.ร.บ.การเล่นแชร์ พ.ศ.2534 มาตรา 4 ดังนี้ แม้จำเลยให้การรับสารภาพ เมื่อพฤติการณ์ของจำเลยตามที่โจทก์บรรยายมาในคำฟ้องไม่อาจถือเป็นความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าวย่อมไม่อาจลงโทษจำเลยได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6231/2552 ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.การเล่นแชร์ พ.ศ.2534 ไม่ประสงค์ให้นายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ใช้สิทธิเรียกร้องในทางแพ่งเอาแก่สมาชิกวงแชร์ที่กระทำการฝ่าฝืนมตรา 6 เท่านั้น เพราะมาตรา 7 บัญญัติให้สิทธิแก่สมาชิกวงแชร์ที่จะฟ้องคดีหรือใช้สิทธิเรียกร้องเอาแก่นายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ แสดงว่ากฎหมายมิได้กำหนดว่าการเล่นแชร์ดังกล่าวตกเป็นโมฆะเสียทั้งหมด การที่โจทก์ทั้งสี่กับจำเลยและพวกมีการประมูลแชร์ระหว่างกันมาตลอด และจำเลยสั่งจ่ายเช็คให้แก่โจทก์ทั้งสี่ซึ่งเป็นลูกวงแชร์ด้วยนั้นแสดงว่าโจทก์ทั้งสี่กับจำเลยและพวกซึ่งเป็นลูกวงแชร์มีเจตนาที่จะปฏิบัติตามข้อตกลงระหว่างกัน และไม่เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 6 ดังกล่าว ฉะนั้น นิติกรรมการเล่นแชร์ของโจทก์ทั้งสี่กับจำเลยและพวกจึงไม่ตกเป็นโมฆะไปด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้เงินค่าแชร์ที่ติดค้างให้โจทก์ทั้งสี่ โจทก์ทั้งสี่จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1361/2552 พ.ร.บ.การเล่นแชร์ พ.ศ.2534 เป็นบทบัญญัติที่มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองประชาชนและเพื่อมิให้มีการประกอบธุรกิจการเล่นแชร์ที่กระทบต่อการระดมเงินออมของสถาบันการเงินที่ทางราชการสนับสนุนและรับผิดชอบซึ่งส่งผลกระทบไปถึงระบบเศรษฐกิจโดยส่วนรวม แต่การเล่นแชร์ของประชาชนโดยทั่วไปที่มิได้ดำเนินการเป็นธุรกิจยังให้กระทำต่อไปได้ ดังนั้น มาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าว จึงบัญญัติห้ามมิให้บุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ที่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดใน 4 ประการ เช่น ตามมาตรา 6 (3) อีกทั้งมาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าวได้บัญญัติเอาความผิดแก่นายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ที่ฝ่าฝืนมาตรา 6 แสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าประสงค์จะเอาความผิดเฉพาะผู้เป็นนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์เท่านั้น ดังนั้น นิติกรรมการเล่นแชร์ของนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์เท่านั้นที่ตกเป็นโมฆะ แต่นิติกรรมการเล่นแชร์ของโจทก์และจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสมาชิกวงแชร์ไม่ตกเป็นโมฆะไปด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 173 สิทธิหรือหน้าที่ของสมาชิกวงแชร์มีความผูกพันตามกฎหมายอยู่อย่างไรความผูกพันย่อมมีอยู่เช่นนั้นเมื่อจำเลยที่ 1 ประมูลแชร์ได้และสั่งจ่ายเช็คเงินค่าแชร์มอบให้แก่จำเลยที่ 2 เพื่อนำไปมอบให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นสมาชิกวงแชร์ที่ยังไม่ได้ประมูล เพื่อให้โจทก์นำไปเข้าบัญชีเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน เนื่องจากจำเลยที่ 1 มีคำสั่งให้ระงับการจ่ายเงิน ถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญา จึงต้องรับผิดชำระเงินค่าแชร์แก่โจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง การเล่นแชร์เป็นสัญญาประเภทหนึ่งซึ่งเกิดจากการตกลงกันระหว่างผู้เล่น สามารถบังคับกันได้ตามกฎหมาย แต่อายุความเกี่ยวกับการฟ้องเรียกเงินค่าแชร์ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนด 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 เมื่อวงแชร์ล้มในวันที่ 20 กรกฎาคม 2540 จำเลยที่ 1 ตกลงให้โจทก์นำเช็คไปเรียกเก็บเงินในวันที่ 25 พฤษภาคม 2541 และเช็คดังกล่าวถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินในวันเดียวกัน โจทก์อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์ได้นับแต่วันดังกล่าวเป็นต้นไป เมื่อนับถึงวันที่ 31 มีนาคม 2546 ซึ่งเป็นวันฟ้องยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5299/2551 พ.ร.บ.การเล่นแชร์ฯ มาตรา 6 (3) ประกอบกฎกระทรวง (พ.ศ.2534) ที่ห้ามมิให้บุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ที่มีทุนกองกลางต่อหนึ่งงวดรวมกันทุกวงเป็นมูลค่ามากกว่าสามแสนบาท เป็นการห้ามนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์เท่านั้น ส่วนสมาชิกผู้เข้าเล่นแชร์ด้วยกันหาได้มีบทบัญญัติห้ามเล่นแชร์แต่อย่างใดไม่ ทั้งมาตรา 7 ยังระบุว่าบทบัญญัติมาตรา 6 ไม่กระทบกระเทือนถึงการที่สมาชิกวงแชร์จะฟ้องคดีหรือใช้สิทธิเรียกร้องเอากับนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์อีกด้วย การเล่นแชร์เป็นสัญญาประเภทหนึ่งอันเกิดจากการตกลงระหว่างสมาชิกผู้เล่นซึ่งมีผลผูกพันและบังคับกันได้ตามกฎหมาย
เมื่อ ด. นายวงแชร์ถึงแก่ความตาย มีผู้ที่ยังไม่ได้ประมูลแชร์ 3 ราย คือ โจทก์ ท. และ ส. ดังนั้นบุคคลทั้งสามเท่าที่ได้รับผลกระทบจากการที่ไม่มีผู้จัดให้มีการประมูลแชร์และผู้ที่จะเสนอคำประมูลแชร์ได้ก็มีเพียงสามคนนี้เท่านั้น ผู้เล่นแชร์คนอื่นๆ ไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อไม่มีผู้จัดให้มีการประมูลแชร์ การที่โจทก์ ท. และ ส. ตกลงกันใช้วิธีจับสลากอันดับก่อนหลังแทนการให้ดอกเบี้ย นับเป็นวิธีการที่ทำให้การเล่นแชร์วงนี้สามารถดำเนินต่อไปได้จนจบโดยผู้เล่นแชร์ได้รับเงินจนครบทุกคน และผู้เล่นแชร์คนอื่นๆ ไม่ได้รับความเสียหายหรือผลกระทบแต่อย่างใดดังนั้น ความรับผิดของผู้เล่นแชร์คนอื่นๆ จึงยังคงต้องมีอยู่อีกต่อไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 875/2551 พ.ร.บ.การเล่นแชร์ พ.ศ.2534 มาตรา 5 บัญญัติว่า "ห้ามมิให้นิติบุคคลเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์" มาตรา 6 บัญญัติว่า "ห้ามมิให้บุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ที่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้..." และมาตรา 7 บัญญัติว่า "บทบัญญัติในมาตรา 6 ไม่กระทบกระเทือนถึงการที่สมาชิกวงแชร์จะฟ้องคดีหรือใช้สิทธิเรียกร้องเอากับนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์" จากบทบัญญัติดังกล่าวเห็นได้ว่ากฎหมายได้แยกการกระทำของนิติบุคคลและบุคคลธรรมดาในการเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ที่จะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าวไว้ต่างหากจากกัน ทั้งได้บัญญัติให้สิทธิแก่สมาชิกวงแชร์ในการเรียกร้องเอากับนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์เฉพาะกรณีนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์เป็นบุคคลธรรมดาเท่านั้น แต่กรณีนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์เป็นนิติบุคคล กฎหมายหาได้ให้สิทธิเช่นว่านั้นไม่ ฉะนั้น หากข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าแชร์รายพิพาทมีห้างหุ้นส่วนจำกัด น. เป็นนายวงแชร์ตามที่จำเลยกล่าวอ้าง การเล่นแชร์รายนี้ย่อมเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายและตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 เช็คพิพาทที่สั่งจ่ายเพื่อชำระหนี้ค่าแชร์ที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายดังกล่าวจึงปราศจากมูลหนี้ที่จะบังคับได้ตามกฎหมาย แม้โจทก์และจำเลยต่างเป็นสมาชิกวงแชร์ด้วยกัน โจทก์ก็ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยรับผิดชำระเงินตามเช็คพิพาทแก่โจทก์ได้ ข้อเท็จจริงที่ว่าการเล่นแชร์รายนี้มีห้างหุ้นส่วนจำกัด น. เป็นนายวงแชร์หรือไม่ จึงเป็นสาระสำคัญที่ต้องวินิจฉัย แต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยปัญหาดังกล่าว ข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ฟังมาจึงไม่พอแก่การวินิจฉัยข้อกฎหมาย คดีนี้มีจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกัน 200,000 บาท ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ข้อเท็จจริงที่ยังมิได้วินิจฉัยดังกล่าวอาจเป็นผลให้คำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เปลี่ยนแปลงไป ศาลฎีกาเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตามลำดับชั้นศาลเสียก่อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 240 (3), 243 (3) (ข) ประกอบมาตรา 247
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4995/2547 การที่โจทก์เป็นนายวงแชร์มีจำเลยและบุคคลอื่นเป็นสมาชิกร่วมเล่นแชร์รวม 20 คน โดยมีทุนกองกลางต่อ 1 งวด รวมกันเป็นมูลค่ามากกว่า 300,000 บาท จึงต้องห้ามตาม พ.ร.บ.การเล่นแชร์ฯ มาตรา 6(3) ประกอบด้วยกฎกระทรวง (พ.ศ.2534) ออกตามความใน พ.ร.บ.การเล่นแชร์ฯ และตาม พ.ร.บ.ดังกล่าวมีเพียงมาตรา 7 เท่านั้น ที่บัญญัติให้สิทธิแก่สมาชิกวงแชร์แต่เพียงฝ่ายเดียวที่จะฟ้องคดีหรือใช้สิทธิเรียกร้องเอากับนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์กระทำการที่ฝ่าฝืนกฎหมาย โดยมิได้มีบทบัญญัติให้สิทธิแก่นายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ที่จะฟ้องคดีหรือเรียกร้องเอากับสมาชิกวงแชร์แต่อย่างใด การเป็นนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ที่มีการฝ่าฝืนบทกฎหมายดังกล่าวจึงเป็นการกระทำที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 แม้เช็คที่จำเลยสั่งจ่ายให้แก่สมาชิกวงแชร์ที่ยังประมูลไม่ได้ถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินและโจทก์ชำระหนี้แทนจำเลยไป โจทก์จะนำมูลหนี้ที่ตกเป็นโมฆะมาฟ้องเรียกร้องเอาเงินคืนจากจำเลยไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4139/2547 โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์จัดให้มีการเล่นแชร์ จำนวนสมาชิกวงแชร์รวมกันทั้ง 5 วง มี 35 คน ซึ่งครบองค์ประกอบความผิดแล้ว เพราะองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 6 (1) (2) ห้ามมิให้บุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ที่มีจำนวนวงแชร์รวมกันมากกว่า 3 วง หรือมีจำนวนสมาชิกรวมกันทุกวงมากกว่า 30 คน ส่วนบัญชีรายชื่อผู้เสียหายจำนวน 28 คน นั้น เป็นรายชื่อของสมาชิกวงแชร์ที่ถูกจำเลยฉ้อโกงในการเล่นแชร์ทั้ง 5 วง มิใช่จำนวนสมาชิกวงแชร์ทั้ง 5 วง รวมกัน ฟ้องของโจทก์จึงครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 6 (1) (2) แล้ว
โจทก์บรรยายฟ้องถึงการกระทำของจำเลยว่าได้กระทำการเป็นนายวงแชร์จัดให้มีการเล่นแชร์ถึง 5 วง นับแต่วันที่ 25 มีนาคม 2541 ถึงวันที่ 9 พฤษภาคม 2542 โดยมีจำนวนสมาชิกวงแชร์รวมกันทุกวงมากกว่า 30 คน อันเป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.การเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 มาตรา 6 (1) (2) แล้ว และต่อมาจำเลยยังได้กระทำความผิดฐานฉ้อโกงผู้เสียหายทั้ง 28 คน ด้วยการหลอกลวงว่ามีสมาชิกวงแชร์รายอื่นประมูลเงินทุนกองกลางโดยให้ดอกเบี้ยตอบแทนสูงกว่าผู้เสียหายแต่ละคนที่เข้าร่วมประมูล จึงต้องรวบรวมเงินทุนกองกลางไปให้แก่สมาชิกผู้นั้น และบางงวดจำเลยก็แอบอ้างชื่อสมาชิกวงแชร์บางรายเข้าประมูลเงินทุนกองกลางโดยเสนอดอกเบี้ยตอบแทนสูงกว่าผู้เสียหายที่เข้าร่วมประมูล จนกระทั่งจำเลยได้เงินทุนกองกลางไปเสียเอง การกระทำของจำเลยในส่วนนี้แยกต่างหากจากการเป็นนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.การเล่นแชร์ เป็นการหลอกลวงแอบอ้างสิทธิของสมาชิกวงแชร์คนอื่น เป็นการกระทำต่างฐานความผิดด้วยเจตนาที่ต่างกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันมิใช่เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องครบองค์ประกอบความผิดแต่ละฐานแล้ว ฟ้องของโจทก์จึงไม่ขัดแย้งกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2774/2547 พ.ร.บ.การเล่นแชร์ฯ ได้แยกการกระทำของนิติบุคคลและบุคคลธรรมดาในการเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ที่จะเป็นความผิดไว้ต่างหากจากกันตามมาตรา 5 และมาตรา 6 ทั้งได้บัญญัติให้สิทธิแก่สมาชิกวงแชร์ในการเรียกร้องเอากับนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์เฉพาะกรณีนายวงแชร์ผู้จัดให้มีการเล่นแชร์เป็นบุคคลธรรมดาเท่านั้น แต่ในกรณีนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ที่เป็นนิติบุคคล กฎหมายหาได้ให้สิทธิเช่นว่านั้นแก่สมาชิกวงแชร์ที่จะเรียกร้องเอากับนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์แต่อย่างใดไม่ เมื่อแชร์รายพิพาทมีบริษัท ส. เป็นนายวงแชร์ การแล่นแชร์รายนี้จึงเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายและตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 เช็คพิพาทที่สั่งจ่ายเงินเพื่อชำระหนี้ค่าแชร์ที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายดังกล่าวจึงปราศจากมูลหนี้ที่จะบังคับกันได้ตามกฎหมาย แม้โจทก์และจำเลยทั้งสามต่างเป็นสมาชิกวงแชร์ด้วยกัน โจทก์ก็ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสามรับผิดชำระเงินตามเช็คพิพาทแก่โจทก์ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 170/2547 จำเลยระบุอย่างชัดแจ้งในหนังสือขออายัดเช็คว่าได้สั่งจ่ายเช็คให้แก่หัวหน้าวงแชร์ชื่อ ส. เพื่อนำไปเก็บเงินจากลูกแชร์มาคืนให้แก่จำเลย จำเลยย่อมทราบดีว่าแชร์วงนี้ ส. เป็นนายวงแชร์ ส่วนสำเนารายชื่อผู้เล่นแชร์ที่ปรากฏชื่อ ห้างหุ้นส่วนจำกัด น. โดย ส. หัวหน้าแชร์ น่าจะเป็นเพียงชื่อหรือยี่ห้อเพื่อให้ทราบกันอย่างชัดเจนภายในกลุ่มของผู้เล่นแชร์ด้วยกันว่า ส. นายวงแชร์อยู่ที่ไหนและมีฐานะอย่างใดเท่านั้น ไม่ทำให้วงแชร์วงนี้มีห้างหุ้นส่วนจำกัด น. ซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นนายวงแชร์ จึงไม่เป็นการต้องห้ามตาม พ.ร.บ.การเล่นแชร์ฯ มาตรา 5
พ.ร.บ.การเล่นแชร์ฯ มาตรา 6 นั้นห้ามมิให้บุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ที่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่ระบุไว้ในมาตรา 6 (1) ถึง (4) เท่านั้น ส่วนสมาชิกผู้เข้าเล่นแชร์ด้วยกันหาได้มีบทบัญญัติห้ามเล่นแชร์แต่อย่างใดไม่ ทั้งมาตรา 7 ยังระบุว่า บทบัญญัติในมาตรา 6 ไม่กระทบกระเทือนถึงการที่สมาชิกวงแชร์จะฟ้องคดีหรือใช้สิทธิเรียกร้องเอากับนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์อีกด้วย การเล่นแชร์เป็นสัญญาประเภทหนึ่ง อันเกิดจากการตกลงกันระหว่างสมาชิกผู้เล่น จึงมีผลผูกพันและบังคับกันได้ตามกฎหมาย มูลหนี้ของเช็คพิพาท 2 ฉบับ เกิดจากการเล่นแชร์ ซึ่งไม่มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามตามกฎหมายจึงไม่ตกเป็นโมฆะ โจทก์เป็นผู้ทรงจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยผู้สั่งจ่ายชำระเงินตามเช็คได้
การที่จำเลยประมูลแชร์ได้แล้วสั่งจ่ายเช็คพิพาท 2 ฉบับ ให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ที่ประมูลแชร์ยังไม่ได้ เช็คนั้นจึงมีมูลหนี้ต่อกัน เมื่อโจทก์ประมูลแชร์ได้แล้วนำเช็คพิพาท 2 ฉบับ ไปลงวันที่และนำเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงินแต่เช็คพิพาทเรียกเก็บเงินไม่ได้ จำเลยจึงต้องรับผิดชอบชำระเงินตามเช็คนั้นให้แก่โจทก์ การที่นายวงแชร์ยังไม่ได้นำเงินค่าแชร์ที่จำเลยประมูลได้มาชำระให้แก่จำเลยจนครบถ้วนนั้น ไม่เป็นเหตุที่จำเลยจะปฏิเสธไม่ชำระเงินตามเช็คพิพาท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 797/2546 รายชื่อสมาชิกวงแชร์ ระบุชื่อห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. เป็นนายวงแชร์ แต่ในการชำระค่าแชร์ จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 แล้วจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อสลักหลังโดยมิได้ปรากฏข้อความว่ากระทำการแทนนิติบุคคลดังกล่าวแต่อย่างใด จึงเป็นการเล่นแชร์ในฐานะส่วนตัวของจำเลยที่ 2 มิใช่ในฐานะนิติบุคคลไม่ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ฯ มาตรา 5 แม้ตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ฯ มาตรา 6บัญญัติห้ามมิให้บุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ที่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่ระบุไว้ใน (1) ถึง (4) ของมาตราดังกล่าวก็ตาม แต่มาตรา 7ก็ได้บัญญัติให้สิทธิแก่สมาชิกวงแชร์ที่จะฟ้องคดีหรือใช้สิทธิเรียกร้องเอากับนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ที่กระทำการฝ่าฝืนมาตรา 6 ได้การเล่นแชร์เป็นสัญญาประเภทหนึ่งอันเกิดจากการตกลงกันระหว่างผู้เล่น บังคับกันได้ตามกฎหมาย ไม่ตกเป็นโมฆะเมื่อโจทก์เป็นผู้ประมูลแชร์ได้รับเช็คพิพาทที่จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายและมีจำเลยที่ 2 นายวงแชร์เป็นผู้สลักหลังเช็คฉบับดังกล่าวเป็นเช็คสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ โจทก์เป็นผู้ถือจึงเป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2926/2544 จำเลยเป็นนายวงแชร์จัดให้มีการเล่นแชร์รวม 7 วง จำเลยรวบรวมเงินจากผู้เสียหายและโจทก์ร่วมซึ่งเป็นสมาชิกวงแชร์ไปแล้วหลายงวด จำเลยจัดให้มีการประมูลแชร์ไปแล้วหลายงวด โดยสถานที่จัดประมูลแชร์คือที่ร้านของจำเลย การประมูลแชร์ตามวาระมีไปแล้วหลายครั้ง ผู้ที่ประมูลแชร์ได้ต่างก็ได้รับเงินไปแล้ว และตามคำฟ้องโจทก์ ผู้เสียหายและโจทก์ร่วมยังไม่เคยประมูลแชร์ได้จึงยังไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินกองกลางที่จำเลยรวบรวมไป เงินค่าแชร์แต่ละงวดที่ผู้เสียหายและโจทก์ร่วมส่งให้จำเลยไปแล้ว เมื่อผู้ใดประมูลแชร์ได้ก็ย่อมจะตกได้แก่ผู้นั้นไป กรรมสิทธิ์ในเงินที่ส่งไปแล้วมิได้เป็นของผู้เสียหายและโจทก์ร่วมต่อไปอีก และหากผู้เสียหายและโจทก์ร่วมไม่สามารถประมูลแชร์ได้เพราะแชร์ล้มเลิกไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตาม จำเลยในฐานะที่เป็นเจ้ามือแชร์ก็จะต้องรับผิดแทน ความรับผิดในกรณีเช่นนี้เป็นความผิดในทางแพ่ง ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยยักยอกเงินของผู้เสียหายและโจทก์ร่วม
แม้ตามฟ้องจะปรากฏว่าวันเวลาที่โจทก์อ้างว่าจำเลยจัดให้มีการเล่นแชร์แต่ละวงจะแตกต่างกันอยู่ และไม่มีวันใดมีการเริ่มเล่นแชร์ขึ้นใหม่พร้อมกันถึง 3 วง ก็ตาม แต่ตาม พ.ร.บ.การเล่นแชร์ พ.ศ. 234 มาตรา 6 บัญญัติไว้แต่เพียงว่าห้ามมิให้บุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์มีจำนวนวงแชร์รวมกันมากกว่าสามวงเท่านั้น มิได้บัญญัติว่าจะต้องจัดให้มีการเล่นแชร์ที่มากกว่าสามวงดังกล่าวขึ้นมาพร้อม ๆ กันในวันเดียวกัน จึงจะเป็นความผิดเมื่อแชร์ที่จำเลยจัดให้มีการเล่นทั้งหมดซึ่งมีจำเลยเป็นนายวงแชร์อยู่มีจำนวนรวมกันอยู่ในช่วงเวลาเดียวกันมากกว่า 3 วง ตามที่จำกัดจำนวนไว้ในกฎหมาย ย่อมต้องถือว่าการกระทำของจำเลยเข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 6
พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.การเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 มาตรา 4, 6, 17 และ ป.อ. มาตรา 352, 91 สำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์เป็นความผิดที่รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย ราษฎรไม่เป็น ผู้เสียหาย โจทก์ร่วมคงเป็นผู้เสียหายและเข้าเป็นโจทก์ร่วมได้เฉพาะข้อหาตาม ป.อ. มาตรา 352 เท่านั้น ไม่เป็นผู้เสียหายและไม่มีสิทธิเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการในข้อหาตาม พ.ร.บ.การเล่นแชร์ ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เข้าเป็นโจทก์ร่วมในข้อหาตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์จึงเป็นการไม่ชอบ แม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกปัญหาดังกล่าวขึ้นอุทธรณ์และฎีกา แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 85/2543 จำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทและโจทก์เป็นผู้ทรงเช็คพิพาทแม้เช็คดังกล่าวโจทก์จะได้มาจากการเล่นแชร์ซึ่งตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 มาตรา 6 ห้ามมิให้บุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ที่มีทุนกองกลางต่อหนึ่งงวดรวมกันทุกวงเป็นมูลค่ามากกว่าจำนวนที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง แต่ในมาตรา 7 ก็บัญญัติให้สิทธิแก่สมาชิกวงแชร์ที่จะฟ้องคดีหรือใช้สิทธิเรียกร้องเอากับนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ได้ ย่อมแสดงว่ากฎหมายมิได้กำหนดว่าการเล่นแชร์ดังกล่าวตกเป็นโมฆะเสียหมด การที่โจทก์จำเลยกับพวกซึ่งเป็นผู้เข้าร่วมเล่นแชร์มีการประมูลระหว่างกันและจำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ค่าแชร์แล้วเช็คมาอยู่ในความครอบครองของโจทก์ซึ่งเป็นลูกวงแชร์ด้วยกัน ย่อมไม่เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 6 นิติกรรมการเล่นแชร์ของโจทก์จำเลยจึงไม่ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 173 จำเลยต้องรับผิดใช้เงินตามเช็คให้โจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 60/2543 พระราชบัญญัติการเล่นแชร์ฯ มาตรา 6 ห้ามมิให้บุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ที่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดที่ระบุไว้ ในมาตรา 6 และมีมาตรา 7 ให้สิทธิแก่สมาชิกวงแชร์ฝ่ายเดียวที่จะฟ้องคดี หรือใช้สิทธิเรียกร้องเอากับนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ที่ฝ่าฝืน มาตรา 6 ไว้เท่านั้น ส่วนสมาชิกผู้เข้าเล่นแชร์ด้วยกันหาได้มีบทบัญญัติ ห้ามเล่นแชร์ไม่ ทั้งการเล่นแชร์เป็นสัญญาเกิดจากการตกลงกันระหว่าง ผู้เล่นที่จะชำระเงินให้แก่ผู้ประมูลแชร์ได้ จึงมีผลผูกพันและบังคับกันได้ ตามกฎหมาย การที่ผู้เล่นซึ่งเป็นผู้ประมูลแชร์ไปได้ก่อนนำเช็คของจำเลย มาชำระให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้ประมูลแชร์ได้ การชำระหนี้ค่าแชร์ดังกล่าว จึงหาเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1758/2542 ตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 มาตรา 6(3)ประกอบกฎกระทรวง (พ.ศ. 2534) ห้ามมิให้บุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ที่มีทุนกองกลางต่อหนึ่งงวดรวมกันทุกวงเป็นมูลค่ามากกว่าสามแสนบาทผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษตามมาตรา 17 แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการที่สมาชิกวงแชร์จะฟ้องคดีหรือใช้สิทธิเรียกร้องเอากับนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ตามมาตรา 7แสดงว่ากฎหมายมิได้กำหนดว่าการเล่นแชร์ตกเป็นโมฆะเสียทั้งหมด ส่วนการฟ้องคดีหรือใช้สิทธิเรียกร้องระหว่างสมาชิกวงแชร์ด้วยกันมิได้มีบทบัญญัติรับรองไว้ แต่เป็นที่เห็นได้ว่ากฎหมายมุ่งประสงค์ที่จะเอาโทษแก่ นายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์เท่านั้น โดยมีเหตุผล อยู่ในหมายเหตุท้ายประกาศใช้พระราชบัญญัตินี้ จึงเห็นได้ว่า กฎหมายมิได้บัญญัติห้ามโดยเด็ดขาดว่าการเล่นแชร์ ของประชาชนทั่วไปเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายทั้งหมด การผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างโจทก์จำเลยในฐานะสมาชิกวงแชร์ ที่มี น. ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์ย่อมไม่เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 6 นิติกรรมการเล่นแชร์ของโจทก์จำเลย จึงไม่ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 173 เมื่อจำเลยออกเช็คเพื่อชำระเงินรวมเข้าเป็นทุนกองกลาง เป็นงวด ๆ เพื่อให้สมาชิกวงแชร์หมุนเวียนกันรับทุนกองกลางแต่ละงวดนั้นไปโดยการประมูล จำเลยจึงต้องรับผิดตามเนื้อความ ในเช็คนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 900 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 427/2542 ตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 มาตรา 6 บัญญัติห้ามมิให้บุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ที่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ ฯลฯ (3) มีทุนกองกลางต่อหนึ่งงวด รวมกันทุกวงเป็นมูลค่ามากกว่าจำนวนที่กำหนดไว้ ในกฎกระทรวง และมีกฎกระทรวงการคลัง (พ.ศ. 2534) ให้กำหนดทุนกองกลางที่ห้ามมิให้ บุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์ หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ต่อหนึ่งงวดรวมกันทุกวงเป็นมูลค่ามากกว่าสามแสนบาท เมื่อการเล่นแชร์ของโจทก์จำเลยกับพวกมีผู้ร่วมเล่น 18 คน มีทุนกองกลางต่อหนึ่งงวด รวมกันมีมูลค่ามากกว่าสามแสนบาทจึงต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้น ย่อมตกเป็น โมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 ดังนี้ เมื่อโจทก์ไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้อง ให้จำเลยชำระหนี้ตามเช็คฉบับเดิมหรือเช็คพิพาทได้เพราะเหตุดังกล่าว หนี้ตามเช็คพิพาท จึงเป็นหนี้ที่ไม่อาจบังคับได้ตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยย่อมไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 บทบัญญัติพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 มาตรา 7 เป็นบทบัญญัติให้สิทธิ แก่สมาชิกวงแชร์ฝ่ายเดียวที่จะฟ้องเรียกร้องเอากับนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ มิได้บัญญัติให้นายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์เรียกร้องหนี้สินการเล่นแชร์จากสมาชิกวงแชร์ดังนี้ บทบัญญัติตามมาตรา 7 ดังกล่าวจึงไม่ใช่เป็นบทบัญญัติพิเศษที่ยกเว้นมาตรา 6
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7285/2541 จำเลยซึ่งเป็นผู้ประมูลแชร์ไปได้แล้วย่อมมีหน้าที่ผูกพันตามข้อตกลงต้องส่งเงินคืนคือสั่งจ่ายเช็คให้แก่ผู้ที่ยังประมูลไม่ได้ การที่จำเลยประมูลแชร์ได้แล้วสั่งจ่ายเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ที่ยังประมูลไม่ได้ เช็คนั้นจึงมีมูลหนี้ต่อกันจำเลยจึงต้องรับผิดชำระเงินตามเช็คให้แก่โจทก์
ตามมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.การเล่นแชร์ พ.ศ.2534 ห้ามมิให้บุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ที่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่ระบุไว้ในมาตรา 6 (1) ถึง (4) เท่านั้น ส่วนสมาชิกผู้เข้าเล่นแชร์ด้วยกันกฎหมายฉบับนี้หาได้มีบทบัญญัติห้ามเล่นแชร์แต่อย่างใดไม่ การเล่นแชร์เป็นสัญญาประเภทหนึ่ง อันเกิดจากการตกลงกันระหว่างผู้เล่น จึงต้องมีผลผูกพันและบังคับกันได้ตามกฎหมาย การชำระหนี้ค่าแชร์ตามฟ้องจึงไม่ขัดต่อกฎหมาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6060/2541 การเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 มาตรา 5 และ มาตรา 7 ได้แยกการกระทำของนิติบุคคลและ บุคคลธรรมดาในการเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ ที่จะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าวไว้ต่างหากจากกัน ทั้งได้บัญญัติให้สิทธิแก่สมาชิกวงแชร์ในการเรียกร้อง เอากับนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์เฉพาะบุคคลธรรมดา ที่เป็นนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์เท่านั้น แต่กรณีนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์เป็นนิติบุคคล แล้วกฎหมายมิได้ให้สิทธิแก่สมาชิกวงแชร์แต่อย่างใด และตามบัญญัติมาตรา 7 หาได้จำกัดให้สมาชิกวงแชร์ ฟ้องได้เฉพาะคดีแพ่งไม่ เมื่อพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ มีบทบัญญัติความผิดและกำหนดโทษไว้เป็นความผิดทางอาญาด้วย สมาชิกวงแชร์ย่อมมีสิทธิฟ้องบุคคลธรรมดา ที่เป็นนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ที่กระทำการ ตามมาตรา 6 เป็นคดีอาญาได้ จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล เมื่อตามคำฟ้องปรากฏว่าโจทก์ ได้ร่วมเล่นแชร์ที่จำเลยที่ 1 จัดขึ้นย่อมถือว่ามีส่วนร่วม ในการกระทำผิดกับจำเลยที่ 1 ซึ่งต้องห้ามตาม พระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 มาตรา 5โจทก์ย่อมมิใช่ผู้เสียหายที่จะฟ้องจำเลยที่ 1 ว่ากระทำความผิดตามมาตรา 5 ซึ่งมีโทษตามมาตรา 16 ได้ ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นบุคคลธรรมดากรณีต้องด้วยมาตรา 6 และ 7 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้รับผิดตามมาตรา 6 ซึ่งมีโทษตามมาตรา 17 ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4793/2541 แม้เจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534ไม่ประสงค์ให้นายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ใช้สิทธิเรียกร้องในทางแพ่งเอากับสมาชิกวงแชร์ที่กระทำการฝ่าฝืน มาตรา 6 ก็ตาม แต่ในมาตรา 7ก็บัญญัติให้สิทธิแก่สมาชิกวงแชร์ที่จะฟ้องคดี หรือใช้สิทธิเรียกร้องเอากับนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ได้ย่อมแสดงว่ากฎหมายมิได้กำหนดว่าการเล่นแชร์ ดังกล่าวตกเป็นโมฆะเสียทั้งหมด การที่โจทก์จำเลยกับพวกซึ่งเป็นผู้เข้าร่วมเล่นแชร์มีการประมูลแชร์ระหว่างกันมาตลอดและจำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทให้โจทก์ซึ่งเป็นลูกวงแชร์ด้วยกันการที่โจทก์จำเลยซึ่งเป็นลูกวงแชร์มีเจตนาที่จะปฏิบัติตามข้อตกลงระหว่างกัน และย่อมไม่เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 6 ดังกล่าว ฉะนั้น นิติกรรมการเล่นแชร์ ของโจทก์จำเลยจึงไม่ตกเป็นโมฆะตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 173 เมื่อธนาคาร ตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คที่จำเลยสั่งจ่าย จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้เงินตามเช็คดังกล่าวให้โจทก์ โจทก์ฟ้องโดยยกข้ออ้างซึ่งอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่าจำเลยออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ จำเลยให้การรับว่าออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ให้โจทก์จริง แต่โจทก์ไม่ชำระหนี้แทน จำเลยจึงไม่ต้องชำระหนี้ตามเช็คให้โจทก์จำเลยเป็นฝ่ายยกข้ออ้างดังกล่าวขึ้นมาใหม่เพื่อต่อสู้กับโจทก์ ฉะนั้น ที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยจะต้องรับผิดใช้เงินตามเช็คให้โจทก์เพียงใดหรือไม่และให้จำเลยมีหน้าที่นำสืบก่อน จึงหมายความรวมถึงกำหนดให้จำเลยนำสืบว่า จำเลยมีสิทธิที่จะไม่ชำระหนี้ตอบแทนโจทก์เพราะโจทก์ไม่ได้ชำระหนี้ให้จำเลยด้วยจำเลยอุทธรณ์ว่าเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องนำสืบตามที่โจทก์อ้าง จึงเป็นการอุทธรณ์โต้แย้งคำสั่งกำหนดหน้าที่นำสืบของศาลชั้นต้นซึ่งเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาเมื่อจำเลยไม่ได้โต้แย้งไว้ จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226(2)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3709/2540 โจทก์เป็นนายวงแชร์ที่จัดให้มีการเล่นแชร์โดยมีทุนกองกลางต่อหนึ่งงวดรวมกันมากกว่าสามแสนบาท ซึ่งมากกว่าจำนวนที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงอันเป็นการฝ่าฝืน พระราชบัญญัติการแชร์พ.ศ. 2534 มาตรา 6(3) และตามพระราชบัญญัติดังกล่าวคงมีบทบัญญัติตามมาตรา 7 เท่านั้น ที่ให้สิทธิแก่ฝ่ายสมาชิกวงแชร์ฝ่ายเดียวที่จะฟ้องคดีหรือใช้สิทธิเรียกร้องเอากับนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ที่กระทำการฝ่าฝืนมาตรา 6 โดยมิได้มีบทบัญญัติให้สิทธิแก่ฝ่ายนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ที่จะมีการฟ้องคดีหรือใช้สิทธิเรียกร้องเอากับสมาชิกวงแชร์แต่อย่างใดย่อมแสดงให้เห็นเจตนารมณ์ของ พระราชบัญญัติการเล่นแชร์พ.ศ. 2534 ว่าไม่ประสงค์ที่จะให้นายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ใช้สิทธิเรียกร้องในทางแพ่งเอากับสมาชิกวงแชร์ที่กระทำการฝ่าฝืนมาตรา 6 การที่โจทก์เป็นนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติดังกล่าวจึงเป็นการกระทำที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 ดังนั้นเช็คพิพาทที่จำเลยสั่งจ่ายให้แก่โจทก์เมื่อจำเลยประมูลแชร์ได้ก่อนที่แชร์วงนั้นจะเลิกจึงเป็นเช็คที่มีมูลหนี้มาจากการเล่นแชร์ที่ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายย่อมตกเป็นโมฆะโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยรับผิดชำระเงินตามเช็คพิพาท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1608/2540 ตาม พ.ร.บ.การเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 คงมีบทบัญญัติตามมาตรา 7 เท่านั้น ที่ให้สิทธิแก่ฝ่ายลูกวงแชร์ฝ่ายเดียวที่จะฟ้องคดีหรือใช้สิทธิเรียกร้องเอากับนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ที่กระทำการฝ่าฝืนมาตรา 6 โดยมิได้มีบทบัญญัติให้สิทธิแก่ฝ่ายนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการแล่นแชร์ที่จะฟ้องคดหรือใช้สิทธิเรียกร้องเอากับลูกวงแชร์แต่อย่างใด ดังนี้ ย่อมแสดงให้เห็นเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.การแล่นแชร์ พ.ศ.2534 ได้ว่าไม่ประสงค์ที่จะให้นายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ใช้สิทธิเรียกร้องในทางแพ่งเอากับลูกวงแชร์ที่กระทำการฝ่าฝืนมาตรา 6 ดังนั้น การที่โจทก์เป็นนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์โดยมีทุนกองกลางต่อหนึ่งงวดรวมกันมากกว่าสามแสนบาทซึ่งมากกว่าจำนวนที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง อันเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติดังกล่าว จึงเป็นการกระทำที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ.มาตรา 150 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 803/2545 คดีที่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยใช้เงินตามเช็คพิพาทพร้อมดอกเบี้ยนั้น แม้โจทก์จะมิได้บรรยายว่าโจทก์ได้รับเช็คพิพาทมาด้วยมูลหนี้ใด ก็เป็นเพียงรายละเอียดที่จะพึงนำสืบในชั้นพิจารณาต่อไป ไม่เป็นเหตุให้คำฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง
จำเลยซึ่งเป็นผู้ประมูลแชร์ไปได้แล้วมีหน้าที่ผูกพันตามข้อตกลงต้องส่งเงินคืนโดยสั่งจ่ายเช็คพิพาทให้แก่ผู้ที่ยังประมูลไม่ได้ หรือสั่งจ่ายเช็คพิพาทมอบแก่ ป. หัวหน้าวงแชร์เพื่อมอบแก่ผู้ที่ยังประมูลไม่ได้ ซึ่งถือว่าเช็คพิพาทนั้นมีมูลหนี้ต่อกันแล้วเมื่อโจทก์ได้เช็คพิพาทซึ่งเป็นเช็คผู้ถือไว้ในครอบครองไม่ว่าจะเป็นโดย ป. ส่งมอบให้เพื่อชำระค่าแชร์ หรือโจทก์รับมาจากจำเลยโดยตรงก็ตาม โจทก์ก็เป็นผู้ทรงเช็คพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 904 การที่ต่อมานายวงแชร์หนีและแชร์วงนี้ล้ม โจทก์ย่อมหมดโอกาสที่จะประมูลแชร์ได้ต่อไป โจทก์จึงชอบที่จะเรียกให้จำเลยชำระหนี้ค่าแชร์ที่ต้องส่งคืนให้แก่โจทก์ได้ทันทีเมื่อวงแชร์ล้ม ดังนั้น ตั้งแต่วันที่แชร์วงนี้ล้ม โจทก์ชอบที่จะลงวันที่สั่งจ่ายในเช็คพิพาทและนำไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารได้ เพราะโจทก์เป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายและวันสั่งจ่ายที่ลงในเช็คพิพาทถือว่าเป็นวันที่ถูกต้องแท้จริง เมื่อเช็คพิพาทเรียกเก็บเงินไม่ได้จำเลยผู้สั่งจ่ายจึงต้องรับผิดชำระเงินตามเช็คพิพาทแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 914 ประกอบมาตรา 989
การเล่นแชร์เป็นสัญญาประเภทหนึ่งอันเกิดจากการตกลงกันระหว่างสมาชิกผู้เล่นซึ่งมีผลผูกพันและบังคับได้ตามกฎหมาย การชำระหนี้ค่าแชร์จึงหาใช่มีมูลหนี้ที่ขัดต่อกฎหมายไม่ ส่วนการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนนั้นมีการรับเงินและผู้กู้ยืมเงินตกลงว่าจะจ่ายผลตอบแทนแก่ผู้ให้กู้ยืมเงินโดยไม่มีการประมูลจ่ายผลตอบแทนดังเช่นการเล่นแชร์ ทั้งการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนก็เป็นกรณีที่กำหนดดอกเบี้ยหรือผลประโยชน์ตอบแทนไว้แน่นอน ซึ่งอาจมีอัตราสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดของสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยในการกู้ยืมเงินของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้ เมื่อการเล่นแชร์วงนี้เป็นการประมูลผลประโยชน์ที่จะให้แก่สมาชิกลูกวงแชร์ด้วยกันที่มีจำนวนมากหรือน้อยตามความต้องการของผู้ประมูลจึงไม่อยู่ในข่ายเป็นความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯ ทั้งในทางนำสืบของจำเลยก็รับว่าเมื่อจำเลยประมูลแชร์ได้ก็จะสั่งจ่ายเช็คมอบให้แก่ ป. นายวงแชร์ซึ่งมิใช่นิติบุคคลการเล่นแชร์วงนี้จึงหาขัดต่อพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ฯ ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6/2545 เมื่อวงแชร์ที่เป็นมูลหนี้ในการสั่งจ่ายเช็คพิพาทมีห้างหุ้นส่วนจำกัดพ. ซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นนายวงแชร์ อันต้องห้ามตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ฯ มาตรา 5 นิติกรรมการเล่นแชร์ดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 เช็คพิพาทจึงไม่มีมูลหนี้ที่จะบังคับได้ตามกฎหมาย โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้สั่งจ่ายรับผิดตามเช็คพิพาท และการที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้สลักหลังให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1ใช้เงินตามเช็คพิพาทดังกล่าวแก่โจทก์ซึ่งเป็นหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ แม้จำเลยที่ 1 ฎีกาเพียงผู้เดียว ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 2 ที่มิได้ฎีกาด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245(1)ประกอบมาตรา 247
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 474/2544 ห้างหุ้นส่วนจำกัด ท. ซึ่งจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ได้เป็นนายวงจัดให้มีการเล่นแชร์ โจทก์เป็นกรรมการบริษัท ก. โจทก์ในนามบริษัทดังกล่าวกับจำเลยที่ 1 ร่วมเข้าเล่นแชร์ดังกล่าวรวม 2 วง ต่อมาโจทก์ประมูลแชร์ทั้งสองวงได้ และได้รับเช็คพิพาทรวม 2 ฉบับ เพื่อชำระหนี้ค่าแชร์ โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งจ่าย มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้สลักหลัง ต่อมา เช็คพิพาททั้งสองฉบับถึงกำหนดชำระเงิน ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายแม้เช็คพิพาททั้งสองฉบับจะระบุจ่าย "บริษัท ก." แต่ก็มิได้ขีดฆ่าคำว่า "หรือผู้ถือ" ออก เช็คพิพาททั้งสองฉบับจึงเป็นเช็คผู้ถือ เมื่อโจทก์เป็นผู้ครอบครอง โจทก์จึงเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 904 และมีอำนาจฟ้อง แต่แชร์ทั้งสองวงดังกล่าว มีนิติบุคคลเป็นนายวงแชร์ ซึ่งต้องห้ามตาม พ.ร.บ.การเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 มาตรา 5 นิติกรรมการเล่นแชร์ทั้งสองวง จึงตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 เช็คพิพาททั้งสองฉบับจึงไม่มีมูลหนี้ที่จะบังคับได้ตามกฎหมาย โจทก์ไม่มีสิทธิ เรียกร้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดตามเช็คพิพาททั้งสองฉบับ
========================================================= |
รับ ทวงหนี้ ตามหนี้ เร่งรัดหนี้สิน โดยทีมงานเร่งรัดหนี้สินมืออาชีพ |
บริษัท สกายอินเตอร์เนชั่นแนลลีกัลจำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการด้าน นักสืบเอกชนและกฎหมายแบบครบวงจร มีการให้บริการด้าน การ เร่งรัดหนี้สิน การ รับทวงหนี้ การติด ตามหนี้ สินค้างชำระ การเจรจา ประนอมหนี้ การเจรจาต่อรองการ ชำระหนี้ ทำหนังสือ รับสภาพหนี้ การ ปรับโครงสร้างหนี้ เป็นต้น โดยรับติดตามหนี้สินทุกประเภท ทั้งหนี้สินที่เกี่ยวเนื่องกับคดีแพ่ง เช่น การติดตามหนี้เงินกู้ การติดตามหนี้การค้างชำระค่าสินค้า การติดตามคนค้ำประกันเงินกู้ ทั้งประเภทที่มีสัญญาหรือเอกสารหลักฐานอื่นที่สามารถฟ้องร้องกันได้ตาม กฎหมาย หนี้นอกระบบ และประเภทที่ไม่มีหลักฐานในการฟ้องร้องกันได้ตามกฎหมาย และมูลหนี้ที่ไม่สามรถฟ้องร้องบังคับกันได้ตามกฎหมาย เช่น หนี้ที่เกิดจากการพนัน ( รวมถึงกรณีที่เป็นหนี้ที่ขาดอายุ ความ เช่น เช็คขาดอายุความ ) หนี้สินที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา เช่น คดีจราจร (รถชนกันได้รับความเสียหาย) คดียักยอก ฉ้อโกง ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ และความผิดอื่นๆ ตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งผู้เสียหายมีสิทธิฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งจากผู้ต้องหาได้ รวมถึงการติดตามจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับด้วย โดยทีมงานนักสืบและพนักงานเร่งรัดหนี้สินที่มีประสบการณ์และความชำนาญในการ เร่งรัดติดตามหนี้สิน (อ่านรายละเอียด)
========================================================= |
กรณีที่ท่านมีความสงสัยหรือต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถติดต่อมาได้ที่ บริษัท สกายอินเตอร์เนชั่นแนลลีกัล จำกัด เลขที่ 725 อาคารเอส เมโทร ชั้น 20 ห้อง 174 ถนนสุขุมวิท แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร 10110 โทร 081-9151522, 090-0700080 email: skyinterlegal@gmail.com , ดูแผนที่ (คลิกที่นี่)
|