หน้าแรก เกี่ยวกับเรา ติดต่อเรา

เมนู

 

คำพิพากษาศาลฎีกา ความผิดตาม พระราชบัญญัติ ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534


                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3961/2560
               จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ตามหนังสือสัญญากู้เงินตามกฎหมายใหม่และออกเช็คให้โจทก์ แม้หนังสือสัญญากู้เงินตามกฎหมายใหม่ทั้งสองฉบับ ข้อ 2 เขียนว่า เช็คเงินสด เลขที่ 0094654 ลงวันที่ 11-08-2556 จำนวนเงิน 400,000 บาท ของธนาคาร ท. เลขที่บัญชี 974300XXXX เพื่อชำระหนี้เงินกู้ดังกล่าวข้างต้น ให้ท่านถือไว้เป็นประกันด้วย และเช็คเงินสด เลขที่ 0094655 เลขที่บัญชี 974300XXXX ของธนาคาร ท. จำนวนเงิน 427,600 บาท เพื่อชำระหนี้เงินกู้ดังกล่าวข้างต้น (เช็คลงวันที่ 11-08-2556) ให้ท่านถือไว้เป็นประกันด้วยก็ตาม แต่ในการค้นหาเจตนาที่แท้จริงจำต้องพิจารณาข้อเท็จจริงอื่น ๆ ประกอบเข้าด้วย หาใช่ต้องถือตามข้อความที่เป็นลายลักษณ์อักษรโดยฝ่ายเดียว เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์และออกเช็คให้โจทก์ เชื่อว่าจำเลยออกเช็คดังกล่าวเพื่อชำระหนี้เงินกู้ มิใช่ออกเช็คเพื่อเป็นประกัน เมื่อหนี้ดังกล่าวมีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย จำเลยจึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 (1) (2)    
    


                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1677/2557
                เมื่อบันทึกการรับสภาพหนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 กระทำขึ้นภายหลังที่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนออกเช็คพิพาททั้งสองฉบับเพื่อชำระหนี้กู้ยืมเงินให้แก่โจทก์ แม้จะรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้กู้ยืมเงินโจทก์อยู่จริง แต่เมื่อการกู้ยืมเงินไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ หนี้นั้นก็ไม่อาจบังคับได้ตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงขาดองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4    
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14667/2556
                แม้ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 จะใช้คำว่า ผู้ใดออกเช็ค แต่มิได้หมายความว่า ผู้ที่จะมีความผิดตามมาตราดังกล่าวคือผู้ที่ออกเช็คเท่านั้น ส่วนผู้ที่ร่วมกระทำความผิดกับผู้ออกเช็คไม่มีความผิด การออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค ออกเช็คในขณะที่ออกไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ และออกเช็คให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ในขณะที่ออกเช็คนั้น อาจจะมีผู้ที่ร่วมกระทำความผิดด้วยกันกับผู้ออกเช็ค และถือว่าผู้ที่ร่วมกระทำผิดด้วยกันกับผู้ออกเช็คเป็นตัวการเช่นเดียวกันตาม ป.อ. มาตรา 83 
การที่จำเลยที่ 2 นำเช็คพิพาทมาทำสัญญาขายลดเช็คให้แก่โจทก์ โดยจำเลยที่ 2 เพียงแต่ลงลายมือชื่อด้านหลังเช็คพิพาท ซึ่งมีความหมายว่าเป็นผู้สลักหลัง ย่อมเป็นเพียงประกัน (อาวัล) สำหรับจำเลยที่ 1 ผู้สั่งจ่าย นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และการลงลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 ในเช็คพิพาท เกิดขึ้นภายหลังจากที่มีการออกเช็คพิพาท แล้ว ทั้งไม่มีพฤติการณ์ใด ๆ ที่แสดงว่าจำเลยที่ 2 มีส่วนร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการออกเช็คพิพาท จึงถือไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมในการกระทำความผิด แม้จำเลยที่ 2 จะให้การรับสารภาพ ศาลก็ย่อมพิพากษายกฟ้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 2 มิได้ยกขึ้นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 5 สามารถยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง    
    


                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13362/2556
               เมื่อจำเลยปฏิเสธว่าการสั่งจ่ายเช็คพิพาทมิใช่เพื่อชำระหนี้ให้แก่โจทก์ โจทก์จึงมีหน้าที่นำสืบให้ได้ความว่าจำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทให้โจทก์เพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยจึงจะครบองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 เมื่อพยานโจทก์ทราบเรื่องภายหลังจากที่ได้รับมอบหมายจากโจทก์ให้นำเช็คไปขึ้นเงินแล้ว ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเท่านั้น แสดงว่าพยานโจทก์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องและไม่รู้เห็นเหตุการณ์ขณะจำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทมอบให้โจทก์ รวมถึงรายละเอียดมูลหนี้ของเช็คพิพาท แต่พยานทราบเรื่องดังกล่าวจากการบอกเล่าของโจทก์ในภายหลัง พยานมิได้รู้เห็นข้อเท็จจริงที่เบิกความด้วยตนเองจึงเป็นเพียงพยานบอกเล่าซึ่งไม่มีน้ำหนักในการรับฟัง
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11401/2556
               สาระสำคัญของความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 อยู่ที่วันออกเช็ค คือ วันที่สั่งให้ธนาคารจ่ายเงินตามเช็คนั้น ถ้าเช็ครายใดผู้ออกเช็คไม่ได้ลงวันที่ออกเช็ค ก็ไม่มีทางที่จะให้ผู้ออกเช็คทราบได้ว่าจะให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้นในวันใด ซึ่งวันนั้นผู้ออกเช็คจะได้เตรียมเงินไว้ในบัญชีธนาคารอันจะพึงจ่ายตามเช็คนั้น หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ เช็คที่ไม่มีวันออกเช็คถือได้ว่าไม่มีวันที่ผู้ออกเช็คกระทำความผิด 
เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าเช็คพิพาททั้งเจ็ดฉบับลงวันที่ไว้แล้วในขณะที่ผู้เสียหายได้รับมาจากจำเลยทั้งสอง จึงถือไม่ได้ว่ามีวันที่จำเลยทั้งสองกระทำความผิด    
  

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11242/2556
               โจทก์ไม่อ้างและนำเช็คทั้งสองฉบับตามฟ้องในคดีนี้เป็นพยานในชั้นไต่สวนมูลฟ้องโดยอ้างส่งเช็คที่เตรียมไว้ในคดีอื่นเป็นพยานในคดีนี้แทน ต่อมาได้มีการนำเช็คทั้งสองฉบับตามฟ้องมาเปลี่ยนและแนบไว้ในสำนวนหลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าคดีมีมูลแล้ว เห็นว่า แม้เช็คและใบคืนเช็คเป็นพยานหลักฐานสำคัญในคดี ในความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 แต่โจทก์ไม่ได้นำเช็คทั้งสองฉบับเข้าสืบและอ้างส่งเป็นพยานต่อศาลในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง และต่อมามีการแก้ไขคำเบิกความของพยาน และนำเช็คทั้งสองฉบับมาเปลี่ยนและแนบไว้ในสำนวนซึ่งจำเลยฎีกาว่าเป็นการกระทำโดยไม่ชอบก็ตาม ก็ต้องถือว่าคดีนี้ได้มีการไต่สวนมูลฟ้องแล้ว ไม่ใช่คดีที่ยังไม่มีการไต่สวนมูลฟ้องตามที่จำเลยฎีกา เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คดีมีมูลและให้ประทับฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณา คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้คดีมีมูลย่อมเด็ดขาดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 170 ส่วนการที่ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยหรือพิพากษายกฟ้อง เป็นเรื่องที่คู่ความจะต้องนำสืบในชั้นพิจารณา ซึ่งโจทก์สามารถนำพยานหลักฐานเข้าสืบเพิ่มเติม รวมทั้งอ้างเช็คทั้งสองฉบับตามฟ้องซึ่งโจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานไว้แล้วนอกเหนือจากที่นำสืบในชั้นไต่สวนมูลฟ้องได้ ที่ศาลชั้นต้นงดสืบพยานโจทก์และพิพากษายกฟ้องโดยไม่ให้โอกาสโจทก์นำสืบพยานหลักฐานจึงไม่ชอบ    
    


                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6581 - 6582/2556
               จำเลยออกเช็คให้ผู้เสียหาย โดยผู้เสียหายรู้ดีว่าขณะที่ออกเช็คนั้น จำเลยไม่อาจชำระเงินตามเช็คได้ แต่จำเลยอยู่ในภาวะที่ต้องออกเช็คเพื่อเป็นหลักประกันแก่ผู้เสียหายในเวลาที่ผู้เสียหายรู้ว่าจำเลยยังไม่มีเงินที่จะมาชำระหนี้แก่ผู้เสียหาย จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยกับผู้เสียหายมีเจตนาใช้เช็คพิพาทเป็นการชำระหนี้
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5924/2556
               ความผิดฐานออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คหรือฐานออกเช็คโดยไม่มีเงินในบัญชีอันจะพึงจ่ายให้ได้นั้น สาระสำคัญอยู่ที่วันที่สั่งให้ธนาคารจ่ายเงินตามเช็ค เมื่อทางพิจารณาได้ความว่าเช็คพิพาทที่จำเลยออกไม่ได้ลงวันที่สั่งจ่ายไว้ในขณะที่ออกเช็ค ย่อมถือว่าไม่มีวันที่จำเลยกระทำความผิด แม้ ป.พ.พ. มาตรา 910 ประกอบมาตรา 989 จะให้สิทธิผู้ทรงเช็คไว้ว่า ถ้าเช็ครายการใดมิได้ลงวันออกเช็ค ผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายคนหนึ่งคนใดทำการโดยสุจริตจะจดวันที่ถูกต้องแท้จริงลงก็ได้นั้น กฎหมายเพียงแต่ให้เช็คฉบับนั้นเป็นเช็คที่มีรายการสมบูรณ์ตามกฎหมาย ฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ในทางแพ่งเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 แม้โจทก์จะอ้าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 คลาดเคลื่อนไปเป็น พ.ศ.2497 ก็ตาม แต่มิใช่ข้อสำคัญที่จะทำให้ผลของคำพิพากษาเปลี่ยนแปลง    
    


                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5388/2556
               จำเลยจงใจเขียนเช็คทั้งสองฉบับด้วยการลงลายมือชื่อในเช็คไม่เหมือนตัวอย่างที่ให้ไว้แก่ธนาคารและจงใจเขียนตัวเลขอารบิกให้แตกต่างกันอีก พฤติการณ์ดังกล่าวส่อแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตเพื่อให้ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน เนื่องจากจำเลยรู้อยู่แล้วว่าไม่มีเงินในบัญชีของธนาคารดังกล่าวการกระทำของจำเลยเป็นการออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 (1)    
    


                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4951/2556
               จำเลยและผู้เสียหายเป็นหุ้นส่วนกันลงทุนซื้อเหล็กในแต่ละครั้ง เมื่อขายเหล็กได้ จำเลยจะสั่งจ่ายเช็คตามยอดเงินที่ขายได้ให้แก่ผู้เสียหายซึ่งจะมียอดเงินในเช็คพิพาททั้งยี่สิบสองฉบับเปรียบเทียบกับรายการซื้อขายเหล็ก ซึ่งโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่า ขณะที่จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งยี่สิบสองฉบับแก่ผู้เสียหายตามมูลค่าการขายเหล็กซึ่งยังไม่ได้แบ่งเงินตามข้อตกลงการเป็นหุ้นส่วนกันเป็นยอดเงินสุทธิว่ามีจำนวนเท่าใด ทำให้ขณะนั้นจำเลยยังไม่มีหนี้ที่ผู้เสียหายมีสิทธิเรียกร้องเอาจากจำเลยได้ ฉะนั้นเมื่อจำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งยี่สิบสองฉบับโดยยังไม่มีมูลหนี้ซึ่งอาจบังคับได้ที่จำเลยจะต้องรับผิดต่อผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4    
    


                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2144/2556
               แม้หนังสือสัญญาเงินกู้และหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงิน จะมีข้อความระบุไว้ชัดเจนว่า จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ไปจริงและจะชำระหนี้ด้วยเช็คพิพาท แต่ในการค้นหาเจตนาที่แท้จริงจำต้องพิจารณาข้อเท็จจริงอื่น ๆ ประกอบเข้าด้วย โดยเฉพาะพฤติการณ์แห่งการกระทำทั้งหลายในขณะที่มีการออกเช็ค หาใช่ต้องถือตามข้อความที่เป็นลายลักษณ์อักษรโดยฝ่ายเดียว เมื่อพิจารณาประกอบพฤติการณ์แห่งความสัมพันธ์และการกระทำซึ่งโจทก์ทราบถึงฐานะการเงินของจำเลยเป็นอย่างดีมาตั้งแต่ต้น เชื่อว่าขณะที่จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์แล้วออกเช็คพิพาทให้ไว้แก่โจทก์ล่วงหน้า โจทก์ทราบดีแล้วว่าจำเลยไม่มีทางที่จะชำระเงินตามเช็คได้ แต่ที่โจทก์ยอมรับเช็คก็เพื่อเป็นประกันหนี้และอาจนำมาฟ้องร้องบีบบังคับจำเลยเป็นคดีอาญาได้อีกทางหนึ่งเท่านั้น จำเลยไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4    
    


                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18851/2555
               พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 24 บัญญัติห้ามมิให้จำเลยกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของตนเว้นแต่จะกระทำตามคำสั่งหรือความเห็นชอบของศาล เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้จัดการทรัพย์หรือที่ประชุมเจ้าหนี้ การที่จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งสองฉบับให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ ในขณะที่จำเลยถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในคดีล้มละลายแล้ว จึงเป็นการกระทำเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยซึ่งจำเลยไม่มีอำนาจที่จะกระทำได้ตามบทบัญญัติดังกล่าว การกระทำของจำเลยเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน เช็คพิพาททั้งสองฉบับดังกล่าวจึงเป็นโมฆะ โจทก์จึงไม่อาจนำเช็คพิพาททั้งสองฉบับมาฟ้องขอให้ลงโทษจำเลย    
    


                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18850/2555
               ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาด หลังจากนั้นจำเลยออกเช็คพิพาทตามฟ้องเพื่อชำระหนี้ค่าซื้อหลักทรัพย์ (หุ้น) แก่โจทก์ การออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์เป็นการมุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นกับโจทก์ตามกฎหมายลักษณะตั๋วเงินประเภทเช็คซึ่งเป็นการกระทำเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลย โดยมิใช่กรณีกระทำตามคำสั่งหรือความเห็นชอบของศาล เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้จัดการทรัพย์ หรือที่ประชุมเจ้าหนี้ตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 หนี้ตามเช็คพิพาทไม่สามารถบังคับได้ตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยจึงขาดองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 จำเลยไม่มีความผิดตามฟ้อง    
    


                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16973/2555
               การออกเช็คที่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 นั้น องค์ประกอบที่สำคัญคือ เช็คดังกล่าวจะต้องเป็นเช็คที่ออกเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและสามารถบังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อเช็คที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นเช็คที่ไม่อาจฟ้องบังคับได้ตามกฎหมาย โจทก์นำเช็คมาฟ้องเป็นคดีนี้ให้จำเลยรับผิดไม่ได้    
    


                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15663 - 15664/2555
               พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 ใช้บังคับแก่การเรียกดอกเบี้ยในการกู้ยืมเงินเท่านั้นไม่อาจจะนำมาใช้บังคับแก่หนี้เงินที่เกิดจากมูลหนี้ประเภทอื่นได้ การคิดดอกเบี้ยในมูลหนี้การซื้อขายเช่นคดีนี้จึงไม่อยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 24 บัญญัติว่า "เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว ห้ามมิให้ลูกหนี้กระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สิน หรือกิจการของตน ..." หมายความว่าบุคคลที่ถูกพิทักษ์ทรัพย์จะดำเนินคดีในทางแพ่งด้วยตนเองหรือก่อหนี้สินขึ้นอีกในระหว่างพิทักษ์ทรัพย์อยู่ไม่ได้เท่านั้น หามีผลทำให้หนี้ที่เกิดขึ้นก่อนถูกพิทักษ์ทรัพย์ต้องสิ้นสุดหรือระงับไปด้วยไม่ และมิได้คุ้มครองให้ผู้กระทำผิดอาญาพ้นผิดไปด้วย คดีนี้เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2546 จำเลยออกเช็คลงวันที่ 15 ธันวาคม 2546 เพื่อชำระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ จำเลยถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2546 หนี้ที่จำเลยออกเช็คจึงเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนที่จำเลยจะถูกพิทักษ์ทรัพย์ แม้เช็คพิพาทดังกล่าวธนาคารตามเช็คจะปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2546 หลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจำเลยก็ตาม การกระทำความผิดทางอาญาของจำเลยยังดำเนินต่อไปได้และไม่ทำให้จำเลยพ้นผิด จำเลยจึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4    
    


                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14517 - 14520/2555
               ศาลสั่งให้รวมการพิจารณาพิพากษาคดีที่โจทก์แยกฟ้องมารวมสี่สำนวน โดยโจทก์ไม่ได้ขอให้นับโทษจำเลยติดต่อกัน จึงนับโทษต่อกันไม่ได้เพราะเป็นการพิพากษาเกินคำขอตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำคุกจำเลยกระทงละ 1 เดือน รวม 9 กระทง จำคุก 9 เดือน นั้น มีผลเท่ากับนับโทษจำคุกจำเลยติดต่อกันทั้งสี่สำนวน จึงไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225    
    


                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14397/2555
               เช็คพิพาทเป็นเช็คที่มีการเปิดบัญชีไว้กับธนาคารในนามของ ณ. จำเลยได้สั่งจ่ายเช็คเบิกเงินจากบัญชีดังกล่าว เมื่อโจทก์ร่วมนำไปเรียกเก็บเงินและธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ถือว่าจำเลยออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น    
    


                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12203/2555
               การโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้สัญญาซื้อขายรถยนต์สมบูรณ์ การที่โจทก์ร่วมตกลงกับจำเลยนอกเหนือจากสัญญาซื้อขายรถยนต์ว่าจะยังไม่โอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ให้แก่จำเลยจนกว่าเช็คทั้งสี่ฉบับจะเรียกเก็บเงินได้นั้น แสดงว่าโจทก์ร่วมและจำเลยตกลงให้ถือการที่ธนาคารจ่ายเงินตามเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับหรือไม่ เป็นเงื่อนไขของการที่จะมีนิติสัมพันธ์กันตามสัญญาซื้อขายรถยนต์ ตราบใดที่ธนาคารยังไม่จ่ายเงินตามเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับ สัญญาซื้อขายรถยนต์ย่อมไม่มีผลสมบูรณ์ โจทก์ร่วมมีสิทธิติดตามเอารถยนต์กลับคืนมาได้ ซึ่งหากข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่โจทก์ร่วมให้การในชั้นสอบสวนว่ามีข้อตกลงนอกเหนือจากสัญญาซื้อขายรถยนต์ดังกล่าว ย่อมฟังได้ว่าขณะที่จำเลยออกเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับยังไม่มีมูลหนี้ตามสัญญาซื้อขายรถยนต์ระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลย แม้ธนาคารจะปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับ จำเลยก็ไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12193/2555
               ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 172 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า การพิจารณาและสืบพยานในศาลให้ทำ โดยเปิดเผยต่อหน้าจำเลย เว้นแต่บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น ประกอบกับขณะมีการพิจารณาคดีนี้ ป.วิ.อ. ยังมิได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 226/5 ซึ่งมีข้อความว่า ในชั้นพิจารณาหากมีเหตุจำเป็นหรือเหตุอันสมควร ศาลอาจรับฟังบันทึกคำเบิกความในชั้นไต่สวนมูลฟ้องประกอบพยานหลักฐานอื่นในคดีได้ แม้โจทก์มีพยานมาสืบในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง และในชั้นพิจารณาจำเลยทั้งสองให้การว่า ได้ออกเช็คตามฟ้องและธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินก็ตาม แต่จำเลยทั้งสองได้แถลงร่วมกันว่า ประสงค์จะต่อสู้ว่าเช็คไม่มีมูลหนี้ซึ่งเป็นองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 โจทก์จึงมีภาระต้องนำพยานหลักฐานเข้าสืบเพื่อให้ได้ความจริงว่า จำเลยทั้งสองออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามฟ้องจริง เมื่อโจทก์ไม่นำพยานเข้าสืบในชั้นพิจารณา คงยื่นคำแถลงการณ์ปิดคดีต่อศาลชั้นต้น จึงรับฟังได้ว่าโจทก์ไม่นำสืบพยานเพื่อสนับสนุนว่าจำเลยทั้งสองได้กระทำความผิด จึงไม่อาจรับฟังลงโทษจำเลยทั้งสองตามฟ้องได้    
    


                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10194/2555
               ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118 ตราสารใดไม่ปิดแสตมป์บริบูรณ์ จะใช้ต้นฉบับ คู่ฉบับ คู่ฉีก หรือสำเนาตราสารนั้นเป็นพยานไม่ได้ ซึ่งห้ามเฉพาะในคดีแพ่งเท่านั้น ส่วนในคดีอาญาไม่มีบทกฎหมายใดห้ามมิให้นำตราสารดังกล่าวมารับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ เมื่อจำเลยทั้งสองออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ค่าซื้อขายที่ดินส่วนที่เหลือ โดยมีสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินมาแสดง ก็ถือว่าจำเลยทั้งสองออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อเช็คพิพาทถูกธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงครบองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 
จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด ความประสงค์หรือเจตนาแสดงออกโดยผู้แทนนิติบุคคล คือจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการผู้มีอำนาจกระทำการของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ออกเช็คเพื่อชำระหนี้ค่าซื้อที่ดิน โดยจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายและประทับตราสำคัญห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 เป็นการร่วมกันกระทำความผิด จำเลยที่ 1 ไม่อาจอ้างได้ว่าไม่มีเจตนาออกเช็คพิพาท
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9993 - 9995/2555
               เมื่อจำเลยนำรถยนต์ที่เช่าซื้อทั้งหมดส่งมอบคืนแก่โจทก์ร่วมถือว่าสัญญาเช่าซื้อทุกฉบับเลิกกันตั้งแต่วันดังกล่าว จำเลยไม่มีหน้าที่ต้องชำระค่าเช่าซื้อคงเหลือนับแต่วันที่สัญญาเช่าซื้อเลิกกันอีกต่อไป และโจทก์ร่วมไม่มีสิทธินำเช็คที่จำเลยสั่งจ่ายล่วงหน้าเพื่อชำระค่าเช่าซื้อคงเหลือไปเรียกเก็บเงิน แม้ธนาคารจะปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค จำเลยก็ไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4    
    


                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7646/2555
               แม้โจทก์จะมิใช่เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจยกเลิกคำสั่งให้รื้อถอนตึก แต่การที่โจทก์ทำงานในหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการก่อสร้างอาคาร ย่อมมีเหตุให้จำเลยเชื่อว่าโจทก์จะสามารถช่วยเหลือมิให้จำเลยต้องรื้อตึกได้ การที่จำเลยออกเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ในลักษณะเพื่อตอบแทนการที่โจทก์ช่วยเหลือมิให้จำเลยต้องรื้อถอนตึกที่ก่อสร้างต่อเติมโดยไม่ได้รับอนุญาต การออกเช็คพิพาทจึงเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนต้องตกเป็นโมฆะตามบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 150 เช็คพิพาทจึงไม่มีมูลหนี้ที่จะบังคับได้ตามกฎหมาย โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยในฐานะผู้สั่งจ่ายรับผิดตามเช็คพิพาท จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระเงินตามเช็คพิพาทแก่โจทก์    
    


                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5122 - 5123/2555
               จำเลยออกเช็ค 5 ฉบับ โจทก์นำคดีมาแยกฟ้องเป็น 2 สำนวน สำนวนแรก 2 ฉบับ สำนวนที่สองอีก 3 ฉบับ โดยแต่ละสำนวนโจทก์ไม่ได้ขอให้นับโทษจำเลยต่อ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละ 1 เดือน โดยเรียงกระทงลงโทษ มีผลเสมือนเป็นการนับโทษต่อจึงไม่ชอบ    
    


                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3597/2555
               แม้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันออกเช็คสั่งจ่ายเงินเพื่อมอบให้แก่ผู้เสียหายเพื่อชำระหนี้เงินกู้อันเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย แต่เมื่อข้อเท็จจริงตามทางนำสืบโจทก์ปรากฏว่า เช็คพิพาทเป็นเช็คที่บริษัท ว. เป็นผู้ออกเพื่อชำระหนี้เงินกู้ที่บริษัทดังกล่าวเป็นผู้กู้จากผู้เสียหาย โดยมีจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อในเช็คพิพาทในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนบริษัท ดังนั้นไม่ว่าจำเลยที่ 1 จะสั่งจ่ายเช็คพิพาทในฐานะส่วนตัวหรือในฐานะที่กระทำแทนบริษัท จำเลยที่ 1 ก็คงมีความรับผิดทางอาญาเช่นเดียวกัน เพราะการดำเนินกิจการของบริษัทย่อมแสดงออกโดยทางผู้แทนทั้งหลายของบริษัท เมื่อจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้แทนของบริษัทลงชื่อในเช็คสั่งจ่ายเงินโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คอันเป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง ก็ถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวการร่วมกับบริษัทออกเช็คโจทก์ย่อมฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัวได้โดยไม่จำต้องบรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกันกระทำความผิดกับบริษัท ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณากับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้อง จึงหาใช่ข้อแตกต่างในสาระสำคัญไม่    
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2460/2555
               แม้โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้บางส่วนอันเนื่องจากลูกค้าของโจทก์ได้ชำระค่าเสื้อผ้าสำเร็จรูปแก่โจทก์และจำเลยรับไว้แทน แต่ทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยออกเช็คพิพาทให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ค่าผ้าที่จำเลยเอาผ้าของโจทก์ไปผลิตเกินจากที่โจทก์สั่งแล้วนำไปจำหน่ายก็ตาม เมื่อหนี้ที่จำเลยออกเช็คพิพาทให้แก่โจทก์เป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายแล้ว การกระทำของจำเลยก็เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ตามที่โจทก์ฟ้อง จึงถือไม่ได้ว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องในสาระสำคัญอันเป็นเหตุให้ศาลต้องยกฟ้อง    
    


                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1842/2555
               ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 จะเห็นได้ว่า ข้อความที่ว่า "ถ้าธนาคารปฏิเสธไม่ใช้เงินตามเช็คนั้น ผู้ออกเช็คมีความผิด ฯลฯ" จึงเป็นองค์ประกอบที่ทำให้ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 เกิดขึ้น แต่ตามฟ้องโจทก์ไม่มีคำบรรยายให้ฟังได้ว่า โจทก์ยื่นเช็คฉบับที่ 2 ถึงที่ 10 เพื่อให้ธนาคารใช้เงินตามเช็คและธนาคารปฏิเสธการใช้เงินแต่ประการใด ทั้งมิได้อ้างใบคืนเช็คฉบับที่ 2 ถึงที่ 10 แนบมาท้ายฟ้องเป็นหลักฐานอันจะถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของฟ้องแต่อย่างใด ตามฟ้องโจทก์ที่บรรยายว่า เมื่อเช็คฉบับแรกถึงกำหนดเรียกเก็บเงิน โจทก์นำเช็คฉบับดังกล่าวเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บและธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ให้เหตุผลว่าบัญชีปิดแล้วนั้น ก็เป็นวันที่เกิดการกระทำความผิดในการออกเช็คฉบับแรกฉบับเดียว ในวันดังกล่าวเช็คฉบับที่ 2 ถึงที่ 10 ยังไม่ถึงกำหนดชำระและโจทก์มิได้ยื่นเช็คเพื่อเรียกเก็บ ซึ่งหากธนาคารปฏิเสธไม่ใช้เงินตามเช็คจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 จึงมิใช่วันที่จำเลยกระทำความผิดตามเช็คฉบับที่ 2 ถึงที่ 10 จึงขาดองค์ประกอบความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าว ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพก็ไม่อาจฟังลงโทษจำเลยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 ประกอบมาตรา 215, 225    
    


                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11707/2554
               ก่อนถึงวันนัดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลย หากนางสาว ว. เป็นพยานสำคัญของจำเลย จำเลยก็ชอบที่จะดำเนินการขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายเรียกพยานเสียแต่เนิ่น ๆ แต่จำเลยหากระทำไม่ ทั้งตามอุทธรณ์และฎีกาของจำเลยก็มิได้อ้างถึงเหตุขัดข้องแต่ประการใด พฤติการณ์ของจำเลยส่อว่าประสงค์จะขอเลื่อนการสืบพยานจำเลยไปเพื่อประวิงให้ชักช้า การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดสืบพยานจำเลยจึงชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 86 วรรคสอง และมาตรา 104 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 
สัญญากู้เงินมีการขูดลบตกเติมข้อความในสัญญาหลายแห่งโดยไม่มีการลงลายมือชื่อกำกับไว้ เหตุดังกล่าวแต่ประการเดียวยังไม่อาจรับฟังเป็นยุติได้ว่า สัญญากู้เงินดังกล่าวเป็นเอกสารปลอม สำหรับสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีที่จำเลยอ้างว่าแจ้งความดำเนินคดีเรื่องเอกสารปลอม จำเลยมิได้อ้างส่งต่อศาลชั้นต้น แต่เพิ่งแนบมาท้ายอุทธรณ์และฎีกา โดยไม่ปรากฏเหตุขัดข้องใด จึงเป็นการยื่นเอกสารฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ไม่อาจรับเป็นพยานหลักฐานได้    
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9319/2554
               การที่จำเลยลงลายมือชื่อเป็นผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาทมอบให้ภริยาจำเลยเป็นผู้กรอก วัน เดือน ปี และจำนวนเงินในเช็คดังกล่าวด้วยความยินยอมเห็นชอบของจำเลย กรณีต้องถือว่าจำเลยเป็นผู้ออกเช็คพิพาทดังกล่าว เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงโดยชอบนำเช็คไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยย่อมมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4    
    


                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7152/2554
               จำเลยที่ 1 ออกเช็คพิพาทโดยไม่ได้ลงวันที่สั่งจ่าย ถือได้ว่าไม่มีวันที่จำเลยที่ 1 ผู้ออกเช็คกระทำความผิด การที่จำเลยที่ 2 ผู้สลักหลังเป็นผู้ลงวันที่สั่งจ่ายตามที่ตกลงกับโจทก์ร่วมในภายหลัง เป็นเพียงแต่ให้เช็คมีรายการต่างๆ สมบูรณ์ตามกฎหมายเพื่อฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ในทางแพ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 910 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง หาทำให้กลับมาเป็นความผิดทางอาญาไม่ แม้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ออกเช็คกับจำเลยที่ 2 ผู้สลักหลังร่วมกันออกเช็คนั้นก็ไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5799/2554
               ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 จะเกิดขึ้นต่อเมื่อธนาคารปฏิเสธไม่จ่ายเงินตามเช็ค วันที่ในเช็คอันเป็นกำหนดเวลาที่สั่งให้ธนาคารใช้เงินจึงเป็นสาระสำคัญของการกระทำความผิด หากมิได้ลงวันที่ในเช็ค ผู้ออกเช็คย่อมไม่อาจทราบได้ว่าจะให้มีการใช้เงินตามเช็คในวันใด จึงถือว่าไม่มีวันที่ผู้ออกเช็คกระทำความผิด ข้อเท็จจริงความว่า จำเลยออกเช็คพิพาทเพียงลงลายมือสั่งจ่ายไว้โดยไม่ได้ลงรายการอื่น มอบให้ จ. ต่อมา จ. เป็นผู้กรอกจำนวนเงินและวันที่สั่งจ่าย แล้วมอบเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ขณะที่จำเลยไม่ได้อยู่ด้วย โดยจำเลยมิได้ยินยอมหรือมอบหมายให้กระทำ แสดงว่ากำหนดวันที่สั่งจ่ายและจำนวนเงินเป็นการตกลงกันระหว่างโจทก์กับ จ. เท่านั้น จำเลยหาได้รู้เห็นด้วย เช็คพิพาทย่อมไม่เป็นเช็คที่สมบูรณ์ตามกฎหมาย จำเลยจึงหาต้องรับผิดตามเช็คพิพาทไม่    
    


                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4335/2554
               การที่จำเลยกับพวกร่วมกันหลอกลวงสั่งซื้อสินค้าผ้าจากโจทก์ร่วมนั้น เป็นการดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอนตามแผนการที่วางไว้ตั้งแต่ต้น โดยการหลอกลวงให้โจทก์ร่วมไว้วางใจเพื่อจะได้ฉ้อโกงสินค้าเป็นจำนวนมากโดยอาศัยวิธีการออกเช็คชำระค่าสินค้าแทนเงินสด โดยเจตนาที่จะไม่ใช้เงินตามเช็ค พฤติการณ์การกระทำดังกล่าวจึงเป็นเพียงอุบายของจำเลยกับพวกเพื่อให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อและส่งมอบสินค้าผ้าให้จำเลยกับพวก การออกเช็คชำระหนี้คราวแรกจึงเป็นการกระทำอันเป็นส่วนหนึ่งของการหลอกลวงอันเป็นความผิดฐานฉ้อโกง แม้การที่จำเลยออกเช็คตามฟ้องให้แก่โจทก์ร่วมจะกระทำขึ้นในวันที่ 25 กรกฎาคม 2543 ภายหลังจากจำเลยกับพวกได้รับสินค้าผ้าจากโจทก์ร่วมไประหว่างวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2543 ถึงวันที่ 20 มีนาคม 2543 และภายหลังออกเช็คคราวแรกให้โจทก์ร่วมแล้วก็ตาม แต่เป็นการออกเช็คแทนเช็คฉบับเดิมที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน จึงเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องและแทนที่การออกเช็คที่เป็นส่วนหนึ่งของแผนการหลอกลวงดังกล่าว การกระทำของจำเลยในความผิดฐานฉ้อโกงในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 707/2545 ของศาลแขวงปทุมวัน และในความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ในคดีนี้ จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวกัน แม้การกระทำของจำเลยจะเป็นกรรมเดียวกันก็ตาม แต่ต่อมาเมื่อปรากฏว่าศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 707/2545 ของศาลแขวงปทุมวัน โดยวินิจฉัยว่าเป็นการฟ้องซ้อนกับคดีนี้ หาได้วินิจฉัยการกระทำของจำเลยเป็นความผิดหรือไม่ จึงถือไม่ได้ว่าในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 707/2545 ของศาลแขวงปทุมวัน ได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ได้ฟ้อง สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในคดีนี้จึงหาได้ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4)    
    


                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4207/2554
               ข้อความด้านหลังเช็คที่ระบุว่า "เช็คฉบับนี้ให้ไว้เพื่อประกันหนี้" ปรากฏว่าฝ่ายจำเลยเขียนข้อความขึ้นเองฝ่ายเดียวโดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ตกลงด้วย ทั้งเป็นข้อความที่ไม่มีบทบัญญัติใดใน ป.พ.พ. ลักษณะตั๋วเงินบัญญัติให้เขียนลงได้ในตั๋วเงิน การเขียนข้อความเช่นนี้ย่อมไม่มีผลใดๆ แก่ตั๋วเงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 899 การที่พนักงานของโจทก์ไม่นำมาเป็นเหตุโต้แย้งย่อมไม่เป็นพิรุธ เพราะข้อความดังกล่าวไม่มีผลต่อความสมบูรณ์ของเช็คพิพาทแต่ประการใด โจทก์ไม่จำต้องทำตามข้อห้ามที่ด้านหลังเช็คพิพาท ประกอบกับไม่ปรากฏรายละเอียดว่าจำเลยทั้งสองจะใช้หนี้โจทก์ด้วยวิธีใดอีก และจะใช้หนี้ให้เสร็จเมื่อใด ข้ออ้างตามฎีกาของจำเลยทั้งสองที่ว่าจำเลยทั้งสองออกเช็คพิพาทโดยวัตถุประสงค์เพื่อประกันหนี้ฟังไม่ขึ้น    
    


                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12007/2553
               จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งสามฉบับเพื่อชำระหนี้เงินกู้ยืม แต่ไม่มีเหตุผลใดที่จำเลยจะต้องนำเช็คพิพาทมามอบให้โจทก์เพื่อชำระหนี้ตั้งแต่ก่อนถึงกำหนดชำระหนี้เป็เวลานานโดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้เรียกให้ทำเช่นนั้น ประกอบกับโจทก์เพิ่งรับซื้อฝากที่ดินจากจำเลยไปไม่นายจึงไม่นานเชื่อว่าโจทก์จะยินยอมให้จำเลยกู้ยืมเงินไปเป็นจำนวนมากอีกโดยมีเพียง ส. ซึ่งเป็นลูกหนี้อีกคนหนึ่งของโจทก์เป็นผู้ค้ำประกัน ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ชำระดอกเบี้ย และโจทก์ก็มิได้ทวงถามหรือติดใจเรียกเอาดอกเบี้ยเสียจึงเป็นเรื่องผิดปกติวิสัย ยิ่งกว่านั้นเมื่อเช็คพิพาทแต่ละฉบับถึงกำหนดโจทก์ก็มิได้นำไปเรียกเก็บเงินภายในเวลาอันสมควร เช่นนี้นับเป็นข้อพิรุธน่าสังสัยว่าจำเลยจะกู้ยืมเงินจากโจทก์ และออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้จริงหรือไม่ ในขณะที่จำเลยสามารถนำสืบถึงที่มาของการทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินและการออกเช็คพิพาทเพื่อเป็นประกันการชำระดอกเบี้ยตามสัญญาขายฝาก พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาไม่มีน้ำหนักมั่นคงเพียงพอจะรับฟังว่า จำเลยกู้ยืมเงินจากโจทก์ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินแล้วออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ดังกล่าว    
    
                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11749/2553
               การที่จำเลยนำเช็คของผู้อื่นซึ่งสูญหายไปแต่แจ้งอายัดแล้วมาลงลายมือชื่อ เมื่อเช็คพิพาทมีรายการครบถ้วนสมบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 988 แล้วจึงถือว่าเป็นเช็คแล้ว เมื่อผู้ทรงนำไปเรียกเก็บเงินไม่ได้ ผู้ออกเช็คก็ย่อมต้องรับผิด การที่จำเลยออกเช็คพิพาทเพื่อชำระค่าไม้แปรรูปให้แก่ผู้เสียหาย ทั้ง ๆ ที่ทราบอยู่แล้วว่าจำเลยไม่มีบัญชีเงินฝากในธนาคาร ถือได้ว่าจำเลยมีเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 
ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า พยานหลักฐานโจทก์รับฟังไม่ได้ว่ามูลหนี้ตามเช็คเป็นหนี้ที่บังคับได้ตามกฎหมายนั้น ฎีกาของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 4 คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้กักขังจำเลย 1 เดือน จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219 ตรี ประกอบ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้ในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยในข้อนี้จึงเป็นการไม่ชอบ    
    


                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11742/2553
               ตามรายงานกระบวนพิจารณา ลงวันที่ 19 สิงหาคม 2546 ของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 2 แถลงรับว่าในชั้นสอบสวนพันตำรวจตรี ธ. เป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหาและเป็นผู้สอบคำให้การจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธและลงลายมือชื่อไว้จริงจึงถือได้ว่ามีการแจ้งข้อหาให้จำเลยที่ 2 ทราบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134 (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะเกิดเหตุแล้ว แม้จะมิได้มีการแจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำที่จำเลยที่ 2 ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติขึ้นภายหลัง ก็ไม่ทำให้การสอบสวนเสียไป การสอบสวนจึงชอบแล้ว 
เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายในเช็คพิพาททั้งสองฉบับ ชำระหนี้ค่าสินค้าให้แก่โจทก์ร่วม ทั้งยังให้ตัวอย่างลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 ว่า เป็นผู้มีอำนาจสั่งจ่ายเช็คในนามจำเลยที่ 1 แก่ธนาคาร ดังนี้ แม้จำเลยที่ 2 จะไม่ได้เป็นผู้สั่งซื้อสินค้าหรือมีหนี้สินใดกับโจทก์ร่วมโดยตรง เมื่อจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายในเช็คพิพาททั้งสองฉบับ จำเลยที่ 2 ก็ต้องรับผิดใช้เงินตามเช็คให้แก่โจทก์ร่วมในฐานะผู้สั่งจ่าย จำเลยที่ 2 จะอ้างว่าเป็นการลงลายมือชื่อเพื่อเป็นการรับประกันหรือสร้างความน่าเชื่อถือในผลงานในฐานะเป็นวิศวกรโครงการไม่ได้ เมื่อเช็คทั้งสองฉบับเป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย และธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คทั้งสองฉบับ การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 4    
    
                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9423 - 9424/2553
               จำเลยจะลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทในฐานะส่วนตัวหรือกระทำการแทนบริษัทจำเลยก็ต้องมีความรับผิดทางอาญาเช่นเดียวกัน เนื่องจากการดำเนินกิจการของบริษัทย่อมแสดงออกโดยทางผู้แทนทั้งหลายของบริษัท เมื่อจำเลยเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทและประทับตราสำคัญของบริษัทโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คอันเป็นความผิดตามฟ้อง ย่อมถือว่าจำเลยเป็นตัวการร่วมกับบริษัทออกเช็คพิพาท โจทก์จึงฟ้องจำเลยในฐานะส่วนตัวได้โดยไม่จำต้องบรรยายฟ้องว่าจำเลยกับบริษัทร่วมกันกระทำผิด และกรณีเช่นนี้ถือไม่ได้ว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องในข้อสาระสำคัญเนื่องจากมิได้ส่งผลให้ผู้แทนหรือนิติบุคคลพ้นจากความรับผิดทางอาญา ทั้งจำเลยก็มิได้หลงต่อสู้ด้วย จึงไม่มีเหตุที่ศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง    
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5272/2553
               พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 บัญญัติว่า "ผู้ใดออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายโดยมีลักษณะหรือมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ (1) เจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น ฯลฯ เมื่อได้มีการยื่นเช็คเพื่อให้ใช้เงินโดยชอบด้วยกฎหมาย ถ้าธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คนั้นผู้ออกเช็คมีความผิด" ตามบทบัญญัติดังกล่าวการออกเช็คที่จะเป็นความผิดนั้น จะต้องเป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายด้วยอันเป็นข้อเท็จจริงประการหนึ่งซึ่งเป็นองค์ประกอบของความผิด การที่โจทก์บรรยายฟ้องมีสาระสำคัญว่าจำเลยออกเช็คให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ซึ่งเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย ครั้นเช็คถึงกำหนดโจทก์นำไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน การกระทำของจำเลยเป็นการออกเช็คโดยเจตนาจะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค จึงเป็นที่เห็นได้ว่าคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายข้อเท็จจริงแล้วว่าจำเลยออกเช็คเพียงชำระหนี้อันเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย ครบองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 และได้บรรยายข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำของจำเลยครบถ้วนเพียงพอที่จำเลยจะเข้าใจข้อหาและต่อสู้คดีได้แล้ว ส่วนปัญหาที่ว่าจำเลยเป็นหนี้อะไรนั้นเป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก์จะต้องนำสืบในชั้นพิจารณา โจทก์ไม่จำต้องบรรยายมาในฟ้อง ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว    
    
                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3694/2553
               ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยออกเช็คให้แก่บริษัท ส. โดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้นและในขณะที่ออกเช็คนั้นไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ อันเป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ผู้เสียหายในคดีนี้คือบริษัท ส. ไม่ใช่นาย ส. แม้นาย ส. จะเป็นกรรมการของบริษัท ส. แต่การกระทำการแทนบริษัทจะต้องลงลายมือชื่อและประทับตราของบริษัท จึงจะมีอำนาจกระทำการแทนบริษัทได้ เมื่อปรากฏตามคำร้องของนาย ส. ว่าเป็นการยื่นคำร้องในฐานะส่วนตัว ดังนั้นนาย ส. จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องเข้าร่วมเป็นโจทก์ได้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้นาย ส. เข้าเป็นโจทก์ร่วมจึงเป็นการไม่ชอบ โจทก์ร่วมจึงไม่ใช่คู่ความในคดี ไม่มีสิทธิอุทธรณ์หรือฎีกาต่อมา ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้    
    


                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1219/2553
              จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ร่วมตามหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายเอกสารหมาย จ.1 โดยจำเลยออกเช็คตามเอกสารหมาย จ.3 เพื่อชำระหนี้ดังกล่าวบางส่วนให้แก่โจทก์ร่วม ทั้งนี้โจทก์ร่วมยินยอมให้จำเลยเข้าครอบครองใช้สอยประโยชน์ในทรัพย์สินที่ตกลงจะซื้อจะขายนับแต่วันทำสัญญา ซึ่งจำเลยได้ออกเช็คตามเอกสารหมาย จ.9 เพื่อชำระหนี้ค่าใช้สอยดังกล่าวให้แก่โจทก์ร่วม การที่โจทก์ร่วมปกปิดข้อเท็จจริงที่ว่า โจทก์ร่วมถูกธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ฟ้องและศาลพิพากษาให้ชำระหนี้ 115 ล้านบาทเศษเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2539 และสัญญาจะซื้อจะขายในคดีนี้ตามเอกสารหมาย จ.1 ทำกันเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2539 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากศาลแพ่งกรุงเทพใต้พิพากษาให้โจทก์ร่วมชำระหนี้เพียง 12 วัน น่าเชื่อได้ว่าขณะทำสัญญาดังกล่าวจำเลยไม่ทราบว่าโจทก์ร่วมถูกธนาคารฟ้องให้ชำระหนี้และยึดทรัพย์ซึ่งรวมถึงที่ดินที่จะขายให้แก่จำเลยด้วย อันเป็นเหตุที่ทำให้โจทก์ร่วมไม่สามารถโอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จะขายตามสัญญาให้แก่จำเลยได้ ทั้งในวันที่ตกลงจะจดทะเบียนโอนที่ดินตามสัญญานั้น โจทก์ร่วมและเจ้าของร่วมคนอื่นก็มิได้ไปทำการโอนให้จำเลย เมื่อจำเลยทราบเหตุที่โจทก์ร่วมถูกศาลพิพากษาให้โจทก์ร่วมชำระหนี้และโจทก์ร่วมไม่ไปจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่จำเลยตามกำหนด การที่จำเลยเห็นว่าการปฏิบัติตามสัญญาระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยตามสัญญาจะซื้อจะขายเอกสารหมาย จ.1 นั้น มีปัญหาที่อาจจะทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาได้ ดังนั้น การที่จำเลยไปแจ้งให้ธนาคารระงับการจ่ายเงินตามเช็คเอกสารหมาย จ.9 ซึ่งเป็นการสั่งจ่ายในการที่จำเลยได้ครอบครองหรือใช้สอยทรัพย์สินที่จะซื้อขายกันจึงเป็นการระงับการสั่งจ่ายโดยสุจริต แม้ว่าตามสัญญาจะซื้อจะขายเอกสารหมาย จ.1 ข้อ 10 วรรคสองจะระบุว่าสำหรับเงินที่ผู้จะซื้อชำระให้แก่ผู้จะขายเป็นรายเดือนเดือนละ 300,000 บาท ตามความในข้อ 6 นั้นไม่อยู่ในข้อบังคับของวรรคแรกคงปล่อยให้ตกเป็นของผู้จะขายตลอดไป เพราะถือว่าเป็นค่าตอบแทนของการเข้าครอบครองและใช้สอยประโยชน์แล้ว ก็หาทำให้จำเลยมีความผิดเพราะแจ้งธนาคารระงับการจ่ายเงินโดยสุจริตไม่ 
อนึ่ง คดีความผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 4 นั้น ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือทั้งจำทั้งปรับ จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวงตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17, 25 และต้องห้ามมิให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงเว้นแต่ผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลแขวงพิเคราะห์เห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลอุทธรณ์และอนุญาตให้อุทธรณ์ หรืออธิบดีกรมอัยการหรือพนักอัยการซึ่งอธิบดีกรมอัยการได้มอบหมายลงลายมือชื่อรับรองในอุทธรณ์ว่ามีเหตุอันควรที่ศาลอุทธรณ์จะได้วินิจฉัยก็ให้รับอุทธรณ์นั้นไว้พิจารณาตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงฯ มาตรา 22, 22 ทวิ ซึ่งใช้บังคับแก่ศาลจังหวัดในท้องที่ซึ่งยังมิได้มีศาลแขวงเปิดทำการด้วยตาม พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัดฯ มาตรา 3 คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยวินิจฉัยว่ากรณียังถือไม่ได้ว่าจำเลยมีคำสั่งห้ามธนาคารใช้เงินตามเช็คโดยเจตนาทุจริต โจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์ความว่า พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมฟังได้ว่าจำเลยมีคำสั่งห้ามธนาคารใช้เงินตามเช็คโดยเจตนาทุจริตเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง โจทก์อุทธรณ์โดยอธิบดีอัยการเขต 2 รักษาการในตำแหน่งอัยการพิเศษประจำเขต 2 ซึ่งได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุดรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง จึงเป็นอุทธรณ์ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ชอบที่จะรับไว้พิจารณาตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงฯ มาตรา 22 ทวิ ส่วนอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมไม่มีผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งอนุญาตให้อุทธรณ์ จึงเป็นอุทธรณ์ที่ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงฯ มาตรา 22 แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ร่วม ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ก็ชอบที่จะวินิจฉัยให้ยกเสีย การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมมาด้วยเป็นการไม่ถูกต้อง
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 361/2553
               จำเลยออกเช็คเพื่อชำระหนี้ค่าสินค้าแก่ผู้เสียหาย หนี้ค่าสินค้าดังกล่าวจะต้องเป็นหนี้ที่บังคับได้ตามกฎหมายจึงจะครบองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า สินค้าที่ผู้เสียหายขายให้จำเลยเป็นสินค้าที่ซื้อขายกันได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ที่จะมีผลทำให้การซื้อขายสินค้าอันเป็นมูลหนี้ตามฟ้องระหว่างผู้เสียหายกับจำเลยเป็นนิติกรรมที่มิได้ต้องห้ามตามกฎหมายและขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนอันจะถือได้ว่าเป็นนิติกรรมที่ไม่ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 ซึ่งเป็นหนี้ที่บังคับได้ตามกฎหมาย ดังนี้จึงไม่อาจฟังได้ว่าหนี้ที่จำเลยออกเช็คให้แก่ผู้เสียหายเป็นหนี้ที่บังคับได้ตามกฎหมาย การออกเช็คของจำเลยจึงไม่ครบองค์ประกอบอันจะเป็นความผิดตามฟ้อง
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13/2553
               การที่จำเลยนำเช็คที่ถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินแล้วมาแก้ไขวันที่และลงชื่อกำกับวันที่แก้ไขไว้ แม้จะเจตนาให้มีผลผูกพันเพื่อชำระหนี้ค่าเช่าซื้อที่จำเลยทำสัญญากับผู้เสียหาย และเป็นการแก้ไขวันสั่งจ่ายซึ่งเป็นข้อสำคัญในเช็คตาม ป.พ.พ. มาตรา 1007 ก็ตาม แต่การลงวันที่ใหม่และลงนามกำกับการแก้ไขโดยจำนวนเงินและลายมือชื่ออันเป็นรายการที่มีอยู่ในเช็คเดิมจึงเป็นเพียงการแก้วันที่ในเช็คเพียงอย่างเดียว เช็คยังคงเป็นเช็คฉบับเดิม ไม่เป็นการออกเช็คฉบับใหม่แต่อย่างใด เมื่อเช็คถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินมาครั้งหนึ่งแล้ว ความผิดฐานออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ ย่อมเกิดขึ้นนับแต่วันนั้นแล้ว การที่ผู้เสียหมายนำเช็คไปเรียกเก็บเงินอีกและธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเป็นครั้งที่สองจึงหาได้เกิดความผิดขึ้นใหม่อีกไม่ เพราะเป็นการกระทำอันเดียวกันนั้นเอง การกระทำอันเดียวกันจะเป็นความผิดสองครั้งหาได้ไม่ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามฟ้อง แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา แต่ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185, 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225    
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1517/2552
               ฟ้องโจทก์บรรยายเพียงวันที่ที่เขียนลงในเช็คหรือวันออกเช็คและวันที่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินว่า เป็นวันที่ 19 กันยายน 2548 แต่โจทก์มิได้บรรยายรายละเอียดเกี่ยวกับเวลาว่าเป็นเวลากลางวันหรือกลางคืน ฟ้องโจทก์จึงขาดสาระสำคัญเกี่ยวกับเวลา แม้จำเลยจะไม่ได้ยกปัญหาดังกล่าวขึ้นอ้างในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์แต่เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยยกขึ้นอ้างได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 แต่เนื่องจากความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 4 เกิดขึ้นเมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินวันที่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินจึงเป็นวันเกิดเหตุ เมื่อคำฟ้องของโจทก์ได้ระบุว่า ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2548 จะมิได้ระบุว่าเป็นเวลาใด ก็พอเข้าใจได้ว่าโจทก์นำเช็คตามฟ้องไปยื่นให้ธนาคารใช้เงินในเวลากลางวัน อันเป็นเวลาทำการงานตามปกติของธนาคารทั่วไป ถือได้ว่าฟ้องโจทก์ได้บรรยายรายละเอียดเกี่ยวกับวันเวลาซึ่งเกิดการกระทำผิด ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)    
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 463/2552
               จำเลยออกเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ตั้งแต่ก่อนที่จะมีการจัดทำหนังสือสัญญากู้เงิน เช็คพิพาทจึงมิได้ออกเพื่อชำระหนี้เงินกู้ซึ่งเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย เนื่องจากขณะที่ออกเช็คพิพาทนั้นหนี้ดังกล่าวยังไม่มีหลักฐานการกู้ยืมเป็นหน้งสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จึงเป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่ไม่อาจบังคับได้ตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยจึงขาดองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4    
    
                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 452/2552
               การออกเช็คเพื่อประกันค่าสินค้าที่ลูกค้าหรือสมาชิกสั่งซื้อสินค้าผ่านจำเลยนั้นเพื่อเป็นประกันว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้ค่าสินค้าที่ส่งให้แก่ลูกค้าหรือสมาชิก หากลูกค้าหรือสมาชิกไม่ชำระโจทก์ก็ยังได้รับเงินค่าสินค้าตามเช็คดังกล่าว ดังนั้น ตราบใดที่ยังไม่มีการชำระหนี้ค่าสินค้า จำเลยก็ยังคงต้องรับผิดชำระหนี้ตามเช็คนั้น แม้คดีในส่วนอาญา จำเลยไม่ต้องรับผิดทางอาญา ก็เป็นเพราะเช็คที่จำเลยออกมิใช่เป็นเช็คเพื่อชำระหนี้อันเป็นองค์ประกอบของความผิดทางอาญา ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ แต่เมื่อโจทก์มิได้รับชำระหนี้ค่าสินค้าจากลูกค้าหรือสมาชิก จำเลยก็ยังคงต้องรับผิดชอบชำระหนี้ค่าสินค้าตามเช็คที่จำเลยสั่งจ่ายเป็นประกันการชำระหนี้ดังกล่าวต่อผู้ทรงเช็ค    
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 143/2552
              โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยลงลายมือชื่อออกเช็คพิพาทให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ค่าซื้อสินค้าเคมีภัณฑ์ ซึ่งสินค้าดังกล่าวห้างหุ้นส่วนจำกัด ท. เป็นผู้ซื้อจากโจทก์ กับบรรยายว่าหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและสามารถบังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อเช็คพิพาทถึงกำหนดโจทก์นำเข้าเรียกเก็บ แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน จึงเป็นฟ้องที่กล่าวถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้นๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ครบองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 จึงเป็นฟ้องที่สมบูรณ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว 
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยร่วมกันกระทำความผิด แม้จะฟังว่าต้องมีบุคคลอื่นร่วมกระทำความผิดด้วย ทั้งที่ข้อเท็จจริงไม่ได้ความว่าจำเลยร่วมกันกระทำความผิดกับผู้ใด ก็เป็นเพียงความผิดหลงเล็กน้อยไม่ทำให้จำเลยหลงต่อสู้ ส่วนที่ฟ้องโจทก์มิได้บรรยายถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยว่าเหตุใดจำเลยจึงออกเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ และเหตุใดจำเลยจึงต้องออกเช็คดังกล่าวชำระหนี้แทนห้างหุ้นส่วนจำกัด ท. เป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบพิสูจน์ในชั้นพิจารณาได้ ไม่จำต้องบรรยายมาในคำฟ้อง ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม 
ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 เกิดขึ้นเมื่อมีการนำเช็คไปเรียกเก็บเงินและธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน มิได้เกี่ยวข้องกับการชำระเงินตามเช็คซึ่งเป็นคนละกรณีกัน การที่มีการชำระหนี้บางส่วนตามเช็คพิพาทก่อนหรือหลังเช็คถึงกำหนด ไม่ทำให้ความผิดที่เกิดขึ้นแล้วไม่เป็นความผิด    
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 789/2551
               การบรรยายฟ้องตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ไม่จำเป็นต้องใช้คำตามบทบัญญัติดังกล่าวทุกถ้อยคำ โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยลงชื่อสั่งจ่ายเช็คตามฟ้องมอบให้แก่โจทก์ร่วมเพื่อชำระค่าสินค้าผ้ายืด ย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์ร่วมตามสัญญาซื้อขายสินค้าผ้ายืดและจำเลยสั่งจ่ายเช็คเพื่อชำระค่าสินค้าผ้ายืดตามสัญญาซื้อขายนั้น จึงเป็นการบรรยายข้อเท็จจริงเพื่อแสดงว่า จำเลยออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายแล้ว เป็นคำฟ้องที่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)    
    


                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 492/2551
               ตอนแรกจำเลยให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ โจทก์นำสืบพยานบุคคลว่า จำเลยทั้งสองตกลงว่าจะชำระเงินให้โจทก์ภายใน 30 วัน นับแต่วันวางบิล แต่ต่อมาจำเลยที่ 2 ขอผ่อนผันเป็นชำระเงินภายใน 90 วัน โดยจำเลยทั้งสองยอมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เดือนละ 20,000 บาท ซึ่งโจทก์ก็ตกลงด้วย แต่ปรากฏว่าเมื่อโจทก์วางบิลเรียกเก็บเงิน จำเลยทั้งสองไม่ชำระโดยมียอดหนี้ค่าขนส่งสินค้ารวมภาษีมูลค่าเพิ่มและค่าเสียหายตามที่ตกลงกันไว้เดือนละ 20,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,402,302.29 บาท และจำเลยทั้งสองได้ออกเช็คพิพาท 4 ฉบับ ชำระหนี้ดังกล่าวให้แก่โจทก์ แต่ต่อมาธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน แล้วโจทก์ขอเลื่อนไปสืบพยานต่อในนัดหน้า แต่ปรากฏว่าเมื่อถึงวันนัดจำเลยทั้งสองขอถอนคำให้การเดิมแล้วให้การใหม่เป็นรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ทุกประการ ดังนี้ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองได้กระทำผิดจริงตามฟ้องโจทก์ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกฟ้องโจทก์โดยวินิจฉัยว่า ค่าเสียหายเดือนละ 20,000 บาท เป็นเบี้ยปรับก็ดี เป็นเรื่องที่โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะสูงเกินกว่าอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี หรือ 15 ต่อปี หนี้ตามเช็คพิพาททั้ง 4 ฉบับ จึงรวมเอาหนี้ที่ไม่อาจบังคับได้ตามกฎหมายไว้ด้วยก็ดี ซึ่งไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสำนวนและขัดกับข้อเท็จจริงที่จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพจึงไม่ชอบ    
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6971/2550
               ตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 4 การออกเช็คที่จะถือว่าเป็นความผิด จะต้องเป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายด้วย หนี้ตามเช็คที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายหรือไม่นั้นเป็นข้อเท็จจริงประการหนึ่งซึ่งเป็นองค์ประกอบของความผิด ตามคำฟ้องโจทก์บรรยายแต่เพียงว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันออกเช็คจำนวน 3 ฉบับ โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่าย จำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อสลักหลังมอบให้แก่โจทก์ชำระหนี้เงินกู้โดยมิได้ระบุว่าเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย ทั้งโจทก์มิได้แนบสำเนาสัญญากู้มาท้ายฟ้อง คำฟ้องของโจทก์จึงขาดข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 4 เป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แม้จำเลยทั้งสองจะให้การรับสารภาพก็ลงโทษจำเลยทั้งสองตามฟ้องไม่ได้    
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6888/2550
               ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจาการใช้เช็คฯ นั้น วันออกเช็คย่อมหมายถึงวันที่ลงในเช็ค ส่วนวันที่เขียนเช็คหรือมอบเช็คให้แก่ผู้เสียหายหาใช่วันที่ออกเช็คไม่ ดังนี้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังว่า หลังจากที่ผู้เสียหายได้รับหนังสือสัญญากู้ยืมเงินและเช็คพิพาทแล้วผู้เสียหายก็มอบเงินที่กู้ยืมให้แก่จำเลยในวันเดียวกันนั้น โดยปรากฏว่าวันสั่งจ่ายเช็คที่ลงในเช็คพิพาทตรงกับวันครบกำหนดชำระเงินตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงิน แสดงว่าขณะที่เช็คพิพาทถึงกำหนดสั่งจ่ายซึ่งถือเป็นวันออกเช็คนั้น มูลหนี้ตามเช็คดังกล่าวย่อมสมบูรณ์และมีหลักฐานเป็นหนังสือสามารถฟ้องร้องบังคับคดีได้ตามกฎหมาย เมื่อจำเลยออกเช็คพิพาทโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค และธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 4    
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5326/2550
              เช็คพิพาทเป็นเช็คที่จำเลยทั้งสามร่วมกันออกให้แก่โจทก์แลกเปลี่ยนกับเช็คที่จำเลยทั้งสามร่วมกันออกให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้เงินกู้ยืม 3,000,000 บาท ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 กู้ยืมไปจากโจทก์ และโจทก์ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 กู้ยืมเงินโดยไม่ได้ทำสัญญากู้ยืมไว้ ดังนั้น การกู้ยืมเงินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมที่จะฟ้องร้องบังคับคดีได้ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 4 บัญญัติว่า "ผู้ใดออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย โดยมีลักษณะหรือมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ (1) เจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น...ฯลฯ เมื่อได้มีการยื่นเช็คเพื่อให้ใช้เงินโดยชอบด้วยกฎหมาย ถ้าธนาคารปฏิเสธไม่ใช้เงินตามเช็คนั้น ผู้ออกเช็คมีความผิด..." และ ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง ซึ่งใช้ในขณะจำเลยทั้งสามร่วมกันออกเช็ค บัญญัติว่า "การกู้ยืมเงินกว่าห้าสิบบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่" หนี้เงินกู้ยืมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีจำนวนเกินกว่าห้าสิบบาท เมื่อไม่มีการทำหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินไว้เป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ แม้จะฟังว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นหนี้โจทก์อยู่จริง แต่หนี้นั้นก็ไม่อาจฟ้องร้องบังคับกันได้ตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงขาดองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 4    
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4541/2550
               โจทก์ร่วมได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ชดใช้เงินตามมูลหนี้ตามเช็คพิพาทสี่ฉบับต่อมาโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความ และศาลแพ่งธนบุรีพิพากษาตามยอมคดีถึงที่สุดไปแล้ว ผลของสัญญาประนีประนอมยอมความย่อมทำให้สิทธิของโจทก์ร่วมที่จะเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชำระเงินตามมูลหนี้ใช้เช็คพิพาททั้งสี่ฉบับเป็นอันระงับสิ้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 852 โจทก์ร่วมคงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่ตนตามสัญญาประนีประนอมยอมความ เท่านั้น แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นโจทก์ร่วมก็ไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดในมูลหนี้ตามเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับได้อีก ดังนั้น หนี้ที่จำเลยทั้งสองได้ออกเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับเพื่อใช้เงินนั้นจึงเป็นอันสิ้นผลผูกพันไปก่อนที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด คดีจึงเป็นอันเลิกกันตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 7 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์และโจทก์ร่วมย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 ถึงแม้ในสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว ข้อ 3 จะระบุเป็นข้อยกเว้นว่า การตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความนี้ไม่มีผลในคดีอาญาคดีนี้ แต่ข้อตกลงดังกล่าวนั้นมีวัตถุประสงค์ขัดต่อบทบัญญัติกฎหมายโดยชัดแจ้งจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 และข้อตกลงดังกล่าวสามารถแยกออกต่างหากจากข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความในข้ออื่นได้ จึงไม่ทำให้สัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งดังกล่าวตกเป็นโมฆะทั้งหมด ทั้งนี้ตามนัยมาตรา 173 แห่ง ป.พ.พ.    
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4279/2550
               พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 4 บัญญัติว่า "ผู้ใดออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายโดยมีลักษณะหรือมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ (1) เจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น ฯลฯ เมื่อได้มีการยื่นเช็คเพื่อให้ใช้เงินโดยชอบด้วยกฎหมาย ถ้าธนาคารปฏิเสธไม่ใช้เงินตามเช็คนั้น ผู้ออกเช็คมีความผิด ฯลฯ" ตามบทบัญญัติดังกล่าวการออกเช็คที่จะเป็นความผิดนั้น จะต้องเป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายด้วย อันเป็นข้อเท็จจริงประการหนึ่งซึ่งเป็นองค์ประกอบของความผิดการที่โจทก์บรรยายฟ้องมีสาระสำคัญว่า โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คพิพาททั้งสองฉบับซึ่งจำเลยทั้งสองออกเพื่อชำระหนี้ค่าอะไหล่และอุปกรณ์เครื่องทำความเย็นให้แก่โจทก์ เมื่อเช็คทั้งสองฉบับถึงกำหนดโจทก์ได้นำเงินเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินโดยให้เหตุผลว่า "โปรดติดต่อผู้สั่งจ่าย" เป็นที่เห็นได้ว่าคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายข้อเท็จจริงแล้วว่า จำเลยทั้งสองออกเช็คพิพาททั้งสองฉบับเพื่อชำระหนี้ค่าอะไหล่และอุปกรณ์เครื่องทำความเย็นอันเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย คำฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วย ป.วิ.อ.มาตรา 158 (5) 
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกด้วยแต่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโดยเห็นว่าเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) โดยยังมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองว่าสมควรลงโทษจำเลยทั้งสองสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกหรือไม่ เพื่อให้การวินิจฉัยกำหนดโทษของจำเลยทั้งสองเป็นไปตามลำดับศาล เพราะผลแห่งการวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์อาจนำไปสู่การจำกัดสิทธิการฎีกาของคู่ความได้ จึงเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 208 (2) ประกอบด้วยมาตรา 225 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงฯ มาตรา 4    
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4204/2550
               ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 4 คำว่า "ผู้ใดออกเช็ค" มิได้มีความหมายเฉพาะผู้ออกเช็คในฐานะผู้สั่งจ่ายเท่านั้นที่จะเป็นผู้กระทำความผิดได้ บุคคลอื่นแม้มิใช่ผู้สั่งจ่ายก็อาจร่วมกระทำความผิดกับผู้ออกเช็คโดยเป็นตัวการร่วมกันตาม ป.อ. มาตรา 83 ได้ ดังนั้น ผู้สลักหลังเช็คจึงอาจเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดกับผู้ออกเช็คได้ พฤติการณ์ฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ออกเช็คพิพาท โดยจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อเป็นผู้ออกเช็คพิพาทและจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อเป็นผู้สลักหลังเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ให้โจทก์ ถือได้ว่าจำเลยทั้งสองเป็นตัวการร่วมกันออกเช็คพิพาทชำระหนี้ให้โจทก์ เมื่อธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินด้วยเหตุมีคำสั่งให้ระงับการจ่าย การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้อง    
   

                   คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2592 - 2593/2550
               คำบรรยายฟ้องของโจทก์ตามเช็คพิพาทฉบับที่ 2 และที่ 3 เป็นการกล่าวอ้างว่า จำเลยกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 (1) และ (3) ฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ครบองค์ประกอบความผิดแล้ว แม้คำฟ้องโจทก์เกี่ยวกับเช็คพิพาทฉบับที่ 2 และที่ 3 จะมิได้บรรยายว่า จำเลยห้ามธนาคารมิให้ใช้เงินตามเช็คนั้นโดยเจตนาทุจริตตามมาตรา 4 (5) ด้วยก็ตาม ก็หาทำให้ฟ้องของโจทก์ซึ่งบรรยายครบองค์ประกอบความผิด ตามมาตรา 4 (1) และ (3) แล้ว ต้องขาดองค์ประกอบความผิดไปแต่อย่างใดไม่ 
แม้โจทก์ร่วมจะไม่ได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยรับเบี้ยประกันภัยจากลูกค้าในนามบริษัทโจทก์ร่วมตามแบบที่นายทะเบียนกำหนดไว้ตาม พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย พ.ศ.2535 มาตรา 66 อันมีผลให้การกระทำของโจทก์ร่วมและจำเลยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวก็ตาม ก็เป็นเรื่องที่พนักงานเจ้าหน้าที่จะดำเนินการแก่โจทก์ร่วมและจำเลย แต่ในระหว่างตัวแทนกับตัวการด้วยกัน ตัวแทนจะอ้างบทกฎหมายดังกล่าวเพื่อไม่ต้องรับผิดคืนเบี้ยประกันภัยที่ได้รับไว้จากลูกค้าของโจทก์ร่วมหาได้ไม่    
    


                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2589/2550
               โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 4 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โดยวินิยฉัยข้อเท็จจริงว่า โจทก์สละสิทธิหรือไม่ยึดถือสิทธิใดๆ ในเช็คพิพาทอีกต่อไป จึงเป็นการยอมความในคดีอาญาความผิดต่อส่วนตัว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยโดยพิเคราะห์ว่าเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงฯ มาตรา 22 เมื่อโจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเช่นเดียวกับที่โจทก์อุทธรณ์อีก จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ แม้โจทก์จะยื่นฎีกาโดยมีผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงก็ตาม แต่การอนุญาตให้ฎีกาดังกล่าวไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 221 ซึ่งผู้พิพากษาดังกล่าวจะอนุญาตให้ฎีกาได้เฉพาะในคดีซึ่งห้ามฎีกาไว้โดยมาตรา 218, 219 และ 220 เท่านั้น มิได้ให้ผู้พิพากษานั้นอนุญาตให้ฎีกาในกรณีดังกล่าวได้ โจทก์ย่อมไม่อาจฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงนั้นได้ เพราะต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่งประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงฯ มาตรา 4    
   

                   คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2002/2550
               คดีนี้ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลแขวงพิพากษาลงโทษปรับจำเลยที่ 1 กระทงแรกเป็นเงิน 30,000 บาท และกระทงที่สองเป็นเงิน 25,000 บาท โดยมีผู้พิพากษาลงลายมือชื่อในคำพิพากษาเพียงคนเดียว เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (5) ทั้งนี้เพราะผู้พิพากษาคนเดียวจะพิพากษาลงโทษปรับเกินหนึ่งหมื่นบาทไม่ได้ คำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบด้วยบทกฎหมายข้างต้น ซึ่งมีผลทำให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยังไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้ ต้องให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้ถูกต้องก่อน ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225    
    


                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 920/2550
               กฎหมายอาญาไม่ได้บัญญัติถึงวิธีการกำหนดนับระยะเวลาอายุความคดีอาญาไว้โดยเฉพาะ ดังนั้น การนับระยะเวลาอายุความคดีอาญาจึงอยู่ในบังคับของหลักทั่วไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/3 วรรคสอง ซึ่งกำหนดมิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วยกัน จึงเริ่มนับอายุความในวันรุ่งขึ้น คดีนี้ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คฉบับแรก เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2539 การนับอายุความต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2539 และจะครบกำหนด 3 เดือน วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2540 เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2540 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดอายุความวันสุดท้าย คดีโจทก์ตามเช็คฉบับแรกจึงไม่ขาดอายุความ


                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 150/2550
               คดีความผิดอันยอมความได้ โจทก์ร่วมต้องร้องทุกข์ภายในกำหนด 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 96 ซึ่งความผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 4 เกิดขึ้นเมื่อธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน มิใช่เกิดขึ้นในวันที่ลงในเช็คพิพาท ดังนี้ เมื่อธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินวันที่ 24 กรกฎาคม 2538 จึงถือว่าความผิดของจำเลยทั้งสองเกิดขึ้นในวันดังกล่าว ฉะนั้น การเริ่มนับอายุความต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2538 ซึ่งเป็นวันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดเป็นต้นไป มิใช่นับแต่วันที่ 25 เมษายน 2538 อันเป็นวันที่ลงในเช็คพิพาท เมื่อโจทก์ร่วมแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองในวันที่ 20 ตุลาคม 2538 ภายในกำหนดระยะเวลา 3 เดือน คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

=========================================================


รับ ทวงหนี้ ตามหนี้ เร่งรัดหนี้สิน โดยทีมงานเร่งรัดหนี้สินมืออาชีพ


               บริษัท สกายอินเตอร์เนชั่นแนลลีกัลจำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการด้าน นักสืบเอกชนและกฎหมายแบบครบวงจร มีการให้บริการด้าน การ เร่งรัดหนี้สิน การ รับทวงหนี้ การติด ตามหนี้ สินค้างชำระ การเจรจา ประนอมหนี้ การเจรจาต่อรองการ ชำระหนี้ ทำหนังสือ รับสภาพหนี้ การ ปรับโครงสร้างหนี้ เป็นต้น โดยรับติดตามหนี้สินทุกประเภท ทั้งหนี้สินที่เกี่ยวเนื่องกับคดีแพ่ง เช่น การติดตามหนี้เงินกู้ การติดตามหนี้การค้างชำระค่าสินค้า การติดตามคนค้ำประกันเงินกู้ ทั้งประเภทที่มีสัญญาหรือเอกสารหลักฐานอื่นที่สามารถฟ้องร้องกันได้ตาม กฎหมาย หนี้นอกระบบ และประเภทที่ไม่มีหลักฐานในการฟ้องร้องกันได้ตามกฎหมาย และมูลหนี้ที่ไม่สามรถฟ้องร้องบังคับกันได้ตามกฎหมาย เช่น หนี้ที่เกิดจากการพนัน ( รวมถึงกรณีที่เป็นหนี้ที่ขาดอายุ ความ เช่น เช็คขาดอายุความ ) หนี้สินที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา เช่น คดีจราจร (รถชนกันได้รับความเสียหาย) คดียักยอก ฉ้อโกง ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ และความผิดอื่นๆ ตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งผู้เสียหายมีสิทธิฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งจากผู้ต้องหาได้ รวมถึงการติดตามจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับด้วย โดยทีมงานนักสืบและพนักงานเร่งรัดหนี้สินที่มีประสบการณ์และความชำนาญในการ เร่งรัดติดตามหนี้สิน (อ่านรายละเอียด)


=========================================================


          กรณีที่ท่านมีความสงสัยหรือต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถติดต่อมาได้ที่ บริษัท สกายอินเตอร์เนชั่นแนลลีกัล จำกัด
เลขที่ 725 อาคารเอส เมโทร ชั้น 20 ห้อง 174 ถนนสุขุมวิท แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร 10110
โทร 081-9151522, 090-0700080  email: skyinterlegal@gmail.com , ดูแผนที่ (คลิกที่นี่)



บริษัท สกายอินเตอร์เนชั่นแนลลีกัล จำกัด 
725 อาคารเอส เมโทร ชั้น 20 ห้อง 174 ถนนสุขุมวิท
แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร 10110

โทร. 081-9151522, 090-0700080            E-mail : skyinterlegal@gmail.com           Facebook : Skyinterlegal
Copyright 2011-2022 Sky International Legal Co.,Ltd. All rights reserved.
 
  
view