คำพิพากษาศาลฎีกา ความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน |
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5302/2562 การที่ อ. รับฟังจากจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นเพื่อนของ อ. แนะนำว่าจำเลยที่ 2 สามารถฝากผู้เข้าสอบเข้ารับราชการเป็นนายตำรวจชั้นสัญญาบัตรได้ โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 แสดงออกให้ปรากฏแก่ประชาชนทั่วไปถึงเรื่องดังกล่าวอย่างไร เมื่อจำเลยที่ 3 ไม่มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องด้วยกับการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 และมิได้ร่วมมือกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยรับหน้าที่ให้มากระจายข่าวในหมู่ผู้เข้าสอบให้แพร่หลาย เมื่อ อ. ไปพบกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่บ้านเพื่อให้ช่วยเหลือโจทก์ทั้งสองเข้ารับราชการตำรวจ โดยยอมเสียค่าใช้จ่ายตามที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เรียกร้อง เห็นได้ว่าเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันหลอกลวงโจทก์ทั้งสองเป็นการส่วนตัวเท่านั้น หาได้มีพฤติการณ์อันเป็นการหลอกลวงประชาชนโดยทั่วไปไม่ การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นเพียงความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 โจทก์ทั้งสองทราบการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เมื่อประมาณเดือนพฤษภาคม 2558 โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2558 จึงล่วงเลยกำหนดระยะเวลา 3 เดือน จึงขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ทั้งสองย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6)
ส่วนคำขอในส่วนแพ่งเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตามมาตรา 46 เมื่อคำพิพากษาส่วนอาญาวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันฉ้อโกงโจทก์ทั้งสองจริง เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับสารภาพ เท่ากับรับว่าร่วมกันฉ้อโกงโจทก์ทั้งสอง คำพิพากษาคดีส่วนแพ่งจึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจำเลยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดหรือไม่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 47 วรรคหนึ่ง เงินที่โจทก์ทั้งสองจ่ายให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไป จึงไม่มีลักษณะเป็นสินบนเพื่อจูงใจเจ้าพนักงานอื่นกระทำการใดๆ เพื่อช่วยเหลือโจทก์ทั้งสองโดยมิชอบ แต่มีลักษณะเป็นสินน้ำใจที่สมนาคุณแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่ช่วยเหลือทำให้โจทก์ทั้งสองสามารถบรรจุเข้ารับราชการได้ตามที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 หลอกลวง โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้องคดีในส่วนแพ่งซึ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชดใช้เงินที่ร่วมกันฉ้อโกงไปพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ทั้งสองได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 596/2561 การชักชวนให้บุคคลทั่วไปหรืออย่างน้อยตั้งแต่สิบคนขึ้นไปมาทำการกู้ยืมเงินกันโดยการโฆษณาหรือประกาศให้ปรากฏต่อประชาชน คือการกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนทั่วๆไป ไม่จำกัดว่าด้วยการโฆษณาทางสื่อมวลชนหรือป่าวประกาศต่อประชาชนในสถานที่ต่างๆ จึงไม่จำเป็นที่จำเลยทั้งสองกับพวกจะต้องกระทำการดังกล่าวต่อผู้เสียหายแต่ละคนด้วยตนเองตั้งแต่ต้นทุกครั้งเป็นคราวๆไป เพียงแต่จำเลยทั้งสองกับพวกแสดงข้อความหลอกลวงให้ปรากฏแก่ผู้เสียหายบางคนแล้วเป็นผลให้ประชาชนหลงเชื่อและนำเงินมาลงทุนกับจำเลยทั้งสองกับพวกก็ถือเป็นความผิดสำเร็จแล้ว จำเลยที่ 2 จะอยู่ด้วยกับจำเลยที่ 1 และ พ. หรือไม่ ไม่ใช่ข้อสาระสำคัญ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4732/2560 จำเลยร่วมรับรู้ถึงการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของ บ. และ ม. ตลอดมา อีกทั้งจำเลยยังเป็นผู้ลงลายมือชื่อในฐานะผู้เช่าที่ทำการของ บ. และเช่าหมายเลขโทรศัพท์จากบริษัท ซ. เพื่อดำเนินการติดต่อธุรกิจของ บ. ซึ่งก็คือการติดต่อซื้อขายหลักทรัพย์ ทั้งยังสามารถทำการแทน บ. ตั้งแต่การเช่าสถานที่ตั้งที่ทำการ และซื้อหลักทรัพย์จากบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และกลุ่มของ บ. แล้วนำมาจำหน่ายต่อให้แก่นักลงทุน รวมทั้งออกใบหุ้นให้แก่ลูกค้าทั่วไป พฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยแสดงให้เห็นว่าจำเลยกับบุคคลที่ยังไม่ปรากฏชัดเป็นตัวการร่วมกันกระทำความผิดฐานประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และค้าหลักทรัพย์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 90, 289 ประกอบ ป.อ. มาตรา 83
การกระทำความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนตาม ป.อ. มาตรา 343 ตั้งแต่โทรศัพท์หลองลวงผู้เสียหายทั้งสี่ขณะที่ผู้เสียหายทั้งสี่อยู่ที่ประเทศออสเตรเลียจนกระทั่งผู้เสียหายทั้งสี่โอนเงินเข้าบัญชีที่เขตบริหารพิเศษฮ่องกงเป็นความผิดที่กระทำนอกราชอาณาจักรตาม ป.วิ.อ. มาตรา 20 เมื่อพันตำรวจโท อ. เสนอความเห็นต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นเพื่อขอให้อัยการสูงสุดมอบหมายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ต่อมาอัยการสูงสุดมีคำสั่งมอบหมายให้พนักงานสอบสวนตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นพนักงานสอบสวนที่รับผิดชอบ ถือว่าคณะพนักงานสอบสวนดังกล่าวมีอำนาจทำการสอบสวนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 20 วรรคหนึ่ง การสอบสวนในคดีนี้จึงชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 831/2559 การแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตาม ป.อ. มาตรา 343 ถือเอาเจตนาแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนเป็นสำคัญ โดยจะเห็นได้จากวิธีการหลอกลวง เมื่อจำเลยทั้งสี่กับพวกจัดตั้งระบบอุปกรณ์โทรศัพท์และระบบคอมพิวเตอร์ในรูปสำนักงานเครือข่ายโทรศัพท์ ขึ้นในต่างประเทศ และใช้การสื่อสารทางเสียงผ่านโครงข่ายอินเตอร์เน็ต ด้วยวิธีการสุ่มหมายเลขโทรศัพท์ของประชาชนที่ปรากฏข้อมูลอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ของจำเลยทั้งสี่กับพวก แล้วโทรศัพท์หรือส่งข้อความทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ติดต่อไปยังประชาชนทั่วไป รวมทั้งประชาชนไทยในราชอาณาจักร และแจ้งแก่ผู้ที่ได้รับการติดต่อด้วยข้อความอันเป็นเท็จต่าง ๆ ในลักษณะอ้างตนเองเป็นเจ้าหน้าที่ของธนาคารพาณิชย์และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ หลอกลวงผู้ได้รับการติดต่อว่าผู้นั้นเป็นหนี้บัตรเครดิต หรือมียอดการใช้เงินในบัญชีสูงผิดปกติ ให้ไปตรวจดูยอดเงินในบัญชี หรือให้ไปดำเนินการเปลี่ยนแปลงรหัสข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีธนาคารที่ประชาชนผู้ถูกหลอกลวงใช้บริการหรือให้ไปดำเนินการใส่รหัสผ่าน หรือรหัสสั่งให้ระงับการทำรายการในบัญชีเงินฝาก บัตรเบิกถอนเงินสดเอทีเอ็มหรือรหัสระงับบัญชีธนาคาร หรือรหัสป้องกันมิให้ข้อมูลรั่วไหล โดยแจ้งว่าเพื่อเป็นการป้องกันมิให้ผู้อื่นเบิกถอนเงินออกจากบัญชีของประชาชนผู้ถูกหลอกลวงได้ ซึ่งเป็นการหลอกลวงเหมือนกัน อันมีลักษณะเป็นการหลอกลวงทั่วไป มิได้มุ่งหมายเจาะจงหลอกลวงคนใดคนหนึ่งเป็นพิเศษ ขึ้นอยู่กับว่าจำเลยทั้งสี่กับพวกจะสุ่มได้หมายเลขโทรศัพท์ของประชาชนคนใดที่ปรากฏข้อมูลอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ของจำเลยทั้งสี่กับพวกเพื่อทำการหลอกลวง การกระทำของจำเลยทั้งสี่ตามฟ้องจึงเป็นการร่วมกันฉ้อโกงประชาชน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4022/2558 ความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตาม ป.อ. มาตรา 343 มิใช่ความผิดต่อส่วนตัว โจทก์จึงไม่อาจถอนฟ้องหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 35 วรรคแรก สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงไม่ระงับไปตาม ป.วิ.อ มาตรา 39 (2)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7326/2557 การที่ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 4 หลงเชื่อคำหลอกลวงของจำเลยที่ 1 จึงมอบเงินให้จำเลยที่ 1 เพื่อให้ช่วยเหลือบุคคลของตนเข้าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจโดยไม่ต้องสอบอันเป็นการไม่ชอบ แสดงว่ามีเจตนาร้ายมุ่งหวังต่อผลประโยชน์อันเกิดจากการกระทำที่ไม่ชอบ ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 4 จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) เป็นผลให้พนักงานอัยการโจทก์ไม่อาจร้องขอให้เรียกทรัพย์สินแทนผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 4 ได้ตามที่ ป.วิ.อ. มาตรา 43 บัญญัติไว้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3021/2557 การกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตาม ป.อ. มาตรา 343 วรรคแรก และความผิดตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 เป็นการกระทำโดยหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จและได้เงินหรือทรัพย์สินไปจากผู้ถูกหลอกลวง โดยผู้กระทำความผิดมีเจตนาให้เกิดผลต่อผู้ถูกหลอกลวงแต่ละคนแยกต่างหากจากกัน จึงเป็นความผิดสำเร็จสำหรับผู้ที่ถูกหลอกลวงแต่ละคน ส่วนเหตุการณ์ในภายหลังที่ผู้กระทำความผิดได้เงินหรือทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงแต่ละคนอีกหลายคราว ก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากการหลอกลวงในครั้งแรก หาใช่เป็นการกระทำใหม่อีกกรรมหนึ่งไม่
ผู้เสียหายทั้งสิบได้นำนากหญ้าจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกไปเลี้ยงตามคำแนะนำเชิญชวนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวก โดยจ่ายเงินให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวก คู่ละ 20,000 บาท แม้ต่อมาผู้เสียหายที่ 1 ที่ 3 และที่ 8 นำนากหญ้าไปเลี้ยงเพิ่มขึ้นจากครั้งแรกและจ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวก เพิ่มเติมอีก 1 ครั้ง 1 ครั้ง และ 2 ครั้ง ตามลำดับ โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกไม่ได้กล่าวข้อความหลอกลวงใด ๆ ขึ้นใหม่ การได้รับเงินในครั้งต่อมาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวก เป็นเพียงผลสืบเนื่องจากการกระทำครั้งแรก โดยมีเจตนาอันเดียวกันเพื่อให้ได้รับเงินไปจากผู้เสียหายที่ 1 ที่ 3 และที่ 8 แม้จะต่างวาระกันก็เป็นความผิดกรรมเดียวกัน การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นความผิดสำเร็จสำหรับผู้เสียหายแต่ละคน รวม 10 กรรม ตามจำนวนผู้เสียหาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2728/2557 โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 อ้างว่าเป็นตัวแทนของบริษัท ด. ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดิน 3 แปลง ทำสัญญานายหน้ากับโจทก์กับพวกเพื่อให้โจทก์กับพวกทำหน้าที่ชี้ช่องติดต่อหาผู้ซื้อที่ดินดังกล่าว ต่อมาโจทก์กับพวกติดต่อจำเลยที่ 2 ว่าจะซื้อที่ดิน แต่ยังไม่มีการนัดจดทะเบียนโอน จำเลยทั้งสองร่วมกันไม่แจ้งให้โจทก์ทราบถึงการจดทะเบียนโอนที่ดินทั้ง 3 แปลง และจำเลยที่ 2 ให้บริษัท จ. ซึ่งมี ธ. เป็นตัวแทนเป็นผู้ซื้อที่ดิน โจทก์กับพวกมีสิทธิได้รับค่านายหน้าตามสัญญาเป็นเงิน 5,560,000บาท แต่จ่ายค่านายหน้าให้โจทก์เพียง 250,000 บาท การให้บริษัท จ. โดย ธ. เป็นผู้ซื้อที่ดินทั้งสามแปลง เพื่อให้ตนได้รับค่านายหน้าทั้งหมดหรือบางส่วน อันเป็นการแสดงตนเป็นคนอื่น และการติดต่อทำสัญญากับโจทก์และพวกให้มีการซื้อขายที่ดินของจำเลยทั้งสอง ก็เป็นการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการร่วมกันหลอกลวงโจทก์ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ ปกปิดข้อความจริงอันควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงได้ไปซึ่งเงินค่านายหน้าของโจทก์ ดังนี้ หากจะฟังว่าจำเลยทั้งสองหลอกลวงโจทก์ตามฟ้องจริง การหลอกลวงเช่นนั้นก็มิได้ทำให้จำเลยทั้งสองได้เงินไปจากโจทก์ซึ่งอ้างว่าถูกหลอกลวงแต่อย่างใด เงินที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองได้ไปนั้นเป็นเพียงเงินค่านายหน้าซึ่งโจทก์ถือว่าตนมีสิทธิจะได้ และจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้เท่านั้น เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องว่ากล่าวกันในทางแพ่ง ทั้งข้อเท็จจริงตามฟ้องไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองแสดงตนเป็นบุคคลอื่นหรือฉ้อโกงประชาชนแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามฟ้องโจทก์และไม่มีมูลเป็นความผิด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22171/2555 แม้ว่าการที่ผู้เสียหายเข้าทำสัญญากับจำเลยที่ 1 เกิดจากการทราบและชักชวนกันต่อ ๆ มา และจำเลยที่ 2 ก็เข้าทำสัญญากับจำเลยที่ 1 ด้วย ผู้เสียหายบางรายจำเลยที่ 2 มิได้ชักชวน ผู้เสียหายบางรายสมัครใจติดต่อกับจำเลยที่ 1 โดยตรงก็ตาม แต่ตามพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 พักอาศัยอยู่ที่บ้านของจำเลยที่ 2 มาตลอด และตามที่ผู้เสียหายสิบคนเบิกความยืนยันว่าในการติดต่อกับจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับการทำงานร่วมกันก็ดี ในการติดต่อจ่ายเงินค่าประกันการทำงานแก่จำเลยที่ 1 ก็ดี ส่วนใหญ่ทำที่บ้านของจำเลยที่ 2 บางครั้งก็โอนเงินเข้าบัญชีของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 เองเป็นผู้ชักชวนให้ผู้เสียหายบางรายมาร่วมทำงานกับจำเลยที่ 1 นอกจากนี้จำเลยที่ 2 เป็นผู้โทรศัพท์ไปบอกผู้เสียหายหลายคนถึงกำหนดการสัมมนา ขณะมีการสัมมนาจำเลยที่ 2 ยังเข้าไปพูดคุยกับเจ้าพนักงานตำรวจที่มาสังเกตการณ์หน้าห้องอบรมในทำนองยืนยันว่าจำเลยที่ 1 ได้รับสัมปทานมาถูกต้อง ทั้งในขณะที่ผู้เสียหายบางรายพูดขอถอนตัวจากการทำงานร่วมกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ก็เป็นผู้บอกบรรดาผู้เสียหายให้ถ่ายสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและหมายเลขบัญชีธนาคารของผู้เสียหายพร้อมลงชื่อไว้กับจำเลยที่ 2 แล้วจำเลยที่ 1 จะคืนเงินให้ ดังนั้นตามพฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 บ่งชี้ให้เห็นว่า จำเลยที่ 2 มีเจตนาร่วมสมคบในการกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 มาตั้งแต่ต้น โดยแบ่งหน้าที่กันทำ จึงเป็นตัวการร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้องทั้งสิบเอ็ดกระทง
แม้จำเลยที่ 3 จบการศึกษาด้านคหกรรมศาสตร์ มีความรู้ในการทำอาหารอย่างดี และไม่มีผู้เสียหายคนใดยืนยันว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้ชักชวนหรือได้รับเงินจากผู้เสียหายคนใดก็ตาม แต่ตามพฤติการณ์ของจำเลยที่ 3 ที่รู้อยู่แล้วว่าตนมิใช่เจ้าหน้าที่ของการบินไทย แต่กลับยอมแสดงตนว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของการบินไทย และในวันดังกล่าวที่จำเลยที่ 3 ทำหน้าที่วิทยากรบรรยายปรากฏว่ามีเจ้าพนักงานตำรวจมาสอบถามในทำนองว่า จำเลยที่ 1 มีพฤติกรรมหลอกลวงบรรดาผู้เสียหายหรือไม่ หากจำเลยที่ 3 เป็นผู้บริสุทธิ์จริงก็ไม่ควรที่จะร่วมดำเนินงานกับจำเลยที่ 1 อันเป็นการช่วยหลอกลวงโดยสร้างความน่าเชื่อถือเพื่อให้บรรดาผู้เสียหายหลงเชื่ออีกต่อไป แต่จำเลยที่ 3 กลับร่วมดำเนินงานกับจำเลยที่ 1 ต่อไปโดยตลอด การที่จำเลยที่ 3 บอกให้ผู้ช่วยถ่ายภาพรถยนต์ของผู้เสียหายหลายรายในวันที่นำรถยนต์มาตรวจสภาพที่สนามบินสุวรรณภูมิ การไปติดต่อแม่ค้าขายปูก่อนพาบรรดาผู้เสียหายไปดูสถานที่ซื้อปูเพียง 2 วัน การที่จำเลยที่ 3 อยู่ด้วยกันกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่บ้านของจำเลยที่ 2 ในวันนัดรับเอกสารตารางการวิ่งรถ สติ๊กเกอร์ติดรถ บัตรประจำตัว และในวันนัดตรวจสภาพรถกับวันนัดรับบัตรเติมน้ำมัน การที่จำเลยที่ 3 คอยต้อนรับผู้เข้ารับการอบรมโดยนั่งบริเวณจุดต้อนรับและอำนวยความสะดวกในการลงลายมือชื่อในเอกสารที่โต๊ะบริเวณจุดต้อนรับ กับการที่จำเลยที่ 3 รับเสื้อไปแจกแก่บรรดาผู้เสียหายที่บ้านของจำเลยที่ 2 คราวหนึ่ง และรับตารางการวิ่งรถกับสติ๊กเกอร์ไปแจกแก่บรรดาผู้เสียหายที่บ้านของจำเลยที่ 2 อีกคราวหนึ่ง เช่นนี้ย่อมบ่งชี้แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 3 มีส่วนในการสร้างความน่าเชื่อถือเพื่อให้บรรดาผู้เสียหายหลงเชื่อและตัดสินใจได้ง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้น อันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่จำเลยที่ 1 จะกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน จำเลยที่ 3 จึงเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 86
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13876/2555 พ.ร.บ.การฌาปนกิจสงเคราะห์ พ.ศ.2517 มาตรา 4 ได้บัญญัตินิยาม คำว่า "การฌาปนกิจสงเคราะห์" หมายความว่า กิจการที่บุคคลหลายคนตกลงเข้ากันเพื่อทำการสงเคราะห์ซึ่งกันและกันในการจัดการศพ หรือจัดการศพและสงเคราะห์ครอบครัวของบุคคลหนึ่งบุคคลใดที่ตกลงเข้ากันนั้นซึ่งถึงแก่ความตาย และมิได้ประสงค์จะหากำไรเพื่อแบ่งปันกัน ซึ่งองค์ประกอบสำคัญของการฌาปนกิจสงเคราะห์คือการตกลงเข้ากันของบุคคลหลายคนที่จะดำเนินกิจการดังกล่าวเสียก่อน จากนั้นกฎหมายจึงบัญญัติให้กิจการดังกล่าวต้องดำเนินการจดทะเบียนในรูปของฌาปนกิจสงเคราะห์ โดยมีบทกำหนดโทษสำหรับผู้ที่ดำเนินกิจการฌาปนกิจสงเคราะห์โดยมิได้จดทะเบียนตามมาตรา 50 เพื่อเป็นการควบคุมการดำเนินกิจการฌาปนกิจสงเคราะห์ซึ่งเป็นกิจการสาธารณประโยชน์ให้เป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมาย แต่คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องในข้อ ก. ความว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันดำเนินกิจการฌาปนกิจสงเคราะห์โดยเก็บค่าสมาชิกคนละ 2,000 บาท และเก็บเงินค่าช่วยเหลือจัดการศพจากสมาชิกศพละ 20 บาท โดยจัดตั้งสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ใช้ชื่อว่า "ฌาปนกิจสงเคราะห์บ้านท่าช้าง" โดยมิได้จดทะเบียนเป็นสมาคมหรือขึ้นทะเบียนการฌาปนกิจสงเคราะห์ตามกฎหมาย กับบรรยายฟ้องในข้อ ข. สรุปว่าจำเลยทั้งสองได้แสดงต่อประชาชนด้วยคำพูดว่าจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันก่อตั้งฌาปนกิจสงเคราะห์ใช้ชื่อว่า ฌาปนกิจสงเคราะห์บ้านท่าช้าง โดยจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย และมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเงินไปช่วยเหลือจัดการศพสมาชิกซึ่งเป็นความเท็จ ความจริงแล้วจำเลยทั้งสองไม่ได้จัดตั้งหรือก่อตั้งสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ดังกล่าวขึ้นโดยถูกต้องตามกฎหมาย และไม่มีเจตนาที่จะนำเงินที่ได้รับจากสมาชิกไปช่วยเหลือจัดการศพสมาชิกตามที่จำเลยทั้งสองกล่าวอ้าง และโดยการหลอกลวงนั้นจำเลยทั้งสองจึงได้ทรัพย์สินจากผู้เสียหายหลายรายที่หลงเชื่อ ชำระเงินเพื่อเป็นค่าสมาชิกและค่าจัดการศพ จากการบรรยายฟ้องดังกล่าวจะเห็นได้ว่า จำเลยทั้งสองเพียงแต่ใช้ข้ออ้างดังกล่าวหลอกลวงประชาชนให้หลงเชื่อ เพื่อให้ได้เงินที่ประชาชนจ่ายให้แก่จำเลยทั้งสองในรูปแบบที่เรียกว่าค่าสมัครสมาชิกและค่าจัดการศพเท่านั้น จำเลยทั้งสองจึงมิได้มีเจตนาที่จะดำเนินกิจการฌาปนกิจสงเคราะห์อันเป็นองค์ประกอบความผิดข้อหาดำเนินกิจการฌาปนกิจสงเคราะห์โดยไม่ได้จดทะเบียนหรือขึ้นทะเบียนตามกฎหมายตามคำขอให้ลงโทษของโจทก์แต่อย่างใด จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.การฌาปนกิจสงเคราะห์ พ.ศ.2517 มาตรา 50
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15505/2553 ป.อ. มาตรา 343 บัญญัติว่า "ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 341 ได้กระทำด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนหรือด้วยการปกปิดความจริง ซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน" คำว่า "ประชาชน" หมายถึงบุคคลทั่วไปไม่จำกัดตัวว่าเป็นผู้ใด แต่คดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่าจำเลยหลอกลวงผู้เสียหายทั้งหกซึ่งเป็นคนต่างด้าวและคนต่างด้าวที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านซึ่งจำเลยเป็นผู้ใหญ่บ้านในขณะนั้น โดยคนต่างด้าวดังกล่าวได้รับอนุญาตให้อยู่ในประเทศไทยชั่วคราว แสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาหลอกลวงเฉพาะคนต่างด้าวกลุ่มดังกล่าวเท่านั้น อันเป็นการจำกัดตัวผู้ถูกหลอกลวงว่าเป็นผู้ใดมิใช่หลอกลวงบุคคลทั่วไป การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตาม ป.อ. มาตรา 343 คงมีความผิดตามมาตรา 341 ตามที่จำเลยให้การรับสารภาพเท่านั้น ซึ่งความผิดดังกล่าวเป็นความผิดต่อส่วนตัว เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏจากคำเบิกความของผู้เสียหายทั้งหกว่าจำเลยได้ชดใช้เงินให้แก่ผู้เสียหายทั้งหกแล้ว และผู้เสียหายทั้งหกไม่ติดใจดำเนินคดีนี้แก่จำเลยอีก ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ดังนี้ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดฐานดังกล่าวย่อมระงับไปตาม .ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12603/2553 ตามคำฟ้องของโจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 343 โดยไม่ได้อ้าง ป.อ. มาตรา 341 แต่ความผิดฐานดังกล่าวก็เป็นการกระทำที่มีองค์ประกอบมาจากความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 เมื่อข้อเท็จจริงฟังว่าจำเลยกระทำความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 343 วรรคแรกได้ ไม่เป็นการเกินคำขอตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2318/2553 การกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.การเล่นแชร์ พ.ศ.2534 มาตรา 4, 6 (1) (2), 17 ผู้กระทำจะต้องมีเจตนาจัดให้มีการเล่นแชร์หรือเป็นนายวงแชร์ที่แท้จริง ดังนี้ แม้ตามคำฟ้องตอนต้นระบุว่า จำเลยเป็นนายวงแชร์ 7 วง อันเป็นการจัดให้มีการเล่นแชร์มากกว่าสามวงและมีสมาชิกวงแชร์รวมกันทุกวงมากกว่าสามสิบคน และกระทำความผิดฐานฉ้อโกงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จและปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งเกี่ยวกับการจัดตั้งวงแชร์ของจำเลยต่อผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 7 และประชาชนทั่วไป แต่ในคำฟ้องต่อไปได้อธิบายถึงพฤติการณ์ของจำเลยว่า ความจริงจำเลยไม่มีสมาชิกครบตามจำนวนวงแชร์ดังที่จำเลยแจ้งต่อผู้เสียหายทั้งเจ็ดและผู้อื่น แต่จำเลยอ้างหรือจัดตั้งชื่อผู้มีชื่อขึ้นมาเป็นสมาชิกเพื่อให้ครบตามจำนวนสมาชิกวงแชร์ อันเป็นความเท็จ โดยจำเลยมีเจตนาทุจริตเพื่อให้ผู้เสียหายทั้งเจ็ดและผู้อื่นหลงเชื่อเข้าร่วมเป็นสมาชิกวงแชร์เพื่อให้จำเลยได้เงินค่างวดแชร์จากผู้เสียหายแต่ละคน แสดงว่าจำเลยเพียงแต่อ้างการจัดให้มีการเล่นแชร์มาเป็นข้อหลอกลวงเพื่อให้ได้เงินค่างวดแชร์ จำเลยมิได้มีเจตนาจัดให้มีการเล่นแชร์อันเป็นองค์ประกอบความผิดตามที่โจทก์ระบุในตอนต้นของคำฟ้อง ทั้งตามฟ้องโจทก์มิได้บรรยายชัดแจ้งว่าบุคคลที่เข้าร่วมเล่นแชร์กับจำเลยและผู้เสียหายทั้งเจ็ดในแต่ละวงที่แท้จริงมีจำนวนเท่าใด จึงยังฟังไม่ได้ว่าเป็นกรณีมีบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไปตกลงกันเป็นสมาชิกวงแชร์อันจะเป็นการเล่นแชร์ตาม พ.ร.บ.การเล่นแชร์ พ.ศ.2534 มาตรา 4 ดังนี้ แม้จำเลยให้การรับสารภาพ เมื่อพฤติการณ์ของจำเลยตามที่โจทก์บรรยายมาในคำฟ้องไม่อาจถือเป็นความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าวย่อมไม่อาจลงโทษจำเลยได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6364/2551 พ.ร.ก. การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯ มาตรา 4 วรรคแรก บัญญัติว่า "ผู้ใดโฆษณาหรือประกาศให้ปรากฏต่อประชาชน หรือกระทำด้วยประการใดๆ ให้ปรากฏแก่บุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไปว่า ในการกู้ยืนเงินตนหรือบุคคลใดจะจ่ายหรืออาจจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้ตามพฤติการณ์แห่งการกู้ยืมเงิน ในอัตราที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้ โดยที่ตนรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่า ตนหรือบุคคลนั้นจะนำเงินจากผู้ให้กู้ยืมเงินรายนั้นหรือรายอื่นมาจ่ายหมุนเวียนให้แก่ผู้ให้กู้ยืมเงิน หรือโดยที่ตนรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่า ตนหรือบุคคลนั้นไม่สามารถประกอบกิจการใดๆ โดยชอบด้วยกฎหมาย ที่จะให้ผลประโยชน์ตอบแทนพอเพียงที่จะนำมาจ่ายในอัตรานั้นได้ และในการนั้นเป็นเหตุให้ตนหรือบุคคลใดได้กู้ยืมเงินไป ผู้นั้นกระทำความผิดฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน" การโฆษณาหรือประกาศให้ปรากฏต่อประชาชนหรือการกระทำด้วยประการใดๆ ให้ปรากฏแก่บุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไป อันจะทำให้เป็นความผิดสำเร็จฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนนั้น เพียงแต่จำเลยแสดงข้อความดังกล่าวให้ปรากฏแก่ผู้เสียหายบางคน แล้วเป็นผลให้ประชาชนหลงเชื่อและนำเงินมาให้จำเลยกู้ยืม ก็ถือว่าเป็นความผิดสำเร็จแล้ว เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยไปชักชวนผู้เสียหายแต่ละคน คนละหลายครั้ง ดังนั้น การที่ผู้เสียหายแต่ละคนนำเงินมาให้กู้ยืมและจำเลยรับไว้ ถือว่าเป็นความผิดสำเร็จสำหรับผู้เสียหายแต่ละคน จึงเป็นความผิดหลายกรรมตามจำนวนผู้เสียหาย คือ 14 กรรม ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นแก้ไขให้ถูกต้องได้ แต่เนื่องจากโจทก์มิได้ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยหลายกรรม ศาลฎีกาไม่อาจแก้ไขเรื่องโทษได้ เพราะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1894/2550 เหตุที่จำเลยหลอกลวงผู้เสียหายทั้งเจ็ดว่า จำเลยเป็นเจ้าหน้าที่ของสำนักงานฟื้นฟูเกษตรกรไทย จังหวัดมหาสารคาม มีโครงการให้เกษตรกรกู้ยืมเงิน ก็เพื่อให้ผู้เสียหายทั้งเจ็ดมอบโฉนดที่ดิน สำเนาทะเบียนบ้าน และบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่จำเลยเพื่อใช้ประกอบการขอกู้ยืมเงิน แม้ความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนกับความผิดฐานทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ของผู้เสียหายทั้งเจ็ดจะต่างวาระกัน แต่ก็เป็นเจตนาของจำเลยที่จะหลอกลวงผู้เสียหายทั้งเจ็ดเพื่อทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย ทำให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ของผู้เสียหายทั้งเจ็ดนั่นเอง ความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนและความผิดฐานทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ซึ่งเอกสารของผู้อื่น จึงเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงเป็นกรรมเดียวกัน คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1477/2549 โจทก์บรรยายฟ้องว่า ระหว่างต้นเดือนธันวาคม 2541 ถึงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2542 เวลากลางวัน วันเดือนปีใดไม่ปรากฏชัด จำเลยโดยทุจริตหลอกลวงประชาชนด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ โดยจำเลยทำอุบายทำพิธีกรรมนำโอ่งทำน้ำมนต์มาตั้งพร้อมจัดทำธูปเทียน สายสิญจน์ และหนังสือคัมภีร์อัลกุรอ่านมาวางไว้ ทำพิธีสวดมนต์ภาษาอิสลามทำน้ำมนต์แล้วนำมาพรมบนศีรษะให้แก่ผู้เสียหายทั้งแปดและพูดหลอกลวงผู้เสียหายทั้งแปดว่าจะต้องใช้เงินไปซื้อแพะนำมาบวงสรวงเทพเจ้าเพื่อทำการสะเดาะเคราะห์และจะทำให้ผู้เสียหายทั้งแปดร่ำรวย ความจริงจำเลยไม่สามารถทำให้ผู้เสียหายทั้งแปดเกิดความร่ำรวยได้ ด้วยการหลอกลวงแสดงข้อความอันเป็นเท็จดังกล่าวต่อผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 8 ซึ่งเป็นประชาชน เป็นเหตุให้จำเลยได้รับเงินไปจากผู้เสียหายทั้งแปดตามจำนวนเงินที่ผู้เสียหายแต่ละรายได้เสียให้แก่จำเลยไปตามที่โจทก์ได้บรรยายไว้ในฟ้องแล้ว และจำเลยได้นำเงินที่ได้รับจากผู้เสียหายทั้งแปดไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัว เห็นว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้องโดยชัดแจ้งแล้วถึงวันเวลาที่จำเลยกระทำความผิด การกระทำที่จำเลยหลอกลวงผู้เสียหายทั้งแปดโดยทุจริตและโดยการหลอกลวงนั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินของผู้เสียหายทั้งแปดซึ่งเป็นประชาชนผู้ถูกหลอกลวง ส่วนรายละเอียดเกี่ยวกับวันเวลาที่จำเลยกระทำความผิดต่อผู้เสียหายแต่ละคน จำเลยหลอกลวงผู้เสียหายคนใดเมื่อวันเดือนปีใดและหลอกลวงผู้เสียหายแต่ละคนกี่ครั้ง หรือได้เงินจากผู้เสียหายแต่ละรายครั้งละเท่าใด เงินที่ได้จากการหลอกลวงนำไปใช้เป็นค่าซื้อแพะกี่ตัว เป็นเงินเท่าใด เงินที่มิได้นำไปซื้อแพะมีเท่าใดหากข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิด จำเลยจะต้องคืนเงินที่รับจากผู้เสียหายแต่ละรายเท่าใดนั้นเป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องที่บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องพอสมควรที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้วชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม และครบองค์ประกอบความผิดตามกฎหมายที่โจทก์ฟ้องแล้ว
จำเลยได้พูดบอกผู้เสียหายแต่ละคนว่าจำเลยสามารถทำพิธีสะเดาะเคราะห์รดน้ำมนต์ให้ผู้เสียหายทั้งแปดเพื่อให้ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 5 ซึ่งมีปัญหาเรื่องเงินหรือหนี้สินสามารถปลดหนี้สินและขายที่ดินหรือตึกได้ ส่วนผู้เสียหายที่ 6 ถึงที่ 8 ซึ่งมีปัญหาเกี่ยวกับการเจ็บป่วยปวดที่ขาและปวดเมื่อยที่เข่าจำเลยก็สามารถทำให้หายปวดหายเมื่อยได้ ทั้งที่ความจริงจำเลยไม่สามารถกระทำการดังกล่าวได้ ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 8 หลงเชื่อจึงได้มอบเงินให้แก่จำเลยเพื่อให้จำเลยนำเงินไปซื้อแพะมาทำพิธีบวงสรวง การกระทำของจำเลยดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นการหลอกลวงผู้เสียหาย เมื่อการหลอกลวงดังกล่าวได้กระทำต่อผู้เสียหายทั้งแปด นายสมศักดิ์รวมทั้งบุคคลอื่นตามแต่วาระและโอกาสโดยไม่จำกัดประเภทบุคคล และหลอกลวงตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น ที่บ้านของนาง ม. บ้านของผู้เสียหายที่ 1 บ้านของผู้เสียหายที่ 6 การกระทำของจำเลยเป็นการฉ้อโกงประชาชน
แม้ข้อเท็จจริงที่โจทก์บรรยายฟ้องถึงการกระทำของจำเลยที่พูดหลอกลวงผู้เสียหายทั้งแปดว่าจะต้องใช้เงินไปซื้อแพะนำมาบวงสรวงเทพเจ้าเพื่อทำการสะเดาะเคราะห์และจะทำให้ผู้เสียหายทั้งแปดร่ำรวย ซึ่งความจริงจำเลยไม่สามารถทำให้ผู้เสียหายทั้งแปดร่ำรวยได้ แต่ข้อเท็จจริงในทางพิจารณาเกี่ยวกับผู้เสียหายที่ 6 ถึงที่ 8 ได้ความว่าจำเลยหลอกลวงผู้เสียหายที่ 6 ถึงที่ 8 ว่าจะต้องใช้เงินซื้อแพะนำมาบวงสรวงเทพเจ้าเพื่อทำพิธีสะเดาะเคราะห์ให้ผู้เสียหายที่ 6 ถึงที่ 8 หายจากเจ็บป่วยซึ่งจำเลยไม่สามารถทำให้ผู้เสียหายที่ 6 ถึงที่ 8 หายจากเจ็บป่วยได้ ข้อแตกต่างดังกล่าวก็มิใช่ข้อสาระสำคัญและจำเลยมิได้หลงต่อสู้แต่อย่างใด ศาลจึงมีอำนาจที่จะลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 870/2549 การโฆษณาหรือประกาศให้ปรากฏต่อประชาชนหรือการกระทำด้วยประการใด ๆ ให้ปรากฏแก่บุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไป อันจะทำให้เป็นความผิดสำเร็จฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนไม่จำเป็นที่จำเลยที่ 1 จะต้องกระทำการดังกล่าวต่อผู้เสียหายแต่ละคนด้วยตนเองตั้งแต่ต้นทุกครั้งเป็นคราว ๆ ไป เพียงแต่จำเลยที่ 1 แสดงข้อความดังกล่าวให้ปรากฏแก่ผู้เสียหายแม้เพียงบางคน แต่เป็นผลให้ประชาชนหลงเชื่อและนำเงินมาให้จำเลยที่ 1 กู้ยืม ก็ถือว่าเป็นการกระทำความผิดแล้ว ข้อสำคัญที่ทำให้ความผิดสำเร็จอยู่ที่ในการนั้นเป็นเหตุให้ตนหรือบุคคลใดได้เงินกู้ยืมไปจากผู้ถูกหลอกลวง ดังนั้นการที่ผู้เสียหายแต่ละคนนำเงินมาให้กู้ยืมและจำเลยที่ 1 รับไว้ ถือว่าเป็นความผิดสำเร็จสำหรับผู้เสียหายแต่ละคน จึงเป็นความผิดหลายกรรมตามจำนวนผู้เสียหาย คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 579/2549 การกระทำความผิดฐานหลอกลวงหรือฉ้อโกงผู้เสียหายทั้งสิบและประชาชน โดยสภาพแห่งการกระทำเป็นการกระทำต่อบุคคลหลายคนซึ่งอาจกระทำต่อบุคคลเหล่านั้นต่างวาระกันได้ แต่ที่จะเป็นความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรมสำหรับความผิดฐานนี้ย่อมขึ้นอยู่กับลักษณะของการกระทำที่มีเจตนามุ่งกระทำเพื่อให้เกิดผลต่อผู้เสียหายหรือประชาชนเพียงครั้งเดียวหรือหลายครั้ง มิได้พิจารณาจากจำนวนของผู้เสียหายหรือประชาชนที่ถูกหลอกลวงแต่ละคนเพียงอย่างเดียว เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองหลอกลวงกู้ยืมเงินผู้เสียหายทั้งสิบเป็นคนละวันเวลาและในสถานที่ต่างกัน จะถือว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิด 10 กระทง หาได้ไม่ แต่การที่จำเลยทั้งสองหลอกลวงกู้ยืมเงินผู้เสียหายที่ 1 ที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 กลุ่มหนึ่ง จากนั้นได้แบ่งแยกหน้าที่กันทำในลักษณะเดียวกันโดยจำเลยที่ 1 หลอกลวงกู้ยืมเงินผู้เสียหายที่ 2 ที่ 5 และนาง ม. กลุ่มหนึ่ง และจำเลยที่ 2 หลอกลวงกู้ยืมเงินผู้เสียหายที่ 3 ที่ 8 ที่ 9 ที่ 10 นาย ล. นางสาว ช. และนาย ช. อีกกลุ่มหนึ่ง เห็นได้ชัดว่าจำเลยทั้งสองได้กระทำการหลอกลวงผู้เสียหายและประชาชนต่างกลุ่มต่างเวลาและสถานที่กันโดยเจตนาให้เกิดผลต่อผู้เสียหายและประชาชนแต่ละกลุ่มแยกต่างหากจากกัน การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดหลายกรรม รวม 3 กระทง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6645 - 6646/2548 การแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตาม ป.อ. มาตรา 343 ไม่ได้ถือเอาจำนวนผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงว่ามากหรือน้อย แต่ถือเอาเจตนาแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนเป็นสำคัญโดยจะพิจารณาจากวิธีการในการหลอกลวง จำนวนผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงมาประกอบด้วยเท่านั้น คดีนี้แม้ผู้เสียหายตามฟ้องจะมีเพียง 11 คน แต่ตามบันทึกการตกลงชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่งมีผู้เสียหายที่ตกลงกับจำเลยทั้งสองถึง 35 คน แสดงว่าจำเลยทั้งสองมิได้ติดต่อชักชวนเฉพาะผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดในคดีนี้เท่านั้น ทั้งพฤติการณ์ที่จำเลยทั้งสองไปพบผู้เสียหายแต่ละคนที่บ้านแล้วแจ้งเงื่อนไขการไปทำงานที่ประเทศมาเลเซียซึ่งจะได้รับเงินเดือนตั้งแต่ 8,000 บาท ถึง 11,000 บาท โดยจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางรวมคนละ 17,000 บาท แต่ต้องจ่ายเงิน 5,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1 ก่อน เหมือนกันทุกคน ลักษณะการชักชวนเป็นการชักชวนทั่วไป มิได้มุ่งเจาะจงชักชวนคนใดคนหนึ่งเป็นพิเศษโดยเฉพาะหากผู้ใดปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวได้ก็สามารถสมัครไปทำงานได้ ขึ้นอยู่กับข้อที่ว่าจะจ่ายเงินให้ตามเงื่อนไขที่แจ้งไปหรือไม่เป็นสำคัญ การหลอกลวงดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นการหลอกลวงประชาชนให้หลงเชื่อ แม้จะมิได้มีการป่าวประกาศหรือแจ้งให้ผู้ถูกหลอกลวงแต่ละคนไปชักชวนต่อ แต่ลักษณะการชักชวนอย่างเดียวกันโดยผู้ถูกชักชวนย่อมบอกต่อกันไปได้ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนตาม ป.อ. มาตรา 343 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 แล้ว
ความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตาม ป.อ. มาตรา 343 มิใช่ความผิดต่อส่วนตัว แม้ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดถอนคำร้องทุกข์แล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดฐานนี้ก็ยังไม่ระงับไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5940/2548 โจทก์ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 742/2539 ของศาลชั้นต้นฟ้องว่า จำเลยกับพวกโดยทุจริตร่วมกันหลอกลวงประชาชนทั่วไปด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จโดยประกาศโฆษณาแก่ประชาชนว่า จำเลยกับพวกสามารถจัดส่งคนหางานไปทำงานที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ มีตำแหน่งงานให้ทำหลายตำแหน่ง รายได้ดี สวัสดิการดี ใครต้องการไปทำงานให้สมัครและจ่ายค่าสมัคร ค่าบริการต่าง ๆ ได้ที่จำเลยกับพวกซึ่งเป็นเท็จ ด้วยการหลอกลวงดังกล่าวเป็นเหตุให้ประชาชนจำนวน 343 คน หลงเชื่อไปสมัครงานและจ่ายเงินให้จำเลยกับพวกรวมเป็นเงิน 16,185,000 บาท แล้วจำเลยกับพวกนำเงินจำนวนดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ส่วนตัวโดยทุจริต นอกจากนี้จำเลยกับพวกยังร่วมกันจัดหางานให้ผู้เสียหายทั้งหมดซึ่งเป็นคนหางานเพื่อไปทำงานต่างประเทศโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจัดหางานจากนายทะเบียนกลางตามกฎหมาย ปรากฏว่าฟ้องโจทก์ในคดีนี้กับคดีอาญาหมายเลขดำที่ 742/2539 เหมือนกันแทบทุกประการ เป็นการฟ้องในฐานความผิดเดียวกัน โดยวันเวลาที่จำเลยกระทำความผิดทั้ง 2 คดี เป็นช่วงเวลาเดียวกัน แสดงว่าการประกาศโฆษณาให้ประชาชนรวมทั้งผู้เสียหายทั้ง 2 คดี หลงเชื่อ เป็นการประกาศโฆษณาครั้งเดียวกัน สถานที่เกิดเหตุทั้งสองคดีเป็นสถานที่เดียวกันจะแตกต่างกันก็เฉพาะเป็นผู้เสียหายต่างรายกันเท่านั้น ทั้งทางนำสืบทั้ง 2 คดี จำเลยกระทำผิดร่วมกับห้างหุ้นส่วนจำกัด ต. โดยจำเลยเป็นหุ้นส่วนของห้างดังกล่าว จึงเป็นเรื่องที่โจทก์นำการกระทำของจำเลยซึ่งโจทก์กล่าวหาว่าเป็นความผิดอันเป็นการกระทำเดียวกันมาแยกฟ้องเป็น 2 คดี โดยแยกผู้เสียหายออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละคดีเท่านั้น เมื่อศาลได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในการกระทำของจำเลยซึ่งเป็นความผิดที่โจทก์ได้ฟ้องไว้ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 742/2539 และเป็นคดีหมายเลขแดงที่ 1312/2544 ของศาลชั้นต้นไปแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในคดีนี้ย่อมระงับไป ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) จึงต้องยกฟ้องของโจทก์คดีนี้เสีย ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยจะมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4379/2547 จำเลยทั้งสองร่วมกับ จ. และ ว. เป็นหุ้นส่วนร่วมกันจัดสรรที่ดินพร้อมสร้างอาคารพาณิชย์และทาวน์เฮาส์ขายให้แก่ประชาชน โดยใช้ชื่อว่า โครงการหมู่บ้านศรีเมืองทองฯ แม้จำเลยทั้งสองจะไม่ได้จดทะเบียนบริษัทเป็นนิติบุคคล และไม่ได้ขออนุญาตจัดสรรที่ดินตามกฎหมาย ก็ไม่ใช่สาระสำคัญจะบ่งชี้ได้ว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาที่จะฉ้อโกงโจทก์ร่วมที่ 2 และที่ 5 และประชาชน การที่โจทก์ร่วมที่ 2 และที่ 5 เข้าจองซื้อที่ดินและบ้านของโครงการดังกล่าว ก็ได้รับการชักชวนจาก จ. ซึ่งเป็นหุ้นส่วนของจำเลยทั้งสองและเป็นการชักชวนกันของโจทก์ร่วมทั้งแปด หาใช่เป็นเพราะเชื่อถือว่าโครงการดังกล่าวจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ทั้งจำเลยทั้งสองก็ได้ดำเนินการก่อสร้างทาวน์เฮาส์และอาคารพาณิชย์ไปแล้วบางส่วน และยังดำเนินการแบ่งแยกที่ดินจดทะเบียนเป็นทางภาระจำยอม มีการจัดการสาธารณูปโภคเพื่อใช้ประโยชน์ร่วมของโครงการ และได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ให้แก่ผู้ซื้อบางส่วนแล้ว แม้ต่อมาจำเลยทั้งสองไม่สามารถก่อสร้างทาวน์เฮาส์และอาคารพาณิชย์จนแล้วเสร็จสมบูรณ์ตามโครงการและโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ร่วมที่ 2 และที่ 5 ได้ครบตามสัญญาทุกรายก็เป็นเพียงผิดสัญญาทางแพ่งเท่านั้นจำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดฐานฉ้อโกง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2901/2547 พฤติกรรมที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันประกอบกิจการในชื่อบริษัท ว. จำกัด ประกาศโฆษณาต่อประชาชนทั่วไปรับสมัครสมาชิกไวท์โฮปกรุ๊ป และเรียกเก็บเงินค่าสมัครจากผู้สมัครเป็นสมาชิกรายละ 3,000 บาท โดยรู้อยู่แล้วว่าบริษัทไม่ได้ประกอบกิจการอย่างหนึ่งอย่างใด อันจะมีผลประโยชน์มาปันให้ให้แก่สมาชิกได้ตามใบประกาศตารางผลประโยชน์แห่งสมาชิก จึงเป็นการร่วมกันกระทำผิดโดยการหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงนั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินคือเงินค่าสมัครสมาชิกรายละ 3,000 บาท จากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม อันเป็นความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนตาม ป.อ. มาตรา 343 วรรคแรก และการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เรียกเก็บเงินจากผู้สมัครเป็นสมาชิกรายละ 3,000 บาท โดยมีเงื่อนไขในการให้ผลประโยชน์ตอบแทนเฉพาะแก่ผู้เป็นสมาชิกว่า หากสมาชิกผู้ใดหาสมาชิกใหม่มาสมัครได้ 6 คน จะได้รับผลประโยชน์เป็นเงินดาวน์รถจักรยานยนต์จำนวน 6,000 บาท ทั้งจะได้รับเงินตอบแทนจากการหาสมาชิกใหม่รายละร้อยละ 25 ของเงินค่าสมัคร และหากสมาชิกใหม่หาสมาชิกมาสมัครได้ต่อ ๆ ไป สมาชิกเดิมก็ยังจะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนเป็นเงินจำนวนลดหลั่นไปตามใบประกาศตารางผลประโยชน์แห่งสมาชิกนั้น เป็นการประกอบกิจการโดยวิธีชักจูงให้ผู้อื่นส่งเงินหรือผลประโยชน์อย่างอื่นให้แก่ตน และให้ผู้นั้นชักจูงผู้อื่นตามวิธีการที่กำหนด และแสดงให้ผู้ถูกชักจูงเข้าใจว่าถ้าได้ปฏิบัติตามจนมีบุคคลอื่นอีกหลายคนเข้าร่วมต่อ ๆ ไปจนครบวงจรแล้วผู้ถูกชักจูงจะได้รับกำไรมากกว่าเงินหรือประโยชน์ที่ผู้นั้นได้ส่งไว้ดังที่บางคนเรียกกันว่าแชร์ลูกโซ่ ซึ่งเมื่อคำนวณตารางผลประโยชน์แห่งสมาชิกแล้ว จะเห็นได้ว่าหากผู้เป็นสมาชิกปฏิบัติตามเงื่อนไขสามารถชักจูงบุคคลอื่นมาเข้าร่วมได้ต่อ ๆ ไป สมาชิกรายต้น ๆ จะได้ผลประโยชน์ตอบแทนสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้หลายเท่า แต่หากการดำเนินการมิได้เป็นไปตามคำชักจูงก็จะเกิดความเสียหายแก่ประชาชนผู้หลงเชื่อมาสมัครรายหลัง พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เรียกเก็บเงินค่าสมัครจากผู้สมัครเป็นสมาชิกและผลประโยชน์ตอบแทนที่จำเลยที่ 1 จ่ายให้แก่สมาชิกในเงื่อนไขตามตารางผลประโยชน์แห่งสมาชิกดังกล่าว ต้องตามความหมายของบทนิยามคำว่า "กู้ยืมเงิน" และ "ผลประโยชน์ตอบแทน" ตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯ มาตรา 3 และเมื่อมีประชาชนหลงเชื่อเข้าสมัครเป็นสมาชิกบัตรไวท์โฮปกรุ๊ปตามที่จำเลยที่ 1 ประกาศโฆษณามีจำนวนมากกว่าตั้งแต่สิบคนขึ้นไปโดยมีจำนวนรวม 394 คนตามบัญชีรายชื่อผู้เสียหาย วันเวลาและจำนวนเงินที่จำเลยได้รับไปจากผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯ มาตรา 4 ด้วย จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมีความผิดตามฟ้องโจทก์
แม้จำเลยที่ 1 จะประกาศโฆษณาเพียงครั้งเดียวในคราวเดียว แต่ข้อเท็จจริงแห่งคดีฟังยุติว่าในระหว่างวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้องนั้น มีผู้เสียหายซึ่งหลงเชื่อเข้าสมัครเป็นสมาชิกบัตรไวท์โฮปกรุ๊ปตามประกาศโฆษณาของจำเลยที่ 1 มีจำนวน 394 คน โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้รับเงินค่าสมัครเป็นสมาชิกจากผู้เสียหายจำนวนดังกล่าวรายละ 3,000 คน ไปโดยทุจริต ซึ่งความผิดต่อผู้เสียหายแต่ละรายเป็นการกระทำที่แยกออกจากกันได้ การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันรวม 394 กระทง ศาลย่อมลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปได้ตาม ป.อ. มาตรา 91
จำเลยที่ 2 กระทำความผิดตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯ มาตรา 4 มีโทษตาม พ.ร.ก. ดังกล่าว มาตรา 12 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปีรวม 394 กระทง เป็นกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุด มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปีแต่ไม่เกินสิบปี ซึ่งกฎหมายบัญญัติให้ศาลลงโทษผู้กระทำผิดทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วโทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกินยี่สิบปีตาม ป.อ. มาตรา 91 (2) ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 20 ปี ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวจึงไม่อาจลงโทษให้เบาลงอีกได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 135/2547 จำเลยกับพวกได้ก่อตั้งบริษัท ด. ขึ้น และได้โฆษณาทางหนังสือพิมพ์ประกาศแพร่ข่าวชักชวนประชาชนว่าบริษัท ด. เป็นบริษัทที่มั่นคงประกอบธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ต้องการรับสมัครพนักงานหรือบุคลากรเพิ่มหลายตำแหน่ง และโฆษณาชักชวนให้บุคคลทั่วไปนำเงินมาลงทุนในธุรกิจรูปแบบใหม่กับบริษัทซึ่งให้ผลตอบแทนสูง ซึ่งความจริงแล้วบริษัท ด. ไม่ได้ประกอบธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ และไม่ได้เป็นตัวแทนซื้อขายสินค้าที่ประเทศญี่ปุ่นหรือประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อการลงข่าวประกาศทางหนังสือพิมพ์ ก. เป็นความเท็จโดยทุจริตของบริษัท ด. เป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 2 ที่ได้อ่านข่าวหลงเชื่อ จึงไปติดต่อและมอบเงินให้จำเลยกับพวก การกระทำของจำเลยกับพวกสำหรับผู้เสียหายที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน
ความผิดฐานฉ้อโกงผู้เสียหายที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 7 และความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนต่อผู้เสียหายที่ 2 นั้น เป็นการกระทำต่างวันเวลาและต่างบุคคลกัน จึงเป็นความผิดหลายกรรมตาม ป.อ. มาตรา 91 มิใช่ความผิดกรรมเดียว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4752/2545 แม้โจทก์จะฟ้องจำเลยในข้อหาฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 343 และข้อหาจัดหางานให้คนหางานไปทำงานที่ต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางานฯ มาตรา 30,82 ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความไม่ได้ แต่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยกระทำผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 และยกฟ้องความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางานฯ ซึ่งโจทก์มิได้อุทธรณ์ ความผิดทั้งสองฐานจึงถึงที่สุด โจทก์จะฎีกาว่าจำเลยกระทำผิดสองฐานนี้อีกไม่ได้ และเมื่อฟังได้ว่าจำเลยกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ ผู้เสียหายต้องร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 เมื่อผู้เสียหายร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดีแก่จำเลยเกินกว่า 3 เดือน นับแต่วันดังกล่าว คดีโจทก์จึงขาดอายุความตามมาตรา 96 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(6) โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1045/2545 จำเลยที่ 1 เป็นคนชนบท มีอาชีพทำนา ถ้ามีบุตรหลานหรือญาติพี่น้องเป็นคนมีฐานะ มีความรู้ความสามารถหรือมีหน้าที่การงานดีย่อมจะทำให้จำเลยที่ 1 พลอยมีหน้ามีตา ส. เป็นคนกรุงเทพมหานครเพิ่งจะแต่งงานเป็นบุตรเขยจำเลยที่ 1 ได้ประมาณ 2 เดือนเศษ เมื่อ ส. มาเยี่ยมและอ้างว่าสามารถจัดส่งคนหางานไปทำงานต่างประเทศได้ จำเลยที่ 1ย่อมจะชื่นชมยินดีและอยากโอ้อวดให้บุคคลอื่นทราบ การที่จำเลยที่ 1พูดเรื่องไปทำงานในต่างประเทศให้ผู้เสียหายทั้งห้าและบุคคลทั่ว ๆ ไปว่าผู้ใดอยากไปทำงานต่างประเทศให้ไปพบ ส. ที่บ้านจำเลยที่ 1ก็เป็นถ้อยคำที่จำเลยที่ 1 เพียงแต่ต้องการจะโอ้อวดให้ผู้อื่นรู้ว่า ส. มีความรู้ความสามารถส่งคนไปทำงานในต่างประเทศได้เท่านั้นส่วนที่จำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรไปบอกให้ผู้เสียหายทั้งห้านำเงินไปชำระแก่ ส. และพูดขึ้นว่าเงินแค่นี้ ส. ไม่โกง ถ้าโกงก็คงโกงมากกว่านี้นั้น ก็ได้ความว่านอกจากจำเลยทั้งสองแล้ว ส. ไม่รู้จักใครจึงติดต่อประสานกับผู้เสียหายทั้งห้า นอกจากนี้ยังปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งจะไปทำงานเช่นเดียวกับผู้เสียหายทั้งห้าก็ถูก ส. หลอกเอาเงินเช่นกัน โดยจำเลยที่ 1 มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการเรียกและรับเงินจากผู้เสียหายทั้งห้าตลอดจนไม่ทราบถึงรายละเอียดเกี่ยวกับขั้นตอนการติดต่อและประเทศที่จะส่งคนหางานไปทำงาน การที่จำเลยที่ 1 ยอมให้ ส. ใช้บ้านของตนเป็นสถานที่ติดต่อพูดคุยกับผู้เสียหายทั้งห้าซึ่งเป็นคนหมู่บ้านเดียวกัน จึงยังไม่พอฟังว่าจำเลยที่ 1ร่วมกับ ส. หลอกลวงผู้เสียหายทั้งห้า
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8723/2544 พฤติการณ์ที่จำเลยพา ว. ไปช่วยจำหน่ายเมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่และจำเลยไปจำหน่ายเองแต่เพียงลำพัง เพื่อผลประโยชน์ตอบแทนที่จะได้รับเป็นเมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่ถือได้ว่าเป็นการร่วมมือกับ ว. ในการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่แล้ว แม้จะไม่ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนเป็นเงินก็ตาม การกระทำของจำเลยที่ร่วมกับว. หลอกลวงผู้เสียหายทั้งสิบสองและประชาชนว่าเป็นสมาชิกสหกรณ์หอมหัวใหญ่บ้านกาดและมีโควต้าเมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่จำหน่ายให้แก่ผู้เสียหายทั้งสิบสองและประชาชนด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง ย่อมส่อแสดงให้เห็นถึงเจตนาทุจริตของจำเลยอย่างชัดแจ้งในการที่จะหลอกลวงเอาเงินจากผู้เสียหายทั้งสิบสอง และการหลอกลวงดังว่านั้นจำเลยกับพวกได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้เสียหายทั้งสิบสอง จึงเป็นตัวการร่วมกับ ว. กระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1674 - 1675/2543 การทำสัญญาจะซื้อจะขาย ผู้จะขายไม่จำต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่จะขายในขณะที่ทำสัญญา เพียงแต่จะต้องขวนขวายหาทรัพย์นั้นมาโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้จะซื้อได้ตามกำหนดในสัญญาเท่านั้น เมื่อผู้เสียหายทั้งสองทราบตั้งแต่เมื่อทำสัญญากับจำเลยที่ 1 ว่าที่ดินแปลงที่ทำสัญญายังเป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคลอื่น จำเลยทั้งสองจึงไม่ได้แสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแต่อย่างใด เพราะที่ดินที่ผู้เสียหายทั้งสองทำสัญญาจะซื้อจะขายกับจำเลยที่ 1 มีอยู่จริงและจำเลยที่ 1 ก็เป็นผู้จะซื้อตามสัญญาจะซื้อจะขายที่จำเลยที่ 1 ทำไว้กับเจ้าของกรรมสิทธิ์จริง การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นเพียงการผิดสัญญาทางแพ่ง คือ ไม่ปฏิบัติตามสัญญาอันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายหลังซึ่งเป็นเวลาในอนาคตของเวลาที่ทำสัญญากันเท่านั้น หาใช่เป็นการหลอกลวงอันจะเป็นความผิดฐานฉ้อโกงไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 474/2542 จำเลยกับพวกไม่ได้รับใบอนุญาตจัดหางานให้คนหางาน ไปทำงานในต่างประเทศจากนายทะเบียนจัดหางานกลาง อีกทั้งจำเลยกับพวกไม่สามารถที่จะส่งผู้ใดไปทำงานในต่างประเทศ ดังกล่าวได้ และทั้งไม่มีงานรออยู่ที่ประเทศดังกล่าวตามที่แจ้งแก่ ผู้เสียหายทั้งเจ็ด อันเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงอยู่ในตัวว่า จำเลยไม่มีเจตนาจัดหางานให้แก่ผู้เสียหายคงมีแต่เจตนาหลอกลวงเพื่อจะได้รับเงินจากผู้เสียหายเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางานพ.ศ. 2528 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง,82 การที่จำเลยกับพวกหลอกลวงประชาชนและผู้เสียหายทั้งเจ็ดว่า จำเลยกับพวกสามารถหางานให้แก่คนหางานทั่วไปรวมทั้งผู้เสียหาย ทั้งเจ็ดและส่งคนหางานทั่วไปและผู้เสียหายทั้งเจ็ดไปทำงานที่ ไต้หวัน และเกาหลีได้โดยผู้ที่จะไปทำงานที่เกาหลีต้องเสียเงินค่าบริการจัดการให้แก่จำเลยกับพวกคนละ 80,000 บาท และผู้เสียหายทั้งเจ็ดได้มอบเงินคนละ 80,000 บาท ให้แก่จำเลยกับพวกไปก็เพราะผู้เสียหายทั้งเจ็ดเชื่อตาม ที่จำเลยกับพวกหลอกลวงนั่นเอง การกระทำของจำเลยจึง เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางานฯมาตรา 91 ตรี และเป็นกรรมเดียวกับความผิดฐานฉ้อโกงตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคแรก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6869/2541 จำเลยที่ 3 และที่ 4 กับพวก ได้หลอกลวงโจทก์ทั้งเก้าโดยอ้างว่าได้ร่วมกันประกอบกิจการโรงงานจัดส่งปอกระสาไปจำหน่ายต่างประเทศ ร่วมกันลงทุนทำธุรกิจเกี่ยวกับที่ดิน และธุรกิจให้กู้ยืมเงินซึ่งให้ผลประโยชน์ตอบแทนเป็นดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน ร้อยละ 5 ต่อ 15 วันร้อยละ 4 ต่อ 7 วัน ร้อยละ 3 ต่อ 5 วัน จำเลยที่ 3 และที่ 5 กับพวกต้องการกู้ยืมเงินจากโจทก์ทั้งเก้า และประชาชนทั่วไปเพื่อนำไปลงทุนขยายกิจการดังกล่าว โจทก์ทั้งเก้าหลงเชื่อจึงให้กู้ยืมเงินหลายครั้ง การกระทำ ของจำเลยทั้งห้าจึงเป็นการกระทำโดยทุจริต ร่วมกันหลอกลวง โจทก์ทั้งเก้าและประชาชน ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากโจทก์ทั้งเก้า เป็นความผิดฐานร่วม กันฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343,83 การที่โจทก์ทั้งเก้า ร่วมรับดอกเบี้ยเกินอัตรานั้นโจทก์ทั้งเก้ามิได้ฟ้องร้องจำเลยที่ 3 และที่ 4 กับพวกในข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯหากแต่ฟ้องร้องในข้อหาความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ซึ่งข้อหานี้ โจทก์ทั้งเก้ามิได้มีส่วนร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 3 และที่ 4 อันจะทำให้โจทก์ทั้งเก้าไม่เป็นผู้เสียหายโดย นิตินัย โจทก์ทั้งเก้าจึงเป็นผู้เสียหายคดีนี้ การหลอกลวงหรือฉ้อโกงโจทก์ทั้งเก้าและประชาชนโดยสภาพแห่งการกระทำต้องกระทำต่อบุคคลหลายคนในลักษณะ ที่เป็นประชาชนและอาจต่างวาระกันได้แต่เห็นได้ชัดว่า เกิดจากเจตนาอันเดียวกันคือ ฉ้อโกงประชาชน จึงถือได้ว่า การกระทำความผิดของจำเลยทั้งห้าเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5811/2540 ความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน และความผิดฐานจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาตสามารถกระทำความผิดต่อเนื่องในคราวเดียวกันได้
จำเลยกับพวกร่วมกันประกอบธุรกิจจัดหางานให้แก่คนหางานทั่วไปด้วยการเรียกและรับเงินค่าบริการเป็นการตอบแทนจากคนหางานโดยมิได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานกลางก่อนจะไปหลอกลวงประชาชนรวมทั้งผู้เสียหายให้ไปสมัครงานกับจำเลยและพวก การกระทำดังกล่าวมีความผิดฐานจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 4,30 วรรคหนึ่ง และ 82 สำเร็จแล้วกระทงหนึ่ง ส่วนที่จำเลยกับพวกไปหลอกลวงบรรดาประชาชนรวมทั้งผู้เสียหายผู้ซึ่งประสงค์จะเดินทางไปทำงานยังต่างประเทศให้ไปสมัครงานกับจำเลยและพวกด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่าจำเลยและพวกสามารถจัดส่งคนงานรวมทั้งผู้เสียหายไปทำงานยังต่างประเทศในตำแหน่งงานและอัตราค่าจ้างตามที่คนหางานและผู้เสียหายต้องการได้ทั้งที่ความจริงแล้วจำเลยและพวกไม่สามารถที่จะจัดส่งบรรดาคนหางานและผู้เสียหายไปทำงานยังต่างประเทศได้ เป็นเหตุให้ผู้เสียหายและประชาชนซึ่งเป็นคนหางานหลงเชื่อว่า ข้อความเท็จที่จำเลยและพวกหลอกลวงเป็นความจริง ต่างพากันมอบเงินค่าบริการจัดหางานเป็นการตอบแทนให้แก่จำเลยและพวก การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 83 สำเร็จแยกต่างหากจากความผิดฐานจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาตอีกกระทงหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5292/2540 การแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343ไม่ได้ถือเอาจำนวนผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงว่ามากหรือน้อยแต่ถือเอาเจตนาแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนเป็นสำคัญและไม่จำเป็นที่จำเลยจะต้องกระทำการดังกล่าวด้วยต้นเองมาตั้งแต่ต้นทุกครั้งเพียงแต่จำเลยแสดงข้อความอันเป็นเท็จแก่ผู้เสียหายบางคนแล้วมีการบอกต่อกันไปเป็นทอด ๆเมื่อผู้เสียหายคนหลังทราบข่าวและมาสอบถามจำเลยจำเลยได้ยืนยันแสดงข้อความอันเป็นเท็จนั้นและให้ผู้เสียหายไปติดต่อที่แฟลตทุกครั้ง อันถือได้ว่าเป็นสำนักงานของจำเลยกับพวก แม้จะไม่มีการประกาศรับสมัครงานปิดไว้ก็ตาม การกระทำของจำเลยก็เป็นการฉ้อโกง ประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 แล้ว จำเลยกับพวกมิได้เป็นผู้รับอนุญาตให้จัดหางานมิได้เป็นกรรมการหุ้นส่วนหรือผู้จัดการของผู้ได้รับอนุญาตให้จัดหางานซึ่งเป็นนิติบุคคล ประกอบกับฟ้องโจทก์ที่บรรยายไว้ชัดแจ้งว่าจำเลยกับพวกรู้อยู่แล้วว่ายังไม่มีตำแหน่งงานหรืออัตรางานในประเทศบาร์เรนตามที่โฆษณาชักชวนแสดงให้เห็นว่าจำเลยไม่มีเจตนาที่จะจัดหางานให้แก่ผู้เสียหายอย่างจริงจังเป็นเพียงอุบายหลอกลวงอ้างเรื่องการจัดหางานเพื่อให้ผู้เสียหายหลงเชื่อมอบค่าบริการให้จำเลยเท่านั้นไม่ต่างกับการหลอกลวงโดยอ้างเหตุอื่น ๆ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5729/2539 การที่ผู้กระทำผิดฐานฉ้อโกงได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่3ต้องเป็นผลโดยตรงจากการหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง บริษัทย. โดยจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 อ้างว่าได้จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย ประกอบกิจการเกี่ยวกับการเป็นโบรคเกอร์ให้กับผู้ลงทุนในการติดต่อซื้อขายในสัญญาสกุลเงินตราต่างประเทศกับตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศทั่วโลกโดยบริษัท ย. เป็นคอมมิสชั่นเฮ้าส์ของตลาดโลกซึ่งไม่เป็นความจริง จึงเป็นการหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแต่การที่โจทก์และบุคคลอื่นนำเงินไปลงทุนกับบริษัท ย. เพื่อประกอบกิจการสั่งซื้อสั่งขายเงินตราต่างประเทศมีลักษณะเป็นการเก็งกำไร การที่จะได้กำไรหรือขาดทุนขึ้นอยู่กับความเสี่ยง ทั้งการประกอบกิจการดังกล่าวก็เป็นวัตถุประสงค์ข้อหนึ่งของบริษัท ย. หากแต่ยังไม่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลังเท่านั้น จึงเป็นความสมัครใจในการร่วมลงทุนการได้ไปซึ่งทรัพย์สินในการร่วมลงทุน มิได้เกิดจากผลโดยตรงจากการถูกหลอกลวงว่าบริษัท ย. ได้จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายดังกล่าวการกระทำของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 จึงไม่เป็น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4762/2539 แม้ตามคำฟ้องของโจทก์ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 ก็ตามแต่ความผิดฐานดังกล่าวเป็นการกระทำที่มีองค์ประกอบมาจากความผิดฐานฉ้อโกง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ด้วยดังนั้นเมื่อปรากฎในชั้นพิจารณาว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 แม้โจทก์จะไม่ได้ขอให้ลงโทษตามมาตรานี้ ศาลก็มีอำนาจลงโทษจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสาม หาใช่เป็นเรื่องเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4279/2539 บริษัทมีเจตนาเพียงจะเรียกเก็บเงินประกันการทำงานจากประชาชนผู้มาสมัครงาน โดยมีเจตนาแสวงหาผลประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตัวกรรมการของบริษัทเอง หรือเพื่อบริษัทอันเป็นการกระทำโดยทุจริตโดยประกาศหลอกลวงให้ประชาชนมาสมัครงานด้วยแสดงข้อความเท็จว่าให้สมัครเข้ามาทำงาน แต่บริษัทหามีงานให้ทำไม่ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะกรรมการบริหารงานของบริษัทย่อมจะต้องทราบดีอยู่แล้วว่าบริษัทไม่มีงานให้ทำ แต่ก็ยังร่วมดำเนินการรับสมัครบุคคลเข้าทำงานตลอดมาเป็นการปกปิดข้อความจริง ซึ่งควรบอกให้แจ้งแกประชาชนและในการรับสมัครบุคคลเข้าทำงานดังกล่าวเป็นเหตุทำให้บริษัทกับกรรมการของบริษัทได้ไปซึ่งเงินประกันการทำงานจากผู้สมัคร การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ตาม ป.อ. มาตรา 341, 343 วรรคแรก
การที่บริษัทได้รับผู้เสียหายเข้าทำงานแล้วได้ให้ผู้เสียหายซื้อหุ้นคนละ 30 หุ้น เป็นเงิน 3,000 บาท มีลักษณเป็นการรับเข้าร่วมลงทุนและได้มีการจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนแก่ผู้เสียหายโดยให้เงินปันผลหรือเงินค่าครองชีพเดือนละ 135 บาท จึงเข้าลักษณะการกู้ยืมเงินตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 3 เมื่อบริษัทจัดให้มีผู้รับเงินในการรับสมัครงานที่มิชอบ หรือจ่ายหรือตกลงจะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่ผู้เสียหายซึ่งถือว่าเป็นผู้ให้กู้ยืมเงินตามพระราชกำหนดดังกล่าว และในการกู้เงินดังกล่าวได้มีการให้ผลประโยชน์ตอบแทนเดือนละ 135 บาท หรือคิดเป็นอัตราถึงร้อยละ 54 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายให้จึงเข้ากรณีเป็นการกระทำผิดตามมาตรา 5 แห่งพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้ร่วมรับเงินที่ผู้เสียหายได้นำมาเข้าร่วมลงทุนเพื่อให้ผลประโยชน์ตอบแทนดังกล่าว จึงมีความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 5
ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 344 ผู้หลอกลวงต้องประสงค์ต่อผลคือการทำงานของผู้ถูกหลอกลวงให้ประกอบการงานให้แก่ตนหรือบุคคลที่สาม โดยจะไม่ใช้ค่าแรงงาน หรือโดยจะใช้ค่าแรงงานต่ำกว่าที่ตกลงกัน การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่ได้กระทำในนามบริษัท โดยอ้างว่ามีงานให้ทำก็ดี การรับผู้เสียหายเข้าทำงานก็ดี การคืนเงินประกันการทำงานเมื่อครบกำหนด 6 เดือนแล้วก็ดี ล้วนเป็นอุบายทุจริตคิดตั้งเรื่องขึ้นเพื่อหลอกลวงผู้เสียหายให้หลงเชื่อและมอบเงินให้ แสดงว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 หลอกลวงผู้เสียหายให้ส่งมอบเงินแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เท่านั้น มิได้มีเจตนาหลอกลวงเพื่อให้มาทำงาน เพราะความจริงแล้วไม่มีงานให้ทำ ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2จัดให้มีการทำงานในช่วงแรก ๆ และจ่ายเงินเดือนให้ก็เป็นวิธีการในการหลอกลวงอย่างหนึ่ง ซึ่งต่อมาภายหลังก็ไม่มีงานให้ทำและไม่จ่ายเงินเดือนให้ กรณีจึงมิใช่เป็นการกระทำเพื่อประสงค์ต่อผลตาม ป.อ. มาตรา 344 ไม่มีความผิดตามมาตรานี้
ศาลชั้นต้นเรียงกระทงลงโทษโดยรวมโทษทุกกระทงแล้วปรับบทตาม ป.อ. มาตรา 91 (2) ทั้งที่ความผิดกระทงที่หนักที่สุดคือความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงถึง 20 ปี นั้นไม่ถูกต้อง ที่ถูกต้องปรับบทตาม ป.อ. มาตรา 91 (3) รวมจำคุกคนละ 50 ปี แต่โจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกาขอให้ลงโทษให้ถูกต้อง ศาลฎีกาจึงไม่อาจแก้ไขได้เพราะจะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยทั้งห้า ควรแก้ไขให้ถูกต้องได้เฉพาะปรับบทให้ถูกต้องเท่านั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3074/2539 ความผิดฐานฉ้อโกงผู้กระทำความผิดต้องกระทำโดยการหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งและโดยการหลอกลวงดังกล่าวนั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สามการที่จำเลยชวนโจทก์ร่วมซื้อคอนโดมิเนียมตึกแถวและที่ดินโดยยืนยันว่าอีก4เดือนจะมีผู้ซื้อต่อการที่จำเลยให้ผู้เสียหายทำพิธีเสริมดวงและเรียกค่าครูโดยยืนยันว่าจะทำให้ดวงดีขายตึกแถวที่ดินได้หรือบุตรจะมีบุญบารมีสูงกว่าบิดามารดาผู้เสียหายกับสามีจะไม่ต้องหย่ากันล้วนเป็นคำยืนยันเหตุการณ์ในอนาคตที่ไม่แน่นอนทั้งสิ้นคำยืนยันดังกล่าวไม่ใช่คำหลอกลวงแต่เป็นคำคาดการณ์ที่โจทก์ร่วมและผู้เสียหายเข้าทำพิธีตามคำแนะนำและเสียค่าใช้จ่ายจึงมิได้เป็นผลจากการหลอกลวงการกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 239/2538 โจทก์บรรยายฟ้องและมีคำขอให้ลงโทษจำเลยฐานฉ้อโกงประชาชน ตาม ป.อ. มาตรา 343 ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยเป็นการเบียดบังทรัพย์สินของผู้เสียหายโดยมีเจตนาทุจริตเป็นความผิดฐานยักยอกศาลลงโทษฐานยักยอกได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 352 วรรคหนึ่ง จำคุก 3 ปี โจทก์ไม่อุทธรณ์จำเลยอุทธรณ์ว่า การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานยักยอก ดังนี้ ข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยได้หลอกลวงผู้เสียหายและประชาชนด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือไม่ จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ปัญหาในชั้นอุทธรณ์จึงมีตามอุทธรณ์ของจำเลย เพียงว่าจำเลยได้กระทำผิดฐานยักยอกหรือไม่ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยข้อเท็จจริงแล้วฟังว่า การกระทำของจำเลยเป็นการ-หลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนและการหลอกลวงดังกล่าวทำให้จำเลยได้ไปซึ่งทรัพย์สิน จำเลยจึงมีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามฟ้องและพิพากษาลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 343 วรรคแรก ให้จำคุก 3 ปีตามที่ศาลชั้นต้นกำหนด จึงเป็นการวินิจฉัยและฟังข้อเท็จจริงในข้อที่โจทก์และจำเลยไม่ได้อุทธรณ์ ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยข้อเท็จจริงและปรับบทลงโทษจำเลยว่าเป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน จึงไม่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการพิจารณาและพิพากษาคดี คดีนี้จำเลยอุทธรณ์ว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานยักยอก ซึ่งศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้วินิจฉัย เมื่อศาลฎีกาเห็นสมควร ย่อมย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิจารณาและพิพากษาใหม่ตามประเด็นที่จำเลยอุทธรณ์ดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 และ 247ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 15
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6114/2537 ตามคำบรรยายฟ้องโจทก์ฐานฉ้อโกงประชาชน แม้จะมีข้อความ ว่าจำเลยทั้งสองกับพวกไม่สามารถจัดให้คนหางานได้ทำงาน ในต่างประเทศโดยได้รับค่าจ้างตามที่จำเลยทั้งสองกับพวกกล่าวอ้าง แต่ก็ไม่มีข้อความใดที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองกับพวกไม่มีเจตนาประกอบธุรกิจจัดหางานตามที่บรรยายไว้ในข้อหาฐานจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาต การกระทำของจำเลยทั้งสองตามฟ้องจึงเป็นความผิดฐานจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาตได้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า แม้จำเลยทั้งสองจะให้การรับสารภาพก็ไม่อาจลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง,82และยกฟ้องโจทก์ในข้อหาดังกล่าวนั้น จึงเป็นการไม่ชอบ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5969/2537 โจทก์บรรยายฟ้องในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนว่าจำเลยหลอกลวงผู้เสียหายว่าจำเลยสามารถจัดหางานและส่งคนหางานไปทำงานต่างประเทศได้ โดยจะได้รับเงินค่าตอบแทนเป็นเงินจำนวนมาก ซึ่งเป็นความเท็จ ความจริงจำเลยทั้งสามไม่สามารถจัดหางานและส่งคนหางานไปทำงานต่างประเทศได้ เพราะจำเลยทั้งสามไม่ได้รับอนุญาตให้จัดหางานเพื่อให้คนหางานไปทำงานในต่างประเทศจากนายทะเบียนจัดหางานกลาง โดยการหลอกลวงของ จำเลยทั้งสามดังกล่าวทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อมอบเงินให้แก่จำเลยทั้งสามไป การบรรยายฟ้องของโจทก์เช่นนี้ได้ความเพียงว่าจำเลยทั้งสามเจตนาหลอกลวงโจทก์ร่วมและผู้เสียหายทั้งหลายเพื่อหวังจะได้รับเงินค่าบริการตอบแทนจากโจทก์ร่วมและผู้เสียหายเท่านั้น จำเลยทั้งสามย่อมไม่มีเจตนาที่จะส่งโจทก์ร่วมและผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงไปทำงานในต่างประเทศดังที่จำเลยทั้งสามกล่าวอ้างแต่ประการใด การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 ตามฟ้อง โจทก์ร่วมและผู้เสียหายแต่ละคนทราบข่าวจากเพื่อนคนงาน คนอื่น ๆ ว่า จำเลยที่ 1 จัดส่งคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ โจทก์ร่วมและผู้เสียหายจึงไปที่สำนักงานของจำเลยที่ 1 เพื่อสมัครงาน ได้พบจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ได้หลอกลวงโจทก์ร่วมและผู้เสียหายว่าสามารถจัดส่งโจทก์ร่วมและผู้เสียหายไปทำงานที่ประเทศฝรั่งเศสได้ โจทก์ร่วมและผู้เสียหายต่างหลงเชื่อจึงได้มอบเงินค่าทำวีซ่าและค่าตอบแทนให้แก่จำเลยที่ 2 ไปต่อหน้าจำเลยที่ 3 เป็นการหลอกลวงโจทก์ร่วมและผู้เสียหายแต่ละรายเป็นรายบุคคล หาใช่เป็นการประกาศโฆษณาเชิญชวนต่อประชาชนไม่ แม้ที่หน้าสำนักงานของจำเลยที่ 1 จะมีป้ายชื่อของจำเลยที่ 1 ปิดไว้ก็ตามแต่ป้ายดังกล่าวก็เป็นเพียงป้ายชื่อของจำเลยที่ 1 เท่านั้นไม่มีข้อความแสดงถึงการประกาศโฆษณาเชิญชวนให้ประชาชนมาสมัครงานกับจำเลยแต่อย่างใดจำเลยทั้งสามจึงไม่มีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 877/2537 การที่จำเลยกับพวกชักชวนผู้เสียหายทั้งสิบคนและบุคคลอื่นให้นำเงินมาลงทุนกับบริษัท เพื่อประกอบกิจการสั่งซื้อสินค้าล่วงหน้าเพื่อเก็งกำไรทั้ง ๆ ที่จำเลยรู้อยู่ว่าบริษัท อ. ไม่มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการดังกล่าวและการประกอบกิจการตามที่อ้างจะมีขึ้นไม่ได้แน่นอน การกระทำของจำเลยกับพวกจึงเป็นการหลอกลวงผู้เสียหายทั้งสิบคน และบุคคลทั่ว ๆ ไปไม่จำกัดว่าเป็นใครอันเป็นการหลอกลวงประชาชนด้วยการการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งโดยเจตนาทุจริต ทำให้ผู้เสียหายทั้งสิบคน หลงเชื่อมอบเงินให้แก่จำเลยกับพวกไปจำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคแรกและการกระทำของจำเลยกับพวกดังกล่าวเป็นการกู้ยืมเงินตามพระราชกฤษฎีกา การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527มาตรา 3 และเป็นการชักชวนว่าในการกู้ยืมเงินจำเลยหรือบริษัทอ. จะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินที่พึงจ่ายได้ โดยจำเลยรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าจำเลยหรือบริษัท อ. จะนำเงินจากผู้เสียหายทั้งสิบคน หรือรายอื่นมาจ่ายหมุนเวียนให้แก่ผู้เสียหายทั้งสิบคน หรือโดยที่จำเลยรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าจำเลยหรือบริษัท อ. ไม่สามารถประกอบกิจการใด ๆโดยชอบด้วยกฎหมายที่จะให้ผลประโยชน์ตอบแทนพอเพียงที่จะนำมาจ่ายดอกเบี้ยตามสัญญาได้และเป็นเหตุให้จำเลยกับพวกหรือบริษัท อ.ได้กู้ยืมเงินไป จำเลยจึงมีความผิดตามมาตรา 4,12 แห่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวอีกบทหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2027/2536 จำเลยที่ 1 และที่ 4 มาหาที่บ้านแล้วชักชวนให้ ส.และ ธ. ไปทำงานในประเทศญี่ปุ่นโดยได้ค่าจ้างประมาณเดือนละ 35,000 บาท ถึง 40,000 บาท แต่การไปต้องมีค่าใช้จ่ายคนละ 68,000 บาท ถึง 78,000 บาท และให้บุคคลทั้งสองพาจำเลยที่ 1 และที่ 4 ไปบ้าน ว. และ น. และพูดชักชวน ว. และ น. ไปทำงานในประเทศญี่ปุ่นโดยยืนยันว่ามีงานให้ทำจริง ๆ นอกจากนั้น ว. ยังไม่ได้แจ้งให้ ล., ท.และพ. ทราบ แล้วพากันเดินทางมากรุงเทพฯ โดยมีจำเลยที่ 1 และที่ 5 ไปรอรับที่สถานีขนส่งระหว่างอยู่ในกรุงเทพฯ จำเลยทั้งห้ากับพวกมารับเงินจากผู้เสียหายทั้งเจ็ดไป อ้างว่าเป็นค่าใช้จ่ายในการทำวีซ่าค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าทำงาน พฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลย ทั้งห้ามิใช่เป็นการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดความจริงที่ควรบอกให้แจ้งต่อประชาชน การแสดงข้อความอันเป็นเท็จของ จำเลยทั้งห้าเป็นการเฉพาะเจาะจงต่อผู้เสียหายทั้งเจ็ดคน เท่านั้น จึงไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน จำเลยทั้งห้าไม่ได้ประกอบธุรกิจจัดหางานให้แก่คนงานข้อความเท็จที่จำเลยทั้งห้าร่วมกันแสดงออกต่อผู้เสียหายทั้งเจ็ด ยืนยันข้อเท็จจริงว่ามีงานให้ทำในประเทศญี่ปุ่นมีค่าจ้างเดือนละ 35,000 บาท ถึง 40,000 บาท และชักชวนผู้เสียหายทั้งเจ็ดให้ไปทำงานในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นข้อความเท็จนั้น เป็นข้อความที่จำเลยทั้งห้าใช้หลอกลวงผู้เสียหายทั้งเจ็ดเพื่อให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้เสียหายทั้งเจ็ดเท่านั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องจำเลยทั้งห้าประกอบธุรกิจจัดหางานให้แก่คนหางาน ตามความหมายของพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 30 จำเลยทั้งห้าจึงไม่มีความผิดฐานจัดหางานให้คนหางานโดยมิได้รับอนุญาต ผู้เสียหายทั้งเจ็ดมอบเงินให้จำเลยทั้งห้า เพราะเชื่อในข้อความเท็จที่จำเลยทั้งห้าแจ้งให้ทราบและที่จำเลยทั้งห้า หลอกลวงผู้เสียหายทั้งเจ็ดว่าสามารถจัดส่งผู้เสียหายทั้งเจ็ด ไปทำงานในประเทศญี่ปุ่นได้จริงผู้เสียหายทั้งเจ็ดจึงยอมมอบเงินให้จำเลยทั้งห้า การรู้หรือไม่รู้ว่าการเข้าไปทำงาน ในประเทศญี่ปุ่นต้องลักลอบเข้าไป ไม่ใช่สาระสำคัญที่ผู้เสียหายทั้งเจ็ดยอมมอบเงินให้จำเลยทั้งห้า เมื่อ ผู้เสียหายทั้งเจ็ดยอมมอบเงินให้จำเลยทั้งห้า เพราะเชื่อ ในคำหลอกลวงของจำเลยทั้งห้า ผู้เสียหายทั้งเจ็ดจึงเป็น ผู้เสียหายโดยนิตินัย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 199/2536 เมื่อจำเลยที่ 2 ที่ 3 ทราบว่าจำเลยที่ 1 ไม่อาจดำเนินการสร้างอาคารชุดต่อไปได้เพราะขาดทุนดำเนินการ และ ส. ประธานกรรมการหลบหนีไปก็ได้รีบดำเนินการงดรับเงินค่าซื้ออาคารชุดงวดต่อ ๆ มาต่อผู้เสียหาย และยังหาทางชดใช้เงินผู้เสียหาย จำเลยที่ 2 ที่ 3 จึงไม่มีเจตนากระทำผิดฐานฉ้อโกงประชาชนและเป็นเพียงผู้ลงชื่อในสัญญาจะซื้อจะขายเป็นคู่สัญญากับผู้เสียหายเท่านั้นหากจะฟังว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาก็เป็นเรื่องซึ่งจะต้องว่ากล่าวกันในทางแพ่งต่อไป จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล ความประสงค์หรือการกระทำของจำเลยที่ 1 แสดงออกโดยจำเลยที่ 2 ที่ 3 กรรมการของบริษัทจำเลยที่ 1เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 กระทำผิดตามฟ้องจึงเป็นเหตุในส่วนลักษณะคดี แม้จำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์ ฎีกาศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3533/2535 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 343 วรรคหนึ่ง,83 และพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 82 เป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 82 อันเป็นบทหนัก จำคุก 4 ปีศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคหนึ่ง,83 จำคุก 2 ปี ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ในข้อหาจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาต เช่นนี้ความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคหนึ่งมีการแก้ไขเฉพาะโทษ และเป็นการแก้ไขเล็กน้อย จำเลยที่ 1 จะฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงในความผิดฐานนี้ไม่ได้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ส่วนจำเลยที่ 2 นั้น ศาลชั้นต้นพิพากษาว่ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 343 วรรคหนึ่ง,86 จำคุก 2 ปี 8 เดือน จำเลยที่ 2 เข้ามอบตัวต่อสู้คดีเป็นการลุแก่โทษต่อเจ้าพนักงาน มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 จำคุก 2 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 1 เห็นว่าศาลชั้นต้นกำหนดโทษหนักเกินไป ควรกำหนดให้ใหม่ให้จำคุกจำเลยที่ 2 มี กำหนด 1 ปี 4 เดือน จำเลยที่ 2 มอบตัวสู้คดีเป็นการลุแก่โทษต่อเจ้าพนักงานมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี ดังนี้ในข้อหาว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้อง จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 ส่วนข้อหาว่าจำเลยที่ 2เป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคหนึ่ง,86 นั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้ไขเฉพาะโทษ ให้จำคุกจำเลยไม่เกิน 5 ปี เป็นเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อย จึงห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 2 เป็นบิดาจำเลยที่ 1 ไม่ได้ร่วมหลอกลวงโจทก์ร่วมหรือพวกผู้เสียหายมาตั้งแต่ต้น นอกจากช่วยพูดจารับรองกับโจทก์ร่วมและพวกผู้เสียหายในวันสมัครงานว่าจำเลยที่ 1 สามารถส่งคนไปทำงานต่างประเทศได้จริงและพูดจารับรองว่าจะคืนเงินให้หากไม่ได้ไปหรือไปแล้วไม่ได้ทำงานเท่านั้น พฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 แล้ว ในสำนวนแรกและสำนวนที่สามโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองว่าร่วมกันฉ้อโกงประชาชนด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่าสามารถจัดส่งคนงานไปทำงานที่ประเทศไต้หวัน และฟ้องสำนวนที่สองว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 เป็นอีกคดีหนึ่งต่างหาก ข้อเท็จจริงปรากฏว่าพวกของจำเลยที่ 1 ได้จัดส่งโจทก์ร่วมและผู้เสียหายบางส่วนในสำนวนที่สองซึ่งเป็นชุดเดียวกับสำนวนแรกและสำนวนที่สามไปทำงานในประเทศสิงคโปร์ และบางส่วนให้ไปรอเข้าประเทศสิงคโปร์อยู่ที่ประเทศมาเลเซียก่อน แต่ในที่สุดคนสมัครงานทุกคนก็ถูกส่งกลับประเทศไทยโดยไม่ได้เข้าทำงานที่ประเทศไต้หวันตามที่จำเลยที่ 1 กับพวกหลอกลวงไว้แม้แต่คนเดียว การส่งโจทก์ร่วมและผู้เสียหายไปประเทศสิงคโปร์หรือประเทศมาเลเซียนั้นจึงเป็นเพียงวิธีการหรืออุบายอย่างหนึ่งในการกระทำผิดฐานฉ้อโกงประชาชนซึ่งเป็นชุดเดียวกันนั่นเอง โดยจำเลยที่ 1 กับพวกไม่ได้มีเจตนาที่จะจัดหางานหรือส่งคนสมัครงานไปทำงานในประเทศที่หลอกลวงไว้แต่อย่างใด และจากพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมก็รับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1กับพวกเคยส่งคนสมัครงานไปทำงานที่ประเทศไต้หวันจริงการกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 อีกบทหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3307/2535 จำเลยทั้งสองโฆษณาหลอกลวงผู้ที่มาเข้าโบสถ์ว่าจำเลยทั้งสองเป็นหุ้นส่วนในบริษัท ท. สามารถส่งคนงานไปทำงานต่างประเทศได้แต่บุคคลเหล่านั้นต่างเป็นคนหมู่บ้านหรือท้องถิ่นเดียวกันนับถือศาสนาคริสต์ ด้วยกัน ปฏิบัติศาสนกิจที่โบสถ์เดียวกันจำเลยทั้งสองเป็นครูย่อมเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่บ้าน การโฆษณาต่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคลซึ่งรู้จักจำเลยเป็นอย่างดี ย่อมมิใช่โฆษณาต่อบุคคลทั่วไปโดยไม่จำกัดว่าเป็นบุคคลใด จึงยังไม่เป็นการโฆษณาต่อประชาชนอันเป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2888/2535 แม้วิธีการสอบปากคำผู้เสียหายคดีนี้ พนักงานสอบสวนจะกระทำแตกต่างกับการสอบปากคำในคดีอื่น ๆ ทั่ว ๆ ไป เพราะผู้เสียหายคดีนี้มีอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ผู้เสียหายต่างให้การถึงพฤติการณ์แห่งการกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นทำนองเดียวกัน พนักงานสอบสวนจึงทำแบบพิมพ์ในส่วนที่เหมือนกันไว้เว้นช่องว่างในส่วนที่เกี่ยวกับชื่อของผู้เสียหาย จำนวนเงิน และวันเวลา ซึ่งเป็นส่วนรายละเอียดของผู้เสียหายแต่ละคนโดยเฉพาะไว้ เพื่อกรอกรายละเอียดในตอนสอบปากคำผู้เสียหายแต่ละคน เช่นนี้ ก็หามีผลทำให้การสอบสวนเสียไปไม่ ส่วนกรณีที่ผู้เสียหายมาให้ถ้อยคำหลายรายและพนักงานสอบสวนแจกแบบพิมพ์คำให้การดังกล่าวให้แต่ละคนไปอ่านดูก่อนแล้วเรียกเข้ามากรอกข้อความทีละคน พนักงานสอบสวนก็ยืนยันว่าได้สอบถามผู้เสียหาย ผู้ให้ถ้อยคำว่า มีอะไรผิดบ้างถ้าไม่ผิดก็ให้ลงชื่อ ถ้าผิดพลาดก็ขีดฆ่าแก้ไขและลงลายมือชื่อกำกับ เช่นนี้ ก็ไม่ปรากฏว่าคำให้การของผู้เสียหายไม่ตรงกับปากคำที่ให้การไว้ต่อพนักงานสอบสวนหรือปากคำนั้นผู้เสียหายไม่ได้ให้การด้วยความสมัครใจ หรือด้วยเหตุอันมิชอบอย่างอื่นอันจะถือว่าการสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1663/2535 จำเลยมีเจตนาหลอกลวงบุคคลทั่วไปโดยไม่จำกัดตัวผู้ถูกหลอกลวงว่าเป็นผู้ใด จำเลยมีเจตนาหลอกลวงทุกคนที่ทราบเรื่องแล้วมาสมัครงานกับจำเลยและพวก โดยมิได้มีเจตนาที่จะหลอกลวงเฉพาะผู้เสียหายบางคนที่จำเลยเป็นผู้ชักชวนให้ไปทำงานที่ประเทศอังกฤษเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1662/2535 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 343,86 ให้จำคุก 2 ปี ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าการหลอกลวงของจำเลยมิได้มีลักษณะเป็นการประกาศโฆษณาแก่บุคคลทั่วไปพิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341,86จำคุก 1 ปี 4 เดือน แม้เป็นการแก้ไขมากแต่จำคุกไม่เกิน 2 ปีจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 โจทก์ฎีกาว่า พฤติการณ์ของจำเลยตามคำเบิกความของพยานโจทก์แสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาประกาศโฆษณาแก่บุคคลทั่วไปแล้วฎีกาของโจทก์เท่ากับโต้เถียงว่าที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังว่าจำเลยมิได้ประกาศโฆษณาแก่บุคคลทั่วไปไม่ถูกต้องเป็นการโต้เถียงดุลพินิจการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 1 เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1042/2535 จำเลยที่ 4 เคยรักษาโรคเบาหวานกับจำเลยที่ 1 โดยเชื่อว่าเป็นแพทย์สามารถรักษาโรคต่าง ๆ ได้ ต่อมาอาการเจ็บป่วยของจำเลยที่ 4 ทุเลาลง ทำให้เกิดความเลื่อมใสในความสามารถรักษาโรคของจำเลยที่ 1 จึงได้แนะนำให้ ล. รักษาโรคกับจำเลยที่ 1 จึงยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 4 มีเจตนาหลอกลวง ล.ให้รักษาโรคกับจำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 4 ไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน การกระทำผิดของจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการประกอบโรคศิลปะฯในส่วนที่เกี่ยวกับเวชกรรมและตาม พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรมฯเป็นการกระทำที่เป็นกรรมเดียวมิใช่คนละกรรม และตาม พ.ร.บ.ควบคุมการประกอบโรคศิลปะฯ ในส่วนที่เกี่ยวกับเวชกรรม ต่อมาได้ถูกยกเลิกไปโดย พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2511 แล้ว ดังนั้นที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมการประกอบโรคศิลปะฯ ตามที่โจทก์ขอมาท้ายฟ้องจึงไม่ถูกต้องปัญหานี้แม้ไม่มีฝ่ายใดฎีกาแต่ก็เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาย่อมวินิจฉัยเองได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5934/2534 คดีแรกศาลพิพากษาลงโทษจำเลยข้อหาฉ้อโกง จำคุก 4 ปี นับแต่วันที่ 18 ตุลาคม 2528 คดีหลังศาลพิพากษาลงโทษจำเลยข้อหา ฉ้อโกงประชาชน ความผิดต่อ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจ หลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ และความผิดต่อ พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน รวมจำคุก 20 ปี นับแต่วันที่ 8 เมษายน2528 เมื่อศาลมิได้พิพากษาให้นับโทษ ในคดีหลังต่อจากคดีแรกโทษจำคุกในคดีแรกจึงซ้อนและเกลื่อนกลืน ไปกับโทษจำคุกในคดีหลัง จำเลยจึงมิได้รับโทษเกินกว่า 20 ปี ไม่ขัดต่อ ป.อ. มาตรา 91(2)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4246/2534 จำเลยเป็นภริยาของ จ. หุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดส. ซึ่งโจทก์ระบุว่าเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลย แม้จำเลยจะมิได้หลอกลวงให้ผู้เสียหายมาสมัครไปทำงานยังต่างประเทศกับ จ.ก็ตาม แต่ในวันสมัครงานจำเลยก็เข้ามาจัดการตรวจดูเอกสารที่ผู้เสียหายยื่นประกอบใบสมัครงานว่าถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ โดยมีจ. เป็นผู้รับเงินค่าบริการ สถานที่รับสมัครงานก็คือสำนักงานห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. ซึ่งจำเลยเป็นหุ้นส่วนอยู่ด้วย ที่พักอาศัยของ จ. และจำเลยก็อยู่ด้านหลังสำนักงานนั้นเอง จำเลยจึงย่อมทราบว่ามีคนไปสมัครงานกับ จ. เมื่อผู้เสียหายไม่ได้ไปทำงานยังต่างประเทศและมาติดตามเรื่อง จำเลยก็รับทำหน้าที่แทน จ.และพยายามหาเงินใช้คืนผู้เสียหาย ตามพฤติการณ์แสดงว่าจำเลยร่วมรับรู้ถึงการทำงานของ จ. มาโดยตลอด ถือได้ว่าเป็นตัวการร่วมกับ จ. ในข้อหาความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนแล้ว
========================================================= |
รับ ทวงหนี้ ตามหนี้ เร่งรัดหนี้สิน โดยทีมงานเร่งรัดหนี้สินมืออาชีพ |
บริษัท สกายอินเตอร์เนชั่นแนลลีกัลจำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการด้าน นักสืบเอกชนและกฎหมายแบบครบวงจร มีการให้บริการด้าน การ เร่งรัดหนี้สิน การ รับทวงหนี้ การติด ตามหนี้ สินค้างชำระ การเจรจา ประนอมหนี้ การเจรจาต่อรองการ ชำระหนี้ ทำหนังสือ รับสภาพหนี้ การ ปรับโครงสร้างหนี้ เป็นต้น โดยรับติดตามหนี้สินทุกประเภท ทั้งหนี้สินที่เกี่ยวเนื่องกับคดีแพ่ง เช่น การติดตามหนี้เงินกู้ การติดตามหนี้การค้างชำระค่าสินค้า การติดตามคนค้ำประกันเงินกู้ ทั้งประเภทที่มีสัญญาหรือเอกสารหลักฐานอื่นที่สามารถฟ้องร้องกันได้ตาม กฎหมาย หนี้นอกระบบ และประเภทที่ไม่มีหลักฐานในการฟ้องร้องกันได้ตามกฎหมาย และมูลหนี้ที่ไม่สามรถฟ้องร้องบังคับกันได้ตามกฎหมาย เช่น หนี้ที่เกิดจากการพนัน ( รวมถึงกรณีที่เป็นหนี้ที่ขาดอายุ ความ เช่น เช็คขาดอายุความ ) หนี้สินที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา เช่น คดีจราจร (รถชนกันได้รับความเสียหาย) คดียักยอก ฉ้อโกง ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ และความผิดอื่นๆ ตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งผู้เสียหายมีสิทธิฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งจากผู้ต้องหาได้ รวมถึงการติดตามจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับด้วย โดยทีมงานนักสืบและพนักงานเร่งรัดหนี้สินที่มีประสบการณ์และความชำนาญในการ เร่งรัดติดตามหนี้สิน (อ่านรายละเอียด)
========================================================= |
กรณีที่ท่านมีความสงสัยหรือต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถติดต่อมาได้ที่ บริษัท สกายอินเตอร์เนชั่นแนลลีกัล จำกัด เลขที่ 725 อาคารเอส เมโทร ชั้น 20 ห้อง 174 ถนนสุขุมวิท แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร 10110 โทร 081-9151522, 090-0700080 email: skyinterlegal@gmail.com , ดูแผนที่ (คลิกที่นี่)
|